ภูเขาไฟ คือ ช่องที่เปิดออกมาจากเปลือกโลก ที่หินหลอมเหลว และก๊าซจากภายใต้พิภพสามารถถูกขับดันขึ้นมาได้ พลังในการผลักดันหรือระเบิดนี้ จะกระทำให้พื้นผิวของโลกในบริเวณนั้นถูกยกตัวขึ้นสูงกลายเป็นเนิน หรือภูเขา ที่เราเรียกว่า ภูเขาไฟ
แม้ว่าภูเขาไฟทั้งหมดในโลกจะมีลาวา เถ้าถ่าน และก๊าซเหมือนกัน แต่หากพิจารณาถึงวิธีการเกิดและรูปร่างแล้ว นักภูเขาไฟวิทยาแบ่งภูเขาไฟออกได้เป็น 6 ชนิด (ภาพที่ 1) ดังต่อไปนี้
1. ภูเขาไฟที่เกิดจากรอยแตก (Fissure Volcanoes หรือ linear volcanoes) ภูเขาไฟชนิดนี้นั้น โดยทั่วไปจะเกิดในมหาสมุทร เช่นบะซอลต์ที่ไหลออกมาจากสันกลางมหาสมุทร (Mid Oceanic Ridge) พวกที่เกิดบนแผ่นดินมีน้อย โดยหากถูกดันขึ้นมาตามรอยแตก (fissure) จะคลุมพื้นที่ไม่มากนัก เช่นหลังเทิน เกาะคา-สบปราบ ลำปาง แต่ถ้าเกิดจากโซนแตกขนาดใหญ่ (rift) จะครอบคลุมพื้นที่มหาศาล เช่น ที่ราบสูงเด็คคาน (Deccan’Trap) อินเดีย ลักษณะเด่นของภูเขาไฟชนิดนี้คือ ไม่มีจุดศูนย์กลางในการขับดันที่จะกลายเป็นปากปล่องภูเขาไฟ แต่จะเป็นรอยแตกมีแนวยาวบนพื้นดินแต่ลงลึกไปใต้เปลือกโลก หินหลอมเหลวที่ถูกข้บขึ้นมานั้น จะมีความหนืดสูงมาก ดังนั้น ลาวาจึงจะแผ่ตัวออกไปด้านข้าง ไม่ก่อตัวสูงขึ้นมา
2. ภูเขาไฟรูปโล่ (Shield volcano) มีรูปร่างคล้ายโล่ มีความสูงน้อยกว่าความกว้างมาก จึงมีความชันของภูเขาน้อย ไม่มีการระเบิด ลาวามีความหนืดน้อย จึงไหลไปได้ระยะทางไกล
3. ภูเขาไฟรูปโดม (Dome Volcano) เนื่องจากลาวาที่ออกมาจากปากปล่องภูเขาไฟมีความหนืดสูงมาก ไม่สามารถไหลออกไปได้ไกล จึงเย็นตัวกลายเป็นหินเร็ว ทำให้ภูเขาไฟมีรูปลักษณะเป็นโดม ภูเขาไฟชนิดนี้มักมีความสูงไม่มากนัก แต่อาจเกิดการระเบิดที่รุนแรงได้
4. ภูเขาไฟกรวยเถ้า Ash-Cinder Volcano ภูเขาไฟชนิดนี้มักจะสูงประมาณ 3-500 เมตร เกิดจากการที่เศษดินและเถ้าที่เกิดจากการระเบิดตกลงมาทับถมกันข้างปากปล่อง ไม่พบการแสดงชั้นของตะกอนภูเขาไฟ แต่จะมีลักษณะเป็นเขาชัน ตัวอย่างก็เช่น ภูเทวดา เมืองปากซอง แขวงจำปาสัก ลาว
5. ภูเขาไฟผสม (Composite Volcano) หรืออีกชื่อที่ว่าภูเขาไฟแสดงชั้นหิน (Stratovolcalnoes) เพราะว่าจะมีชั้นของลาวาหรือตะกอนภูเขาไฟเป็นชั้นๆ จากการระเบิดหรือประทุในแต่ละครั้งให้เห็น ภูเขาไฟชนิดนี้จะมีความชัน และมองเห็นเป็นรูปกรวยได้ชัดเจน หินลาวามักจะมีความหนืดสูง จึงจะไหลช้าและแสดงก่อเป็นภูมิประเทศที่สูงชัน
6. ภูเขาไฟรูปกาน้ำ (Caldera Volcano) คือภูเขาไฟที่เมื่อหินหลอมเหลวข้างใต้ถูกระเบิดออกมาจนหมด ไม่มีสิ่งรองรับด้านล่าง ปากปล่องจึงยุบตัวลงไปเป็นหลุมขนาดใหญ่ ในแอ่งดังกล่าวนี้ บางแห่งก็จะมีภูเขาไฟที่มีขนาดเล็กกว่า โผล่ขึ้นมาภายในก็เป็นได้ ตัวอย่างเช่น Tengger Caldera ในเกาะชวา อินโดนีเซีย ที่มีภูเขาไฟโบรโมอยู่ภายในแอ่งยุบตัวดังกล่าว
นอกจากนี้ เรายังสามารถแบ่งภูเขาไฟ ตามลักษณะการระเบิดได้อีกเป็น 6 ชนิด (ภาพที่ 2) ดังนี้
1. การระเบิดแบบฮาวาย คือการระเบิดที่มีเสียง และการสั่นสะเทือนไม่มาก ลาวาที่ไหลออกมาค่อนข้างเหลว และไหลออกไปได้ไกลหลายกิโลเมตร ก๊าซที่ออกมาพร้อมกับการระเบิดไม่รุนแรง ทำให้ลาวาปกคลุมพื้นผิวในลักษณะค่อนข้างเรียบ
