การต่อสู้ของเจ้าตัวเล็ก (Fighting Dinosaurs) ทะเลทรายโกบีตอนใต้ มองโกเลีย
ตั้งแต่ปีค.ศ. 1922 เมื่อมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ของรอย แชปแมน แอนดรูว์ กับคณะจากพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติแห่งอเมริกา ผาเปลวเพลิงก็กลายเป็นเป้าหมายของนักสำรวจซากไดโนเสาร์ทั่วโลก รวมทั้งตัวเขาเอง ผู้ที่ต่อมาในปัจจุบันได้ถูกกล่าวขานว่าคือต้นตำนานของอินเดียน่า โจนส์ แต่เมื่อมองโกเลียได้เปลี่ยนไปเป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ นักบรรพชีวินวิทยาจากสหรัฐอเมริกาก็ไม่สามารถจะเข้าไปทำงานต่อได้
สถานที่แห่งนี้ได้กลายเป็นสนามทำงานของนักธรณีวิทยาจากยุโรปตะวันออกแทน และในปีค.ศ. 1971 ทีมสำรวจร่วมโปแลนด์-มองโกเลีย ก็ค้นพบซากกระดูกที่ต่อมามีชื่อเสียงลือกระฉ่อนไปทั่วโลก นั่นคือ ซากกระดูกของเจ้าขโมยลมกรด (Velociaptors) ที่ดูว่าจะนอนหงายท้อง เอาตีนหน้าตะกายลำตัวของเจ้าหน้าเขาต้นแบบ (Protoceratops)ที่กำลังได้เปรียบ โดยใช้เท้าขวาเหยียบเจ้าหัวขโมยไว้ เดาได้เลยว่าทั้งสองตัวกำลังต่อสู้กันอยู่อย่างเอาเป็นเอาตาย ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ตายด้วยกันทั้งคู่จริงๆ ไม่ใช่จากการบาดเจ็บ ทนพิษบาดแผลไม่ไหว แต่เพราะถูกกลบทับอย่างกระทันหันจากพายุทราย ซากดึกดำบรรพ์ชิ้น(s)นี้ เรียกขานกันว่า Fighting Dinosaurs (ศึกไดโนน้อย) (ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์มองโกเลีย) (จากการชันสูตรพลิกศพของนายแพทย์เสือใหญ่ หัวหน้าส่วนการแพทย์ อุทยานไดโนเสาร์ลาดปลาดุก ระบุว่า ลักษณะที่เจ้าหัวขโมยมีศีรษะตกพาดพื้นดินไปนั้น น่าจะเกิดจากการอ่อนแรงหรือสลบไป ในเสี้ยววินาทีนั้น ขณะที่เจ้าเขาหน้าต้นแบบกำลังชูหัวคำรามประกาศชัยชนะนั่นเอง พายุทรายขนาดรุนแรงก็กระหน่ำมาทับทั้งสองร่างอย่างกระทัน จากนั้นทั้งสองก็ถึงแก่ความตายเพราะขาดอากาศหายใจ)
กระทั่งในปี 1990 จนถึงปัจจุบัน หลังจากที่มองโกเลียเปลี่ยนมาเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย นักบรรพชีวินทั้งอเมริกา ทั้งประเทศอื่นๆ รวมทั้งจากประเทศไทย ต่างก็แห่แหนกันไปค้นหาซากดึกดำบรรพ์ที่นี่
สำหรับผู้ที่อกหัก ผิดหวังในการค้นหา หรือผู้ติดตามคณะสำรวจ หรือแม้แต่บุคคลธรรมดาสามัญทั่วไปที่มาที่นี่ ว่ากันว่า แค่ได้เห็นภาพผาหินสีแดงที่มองดูแล้วเสมือนมีประกายและเปลวเพลิงพวยพุ่งออกมาจากหน้าผาของผาเปลวเพลิง ก็นับว่าคุ้มยิ่งกว่าซื้อแฟลตปลาทองอย่างมากมาย ปานนั้นเลยนะครับ ท่านสารวัตร
.
ที่มา https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ www.iok2u.com
-------------------------------------------------
รวมบทความ นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)-------------------------------------------------