ภูเพียงบ่อละเวนคือที่ราบสูงของกลุ่มหินโคราช มีความสูงบริเวณใจกลางประมาณ 1,100 เมตรจากระดับน้ำทะเล มียอดสูงสุดตามขอบที่ราบสูงระหว่าง 1,200-1,600 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีพื้นที่ประมาณ 4,500 (90 x 50) ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของแขวงจำปาสัก แขวงอัตตะปือ และแขวงเซกอง สปป. ลาว แม้ว่าธรณีสันฐานจะคล้ายคลึงกับภูกระดึง และภูเขียวของไทย คือเป็นภูเขาที่มีโครงสร้างชั้นหินเป็นรูปประทุนหงาย แต่ภูเพียงนั้นมีขนาดใหญ่กว่ามาก (ภาพที่ 1)
นักธรณีวิทยาฝรั่งเศสเคยระบุเมื่อกว่าร้อยปีมาแล้วว่า ภูเพียงเป็นที่ราบสูงที่เกิดจากการไหลท่วมท้นของลาวา แต่ปัจจุบันนี้เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ภูเพียงประกอบขึ้นด้วยชั้นหินรูปประทุนหงายของกลุ่มหินโคราช (หินตะอนที่สะสมตัวภายใต้อิทธิพลของแม่น้ำโบราณในยุคที่ไดโนเสาร์ครองโลก) (Mz2-1, Mz2-2) ที่มีลาวาประทุขึ้นมาบนยอดภู จากนั้นก็ไหลท่วมท้นลงสู่ที่ราบเบื้องล่างในมหายุคชีวิตใหม่ [VPg (16Ma), VNg (<1 Ma)] (ภาพที่ 2) (Japan International Cooperation Agency : JICA, 2008)
บนภูเพียงบ่อละเวนนั้น นอกจากชั้นหินตะกอนที่วางตัวเอียงเทเล็กน้อย และหินบะซอลต์ที่วางตัวในแนวเกือบราบแล้ว ก็ยังมีภูเขารูปกรวยที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 2 กิโลเมตร ภูเขาเหล่านี้คือกรวยเถ้าภูเขาไฟ (cinder cone) วางตัวเรียงรายในแนวเกือบเหนือใต้สิบกว่าลูก (ภาพที่ 2) ที่ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุของการเกิดได้แน่นอน
ภาพที่ 2 แผนที่ธรณีวิทยาบริเวณภูเพียงบ่อละเวน จัดทำโดยองค์กรความร่วมมือนานาชาติของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency ; JICA) อักษรย่อที่สำคัญของหินในบริเวณนี้ก็เช่น หินบะซอลต์ (VPg สีน้ำเงิน, VNg สีเหลือง) และหินตะกอนพัดพาที่สะสมตัวบนแผ่นดินในมหายุคมีโซโซอิก (Mz1-1 : ~HHL, Mz1-2 : ~NP, PK, Mz2-1 : ~PW, SK, PP, Mz2-2 : ~KK)
ว่าอันที่จริงแล้ว บริเวณใจกลางของของภูเพียงนั้นยังมีมีสภาพเป็นดินที่มีความหนามาก ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนี้นั้น นักธรณีวิทยาบางกลุ่มเขื่อว่า เกิดจากการผุพังทำลายของหินบะซอลต์และหินตะกอนโดยกระบวนการทางธรณีวิทยา ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า นี่คือหลุมที่เกิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาตเมื่อประมาณแปดแสนปีก่อน (ภาพที่ 3)
ภาพที่ 3 แผนที่แสดงความสูงต่ำของกูเกิ้ล แสดงตำแหน่งของกรวยเถ้าภูเขาไฟ ที่พบเรียงตัวกันในแนวเกือบจะเหนือใต้ บนภูเพียงบ่อละเวน
