ลาวาที่ประทุขึ้นมาบนยอดภูเพียงบ่อละเวนแล้วไหลท่วมท้นลงสู่ที่ราบด้านล่างนั้น (ภาพที่ 1) ยกเว้นธารลาวาหมายเลข 2 แล้ว ที่เหลือจะไหลลงมาตามหุบเขารูปตัว V ที่เกิดจากการกัดเซาะของแม่น้ำโบราณ รวมทั้งธารลาวาหมายเลข 6 ที่ปัจจุบันเป็นร่องน้ำของแม่น้ำเซเปียน ซึ่งมีต้นน้ำอยู่บนภูเพียงบ่อละเวน เมืองปากซอง แขวงจำปาสัก ลาว จากนั้นก็ไหลลงไปทางด้านใต้ ผ่านเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าดงหัวสาว กัดเซาะหินผาทะลุหินตะกอนที่เทียบได้กับกลุ่มหินโคราชของไทย แล้วไหลไปรวมกับแม่น้ำเซกอง ก่อนที่จะไหลไปลงแม่น้ำโขงที่กัมพูชา
ในช่วงที่ไหลลงมาจากภูเพียงนั้น เซเปียนได้ก่อให้เกิดน้ำตกที่ค้นพบแล้วสองแห่งคือ แซปองไล และแซพะ ที่เรียกตามชาวลาวเทิงเผ่าตะโอ้ย โดยคำว่า “แซ” ก็คือคำว่า “เซ” ที่ชาวลาวลุ่มหมายถึงแม่น้ำ และคำว่า “พะ” ก็คือ “พระ(พุทธรูป)” เพราะว่าที่บนลานหินข้างน้ำตกนั้น มีซุ้มไม้ที่มีพระพุทรูปวางตั้งอยู่ รวมทั้งขวดน้ำที่ชาวบ้านนำมาสักการะบูชา หนำซ้ำยังมีกระป๋องเบียร์ทั้ง ลาว เวียดนามและดัตช์ ปนอยู่อีกด้วย (ภาพที่ 2 รูปล่าง) ดังนั้น น้ำตกนี้จึงน่าจะเรียกเป็นชื่อไทยว่า “น้ำตก(ซุ้ม)พระ” ว่าซั่น
น้ำตกแซพะอยู่ห่างจากแซปองไลไปทางท้ายน้ำประมาณ 7 กิโลเมตร ในขณะที่ตัวน้ำตกและหินรอบด้านของแซปองไลเป็นหินบะซอลต์ทั้งสิ้นนั้น ที่น้ำตกแซพะกลับมีแต่หินตะกอนที่เทียบได้กับหมวดหินภูกระดึง ของกลุ่มหินโคราชของไทย ส่วนหินบะซอลต์และศิลาแลง จะพบอยู่รอบๆ บริเวณน้ำตกเท่านั้นเอง การเข้าถึงน้ำตกนั้นทำได้อย่างสะดวกสบาย สามารถขับรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ เข้าไปถึงลานน้ำตกเลยเชียว (ภาพที่ 2 รูปบน)
ภาพที่ 2 ภาพถ่ายซุ้มไม้เพื่อวางพระพุทธรูป ที่บริเวณหน้าน้ำตกแซพะพร้อมทั้งน้ำดื่มและเบียร์ ที่ชาวบ้านนำมาสักการะบูชา
ตาดแซพะมีความสูงประมาณ 25 เมตร มีความกว้างตามลำน้ำถึง 120 เมตร สามารถมองเห็นการวางตัวทับซ้อนกันของชั้นหินทรายและหินโคลน ช่วงที่ข้าพเจ้าแวะไปนั้น เป็นเดือนมกราคม 2566 มองเห็นน้ำตกแยกตัวออกเป็น 3 จุด โดยบริเวณขอบฝั่งทางด้านซ้ายนั้น หากเดินเข้าไปดูให้ใกล้ชิด สามารถสังเกตเห็นลักษณะทางธรณีวิทยาของกระบวนการตกสะสมตัวของตะกอนโดยทางน้ำได้ชัดเจน (ภาพที่ 3) เช่น ชั้นหินแสดงรูปเลนส์ (เส้นสีแดงหนา) และชั้นเฉียงระดับ (เส้นสีแดงบางวางตัวเอียงเท) สิ่งที่เราแปลความหมายได้ก็คือ ชั้นหินทรายรูปเลนส์มีการวางตัวในทิศเหนือ-ใต้ แสดงว่าเกิดจากแม่น้ำที่ไหลไปทางทิศตะวันออก หรือตะวันตก ชั้นเฉียงระดับที่เห็นแสดงถึงการเคลื่อนที่ของเนินทรายใต้ท้องน้ำไปสู่ทิศเหนือ (ด้านซ้าย) และทิศใต้ (ด้านขวา) แปลได้ว่าเนินทรายทั้งสองเกิดตามการโค้งตระหวัดของแม่น้ำ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงสภาพแอ่งสะสมตะกอนทั้งหมดของกลุ่มหินโคราชแล้ว ข้าพเจ้าขอฟันธงว่า แม่น้ำที่ก่อให้เกิดหินทรายเหล่านี้ ไหลจากทิศตะวันออก ไปทิศตะวันตก
ภาพที่ 3 ชั้นหินทรายแสดงรูปเลนส์ (เส้นสีแดงหนา) และชั้นเฉียงระดับที่สวนทางกัน (เส้นสีแดงบาง เอียงเทไปทางซ้ายและขวา)
