Nares ไทย ขอนแก่น ลูกนิมิตพระร่วง อีกชื่อหนึ่งของมวลสารพอก
ภาพที่ 1 ภาพเขียนสีที่ถ้ำ(อันที่จริงเป็นชะโงกผา)แมงป่อง เวียงเก่า (ภาพจากกรมศิลปากร)
ลูกนิมิตพระร่วง อีกชื่อหนึ่งของมวลสารพอก
ที่ขอบด้านตะวันออกของเทือกเขาภูเวียง ที่ชั้นหินคดโค้งเป็นรูปประทุนหงาย หินโผล่ที่ปรากฏให้เห็นคือหินทรายของหมวดหินพระวิหาร ข้าพเจ้ากับคณะของอุทยานแห่งชาติภูเวียง กับอุทยานธรณีขอนแก่น ได้เดินลัดเลาะปีนป่ายขึ้นไปตามการเอียงเทของชั้นหินที่ลาดจากยอดเขาลงมาสู่ที่ราบลุ่มน้ำบอง เป้าหมายของเราคือไปเยี่ยมชมภาพเขียนสีโบราณก่อนประวัติศาสตร์บริเวณที่ถ้ำแมงป่อง ผาน้ำเที่ยง อำเภอเวียงเก่า เมืองขอนแจ่น ซึ่งก็พบว่ามีลักษณะเป็นภาพสีแดงเขียนยาวต่อเนื่องตลอดแนวผนังหิน ปรากฏภาพเขียนสีจำนวนมาก ที่นักโบราณคดีจากกรมศิลปากร ระบุว่า เป็นภาพลายเส้นคดโค้ง ลายจุดประ ลายตาราง ภาพฝ่ามือมนุษย์ ภาพเขียนเชิงสัญลักษณ์ และภาพสัตว์ ได้แก่ วัว กวาง แมงป่อง ช้าง ภาพคล้ายเลียงผา (ภาพที่ 1) และภาพที่ไม่สามารถระบุความหมายได้อีกเป็นจำนวนมาก คาดคะเนว่าภาพในกลุ่มนี้น่าจะถูกเขียนขึ้นระหว่าง 6,000-5,000 ปีมาแล้ว
นอกจากภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์แล้ว สิ่งที่ข้าพเจ้าและคณะให้ความสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ รูกลมๆ ที่มีขนาดตั้งแต่ 10-70 เซนติเมตรที่พบปรากฏตามหน้าผาของหินทรายสีขาว เนื้อละเอียดถึงปานกลาง ที่วางตัวอย่างสะเปะสะปะในหินทรายที่บางก็มีชั้นเฉียงระดับ บ้างก็แสดงลักษณะชั้นบาง หน้าผาหินทรายที่นี่มีความหนาประมาณ 20 เมตร อันประกอบด้วยชั้นหินทรายที่เกิดจากแม่น้ำโค้งตวัดทับซ้อนกัน (amalgated meandering sandstone) มากกว่า 10 ชั้น (ภาพที่ 2 ขวาสุด)
รูกลมๆ ที่เห็นอยู่นั้นนักธรณีวิทยาฝรั่งเรียก concretion รากศัพท์ภาษาลาติน หมายถึง การเติบโตขึ้นมาจากการรวมตัวกัน ภาษาไทยเรียกว่า มวลสารพอก ตำราทางธรณีวิทยากล่าวว่า เกิดจากอินทรีย์สารที่ตกจมอยู่ในทรายใต้ท้องน้ำ เช่น เนื้อเยื่อสัตว์ เนื้อไม้ กระดูก เกิดปฏิกิริยาชีวเคมีกับน้ำใต้ดินแล้วเกิดแร่บางชนิดพอกรอบๆ ว่าที่ฟอสซิลเหล่านั้น โดยส่วนใหญ่จะกลายเป็นก้อนกลม หรือแบนรี มวลสารพอกเหล่านี้บางบริเวณจะมีลักษณะกลวงกลาง ดังเช่นที่พบที่วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว อุบลราชธานี จนชาวบ้านบางคนเชื่อว่า นี่คือมะพร้าวกลายเป็นหิน (ภาพที่ 3)
แต่มวลสารพอกที่ผาน้ำเที่ยง เวียงเก่านี้ กลับไม่พบว่ากลวงใน โดยจะเป็นก้อนกลมตัน ซึ่งส่วนใหญ่จะหลุดร่วงลงมาและหายไป คณะของเราพยายามค้นหาเผื่อว่าก้อนกลมเหล่านี้จะกองอยู่ที่พื้นดินใกล้รูเหล่านั้น แต่ก็ไม่พบเลย จากการพิจารณาโดยละเอียดพบว่า มีมวลสารพอก 2 ก้อน ที่ในใจกลางคล้ายกับว่ามีฟอสซิลหอยสองฝาฝังตัวอยู่ข้างใน (สองภาพกลางด้านซ้ายของภาพที่ 2) (ไม่ยักจะเป็นกระดูกไดโนเสาร์ตามที่ข้าพเจ้าคาดหวังไว้)
เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับมวลสารพอกในอุทยานธรณีขอนแก่นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ข้าพเจ้าจึงขอแถมภาพที่ข้าพเจ้าถ่ายไว้กว่า 40 ปีมาแล้ว(ภาพที่ 4) ภาพถ่ายบานนี้ถ่ายที่หน้าผาด้านใต้ของเทือกเขาภูเวียง (ด้านเหนือของบ้านไชยสอ อำเภอชุมแพ) มวลสารพอกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากว่าหนึ่งเมตรก้อนนี้ โผล่ตัวออกมาจากหน้าผาหินทราย (โปรดสังเกตย่ามสะพายข้างที่วางอยู่บนพื้นหิน และสายเส้นของชั้นเฉียงระดับที่ต่อเนื่องจากชั้นหินเข้าไปในมวลสารพอก) การต่อเนื่องของชั้นเฉียงระดับจากหินทรายเข้าไปในมวลสารพอกนั้น ยังพบเห็นที่ผาน้ำเที่ยง (รูปล่างสุดด้านซ้ายของภาพที่ 2) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามวลสารพอกนี้เกิดขึ้นขณะที่ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังจะกลายเป็นหิน
นิทานเรื่องนี้จบลงด้วยการประชาสัมพันธ์ กางเกงไดโนเสาร์ ภูเวียงนั้น สวมใส่แล้วมีความสุขใจ แถมโชคดีได้พบเห็นเกือบทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการ (ภาพที่ 5)
-------------------------------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
บทความ ดร. นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย
-------------------------------------------------
ภาพที่ 2 ภาพมวลสารพอก ที่ผาน้ำเที่ยง เวียงเก่า (สองภาพกลางด้านซ้าย ดูเหมือนว่าจะมีฟอสซิลหอยสองฝาฝังอยู่ภายใน)
ภาพที่ 3 มวลสารพอก ที่พบที่วัดสิรินธรวรวรารา อุบลราชธานี
ภาพที่ 4 ภาพมวลสารพอกที่บ้านไชยสอ ชุมแพ (ถ่ายทำเมื่อ 40 กว่าปีก่อน)
ภาพที่ 5 นุ่งกางเกงไดโนเสาร์ ชูค้อน ที่ผาน้ำเที่ยง เวียงเก่า ขอนแก่น