ลักษณะทางธรณีวิทยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย สามารถแบ่งออกได้เป็น 8 พื้นที่ตามลักษณะที่ตั้งทางธรณีวิทยา ดังนี้
1. บริเวณเทือกเขาเลย-เพชรบูรณ์ ตั้งอยู่ด้านขอบตะวันตกของอีสานบ้านเฮา ประกอบด้วยเทือกเขาที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ส่วนใหญ่ประกอบด้วยหินตะกอนที่เกิดสะสมตัวในทะเลเมื่อประมาณ 300-250 ล้านปีก่อน ต่อจากนั้นถูกยกตัวเป็นแผ่นดิน และกลายเป็นเทือกเขาเมื่อประมาณ 90 ล้านปีก่อน
2. บริเวณภูเวียง ได้แก่พื้นที่ที่ถูกล้อมรอบด้วยเทือกเขาเลย-เพชรบูรณ์ทางด้านตะวันตก และที่ราบสูงโคราชทางด้านตะวันออก เป็นพื้นที่ที่ราบลุ่ม มีภูเขายอดราบตั้งอยู่ภายในหลายลูก
3. บริเวณขอบที่ราบสูงโคราช ได้แก่แนวเทือกเขาที่ประกอบด้วยกลุ่มหินทรายที่สะสมตัวจากแม่น้ำโบราณเมื่อประมาณ 100 กว่าล้านปีก่อน หินทรายเหล่านี้มีความทนทานต่อการกัดเซาะผุพังทำลายสูง ต่อเมื่อถูกยกตัวเอียงเทจึงเกิดมีลักษณะเป็นภูเขาแบบเควสต้า (เขารูปสันอีโต้) ชั้นหินในทุกแห่งจะเอียงเทลงไปหาใจกลางของที่ราบสูงโคราช
4. เทือกเขาภูพาน ได้แก่เทือกเขาที่มีการวางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยชั้นหินตะกอนของกลุ่มหินโคราชที่ถูกบีบอัดให้เป็นโครงสร้างชั้นหินรูปประทุนคว่ำและประทุนหงายสลับกัน เทือกเขานี้น่าจะเกิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 50 ล้านปีก่อน
5. พื้นที่อุดร-สกลนคร คือที่ราบลุ่มที่อยู่ด้านเหนือของเทือกเขาภูพาน พื้นที่นี้มีชั้นเกลือหินซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน ซึ่งก็วางตัวอยู่บนกลุ่มหินโคราช ซึ่งวางตัวอยู่บนหินตะกอนที่สะสมตัวในทะเลที่มีอายุกว่า 200 ล้านปีอีกต่อหนึ่ง
6. พื้นที่บึงกาฬ ได้แก่พื้นที่ที่กลุ่มหินโคราชวางทับโดยตรงอยู่บนหินที่น่าจะมีอายุมากกว่า 400 ล้านปี และยังมีชั้นเกลือหินอยู่ใต้ดิน และปิดทับด้วยหินทรายที่ส่วนใหญ่เกิดสะสมตัวในทะเลทรายเมื่อประมาณ 80 ล้านปีก่อน
7. พื้นที่โคราช-อุบล เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะที่ตั้งทางธรณีวิทยาคล้ายคลึงกับพื้นที่อุดร-สกลนคร แต่มีขนาดใหญ่กว่า
8. พื้นที่บุรีรัมย์ คือพื้นที่ที่คล้ายคลึงกับพื้นที่บึงกาฬ แต่ว่าไม่มีชั้นเกลือหิน ไม่มีชั้นหินทรายที่เกิดในทะเลทรายวางทับอยู่
.
ที่มา https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ www.iok2u.com
-------------------------------------------------
รวมบทความ นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)-------------------------------------------------