E-Book นวัตกรรมนำสู่อนาคตประเทศไทย (Innovation leads the future of Thailand)
เอกสารประกอบการประชุมประจำปี 2560 ของ สศช. เรื่อง “ขับเคลื่อนแผนฯ 12 สู่อนาคตประเทศไทย” วันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม 2560 ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
การพัฒนาพื้นที่ภาคและเมืองสู่อนาคตประเทศไทย
การพัฒนาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคต ต้องอาศัยความรู้และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนอย่างเข้มข้น การใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ช่วยให้เกิดการพัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างมากมายและไม่หยุดยั้ง นำไปสู่การแก้ไขปัญหาและเพิ่มศักยภาพให้ภาคการผลิตและบริการ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคธุรกิจและเป็นส่วนสำคัญของการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์ที่มี ความเสี่ยงความท้าทายจากโครงสร้างประชากรสูงอายุ ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผันผวน และความจำเป็นที่จะต้องสร้างความมั่นคงด้านอาหาร น้ำ และพลังงาน รวมทั้งภายใต้แรงกดดันที่จะต้องเพิ่มรายได้ของประเทศท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น โดยที่นานาประเทศก็หันไปใช้การเพิ่มประสิทธิภาพและการเพิ่มคุณค่าของสินค้าและบริการเป็นอำนาจการต่อรองและรุกคืบส่วนแบ่งตลาด จากข้อมูลของ UNESCO Science Report Towards 2030 ระบุว่า ประเทศส่วนใหญ่ยอมรับความสำคัญของนโยบาย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ว่ามีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางหลายประเทศ มีการวางแผนระยะยาวถึงปี ค.ศ. 2020/2030 เพื่อหาแนวทางการพัฒนาที่สามารถทำให้ประเทศก้าวสู่ระดับรายได้ที่สูงขึ้น เช่น ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเคยมีอัตราการเติบโตของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ต่ำกว่าประเทศไทย แต่ในช่วงระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาเกาหลีใต้ได้ใช้นโยบายนวัตกรรมเพื่อผลักดันประเทศ ทั้งการสนับสนุนภาคเอกชนให้ทำวิจัยอย่างเข้มข้นเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์มาแข่งขันในระดับโลกจนเกิดสินค้า นวัตกรรมชั้นนำในระดับโลก อาทิ Samsung และ LG เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทั้งสนับสนุนทุนการศึกษา และสร้างบุคลากรวิจัย จนปัจจุบันเกาหลีใต้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูง สำหรับประเทศไทยการขับเคลื่อนประเทศให้ไปสู่ประเทศรายได้สูงภายในปี ค.ศ. 2036 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จำเป็นที่จะต้องปรับตัวและพลิกโฉมจากประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพ (Efficiency-driven) มาเป็นการขับเคลื่อนบนฐาน นวัตกรรม (Innovation-driven) ที่มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการผลิต การค้า และ การบริการ เพื่อกระตุ้นการเพิ่มผลิตภาพและสร้างงานที่มีคุณค่าซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต เพิ่มรายได้จากฐานเดิมและสร้างรายได้จากฐานใหม่ ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยผลักดันให้การพัฒนาและใช้นวัตกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญที่ขับเคลื่อน การพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ เป็นนโยบายสำคัญ
“นวัตกรรม (Innovation)” มีรากศัพท์มาจากคำว่า Innovare ในภาษาละตินแปลว่า “ทำสิ่งใหม่ขึ้นมา” โดยนิยามของนวัตกรรมมี หลากหลายขึ้นอยู่กับการตีความและกรอบแนวคิดที่แตกต่างกันออกไป ในแต่ละประเทศ อาทิ สหภาพยุโรปซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแนวคิด เรื่อง “ระบบนวัตกรรมแห่งชาติ” ได้ให้คำนิยามว่า “นวัตกรรม คือ การได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่ กระบวนการผลิตใหม่ การตลาดหรือรูปแบบ องค์กรใหม่ ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงมูลค่าในรูปผลประโยชน์ด้านการเงิน ชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดี และความมีประสิทธิภาพ 2 เป็นต้น ดังนั้น ลักษณะที่สำคัญ ของนวัตกรรมจึงมี 3 ประการ คือ
(1)จะต้องเป็นสิ่งใหม่ (Novelty)
(2) ต้องมีการนำไปใช้ (Adoption)
