Lertsin 030 ฤๅกรุงเทพจะจมทะเล (2)
30. ฤๅกรุงเทพจะจมทะเล (2)
เชื่อว่ามีหลายคนสังเกตว่าการคำนวณระดับทะเลขึ้นโดยจำลองสถานการณ์ที่คิดว่าเลวร้ายที่สุด ยังไม่ได้เอาปัจจัยระดับทะเลขึ้นจากภาวะโลกร้อนมาใช้เลย ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่า ภาวะโลกร้อนยังไม่เกิด เอาล่ะ สมมติว่าวันนี้เกิดอย่างรุนแรง น้ำแข็งขั้วโลกละลายอย่างฉับพลัน ต้องถามต่อ ขั้วโลกไหน เหนือหรือใต้ หรือละลายทั้งสองขั้วพร้อมกัน เขาบอกว่าธรรมชาติของน้ำจะไหลจากที่สูงไปที่ต่ำ น้ำจากขั้วโลกเหนือไหลลงใต้ น้ำจากขั้วโลกใต้ไหลขึ้นเหนือ จุดสูงในมหาสมุทรอยู่ตรงไหน ต่ำอยู่ที่ใดใครช่วยบอกที
การเคลื่อนที่ของน้ำในมหาสมุทรไหลตามกระแสน้ำ ตัวการที่ทำให้เกิดกระแสน้ำมหาสมุทรคือ ลม ความหนาแน่นของน้ำทะเล โลกหมุนรอบตัวเอง ทวีปขวางกั้นและระดับน้ำที่แตกต่างกัน ขออธิบายเพิ่มอีกนิดเดียวเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าน้ำจากการละลายของน้ำแข็ง กว่าจะไหลมาถึงไทยต้องผ่านอุปสรรคอะไรบ้าง
บริเวณเส้นศูนย์สูตรมีลมค้าพัดจากตะวันออกไปตะวันตก ถัดไปเป็นลมตะวันตกพัดจากตะวันตกไปตะวันออก คอยขวาง ไม่ให้น้ำจากขั้วโลกมาไทยง่ายๆ
ความหนาแน่นของน้ำที่ขั้วโลกหนาแน่นกว่า เคลื่อนที่อยูใต้พื้นน้ำ ในขณะที่น้ำบริเวณเส้นศูนย์สูตรเคลื่อนที่บนผิวน้ำ มาถึงอ่าวไทยที่เป็นทะเลตื้น น้ำจากขั้วโลกคงอ่อนแรง
โลกหมุนรอบตัวเอง ทำให้น้ำจากซีกโลกเหนือเฉไปทางขวา ซีกโลกใต้เฉไปทางซ้าย กว่าจะมาถึงไทย คงใช้เวลาทวีปกั้น ทางขั้วโลกเหนืออาจไม่มีอุปสรรคมาก มาทางมหาสมุทรแปซิฟิก แต่จากขั้วโลกใต้มีทวีปออสเตรเลียขวางทำให้น้ำเปลี่ยนทิศทางระดับน้ำทะเลที่แตกต่าง ทำให้น้ำในมหาสมุทรเคลื่นที่ แต่คงไม่เร็วนัก แบบที่เคยกล่าวไว้แล้วว่าน้ำทะเลฝั่งอันดามันสูงกว่าฝั่งอ่าวไทยมันก็สูงกว่าตลอดไม่มีการเกลี่ยให้เท่ากันสักที
จากเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด เลยไม่ได้เอาค่าระดับทะเลขึ้นจากภาวะโลกร้อนมาพิจารณา เมื่อไรที่ยุโรป คานาดา ประสบภัย เราน่าจะยังมีเวลาเตรียมตัวโดยไม่ได้ตั้งอยู่ในความประมาท ขอให้เตรียมรับมือกับวัฏจักรขาขึ้นของระดับ ทะเลในอ่าวไทยให้ดีน่าจะอุ่นใจได้
20-30 ปี สำหรับการเตรียมตัวสู้ภัยน้ำทะเลขึ้น นับว่าไม่นานเลย ขอให้ผู้กำหนดนโยบายตระหนักว่าภัยนี้มีจริง ต้องเริ่มลงมือทำได้แล้ว แต่จะทำอะไร อย่างไรคงต้องคุยกับชาวบ้านให้รู้ ให้เข้าใจว่าจะเกิดอะไร แล้วเราจะทำอะไร เดินไปด้วยกัน แนวทางหลักๆคงต้องเลือกเอาว่าจะไปแนวทางไหน ยอมรับปรับตัว กล้าๆกลัวๆ หรือสู้ตาย
