เอ!!! หรือว่าชาติก่อนเราก็เคยมาหากินถึงมองโกเลีย ทะเลทรายโกบีตอนใต้ มองโกเลีย
วันที่ 27 กรกฎาคม 2562 ข้าพเจ้ามาถึงบริเวณที่เรียกว่า Tugrugyn Shiree (Toogrook Plateau ที่ราบสูงตู๊กลู๊ก) โกบีใต้ มองโกเลีย ซึ่งอันที่จริงแล้ว เป็นภูเขายอดเรียบที่หลงเหลือมาจากการกัดเซาะผุพังทำลายโดยแม่น้ำและลม มีขนาดประมาณ 1 X 5 กิโลเมตร แบ่งออกเป็นสองลูก(1X1 ตร.กม. ทางตะวันตก)และ (1 X 2.5 ตร.กม. ทางตะวันออก) หน้าผาน่าจะมีความสูงไม่เกิน 50 เมตร หินแข็งที่ปิดทับอยู่บนยอดเขาคือหินกรวดมนอายุไม่เกินล้านปี ประกอบด้วยก้อนกรวดของหินสีเทาเขียว มีขนาดโดยเฉลี่ยประมาณ 5 เซ็นติเมตร มีความมนน้อย การจัดขนาดไม่ดี วางตัวแบบไม่ต่อเนื่องทับบนหินทราย ร่วน สีเทาอ่อน เม็ดละเอียด มีการจัดขนาดดีถึงปานกลาง แนวสัมผัสดังกล่าวในบางบริเวณแสดงลักษณะสูงๆต่ำๆเหมือนท้องแม่น้ำ
หินที่มีสีอ่อนกว่าที่วางตัวอยู่ข้างล่างลงไปจนถึงเชิงเขานั้น ถูกจัดให้เป็นหินของหมวดหิน Djadokta Formation (อายุ 75-71 ล้านปี) แบ่งออกแบบหยาบๆ ได้เป็น 2 หน่วย คือหน่วยล่างจะเป็นหินทรายที่มีชั้นเฉียงระดับขนาดใหญ่ (~ 10 เมตร) ในแต่ละแถบแสดงการจัดขนาดใหญ่ขึ้นด้านบน(coarsening upward : reversed graded bedding) มุมเอียงของชั้นเฉียงระดับคือ 28 องศา คุณสมบัติเหล่านี้อธิบายได้ว่า หินเหล่านี้เกิดในทะเลทราย จากการเคลื่อนตัวของเนินทราย (dune) โดยกระแสลมที่พัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (N 42 E) ส่วนหน่วยที่สองที่วางตัวอยู่ส่วนบนนั้น มีลักษณะที่แสดงว่าเกิดจากทะเลทรายเช่นกัน แต่มีความรุนแรงของลมน้อยกว่า จึงพบชั้นเฉียงระดับมีความหนาไม่เกิน 5 เมตร และมีซากดึกดำบรรพ์ประเภทร่องรอยของสิ่งมีชีวิตมากมาย เช่น รูหนอน รูรากไม้ รวมทั้งมวลสารพอกชนิดทุติยภูมิที่มีรูปร่างสะเปะสะปะ บางท่อนยาวถึงกว่าหนึ่งเมตร
ในช่วงแรกในการปีนขึ้นดูชั้นหินนั้น ข้าพเจ้าไม่สามารถทำได้ละเอียดนัก เพราะหมวกที่ป้าปุ๊ให้มานั้น ไม่มีสายเชือกคล้อง จังหวะที่กำลังก้มๆเงยๆ ตรวจสอบชั้นเฉียงระดับอยู่นั้น ก็มีลมกระโชกทำเอาหมวกสุดเท่หลุดออกจากศีรษะ ปลิวข้ามยอดเนินไปอีกด้านของเนินเขา โชคดีที่มีเพื่อนญี่ปุ่นที่ล่วงหน้าไปก่อนเก็บไว้ให้ เมื่อข้ามมาดูหินอีกฝั่งหนึ่งแล้ว ก็ยังต้องวิ่งไล่ตะครุบหมวกอีกกว่า 5 ครั้ง ลมแรงจนตัวจะปลิวเอาเวลายืน และรู้สึกเจ็บแปล๊บๆ ตอนเม็ดทรายกระทบใบหน้า กระนั้นก็ตาม พอน้าจิ๋วตะโกนเรียกให้ไปดูเศษกระโหลกศีรษะของไดโนเสาร์ที่ตัวเขาเจอ หลังจากนั้นอีกแปล๊บเดียว ข้าพเจ้าก็เจอชิ้นส่วนแตกหักของกระดูกซี่โครง ทั้งที่ยังฝังในหิน และที่กระจัดกระจายอยู่บนพื้นทราย อยู่ห่างจากซากกระโหลกแค่เมตรกว่าๆ พิจารณาแล้วน่าจะเป็นเศษชิ้นส่วนของตัวเดียวกัน
และที่เคยพูดให้ใครต่อใครฟังว่า ชาติก่อนนั้น ข้าพเจ้าคงจะเกิดมาเป็นไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ เที่ยวคอยกัดกินไดโนเสาร์พันธุ์อื่นไปทั่วอีสานบ้านเฮานั้น ชาตินี้จึงต้องมาเกิดเป็นนักธรณีวิทยา ต้องคอยตามหาซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ที่ตัวเองกินทิ้งกินขว้างไว้เมื่อชาติก่อน (รวมทั้งสัตยารักษ์กี้ด้วย) ก็คงต้องขอแก้ไขว่า พื้นที่หากินของข้าพเจ้านั่น ไม่น่าจะเฉพาะเมืองไทยเท่านั้น แต่ครอบคลุมมาถึงมองโกเลียนู่นแน่ ถึงว่า แค่เดินลงเครื่องบินมาเหยียบแผ่นดินของทะเลทรายโกบีเท่านั้นแหละ รู้สึกตัวว่าคึกคักกระชุ่มกระชวยขึ้นมาอย่างประหลาดทันที จบคำให้การครับ ท่านสารวัตร
ที่มา https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ www.iok2u.com
-------------------------------------------------
รวมบทความ นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)-------------------------------------------------