iok2u.com แหล่งรวมข้อมูลข่าวสารเรื่องราวน่าสนใจเพื่อการศึกษาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้

มิสเตอร์เรน (Mr. Rain) และมิสเตอร์เชน (Mr. Chain)
Mr. Rain และ Mr. Chain สองพี่น้องในโลกออฟไลน์และออนไลน์ที่จะมาร่วมมือกันสร้างสื่อสารสนเทศ เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้ในเรื่องราวต่างๆ มากมายสร้างสังคมในการเรียนรู้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องตอบแทนกลับมา
Pay It Forward เป้าหมายเล็ก ๆ ในการส่งมอบความดีต่อ ๆ ไป
เว็ปไซต์นี้เกิดจากแรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward ที่เล่าถึงการมีเป้าหมายเล็ก ๆ กำหนดไว้ให้ส่งมอบความดีต่อไปอีก 3 คน หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องตอบแทนกลับมา อยากให้ส่งต่อเพื่อถ่ายทอดต่อไป
ยืนหยัด เข้มแข็ง และกล้าหาญ (Stay Strong & Be Brave)
ขอเป็นกำลังใจให้คนดีทุกคนในการต่อสู้ความอยุติธรรม ในยุคสังคมที่คดโกงยึดถึงประโยชน์ส่วนตนและพวกฟ้องมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม จนหลายคนคิดว่าพวกด้านได้อายอดมักได้ดี แต่หากยึดคำในหลวงสอนไว้ในเรื่องการทำความดีเราจะมีความสุขครับ

Lertsin 040 บั้งไฟพญานาค ในมุมมองนักธรณีวิทยา (2) 

 

Lertsin 040 บั้งไฟพญานาค ในมุมมองนักธรณีวิทยา (2)

2 ปีกว่าของการพิสูจน์ความจริงเรื่องบั้งไฟพญานาค ทีมของ ดร.ปริญญา ต้องทำงานด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ พิจารณาทุกแง่มุมที่เป็นไปได้ มีการเก็บตัวอย่างทั้งตะกอนดิน น้ำ อากาศ ใช้ข้อมูลธรณีฟิสิกซ์ และไปนั่งเฝ้าดูปรากฏการณ์ 2 ครั้ง กระจายกำลังกันไปเฝ้าดูทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว ใช้เครื่องมือของทั้งทหารและเอกชน โดยเฉพาะกล้องเลเซอร์คุณภาพสูงเพื่อให้ได้ภาพชัดๆ ของบั้งไฟพญานาคที่ขึ้นจากลำโขงจริงๆ แต่กล้องดีเกิน จับความร้อนของแมลงที่บินอยู่เหนือลำโขงได้หมด ทำให้ได้ภาพที่ไม่สามารถบ่งบอกอะไรได้มาก

การค้นคว้างานวิจัยจากทั่วโลก พบว่าปรากฏการณ์ลูกไฟประหลาดคล้ายบั้งไฟพญานาคมีอยู่หลายประเทศ เช่น อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย เรียกชื่อแตกต่างกันไป สีสันของลูกไฟแตกต่างกันในแต่ละแห่ง แต่ที่เหมือนกัน คือ พบอยู่ใกล้ที่ชื้นแฉะที่มีปริมาณอินทรียสารสูงและมีน้ำท่วมขังนาน

นักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่มหลายสาขาทั้งไทยและเทศ ได้ตั้งสมมติฐานการเกิดลูกไฟแบบนี้ไว้ 2 แนวทาง คือ ทฤษฎีว่าด้วยความเครียดของแผ่นดิน และการหมักหมมของซากพืชซากสัตว์จนเกิดก๊าซชีวภาพ สมมติฐานแรกเกี่ยวพันกับธรณีศาสตร์โดยตรง สัมพันธ์กับรอยเลื่อนมีพลังและการเกิดแผ่นดินไหว แต่สภาพธรณีวิทยาบริเวณ จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ ข้ามฝั่งไปยังแขวงนครเวียงจันทน์ ปากซัน แขวงบอลิคำไซ เป็นแบบธรณีวิทยาไร้พรมแดน หมายถึงชั้นหินแบบเดียวกันวางตัวต่อเนื่องทะลุชายแดน ลำน้ำโขงตรงนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนมีพลังแต่อย่างใด การเกิดลูกไฟ จึงไม่น่าเกี่ยวพันกับทฤษฎีความเครียดของแผ่นดิน อีกสมมติฐานหนึ่งต้องใช้ความรู้หลายสาขา แม้ปริมาณสารอินทรีย์ในตะกอนแม่น้ำโขงจะต่ำมาก การเกิดก๊าซชีวภาพก็จะยากขึ้นเช่นกัน แต่อินทรียสารของตะกอนตามท้องทุ่งนา และในลำห้วยสาขามีไม่น้อยเลย จากการสำรวจ ตรวจสอบ และสอบถาม บริเวณที่พบบั้งไฟพญานาค มักอยู่ใกล้ปากห้วยสาขาที่ไหลมาสบกับลำน้ำโขง ยิ่งถ้าพบน้ำวนในบริเวณที่ลำน้ำมาสบกันยิ่งมีโอกาสพบมากขึ้น

จากข้อมูลการสำรวจในพื้นที่และการวิเคราะห์ตัวอย่างในห้องปฏิบัติการ มีความเป็นไปได้สูงมากที่บั้งไฟพญานาค เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่สัมพันธ์กับการเกิดก๊าซชีวภาพ โดยการหมักหมมของซากพืชซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย ในพื้นที่ชื้นแฉะและมีน้ำท่วมขังนานทำให้เกิดสภาพขาดออกซิเจน แบคทีเรียทำงานได้ดี กลุ่มก๊าซชีวภาพประกอบด้วย คาร์บอนไดออกไซด์ แอมโมเนีย ไอน้ำ ก๊าสไข่เน่า มีเทน และฟอสฟีนในสัดส่วนที่ต่างกัน มีเทนไม่ละลายน้ำ ฟอสซีนละลายน้ำได้เล็กน้อย เมื่อถูกชะล้างพัดพาลงไปในแหล่งน้ำ ก๊าซทั้งสองชนิดจึงอยู่ในรูปของฟองอากาศ

ฟองมีเทนผสมฟอสฟีน อยากจะขึ้นเหนือระดับน้ำก็ขึ้นไม่ได้ ยิ่งถ้าระดับน้ำยังสูงอยู่ ยิ่งหมดสิทธิ์ ต้องรอให้ระดับน้ำลดลง ปรกติระดับน้ำโขงที่หนองคายในเดือนตุลาคม จะต่ำกว่าในเดือนกันยายนไม่น้อยกว่า 4 เมตร ฟองก๊าซอาจหลุดขึ้นมาผิวได้บ้าง แต่ฟองก๊าซมีเทนขนาดเล็กไม่สามารถฝ่าแรงกดทับของน้ำขึ้นสู่ผิวน้ำได้โดยง่าย ต้องรวมตัวเป็นฟองใหญ่เพื่อเอาชนะแรงกดทับของน้ำ จึงสามารถทะลักขึ้นสู่ผิวน้ำด้วยความเร็วสูงเพื่อคงสภาพความเป็นมวลแก็สได้ชั่วขณะ ตรงไหนมีน้ำวน ฟองก๊าซจะรวมตัวกันใหญ่ขึ้น แรงเหวี่ยงในน้ำวนทำให้ฟองก๊าซหลุดออกมาในแนวเฉียงจึงได้เห็นบั้งไฟพญานาคกลุ่มแรกพุ่งขึ้นมาในแนวเฉียง 50-60 องศาจากพื้นผิวน้ำ ฟองมีเทนอีกกลุ่มรวมตัวได้ฟองใหญ่เกิดแรงลอยตัว ขึ้นมาในแนวดิ่ง เมื่อสัมผัสอากาศ ฟอสฟีนจะติดไฟด้วยตัวเองทำให้มีเทนติดไฟ เมื่อมีเทนหมด ไฟก็ดับ ดังนั้นบั้งไฟพญานาคของแท้จะลอยขึ้นไปได้ไม่สูงมากนัก ส่วนสีของบั้งไฟที่แตกต่างกันคงขึ้นอยู่กับธาตุที่ผสมอยู่ในแร่ดินที่ปะปนอยู่ในฟองก๊าซ ธาตุลิเธียม แคลเซียม เมื่อติดไฟให้เปลวสีแดง ธาตุโซเดียมให้เปลวสีเหลือง