ลาวาที่ประทุขึ้นมาจากใต้พิภพสู่ยอดของภูเพียงบ่อละเวนนั้น มีปริมาณมหาศาล มีความร้อนสูงมาก จึงสามารถไหลท่วมท้นจากยอดภูเพียง ลงไปสู่ที่ราบด้านล่าง ซึ่งจากแผนที่กูเกิ้ลและการตรวจสอบพื้นผิวแล้วเชื่อว่า ธารลาวาที่ไหลลงมาจากยอดเขานั้นมีถึง 8 ช่องทาง (ภาพที่ 4) ดังนี้
ภาพที่ 4 แผนที่แสดงตำแหน่งที่คาดว่าเป็นหลุมที่อุกกาบาตพุ่งชนเมื่อประมาณ 800,000 ปีก่อน วงสีเหลืองคือการประเมินจากข้อมูลการวัดค่าความโน้มถ่วงของโลก และสีขาว คือบริเวณที่ประเมินจากข้อมูลธรณีวิทยาพื้นผิว
ธารลาวาที่เห็นและสังเกตได้ชัดเจนที่สุด มองเห็นเหมือนกับเนินตะกอนน้ำพารูปพัด คือหมายเลข 1 จนกลายเป็นเนินลาวารูปพัด หินบะซอลต์ในกลุ่มนี้พบเห็นได้ที่ น้ำตกตาดเยือง ตาดฟาน ตาดอีตู้ ตาดผาซ่วม
ธารลาวาที่น่าจะใหญ่และมีปริมาณมากที่สุดน่าจะเป็น หมายเลข 2 พบเห็นได้ที่ น้ำตกตาดเลาะ
ธารลาวาหมายเลข 3 นั้น ไม่ปรากฎว่ามีน้ำตกที่มีชื่อเสียง แต่พบเห็นได้ตามถนนสายปากซอง-ท่าแตง
ช่องเขาที่ธารลาวาหมายเลข 4 ไหลงลงไปสู่ที่ราบด้านล่างนั้น ดูว่าเป็นช่องเขาแคบและมีขนาดเล็ก แต่ธารลาวาที่ไหลลงไปทางทิศเหนือนั้น เมื่อถึงที่ราบข้างล่างกลับเลี้ยวไปทางทิศตะวันออกจนถึงน้ำตกตาดแฝก และตาดหัวคน เมืองเซกอง
ธารลาวาหมายเลข 5 นั้น ไหลลงมาจากหุบเขารูปตัว V ซึ่งเกิดจากการกัดเซาะของแม่น้ำเซน้ำน้อยโบราณ (ภาพที่ 5) ต่อมามีลาวาไหลล้นหุบเขาลงไปพื้นล่าง จากนั้นแม่น้ำเซน้ำน้อยจึงกัดเซาะธารลาวารูปพัดออกไป จนกลายเป็นน้ำตกเซกะตาม
ภาพที่ 5 แผนที่แสดงตำแหน่งของธารลาวาทั้ง 8 สาย ที่ไหลท่วมท้นจากยอดภูเพียงบ่อละเวนลงไปสู่พื้นราบด้านล่าง
ธารลาวาหมายเลข 6 ไหลท่วมลงตามหุบเขาที่ปัจจุบันกลายเป็นแม่น้ำเซเปียน บางส่วนของธารลาวาไหลลงไปสิ้นสุดที่น้ำตกแซป่องไล แต่บางส่วนก็ไหลอ้อมภูเขาหินทรายลูกเล็กๆ ลูกหนึ่งลงไปข้างล่าง ไปถึงขอบของน้ำตกแซพะ
สำหรับธารลาวาหมายเลข 7 กับ 8 นั้น ถือว่าเป็นธารลาวาขนาดใหญ่ทั้งคู่ แต่ยังไม่ปรากฎว่ามีการค้นพบน้ำตกที่เกิดจากหินบะซอลต์ในบริเวณนี้ มีแต่น้ำตกที่เกิดจากหน้าผาหินทรายที่อยู่ตามขอบที่ราบสูง
บริเวณตอนกลางของยอดของภูเพียงบ่อละเวน ยังมีน้ำตกอีกหลายสาย เช่น น้ำตกตาดเดี่ยว ตาดคู่ และตาดตะยึกเสือ ซึ่งล้วนมีหน้าผาเป็นหินบะซอลต์ JICA ระบุว่าเป็นส่วนใหญ่เกิดในยุคนีโอจีน และจากแผนที่ธรณีวิทยา (ภาพที่ 6) ข้าพเจ้าเชื่อว่า หินบะซอลค์ในบริเวณนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของธารลาวาหมายเลข 6-8
ท่านเห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานนี้ไหมครับ ท่านสารวัตร