สำหรับภาพแผนที่ของกูเกิ้ล ซึ่งตัดเอามาเฉพาะบริเวณน้ำตกตาดคู่ (Tad Koo waterfall) (ภาพที่ 1) ท่านน่าจะสังเกตเห็นว่า น้ำตกตาดคู่นั้นเกิดจาก การที่น้ำที่ไหลมาจากห้วยเดียวกัน แต่ได้แยกเป็นออกเป็นสองสาย เป็นระยะทางประมาณ 200 เมตร จากนั้นก็โจนตัวลงไปหาลำน้ำห้วยหมากจันข้างล่าง ด้วยความสูงประมาณไม่ต่ำกว่า 10 เมตร และการที่ห้วยหมากจันมีความกว้าง และดูเหมือนว่าจะไม่มีการไหลของสายน้ำนั้น ก็คงเนื่องจากว่ามีการสร้างทำนบกั้นน้ำไว้นั่นเอง อย่างไรก็ตาม สิ่งต่างๆ ที่สังเกตเห็น ณ บริเวณน้ำตกตาดคู่ ก็ทำให้เกิดความฉงนสนเท่ห์ให้แก่ข้าพเจ้าหลายประการ เช่น
1. พื้นห้วยไม่ทราบชื่อที่เป็นต้นกำเนิดน้ำตกนั้น จะดานพื้นไปด้วยหินบะซอลต์ แต่ห้วยหมากจันกลับเป็นเสมือนแม่น้ำสายใหญ่ นี่จะแปลความหมายได้สองทางว่า ลาวาที่ไหลครั้งล่าสุดนั้น มาสิ้นสุดตรงที่เป็นน้ำตกนี้ หรือ ลาวายังคงไหลต่อไปทางด้านตะวันตก แต่ห้วยหมากจันมีพลังแรงมาก จนกัดทะลุชั้นหินบะซอลต์ลงไปข้างล่างได้
2. ลักษณะการคดโค้งของห้วยหมากจันในบริเวณนี้ แสดงถึงการแม่น้ำตวัดโค้ง (meandering river) ซึ่งโดยทั่วไปจะเกิดขึ้นในกรณีที่ผืนดินรอบข้างเป็นตะกอนที่ยังไม่กลายเป็นหิน ไม่ใช่พื้นที่ที่ปิดทับด้วยลาวาบะซอลต์ หากจะเป็นเพราะว่าห้วยหมากจันบริเวณนี้ ไหลผ่านพื้นที่ที่หินบะซอลต์ผุลงไปจากผิวดินจนลึกมาก ดังนั้น ลาวาที่ดานพื้นห้วยไม่มีชื่อจะต้องเกิดหลังลาวาใต้ห้วยหมากจันนานมาก
3. ภาพที่ถ่ายจากร้านอาหารนั้น (ภาพที่ 2) ดูแล้วจะเสมือนว่า น้ำตกมีทั้งหมด 3 สาย จึงไม่น่าจะได้ชื่อว่า “น้ำตกคู่” ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อฤดูที่น้ำในห้วยไม่ทราบชื่อมีไม่มากนักนั้น น้ำตกจะมีเพียงสองสาย คือน้ำตกที่เห็นสองสายทางขวามือ ซึ่งไหลออกมาจากห้วยไม่ทราบชื่อที่แตกเป็นสองสาขา ต่อเมื่อมีน้ำมากพอ น้ำในสาขาซ้ายจึงไหลท่วมท้นหินเกิดเป็นน้ำตกอีกสายหนึ่ง ดังนั้น จึงขึ้นกับช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวมาแวะชม ว่าท่านจะพบเห็นน้ำตกคู่ หรือน้ำตกคี่
ภาพที่ 2 ภาพถ่ายให้เห็นน้ำตกตาดคู่ ที่เกิดจากน้ำของห้วยไม่ทราบชื่อที่แยกออกเป็น 2 สาขา ไหลตกลงห้วยหมากจัน โดยสองสายทางซ้ายมือ มาจากสาขาด้านตะวันตก ส่วนสายด้านขวามือไหลมาจากสาขาด้านตะวันออก
4. ถ้าพิจารณาให้ดี ท่านน่าจะเห็นว่า ยอดของน้ำตกสายที่อยู่ขวาสุดนั้น มีระดับความสูงมากกว่าอีกสองสายด้านซ้าย ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า เจ้าของร้านอาหารได้ตบแต่งทำหน้าผาเทียมขึ้นมา เพื่อประโยชน์ในการท่องเที่ยว ทั้งในด้านเพิ่มความสวยงาม และเป็นจุดสำหรับเล่นน้ำตกของผู้มาใช้บริการ แต่สิ่งที่น่าสงสัยก็คือ ทำไมถึงเกิดน้ำตกได้ เมื่อระดับความสูงต่างกันเช่นนี้ ทำไมน้ำในสาขาขวามือจึงไม่ไหลย้อนไปหาสาขาที่อยู่ด้านซ้ายมือ
5. การคดโค้งของลำห้วยหมากจันในบริเวณนี้ ที่น่าจะแสดงว่ามันไหลผ่านตะกอนไม่แข็งตัวเป็นหิน หากตะกอนที่ว่านั้น ไม่ใช่ตะกอนที่เกิดจากการผุพังของหินบะซอลต์แล้วละก็ บางท่านอาจจะปิ๊งขึ้นมาว่า ตะกอนเหล่านี้คือ ดินและทรายที่ตกจมปกคลุมหลุมที่เกิดจากการพุ่งชนของอุกาบาตเมื่อประมาณแปดแสนปีที่ผ่านมาหรือไม่ (ภาพที่ 3) สำหรับการคาดเดาเช่นนี้นั้น ข้าพเจ้าก็อยากให้เป็นเช่นนั้นเหมียนกัล ติดตรงที่ว่า ตำแหน่งของน้ำตกตาดคู่ ไม่ได้อยู่ในวงที่เชื่อว่าเป็นจุดตกของอุกกาบาตนะสิ
ภาพที่ 3 แผนที่แสดงตำแหน่งที่คาดว่าเป็นหลุมที่อุกกาบาตพุ่งชนเมื่อประมาณ 800,000 ปีก่อน วงสีเหลืองคือการประเมินจากข้อมูลการวัดค่าความโน้มถ่วงของโลก และสีขาว คือบริเวณที่ประเมินจากข้อมูลธรณีวิทยาพื้นผิว และตำแหน่งโดยประมาณของน้ำตกตาดคู่