(3) ก่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงมูลค่า (Outcome) เช่น การเพิ่มมูลค่าทางการเงินของสินค้าและบริการ การเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตและการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้นวัตกรรม เป็นต้น
โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) (Oslo Manual, 2005.) ได้จำแนกนวัตกรรมเป็น 4 ประเภทหลัก ดังนี้
(1) นวัตกรรมผลิตภัณฑ์
(2) นวัตกรรมกระบวนการ
(3) นวัตกรรมการตลาด
(4) นวัตกรรมองค์กร
ระบบนวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation System: NIS) เป็นแนวความคิดที่เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษ 1980 เพื่อใช้อธิบายความแตกต่างของความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมบนฐานความคิดที่ว่า “ความเชื่อมโยง ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญที่นำไปสู่การปรับปรุงประสิทธิภาพด้านเทคโนโลยี” โดย ความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและทางเทคนิคเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำหน้าที่ผลิตแจกจ่าย และปรับใช้ความรู้อย่างหลากหลายทั้งนี้ ประสิทธิภาพทางนวัตกรรมของประเทศขึ้นอยู่กับระบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์กรภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยของภาครัฐ ซึ่งเชื่อมโยงองค์ความรู้และเทคโนโลยีระหว่างกันในรูปแบบของความร่วมมือ อาทิ การวิจัยร่วม การแลกเปลี่ยนบุคลากร การใช้สิทธิบัตรร่วมกันการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์และเครื่องมือและรูปแบบอื่น ๆ ทั้งนี้ OECD ได้วางกรอบระบบนวัตกรรมแห่งชาติที่มีการเชื่อมโยงระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งในรูปแบบของความร่วมมือกิจกรรมและการไหลเวียนขององค์ความรู้และเทคโนโลยี
ระบบนวัตกรรมไทย สำหรับประเทศไทย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ได้ให้นิยามว่า นวัตกรรม คือ ผลลัพธ์ของการเชื่อมโยงของทรัพยากรมนุษย์ ทุนทางการเงินและโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงการวิจัยและพัฒนา เพื่อก่อให้เกิด “ระบบนิเวศนวัตกรรม” ที่เหมาะสม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรม เช่น กรอบนโยบาย กฎระเบียบ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาองค์ประกอบหลักที่ทำให้เกิดนวัตกรรม ได้แก่ ทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นแหล่งขององค์ความรู้และทักษะต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษาและประสบการณ์ทุนทางการเงินและโครงสร้างพื้นฐาน โดยการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและแหล่งเงินทุน และการวิจัยและพัฒนา โดยการ สนับสนุนผลงานวิจัยที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีศักยภาพสูงในการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์
ทั้งนี้ สนช. ได้ปรับใช้กรอบแนวคิดระบบนวัตกรรมของ Stefan Kuhlmann และ Erik Arnold5 เพื่ออธิบายระบบ นวัตกรรมในบริบทของไทย ที่ผู้เกี่ยวข้องและสถาบันต่าง ๆ มีบทบาทเชื่อมโยงกันในการพัฒนาแพร่กระจายและใช้เทคโนโลยี โดยจะปฏิสัมพันธ์กันในลักษณะเครือข่ายมีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Actors) เครือข่าย (Network) สถาบัน (Institutions) และเทคโนโลยี (Technology) รวมทั้งได้แบ่งนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
(1) นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์และบริการ
(2) นวัตกรรมด้านกระบวนการ
(3) นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี
(4) นวัตกรรมด้านสังคม
นิยามที่ สนช. ได้นำมาปรับใช้จึงให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงของทรัพยากรมนุษย์ ทุนทางการเงินและโครงสร้างพื้นฐานและการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมในการพัฒนาแพร่กระจายและใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และได้กำหนดประเภทของนวัตกรรมที่แตกต่างจาก OECD ในเรื่องนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสังคม
สนใจอ่านข้อมูลเพิ่มเติมในเล่ม
ดาวน์โหลด E-book ได้ที่ https://iok2u.com/index.php/news/e-booka/1274-e-book-innovation-leads-the-future-of-thailand
ที่มา https://www.nesdc.go.th
ภาพและรวบรวมโดย www.iok2u.com
สนใจเรื่องราว Innovation เพิ่มเติมคลิกที่นี่
innovation นวัตกรรม (Innovation) รวมข้อมูล-------------------------------------------------