Nares เวียดนาม เที่ยวเดียนเบียนฟู ซาปา ประสานักธรณีฯ (11) ฟานซีปัน มันซักมอกได
ภาพที่ 1แผนผังการเดินทางจากเมืองซาปาไปยอดเขาฟานซีปัน
เที่ยวเดียนเบียนฟู กับซาปา ประสานักธรณีฯ (11) ฟานซีปัน มันซักมอกได
7 เมษายน 2567 ข้าพเจ้าและคณะผู้อยู่เฉยไม่เป็นสุขกลุ่มหนึ่ง ได้พากันเดินทางขึ้นสู่ยอดเขาฟานซีบัน ที่ยอมรับกันว่า เป็นภูเขาที่สูงที่สุดในคาบสมุทรอินโดจีน ซึ่งการเดินทางในครั้งนี้จะมี 3 ขั้นตอนดังนี้ (ภาพที่ 1) นั่งรถรางจากกลางใจเมืองซาปาไปสถานีเมืองเฮา ขั้นตอนที่สอง นั่งเคเบิ้ลคาร์ ไปที่สถานีฟานซีปัน จากนั้น นั่งรถรางขนาดเล็กไปจนเกือบถึงยอดเขาฟานซีปัน ส่วนขากลับนั้น เราจะเดินลงด้วยเท้า จากยอดสูงสุดมาที่สถานีฟานซีบัน
ว่ากันว่า สภาพอากาศของเมืองซาปาและระหว่างการเดินทางขึ้นสู่ยอดเขาฟานซีปันนั้น แปรปรวนง่ายในแต่ละเดือน ในแต่ละวัน และแต่ละช่วงของวัน การเดินทางของคณะข้าพเจ้าเช่นนี้ก็เช่นกัน ในวันแรกที่พวกเราไปถึงนั้น ท้องฟ้าโปร่งใส อุณหภูมิสูงเกือบ 30 องศาเซลเซียส สามารถมองเห็นภูมิประเทศได้ระยะทางไกล จนเห็นยอดเขาทั้งด้านทิศเหนือและใต้ แต่วันถัดมากลับถูกปกคลุมด้วยหมอกและเมฆ ไม่สามารถมองเห็นได้ไกลกว่า 100 เมตร
การเดินทางของข้าพเจ้าในครั้งนี้สามารถกล่าวถึงธรณีวิทยาในแต่ละช่วงของการเดินทางได้ดังนี้
1. ระหว่างการนั่งรถรางจากใจกลางเมืองไปขึ้นสถานีเคเบิ้ลคาร์นั้น เราสามารถมองเห็นเทือกเขาและหน้าผาของหินปูน (ในรายงานระบุว่าเป็นหินอ่อน) ที่จัดได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของมวลหินทบตัวซาปา (Sapa Nappe) ได้ชัดเจนในบางช่วงของเส้นทาง และเวลา เสียดายที่ไม่มีภาพถ่ายมาอวดแฟนานุแฟน
2. ช่วงที่สอง ที่เดินทางด้วยเคเบิ้ลคาร์นั้น มีหมอกปกคลุมตลอด จึงไม่กล้าบรรยายถึงสภาพธรณีวิทยาของเส้นทางได้เลย
-------------------------------------------------
ภาพที่ 2 ภาพถ่ายหินแกรนิตบนยอดเขาฟานซีปัน แสดงแนวรอยแยกทั้งหลัก(เส้นสีแดงหนา) และรอง(เส้นสีแดงบาง) สายแร่ควอรตซ์ (รูปล่างซ้าย) รวมทั้งหินแกรนิตเนื้อแปร ที่พบระหว่างทางเดินลง (รูปล่างขวา)
3. ช่วงสุดท้ายนั้น เราเดินทางขึ้นยอดเขาด้วยรถราง และเดินด้วยเท้ากลับลงมา ทำให้เราได้เชื่อว่า เขาฟานซีปันนั้นเป็นหินแกรนิตทั้งสิ้น ที่จุดสูงสุด ณ บริเวณที่มีการสร้างปิรามิดโลหะวางทับลานหินอยู่นั้น เราเห็นหินแกรนิตเนื้อหยาบมีรอยแยก (joints) สองชุดคือ N60E (แนวหลัก) และ N30W (แนวรอง) (ภาพที่ 2 รูปบน) พบสายแร่ควอรตซ์ หนาประมาณ 1 เซนติเมตร ตัดผ่านเนื้อหินอยู่ทั่วไป แต่ไม่สามารถระบุได้ว่ามีระบบเช่นไร (ภาพที่ 2 รูปล่างซ้าย
4. ระหว่างทางเดินลงนั้น นอกจากจะพบสายแร่ควอรตซ์ทั่วไปแล้วเรายังพบหินเป็กมาไรต์ตัดเข้ามาในหินแกรนิต (pegmatite dike) (ภาพที่ 2 รูปล่างขวา)
ภาพที่ 3 ภาพเสาธงชาติเวียดนามบนยอดเขาฟานซีปัน และหินเป็กมาไตต์ที่ตัดผ่านหินแกรนิต
5. เราสังเกตเห็นได้ว่า หินที่ถูกนำมาใช้เป็นทางเดินขี้นลงระหว่างเส้นทางในช่วงบนสุดนั้นเป็นหินปูนสีเทาดำ และสีเทาเขียว (ภาพที่ 3) แต่ในป้ายที่เจดีย์ 11 ชั้นระบุว่า สร้างขึ้นด้วยหินสีเขียวจากเมืองนิงห์บิงห์ (Ninh Bing Greenstone) ซึ่งตามความรู้ของข้าพเจ้าแล้ว ที่เมืองนั้นประกอบขึ้นด้วยหินปูนยุคไทรแอสสิก แต่ที่เจดีย์แห่งนี้ พบว่าหินสีเทาเขียวนี้ มีทั้งที่เป็นหินกรวดมนเนื้อแปร (ภาพที่ 3 รูปล่างซ้าย) และหินปูนแสดงชั้น
6. ตามเส้นทางเดิน และผนังทางเดิน เราพบว่าสร้างขึ้นมาจากหินปูนสีเทาดำ รวมทั้งที่บริเวณองค์พระอสิตพุทธ แต่ป้ายระบุว่าสร้างจากหินสีเขียว ไม่ระบุที่มา หินเหล่ามักจะพบซากดึกดำบรรพ์ฝังอยู่ (ภาพที่ 3 รูปบนทั้งสองข้าง) รวมทั้งสายแร่แคลไซต์ที่พบมากมาย และที่น่าประทับใจก็คือแผ่นหินปูนที่ใช้สร้างหน้าจั่วของซุ้มประตูคร่อมทางเดินแห่งหนึ่ง ที่เห็นการเกิดหินย้อยจากสายแร่ดังกล่าวนี้ (ภาพที่ 3 รูปล่างขวา)
7. ในช่วงหนึ่งของทางเดินเราพบหินแกรนิตเนื้อแปร แสดงการเรียงตัวกันของแร่ไบโอไตต์ (ภาพที่2 รูปล่างขวา) ทำให้อยากจะเปลี่ยนใจฟันธงว่า ก้อนหินลึกลับที่มีการแกะสลักที่พบในหุบเขาเมืองเฮานั้น น่าจะเป็นหินแกรนิตที่ถูกถล่มลงไปจากเทือกเขาฟานซีปันมากกว่า
เรื่องราวทั้งเบิ้ดก็เป๋นจังซี้หละครับ อ้ายสารวัตร