Nares ไทย ลุยทุ่งกุลาประสานักธรณีฯ 1 (อารัมภบท)
ภาพที่ 1 ภาพจินตนาการถึงทุ่งกุลาร้องไห้ กับเพลง “กุลา” ของคาราวาน
ลุยทุ่งกุลาประสานักธรณีฯ 1 (อารัมภบท)
หนุ่มเหน้าสาวสวยในยุค “ฉันจึงมาหาความหมาย” เมื่อปีพ.ศ. 2510 กว่าๆ จะต้องรู้จักเพลง “กุลา” ของวงคาราวาน (รูปที่ 1) เนื้อร้องของเพลงนี้กล่าวถึงทุ่งราบที่แห้งแล้งและกว้างใหญ่ ที่แต่งขึ้นมาเป็นกลอนหกสั้นๆ ของน้าหงา สุรชัย จันทิมาธร ใส่ทำนองโดยน้าหว่อง มงคล อุทก บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีเพียงไม่กี่ชิ้น มีเสียงพิณอีสานเป็นตัวนำ นับเป็นเพลงที่ใครได้ยินก็อยากจะเห็นทุ่งร้างแห่งนี้ รวมทั้งตัวข้าพเจ้าด้วย ซึ่งได้พยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมก็ทราบจากข้อมูลที่หาได้ในช่วงนั้นว่า “ทุ่งกุลาร้องให้” คือที่ราบขนาดใหญ่ในใจกลางด้านใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ประมาณ 2 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 13 อำเภอ 5 จังหวัด (รูปที่ 2) ได้แก่ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม อำเภอชุมพลบุรี และอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ อำเภอปทุมรัตต์ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอสุวรรณภูมิ อำเภอโพนทราย และอำเภอหนองฮี จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอศิลาลาด อำเภอราษีไศล และอำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอค้อวัง และอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร
ชื่อ “ทุ่งกุลาร้องไห้” นั้นมาจากเรื่องเล่าที่สืบทอดกันมาแสนนานว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีชนเผ่ากุลา ซึ่งมีอาชีพค้าขายระหว่างเมือง ได้นำขบวนคาราวานผ่านทุ่งแห่งนี้ ใช้เวลาเดินทางหลายวัน ไม่พบผู้คน ไม่พบหมู่บ้าน ไม่พบแหล่งน้ำ ไม่มีต้นไม้ให้ร่มเงา เหมือนเดินทางอยู่กลางทะเลทราย พวกเขาจึงทั้งหิวทั้งเหนื่อย ร่างกายขาดน้ำ จึงได้แต่นอนร้องไห้ จนมีชาวพื้นเมืองผ่านมาพบเข้า จึงช่วยเหลือไว้ได้ ทุ่งราบแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้” ว่ากันว่า ในอดีต “ทุ่งกุลาร้องไห้ในหน้าแล้งนั้น จะแห้งแล้งมาก พอถึงตอนหน้าฝน น้ำจะท่วมทุ่งทุกปี ยิ่งไปกว่านั้น ใต้ผืนดินลงไปเป็นดินเค็ม น้ำที่ตักขึ้นมาก็เป็นน้ำเค็ม ไม่สามารถปลูกพืชผลอะไรได้
ข้าพเจ้าเป็นคนภาคเหนือ มีโอกาสได้ไปอีสานครั้งแรกในปีพ.ศ. 2516 แต่เป็นขอบอีสานด้านตะวันตก ไม่ได้ทะลุเข้าไปในเขตของทุ่งกุลาร้องไห้ แต่ก็ได้พบเห็น “ขี้ทา” ซึ่งก็คือดินเกลือที่แห้งเป็นคราบหรือเม็ดขาวบนผิวดิน รวมทั้งรางไม้และหลุมที่ใช้ในการทำเกลือสินเธาว์ตามสองข้างทางถนนมิตรภาพ และเมื่อได้เข้าไปในพื้นที่ของทุ่งกุลาร้องไห้ ก็ปาเข้าไปปี 2520 กว่าๆ จึงได้พบเห็นความแห้งแล้งชนิดดินแยกแตกระแหงของทุ่งดังกล่าวบ้าง แต่ก็เพียงเล็กๆน้อยๆ เท่านั้น
นักธรณีวิทยาในสมัยนั้นเชื่อว่า “ขี้ทา” ที่พบในอีสานนั้น มาจากชั้นเกลือหินของหมวดหินมหาสารคาม ซึ่งในรายงานของกรมทรัพยากรธรณี ณ ตอนนั้นระบุว่าประกอบด้วยชั้นเกลือหินสลับกับหินโคลนและหินทรายสีแดง โดยไม่ทราบลำดับชั้นหินโดยละเอียดและถูกต้อง เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้ว เกลือหินจะละลายโดยน้ำใต้ดินจนสิ้นเมื่อถูกยกตัวขึ้นมาใกล้ผิวดิน การกำหนดตำแหน่งการแผ่ขยายของหมวดหินมหาสารคามจึงอาศัยการพบเห็นการกระจายตัวของขี้ทา จึงมีรายงายงานว่า หมวดหินนี้จะพบอยู่เฉพาะในที่ลุ่ม 2 แห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (รูปที่ 3) โดยมีเทือกเขาภูพานคั่นกลาง แอ่งด้านเหนือเรียกว่า แอ่งสกลนคร ส่วนแอ่งด้านใต้เรียกว่า แอ่งโคราช
ขอพักจิบยาแก้ไอน้ำดำตราเสือใหญ่แป๊บหนึ่งครับ ท่านสารวัตร
-------------------------------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
บทความ ดร. นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย
-------------------------------------------------
ภาพที่ 2 แผนที่แสดงขอบเขตของทุ่งกุลาร้องไห้ และสายน้ำสำคัญที่ไหลผ่าน เช่น น้ำมูล ลำเสียว ลำพลับพลา และคลองเตา
ภาพที่ 3 ภาพจากรายงานของ Gardner et al, 1967 ผู้ตั้งหมวดหินมหาสารคาม จากข้อมูลหินที่ได้จากหลุมเจาะน้ำบาดาลที่วัดเชียงเหียน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ว่าประกอบด้วย เกลือหิน หินโคลน หินทรายแป้ง และหินทรายสลับกัน พร้อมทั้งแสดงขอบเขตการแผ่กระจายของหมวดหิน ที่แคบกว่าที่พิสูจน์ได้ในปัจจุบัน เนื่องจากในสมัยนั้น การกำหนดขอบเขตของหมวดหินมหาสารคาม (เส้นสีน้ำเงิน) ได้แก่พื้นที่ที่มีคราบเกลือให้เห็นบนผิวดินเท่านั้น