ตามลานหินหน้าน้ำตก เรายังสามารถเห็นลักษณะทางธรณีวิทยาอีกหลายอย่าง เช่น การแตกเป็นรูปหัวหอมของหินทราย (spheroidal weathering) อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิระหว่างกลางวันกับกลางคืน (ภาพที่ 4 รูปขวา) และลักษณะเริ่มต้นของลานหินปุ่ม คือการผุพังตามสี่มุมของชุดรอยแยก (joint) (ภาพที่ 4 รูปซ้าย) นอกจากนี้ การที่มีหน้าผาของน้ำตกที่เห็นได้ชัดเจนและยาวต่อเนื่องเช่นนี้ น้ำตกนี้ จึงเป็นสถานที่ที่ใช้ศึกษาเรื่องลำดับชั้นหินทั้งในแนวตั้งและแนวนอน
ภาพที่ 4 ภาพการเริ่มต้นการเกิดลานหินปุ่ม และการผุพังแบบหัวหอมในหินทรายที่ลานน้ำตกแซพะ
ในปีพ.ศ. 2561 โศกนาฏกรรมจากโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย ที่สร้างเขื่อนกักเก็บน้ำบนภูเพียงบ่อละเวน แล้วผันน้ำลงแม่น้ำเซกอง ในแขวงอัตตะปือ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า น้ำในอ่างได้ทะลักลงปลายน้ำ กระแสน้ำหลากตามร่องน้ำเซเปียนพัดถล่มผ่านแซปองไล และแซพะ ถาโถมเข้าสู่หมู่บ้านของเมืองสะหนามไซ (ภาพที่ 5) ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งในด้านทรัพย์สินและชีวิตแก่ชาวบ้านที่อยู่ในลุ่มน้ำเซเปียน (ภาพที่ 6) เป็นเหตุให้ผู้รับผิดชอบต้องสร้างบ้านเรือนทดแทนในพื้นที่ที่จัดสรรใหม่ ความรุนแรงของกระแสน้ำหลากจะสังเกตได้จากก้อนหินขนาดมหึมาที่วางอยู่ปลายน้ำตก ซึ่งคนในท้องถิ่นยืนยันว่า พบเห็นหลังจากเหตุการณ์เขื่อนแตกแล้ว (ภาพที่ 7)
ภาพที่ 5 แผนที่แสดงที่ตั้งของภูเพียงบ่อละเวน แม่น้ำเซเปียน น้ำตกแซปองไล่ แซพะ และบริเวณหมู่บ้านที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วม
ภาพที่ 6 ภาพถ่ายบ้านที่ถูกน้ำท่วมเมื่อพ.ศ. 2561 จนหมู่บ้านต้องถูกทิ้งร้าง ภูเขายอดเรียบที่เห็นข้างหลัง (รูปแถวบนและแถวล่าง) คือภูเพียงบ่อละเวน รูปโคลนที่ถูกพัดพามาโดยน้ำหลากมากมายจนเกือบเต็มชั้นล่างของบ้าน (รูปแถวกลาง) จนต้องสร้างบ้านใหม่ทดแทนบนเนินสูง (รูปแถวล่าง)
รูปที่ 7 ภาพถ่ายลานน้ำตกแซพะ ที่มีก้อนหินขนาดมหึมา ที่เชื่อว่าถูกน้ำหลากพัดมาจากหน้าผาข้างบน ลงมากองอยู่ที่ลานหินด้านล่าง
ปัจจุบันนี้ โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย สามารถดำเนินการต่อได้แล้ว ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการนี้ ส่วนใหญ่ส่งมาขายเพื่อใช้ในประเทศไทย น้ำเซเปียนที่ไหลมาจากยอดภูเพียงบ่อละเวน ก็ยังคงไหลต่อไป แต่มีกระแสและความเร็วไม่เท่ากับคลองส่งน้ำที่ขุดขึ้นมาใหม่ เพื่อให้มวลน้ำที่ไหลลอดอุโมงค์จากยอดเขาลงมาที่โรงไฟฟ้าในแขวงอัตตะปือ เพื่อไปลงแม่น้ำเซกอง ที่จะไหลไปลงแม่น้ำโขงในเขตประเทศกัมพูชา (ภาพที่ 8 รูปบนและล่างตามลำดับ)
จริงอย่างที่เพลงของวสันต์ อัศนีว่าไว้นะครับ ท่านสารวัตร ได้อย่าง เสียอย่าง
รูปที่ 8 ภาพถ่ายลำน้ำเซเปียนใต้น้ำตกแซพะ (รูปบน) ภูเขายอดเรียบที่เห็นรางๆ ด้านหลังคือภูเพียงบ่อละเวน กับคลองระบายน้ำจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำไปสู่เซกอง (รูปล่าง)