ลาวาที่ประทุขึ้นมาบนยอดภูเพียงบ่อละเวนแล้วไหลท่วมท้นลงสู่ที่ราบด้านล่างนั้น (ภาพที่ 1) ยกเว้นธารลาวาหมายเลข 2 แล้ว ที่เหลือจะไหลลงมาตามหุบเขารูปตัว V ที่เกิดจากการกัดเซาะหินตะกอนของแม่น้ำโบราณ รวมทั้งธารลาวาหมายเลข 6 ที่ปัจจุบันเป็นร่องน้ำของแม่น้ำเซเปียน ซึ่งมีต้นน้ำอยู่บนภูเพียงบ่อละเวน เมืองปากซอง แขวงจำปาสัก ลาว จากนั้นก็ไหลลงไปทางด้านใต้ ผ่านเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าดงหัวสาว กัดเซาะหินผาทะลุหินตะกอนที่เทียบได้กับกลุ่มหินโคราชของไทย แล้วไหลไปรวมกับแม่น้ำเซกอง ก่อนที่จะไหลไปลงแม่น้ำโขงที่กัมพูชา
บริเวณเชิงเขาของภูเพียงบ่อละเวน ที่แม่น้ำเซเปียนไหลผ่านนั้น มีน้ำตกที่มีชื่อเสียง 2 สาย ได้แก่ น้ำตกแซปองไล กับแซพะ ชื่อของน้ำตกทั้งสองเรียกตามชาวลาวเทิงเผ่า “ตะโอ้ย” ที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว โดยแทนที่จะออกเสียงเรียกแม่น้ำว่า “เซ” เหมือนคนลาวทั่วไป แต่กลับออกเสียงว่า “แซ” ส่วนคำว่า “ ปองไล” นั้น เทียบกับคำในภาษาไทยว่า “ปล้องไม้ไผ่ไร่” สรุปแล้วน้ำตกนี้ น่าจะเรียกชื่อเป็นภาษาไทยว่า “น้ำตกปล้องไม้ไร่”
คณะของเราออกเดินทางจากเมืองอัตตะปือด้วยรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ ไปตามถนนหมายเลข 18 ซึ่งยังคงเป็นถนนลูกรัง แล้วเลี้ยวขวาที่ประมาณ 15 กิโลเมตรทางตะวันตกของเมืองสะหนามไซ ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเซเปียน (ภาพที่ 2) จากนั้นก็เดินทางไปตามทางลำลอง ที่น่าจะมีปัญหาหากเดินทางในฤดูฝน เราเดินทางไปชมน้ำตกแซปองไลก่อน แล้วกลับมาที่น้ำตกแซพะ เพื่อกินข้าวกลางวันที่เตรียมไปด้วยจากอัตตะปือ
ภาพที่ 2 แผนที่กูเกิ้ลแสดงเส้นทางของทางหลวงหมายเลข 18 (เส้นสีแดง) และถนนลูกรังที่แยกไปน้ำตกแซพะ กับแซปองไล (เส้นสีแดงขาว) ตำแหน่งของแม่น้ำเซเปียน สะพานข้ามแม่น้ำเซเปียน และบริเวณหมู่บ้านที่ได้รับความเดือดร้อนในกรณีเขื่อนกั้นสันลุ่มต่ำของโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกทลาย เมื่อปีพ.ศ. 2561 (กากะบาดสีแดง)
แซป่องไลเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มีความกว้างมากกว่า 60 เมตร สูงไม่ต่ำกว่า 30 เมตร (ภาพที่ 3) เพิ่งจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมได้เมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง จึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากนัก รวมทั้งข้อมูลทางด้านธรณีวิทยาก็ยิ่งน่าจะไม่มีใครกล่าวถึง เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2566 สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย ได้จัดกลุ่มทัศนศึกษาไปที่น้ำตกแห่งนี้ และเพียงเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงที่นั่น ข้าพเจ้ากล้ากล่าวว่า สถานที่นี้ คือแหล่งศึกษาเรื่องภูเขาไฟที่ดีเยี่ยมอีกแห่งหนึ่ง
ภาพที่ 3 ภาพถ่ายน้ำตกแซปองไล ถ่ายทำในตอนกลางเดือนมกราคม 2566 พร้อมกับคณะทัศนศึกษาของสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย
ตั้งแต่อัตตะปือเป็นต้นมาจนถึงบริเวณประมาณ 10 กิโลเมตรตามถนนจากสะพานเซเปียน หินที่พบอยู่สองข้างทางล้วนแต่เป็นหินตะกอนสีน้ำตาลแดงของหินที่เทียบได้กับหมวดหินภูกระดึง ของกลุ่มหินโคราชในประเทศไทย จากนั้นจึงเริ่มพบหินบะซอลต์และศิลาแลง ตัวน้ำตกแซปองไลทั้งหมดนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นหินบะซอลต์ (ภาพที่ 3 และ 4) โดยพบชั้นหินทรายที่วางตัวในแนวเกือบราบในลำน้ำเซเปียนในระยะทางประมาณ 200 เมตรทางปลายน้ำ