แล้วทำไมต้อง 15 ค่ำ เดือน 11 นี่แหละคือสิ่งสำคัญ ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดินว่าเป็นช่วงที่มีมีเทนมากสุด น้ำโขงลดลงมากำลังพอดี มีสภาพแวดล้อมพอเหมาะ คงขัดใจสายมูไม่น้อย กลไกเชิงกายภาพที่ส่งเสริมให้เกิดปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค มันช่างมีคาบพอเหมาะที่มาตรงหรือใกล้เคียงกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา คำว่าบังเอิญคงไม่มี หรือนี่คือปาฏิหาริย์ คืออำนาจที่ควบคุมวัฏจักรของโลก อาจเป็นเพราะเหตุนี้จึงยังไม่มีใครสามารถถ่ายรูปบั้งไฟพญานาคได้อย่างชัดเจน แม้มีความพยายามเป็นล้านๆครั้ง จึงเห็นด้วยกับหมอมนัสที่ว่าบั้งไฟพญานาคคือมรดกไทย มรดกโลก ควรหาโอกาสไปดูสักครั้งให้เห็นสิ่งที่ธรรมชาติรังสรรอย่างสวยงาม

ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการชมบั้งไฟพญานาคให้ตื่นเต้นเร้าใจคือไปก่อนตะวันมืด เลือกทำเลที่มีสบห้วยลงลำน้ำโขง ถ้าไม่มีน้ำวนให้มุ่งเน้นไปที่ห้วยเล็ก ถ้ามีน้ำวนให้เพ่งกระแสจิตไปตรงนั้น จำแนกให้ออก บั้งไฟพญานาคของจริงกับกระสุนปืนส่องวิถี ถ้าจะให้ดีข้ามไปฝั่งลาว ไปในวันออกพรรษาลาว ตรงไปที่สบน้ำงึม บ้านไฮ แขวงบอลิคำไซ จะได้พบบรรยากาศการเฝ้าดูบั้งไฟพญานาคของชาวลาวที่ไม่ต่างกว่าฝั่งไทย แต่อย่าลืมเตรียมใจสำหรับความผิดหวัง เพราะธรรมชาติไม่เคยเห็นใจคุณ

 

เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์

19 ตุลาคม 2564

 
 

ที่มา

https://www.facebook.com/เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์

รวบรวมข้อมูลและภาพ

www.iok2u.com

-------------------------------------------------

Lertsin บทความ เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ (Lertsin Raksaskulwong) รวมข้อมูล

-------------------------------------------------


 

ขอต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์
www.iok2u.com
แหล่งข้อมูลสารสนเทศเพื่อคุณ

เว็บไซต์ www.iok2u.com นี้เกิดมาจาก แรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward โดยมีเป้าหมายเล็ก ๆ ที่กำหนดไว้ว่า ทุกครั้งที่เข้าเรียนสัมมนาหรืออบรมในแต่ละครั้ง จะนำความรู้มาจัดทำเป็นบทความอย่างน้อย 3 เรื่อง เพื่อมาลงในเว็บนี้
ความตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับมาทำการถ่ายทอดต่อไป และหวังว่าจะมีคนมาอ่านแล้วเห็นว่ามีประโยชน์นำเอาไปใช้ได้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลย โดยอาจไม่ต้องอ้างอิงที่มาหรือมาตอบแทนผู้จัด แต่ขอให้ส่งต่อหากคิดว่ามันดีหรือมีประโยชน์ เพื่อถ่ายทอดความรู้และสิ่งดี ๆ ต่อไปข้างหน้าต่อไป Pay It Forward