Lertsin 031 เผชิญภัยแผ่นดินไหว
ในปีพ.ศ. 2518 ขณะที่กำลังเรียนวิชาแผ่นดินไหวกับอาจารย์สุภาพ มีเพื่อนร่วมเรียนอยู่4คนเพราะเราใช้ระบบหมุนเวียน พลันให้รู้สึกเวียนหัว จะอาเจียรอาการเหมือนเมาค้างทั้งที่คืนก่อนก็ไม่ได้ฉลองอะไรเลย เงยหน้ามองเพดาน เห็นหลอดไฟที่แขวนอยู่แกว่ง จะถามอาจารย ก็ไม่เห็นแล้ว เดินโงเงจากห้องเรียนชั้น3 ตึกจีโอ มาที่ระเบียง มองลงไปข้างล่างเห็นอาจารย์สุภาพกำลังพูดเสียงดัง มีคนยืนฟังอยู่ด้วย เสาไฟฟ้าแกว่งแบบนี้ แสดงว่าจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว อยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ วันนั้นเข้าทาง จบชั่วโมงเรียนตั้งแต่ยังไม่หมดเวลา วันรุ่งขึ้นถึงได้รู้ว่าเกิดแผ่นดินไหว มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก
ช่วงชีวิตการทำงานเผชิญเหตุกับปรากฏการณ์แผ่นดินไหวทั้งในไทยและต่างประเทศหลายครั้ง แต่ที่น่าตื่นเต้นคือการอบรมเชิงปฎิบัติการเรื่องรอยเลื่อนมีพลัง ที่ประเทศกรีซ เมื่อปี พ.ศ.2530 ผมเข้าร่วมอบรมในฐานะเป็นนักศึกษาปริญญาโท จากประเทศเบลเยี่ยม การสัมมนาครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้เข้าใจถึงกระบวนการเกิด และแนวทางการลดผลกระทบจากภัยแผ่นดินไหว ระหว่างการสัมมนา มีการออกพื้นที่เพื่อดูของจริง ได้เห็นเกาะครีตซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศกรีซมีการเปลี่ยนแปลงทางนีโอเทคโทนิก มีการพบหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าด้านเหนือยกตัวขึ้นส่วนด้านใต้จมตัวลง เนื่องจากด้านเหนือพบหลักฐาน เสาอาคารสมัยกรีกโบราณที่มีเพรียงทะเลเกาะอยู่ไปอยู่บนเนินเขาที่สูงกว่าระดับทะเลปัจจุบันถึง60เมตร ในขณะที่ด้านใต้ของเกาะ อาคารเก่า จมใต้ทะเลหมด
เมื่อถึงทีพัก วางกระเป๋า ล้มตัวลงนอน กำลังเคลิ้ม ได้ยินเสียงเคาะประตู ก๊อก ก๊อก ก๊อก คิดว่าเป็นพนักงานโรงแรม ลุกขึ้นไปดู ไม่มีใคร กลับมานั่ง เสียงดังอีก ไม่มีคนเช่นเดิม เอาละสิ ผีกรีกเล่นงานป่าว พอนึกถึงผี สิ่งที่คิดตามมาคือ สวดมนต์ พอสวดสักพัก สติเริ่มมา เกาะครีต มีแผ่นดินไหวบ่อยมาก ลุกขึ้นไปเปิดตู้เสื้อผ้า พบที่มาของเสียง ไม้แขวนเสื้อแกว่งกระทบกับขอบตู้ แสดงว่าเกิดแผ่นดินไหว ขนาดไม่รุนแรงนัก รีบเอาเสื้อคลุมไปแขวนทับ เสียงคล้ายผีหลอกก็หายไป เชื่อว่าผู้ที่เดินทางไปประเทศที่มีแผ่นดินไหวบ่อย เช่น ญี่ปุน นิวซีแลนด์ อาจเคยประสบมาแล้วเช่นกัน
หลังจากเสียงเคาะประตูหายไป พอเคลิ้มหลับ ทีนี้มาหนักเลย ห้องโดนเขย่า ลุกขึ้นมาเปลี่ยนเสื้อผ้าเตรียมพร้อม ใจเต้นโครมครามมองหาโครงสร้างในห้องที่จะเป็น"triangle of life" มีผู้รู้บอกว่าถ้าผจญเหตุแผ่นดินไหวอยู่ในอาคารให้ไปอยู่ตรงโครงสร้างแบบสามเหลี่ยมแห่งชีวิตหากแผ่นดินไหวจนอาคารพัง อาจรอดชีวิตจนมีคนมาช่วยได้ทัน แต่ดูไม่ออกไม่รู้ตรงไหนแน่ นึกถึงคำง่ายๆ drop cover hold หมอบ ป้อง ยึด รีบมุดใต้โต๊ะมือยึดขาโต๊ะไว้แน่น พอตึกหยุดสั่น รีบออกจากห้อง เห็นคนอื่นออกมาเหมือนกัน ลงบันได เดินตามคนอื่น สังเกตมีคนถือธงเดินนำออกนอกโรงแรม ไปรวมพลที่จุดปลอดภัย ผ่านไปเป็นชั่วโมง เขาให้กลับขึ้นห้องได้ แต่คืนนั้นไม่ต้องนอน
