tns ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนระดับที่ 2 แผนแม่บทหลักประเด็น 10 การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม (Changing values and culture)
แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๘๐)
บทสรุปผู้บริหาร
ยุทธศาสตร์ชาติให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เนื่องจากเป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของประเทศในระยะยาว โดยการจะพัฒนาประชากรที่ดีและสมบูรณ์นั้น นอกจากการยกระดับในด้านสุขภาวะและด้านทักษะการศึกษาแล้ว จะต้องพัฒนาด้านค่านิยมและวัฒนธรรมที่ดีของประชาชนทุกกลุ่มวัยควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ ในการพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ
โดยในช่วงที่ผ่านมาประชากรไทยส่วนใหญ่ยังมีปัญหาด้านคุณธรรม จริยธรรม และไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการมีวินัย ความซื่อสัตย์สุจริต และการมีจิตสาธารณะ ดังปรากฏในผลการสำรวจด้านคุณธรรมจริยธรรมต่าง ๆ อาทิ การสำรวจโดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เมื่อปี ๒๕๖๑ พบว่าปัญหาความซื่อสัตย์สุจริต ทุจริตคอรัปชั่น เป็นปัญหาที่มีความรุนแรงมากที่สุด (ระดับความรุนแรง ๔.๑๓ จากคะแนนเต็ม ๕.๐๐) และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปัญหามากที่สุด รองลงมาคือปัญหาจิตสำนึกสาธารณะ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม ซึ่งอาจสะท้อนการเปลี่ยนไปของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่มีค่านิยมยึดตนเองเป็นหลักมากกว่าการคำนึงถึงสังคมส่วนรวม
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกำหนดให้มีแผนแม่บทด้านการปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม เพื่อปลูกฝังค่านิยมวัฒนธรรมที่พึงประสงค์ของประชาชนไทยในช่วงระยะเวลา ๒๐ ปีข้างหน้า โดยเฉพาะการมีวินัย ความซื่อสัตย์สุจริต การมีจิตอาสา จิตสาธารณะ และความตระหนักถึงหน้าที่ต่อประโยชน์ส่วนรวม รวมทั้งการส่งเสริมให้ประชาชนยึดมั่นสถาบันหลักที่เป็นศูนย์รวมจิตใจให้เกิดความรัก ความสามัคคี ความภาคภูมิใจในความเป็นไทยที่มีอัตลักษณ์และความโดดเด่นจนเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก ทั้งในด้านความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความมีไมตรี ความเป็นมิตร แผนแม่บทด้านการปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม มุ่งเน้นให้สถาบันทางสังคมร่วมปลูกฝังค่านิยมวัฒนธรรมที่พึงประสงค์ บูรณาการร่วมระหว่างภาคีต่าง ๆ อาทิ ครอบครัว ชุมชน ศาสนา การศึกษา สื่อ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการหล่อหลอมคนไทยให้มีคุณธรรม จริยธรรม ในลักษณะที่เป็นวิถีการดำเนินชีวิต โดยวางรากฐานการพัฒนาคนให้มีความสมบูรณ์ เริ่มตั้งแต่การพัฒนาคนให้มีสุขภาพกายและใจที่ดี บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของสถาบันสังคมและวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ทั้งครอบครัว ชุมชน ศาสนา การศึกษา สื่อ และภาคเอกชน โดยแผนแม่บท ได้กำหนดแผนย่อยไว้ ๓ แผนย่อย ดังนี้
๑) การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และการเสริมสร้างจิตสาธารณะและการเป็นพลเมืองที่ดี ผ่านการเลี้ยงดูในครอบครัว การบูรณาการเรื่องความซื่อสัตย์ วินัย คุณธรรม จริยธรรม ในการจัดการเรียนการสอน การสร้างความเข้มแข็งของสถาบันทางศาสนา การปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน การส่งเสริมให้คนไทยมีจิตสาธารณะ จิตอาสาและรับผิดชอบต่อส่วนรวม รวมทั้งการสร้างเสริมผู้นำการเปลี่ยนแปลง และต้นแบบที่ดีทั้งระดับบุคคลและองค์กร
๒) การสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมที่พึงประสงค์จากภาคธุรกิจ โดยการเสริมสร้างและพัฒนากลไก เพื่อให้ภาคธุรกิจส่งเสริมสนับสนุนและสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมที่ดี และการยกระดับการบริหารจัดการรวมถึงมาตรการของภาครัฐเพื่อให้ภาคธุรกิจร่วมรับผิดชอบในการปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม
๓) การใช้สื่อและสื่อสารมวลชนในการปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมของคนในสังคม โดยการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ และเสริมสร้างค่านิยมที่ดีให้กับเยาวชนและประชาชนทั่วไป พัฒนาสื่อเผยแพร่เพื่อสร้างเสริมศิลปะและวัฒนธรรม และจัดสรรเวลาและเปิดพื้นที่ให้สื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนในการปลูกจิตสำนึกและสร้างเสริมค่านิยมที่ดี
ดูเอกสารแผนแม่บทเพิ่มเติมได้ที่เอกสารแนบด้านล่าง
ที่มา สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
-------------------------------------------------
สนใจเรื่องราวยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (Thai National Strategy 20 year) เพิ่มเติมคลิกที่นี่
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (Thai National Strategy 20 year) รวมข้อมูล
-------------------------------------------------