ภาพที่ 4 น้ำตกแซปองไล และภาพขยายหน้าผาฝั่งซ้ายที่แสดงเสาหินบะซอลต์ (colonnade) ที่เกิดการหดรัดระหว่างการเย็นตัวของลาวาบะซอลต์ (รูปล่าง)
หินบะซอลต์ที่น้ำตกแซปองไล แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน (ภาพที่ 5) ส่วนล่างเป็นหินกรวดเหลี่ยมบะซอลต์ลาวา(basaltic flow breccia) (ชั้นหินหมายเลข 1 ในภาพที่ 5) ส่วนด้านบนประกอบด้วยหินบะซอลต์ที่เกิดจากการเย็นตัวของธารลาวาไม่น้อยกว่า 3 ชั้น (ชั้นหินหมายเลข 2-4 ในภาพที่ 5) มีความหนารวมกันมากกว่า 30 เมตร
ภาพที่ 5 แผนที่แสดงตำแหน่งของธารลาวาทั้ง 8 สาย ที่ไหลท่วมท้นจากยอดภูเพียงบ่อละเวนลงไปสู่พื้นราบด้านล่าง
ชั้นหินที่อยู่ล่างสุดนั้น เป็นการสลับตัวกันระหว่างหินกรวดเหลี่ยมบะซอลต์ลาวากับหินบะซอลต์เนื้อละเอียด มีการวางตัวเอียงเทประมาณ 20 องศาลงไปทางทิศใต้ (ภาพที่ 6 รูปบนซ้าย) แสดงถึงว่าหินชั้นนี้เกิดขึ้น ณ ตอนปลายของธารลาวาที่ไหลลงมาตามเชิงเขาของภูเพียงบ่อละเวน โดยบางครั้งก็ไหลเอาเศษหินบะซอลต์มาด้วย (ภาพที่ 6 รูปล่างซ้าย) และบางครั้งก็มีแต่ลาวาเนื้อละเอียด ซึ่งในบางแห่งจะแสดงชั้นการไหลที่กลายเป็นลาวาชนิดเกลียวเชือก (pahoehoe)(ภาพที่ 6 รูปล่างกลาง) และท่อลาวา (lava tube) (ภาพที่ 6 รูปล่างขวา) การไหลลงสู่พื้นราบของธารลาวานั้น ไม่ได้สม่ำเสมอในทิศทางเดียวกันตลอด โดยพบว่าในบางแห่งจะไหลลงไปโดยมีการเอียงเทที่ชันถึง 30 องศา ไปทางทิศตะวันตก (ภาพที่ 6 รูปบนขวา)
ภาพที่ 6 ภาพถ่ายแสดงการวางตัวของชั้นหินในส่วนล่าง ที่เป็นการสลับกันของหินกรวดเหลี่ยมลาวา กับหินที่เกิดจากลาวาเนื้อละเอียด (รูปบนทั้งซ้ายและขวา) ลักษณะเนื้อหินของหินกรวดเหลี่ยมลาวา หินแสดงการไหลของลาวาเป็นรูปเกลียวเชือก (pahoehoe) และท่อลาวา(lava tube) (รูปล่างจากซ้ายไปขวาตามลำดับ)
สภาพของเนื้อหินด้านบนของหินบะซอลต์ชั้นล่างสุดนั้น มีสภาพและลักษณะว่าเกิดการผุพังอยู่กับที่ เป็นเวลานานพอสมควร (ชั้นหิน 1.1 ในภาพที่ 5 ) ก่อนที่จะมีธารลาวาไหลทับ เกิดเป็นชั้นหินที่วางตัวในแนวเกือบราบ อีกไม่น้อยกว่า 3 ชั้น (ชั้นหิน 2-4 ในภาพที่ 5) โดยเฉพาะอย่างยิ่งชั้นล่างสุดที่เห็นเสาหินบะซอลต์ (colonnade) อันเกิดจากการเย็นตัวของลาวาได้อย่างชัดเจน (ภาพที่ 4 รูปล่าง)
สิ่งที่น่าสนใจในด้านธรณีวิทยาอีกอย่างหนึ่งที่พบในชั้นหินบะซอลต์ชั้นล่างสุดที่บริเวณน้ำตกแซปองไลก็คือ แร่ซีโอไลต์ (zeolite) [สารประกอบอะลูมิโนซิลิเกต (crystalline aluminosilicates) ประกอบด้วย อะตอมของซิลิคอน(หรืออะลูมิเนียม) หนึ่งอะตอม และออกซิเจนสี่อะตอม (SiO4 หรือ AlO4)] ที่เกิดในโพรงอากาศในหินบะซอลต์ ซึ่งพบได้ทั้งในแบบที่มีผลึกสีขาว และเป็นสีชมพูแกมแดงที่ไม่แสดงรูปผลึก (ภาพที่ 7) อากู๋บอกว่า แร่นี้เกิดขึ้นเมื่อมีปฏิกิริยาเคมีระหว่างหินภูเขาไฟกับน้ำใต้ดินที่มีความเป็นด่าง (alkaline water) แต่สาเหตุที่เกิดแบบมีหรือไม่มีผลึกนั้น ข้าพเจ้ายังค้นไม่เจอ หรือเจอแล้วแต่ไม่เข้าใจ
ภาพที่ 7 ภาพถ่ายซีโอไลต์ทั้งที่เป็นแบบไม่แสดงผลึก และแบบที่เป็นผลึกสีขาว พบในหินบะซอลต์ขั้นที่ 1
นักท่องเที่ยวที่ไปชมแซปองไลในช่วงปลายหนาวและฤดูแล้งนั้น คงไม่ชอบใจนัก เพราะน้ำตกจะมีน้ำน้อย ไม่ยิ่งใหญ่อลังการ แต่สำหรับนักธรณีวิทยาแล้ว นี่คือสวรรค์ในชั้นเรียนโดยแท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราจะสามารถไปถึงน้ำตกได้โดยง่ายและสะดวกสบาย ไม่ต้องเสี่ยงในการที่รถยนต์จะติดหล่ม จนต้องลุยโคลนจนมอมแมมไปทั้งตัว
คำถามทิ้งท้ายสำหรับวันนี้ “ซีโอไลต์แบบมีผลึกกับไม่มีผลึก เกิดขึ้นมาด้วยกระบวนการต่างกันอย่างไรครับ? ท่านสารวัตร”