วันรุ่งขึ้นวิทยากรอารมณ์ขันบอกว่าเมื่อคืนได้จำลองสถานการณ์ให้ดู จะได้รู้จริง หัวเราะไม่ออกหรอก เขาบอกว่า หมอบ ป้อง เกาะ คือวิธีการปฏิบัติตัวเมื่อเผชิญเหตุแผ่นดินไหวได้ดีที่สุด รอจนสถานการณ์สงบแล้วค่อยออกจากอาคารด้วยการเดินเร็ว เขาอธิบายต่อว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหว คนที่อยู่ในอาคารมักจะตกใจรีบวิ่งออกมา บางคนใช้ลิฟท์แล้วเกิดไฟดับ ลิฟท์ค้าง บางคนประสบอุบัติเหตุจากการวิ่ง สมมติว่าแผ่นดินไหวรุนแรงจนตึกพัง ใช้เวลาไม่เกิน2นาที ยังไงก็ไม่ทัน รีบวิ่งหนีมีโอกาสตายจากอุบัติเหตุ แต่ถ้ามุดใต้โต๊ะ ป้องกันสิ่งของร่วงมาใส่หัว รอจนรู้สึกว่าตึกหยุดสั่นแล้วรีบออกจากอาคารจะดีกว่า ที่ต้องออกจากตึก เพราะคลื่นแแผ่นดินไหวไม่ได้มาครั้งเดียวมีคลื่นทำลายล้างตามมาได้อีก จึงควรรีบออกจากอาคารไปยังที่ปลอดภัย
ภายหลังได้มีโอกาสมาดูแลเรื่อง แผ่นดินไหวในประเทศไทย ไม่ใช้คำว่าศึกษาเพราะมีผู้ศึกษาวิจัยจนมีข้อมูลดีอยู่แล้ว รู้ว่าจุดไหน พื้นที่ใด มีรอยเลื่อนมีพลังพาดผ่าน จุดเกิดแผ่นดินไหว อยู่ตามแนวรอยเลื่อนเหล่านี้ แต่รอยเลื่อนมีพลังในไทย มีขนาดเล็ก ก่อให้เกิดแผ่นดินไหว ขนาดเล็ก หรือขนาดกลางเท่านั้น จนมีคำพูดเปรียบเทียบว่า พื้นที่ที่เสี่ยงภัยจากแผ่นดินไหวที่สุดของไทยยังจะปลอดภัยกว่าจุดที่ปลอดภัยที่สุดจากแผ่นดินไหวของญี่ปุนเสียอีก ใครที่ไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นเกิน10วันแล้วไม่เจอเหตุการณ์แผ่นดินไหวนับว่าโชคไม่ดี ไม่มีประสบการณ์เผชิญเหตุ
จำคำว่าดินเหนียวกรุงเทพได้ไหม ที่เป็นตะกอนทะเลสีดำ มีคุณสมบัติพิเศษคือขยายคลื่นแผ่นดินไหวได้ แม้กรุงเทพมหานครจะอยู่ห่างจากแนวรอยเลื่อนมีพลัง แต่เมื่อเกิดแผ่นดินไหว คลื่นมาไกลทั้งจากภายในและต่างประเทศเริ่ม หมดแรง เจอชั้นดินเหนียวกรุงเทพ คลื่นขยายตัว คนกรุงเทพจึงรับรู้ถึงการเกิดแผ่นดินไหวอยู่เนืองๆ มีคำถามว่าตึกจะพังไหม ตึกไหนอันตราย ตอบได้เต็มปาก "ไม่ทราบเหมือนกัน" ปัจจุบันเรามีกฏหมายควบคุมอาคาร ถ้าจะสร้างอาคารสูงในกรุงเทพมหานครต้องสามารถทนต่อแรงเขย่าของแผ่นดินไหวได้ด้วย ดังนั้นตึกสูงที่สร้างใหม่หลังจากที่กฏหมายควบคุมอาคารออกมาเมื่อประมาณ20ปีที่แล้ว วิศวกรคงไม่ยอมให้พังง่ายๆแน่ ตึกเก่ากว่านั้นก็คงมีการตรวจสอบทางด้านวิศวกรรมเพื่อให้ปลอดภัยสูงสุด ส่วนทาวน์เฮาส์ 2ชั้นเล็กๆแถวลาดพร้าว แม้จะสร้างมา40ปีแล้วคงไม่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเพราะเล็กจนคลื่นหาไม่เจอ
เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์
2 ตุลาคม 2564