แนวทางยอมรับปรับตัว เป็นแนวทางที่ใช้หลักการถอยร่น ยอมรับว่าไม่ชนะธรรมชาติ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องอพยพไปอยู่บนดอย แค่ยอมให้น้ำทะเลสามารถรุกล้ำเข้ามาได้บางส่วน อาจลดผลกระทบได้โดยการใช้มาตรการทางกฎหมาย เช่น กำหนดพื้นที่เสี่ยงริมชายฝั่งในผังเมืองรวมเพื่อให้ประชาชนรับทราบและเตรียมรับมือ ห้ามการขุดดินขายในบริเวณพื้นที่ริมชายฝั่งตั้งแต่ 0-5 กิโลเมตร นอกจากนั้นยังสามารถใช้การอนุรักษ์ป่าชายเลน หรือใช้โครงสร้างลดการกัดเซาะชายฝั่งที่เหมาะสมเพื่อเป็นการชะลอการกัดเซาะได้อีกด้วย ลดหรือหยุดสูบน้ำบาดาลบริเวณพื้นที่ริมชายฝั่ง เพื่อลดการทรุดตัวของพื้นดิน
แนวทางกล้าๆกลัวๆ คือสู้ไปถอยไป มีมาตราการหลักคือการเสริมทรายชายหาดให้สูงขึ้นกว้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ให้นานขึ้น ถมที่กลับคืนหรือถมทะเลเพื้อป้องกัน ปลูกป่าชายเลนเพิ่ม แต่พร้อมถอยโดยใช้แนวถนนเป็นคันกั้นน้ำ ใช้ถนนพระรามที่ 2 ถนนกาญจนาภิเษก ด้านใต้ (บางพลี-บางขุนเทียน) และถนนสุขุมวิท ไปสิ้นสุดบริเวณถนนเข้านิคมอุตสาหกรรมบางปะกง
แนวทางสู้ตาย คือไม่กลัวธรรมชาติเชื่อว่าโครงสร้างทางวิศวกรรมเอาชนะธรรมชาติได้ เช่นการถมทะเลถาวรและใช้ประโยชน์พื้นที่ใหม่อย่างเต็มที่ การสร้างประตูน้ำและสะพานข้ามอ่าว เป็นการสร้างโครงสร้างทางวิศวกรรม กระทบกับสภาพสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชน มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากมาย และการลงทุนจำเป็นต้องใช้เงินมหาศาล
จะเลือกแนวทางใดก็ขอให้ประชาชนได้มีส่วนรับรู้ มีสิทธิแสดงความคิดเห็น คงไม่มีใครอยากเห็นกรุงเทพค่อยๆสำลักและจมทะเลโดยไม่มีมาตราใดมารองรับ แต่อดเป็นกังวลเล็กๆถ้าหากเลือกมาตราการสู้ตาย กลัวได้ตายจริงเพราะยังไม่เห็นใครเอาชนะธรรมชาติได้เลย ประวัติศาสตร์โลกสอนว่าเมื่อธรรมชาติทวงคืน ความสูญเสียต่อมวลมนุษยชาติเกินบรรยาย
เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์
1 ตุลาคม 2564
ที่มา
- https://www.facebook.com/เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
Lertsin บทความ เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ (Lertsin Raksaskulwong) รวมข้อมูล-------------------------------------------------