2. การระเบิดแบบภูเขาไฟสตรอมโบลี (อิตาลี) (Strombolian Eruptions) ลักษณะเด่นคือมีการระเบิดเป็นระยะต่อเนื่อง มีความรุนแรงปานกลาง ลาวาและตะกอนภูเขาไฟจะทับถมกันเป็นชั้นๆ จนกลายเป็นภูเขาไฟที่แสดงชั้นหิน
3. การระเบิดแบบภูเขาไฟวัลแคน (มลรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา) (Vulcan Eruptions) เป็นภูเขาไฟที่มีการระเบิดรุนแรง จนบางครั้งทำให้รูปร่างของยอดภูเขาไฟเปลี่ยนไป ในการระเบิดแต่ละครั้งจะมีทั้งเศษหิน เถ้าถ่านมากมายซึ่งมักจะรวมตัวกับกลุ่มก๊าซจนกลายเป็นกลุ่มควันปกคลุมยอดภูเขาไฟ ลาวาที่ถูกขับออกมาจะมีความหนืดและก๊าซสูงมาก
4. การระเบิดแบบภูเขาไฟเวสสุเวียส (Vesuvian Eruptions) ภูเขาไปชนิดนี้คล้ายคลึงกับแบบวัลแคน แต่มักจะระเบิดเอาหินหลอมเหลวออกมาเกือบทั้งหมดในการระเบิดครั้งแรก เศษหินและเถ้าถ่านที่ถูกพ่นออกมานั้น อาจขึ้นไปสูงกว่า 20 กิโลเมตร
5. การระเบิดแบบภูเขาไฟเปอเล (Pele’e) (หมู่เกาะมาร์ตินีค ทะเลแคริบเบียน) (Plinian Eruptions) เป็นภูเขาไฟที่มีความหนืดสูงมาก เกิดขึ้นหลังจากที่หินหลอมเหลวในปล่องภูเขาไฟได้เย็นตัวกลายเป็นหิน เมื่อมีการระเบิดจึงมีความรุนแรงสูงมาก ก่อให้เกิดธารลาวาที่มีขนาดมหึมา
6. การระเบิดแบบที่รุนแรงกว่าแบบเปอเล (Ultra Plinian Eruptions) คือการระเบิดที่รุนแรงกว่าการระเบิดของภูเขาไฟเปอเล ความรุนแรงของการระเบิดจะสูงมากจนทำลายภูมิประเทศที่เคยเป็นภูเขาก่อนหน้านี้หายไปทั้งสิ้น การระเบิดของภูเขาไฟเช่นนี้สามารถส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของโลกได้ ตัวอย่างเช่น การระเบิดของภูเขาไฟการ์กะตั้ว อินโดนีเซีย
ขนาด และความรุนแรงในการระเบิดของภูเขาไฟแต่ละชนิด จากเล็กไปใหญ่แสดงไว้ในภาพที่ 3
ภูเขาไฟคือหนึ่งในโครงสร้างทางธรณีวิทยา ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้แก่โลกอย่างเฉียบพลัน และรุนแรง บางครั้งทำลายแผ่นดินหรือภูเขา รวมทั้งชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ ต้องสูญหายไป บางครั้งก็สร้างแผ่นดินขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้ ภูเขาไฟยังเป็นตัวนำเอาทรัพยากรแร่ขึ้นมาสู่ผิวโลก ที่สำคัญก็คือ ทัศนศึกษาของสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม ถึง 3 สิงหาคม 2566 นี้ คือการตะลุยภูเขาไฟในแดนอิเหนา ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า น่าจะนำเอาข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับภูเขาไฟมาให้สมาชิกที่ไม่ถนัดด้านธรณีวิทยาได้อ่านได้ทราบบ้าง
ป.ล. ดังที่โพสต์ไปหลายครั้งแล้วว่า ข้าพเจ้าเป็นนักธรณีวิทยาสายศิลาละมุน (soft rock geologist) ไม่ใช่สายศิลากระด้าง (hard rock) จึงไม่ถนัดในด้านหินอัคนีและหินแปร ก็เลยไม่แน่ใจว่า ภูเขาไฟในเมืองไทยเรานี้ จัดว่าเป็นภูเขาไฟชนิดไหน ถามอากู๋เกิ้ลแล้ว ท่านบอกว่า ภูเขาไฟที่บ้านเราทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดเป็นแบบรูปโล่ จริงหรือไม่ รบกวนท่านผู้รู้ช่วยแนะนำด้วยครับบบบบ
-------------------------------------------------