Nares ไทย ลุยทุ่งกุลาประสานักธรณีฯ 2 (ธรณีสันฐานของอีสานบ้านเฮา)
ภาพที่ 1 แผนที่แสดงความแตกต่างระหว่างอีสานบ้านเฮากับภูมิภาคอื่นของประเทศ ทั้งในด้านความสูงต่ำ และชนิดของหิน
ลุยทุ่งกุลาประสานักธรณีฯ 2 (ธรณีสันฐานของอีสานบ้านเฮา)
หากท่านผู้อ่านมีประสบการณ์ ในการเดินทางไปทุกภูมิภาคของประเทศไทยเราแล้ว น่าจะพบว่า ลักษณะภูมิประเทศของภาคอีสานนั้น มีความแตกต่างกับภาคอื่นๆ (รูปที่ 1 ) โดยขณะที่เกือบทุกภาคจะเป็นภูเขาสลับซับซ้อนกับที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขา ที่ราบชายฝั่งทะเล หรือที่ราบลุ่มอันกว้างขวางของภาคกลาง แต่หากท่านจะไปถึงอีสานนั้น ท่านจะต้องเดินทางข้ามเทือกเขาสูงก่อน จากนั้นจึงจะพบกับที่ราบใหญ่โตสุดลูกหูลูกตา ดังปรากฏในบันทึกของแม่ทัพสยามจากบางกอกท่านหนึ่งว่า เมืองโคราชนั้นตั้งอยู่บนที่ราบ มีความสูงกว่าเมืองบางกอก 9 ช่วงต้นตาล เป็นเหตุให้ฝรั่งหลายรายเรียกที่ราบดังกล่าวว่า “ที่ราบสูงโคราช” (Khorat Plateau)
ลักษณะภูมิประเทศของอีสานที่แตกต่างจากภูมิภาคอื่นๆ นั้น เกิดขึ้นจากธรณีสันฐานที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ นักธรณีวิทยาผู้ที่สังเกตุ สำรวจ และศึกษา หาคำตอบในด้านนี้ จะใช้ความรู้ตามวิชาที่เรียกว่า "ธรณีสันฐานวิทยา" (Geomorphology) ซึ่งก็คือวิชาที่ว่าด้วยต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของภูมิประเทศชนิดต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปตามกระบวนการทาง ธรณีวิทยา
ผลจากการศึกษาวิเคราะห์โดยใช้หลักการของวิชาดังกล่าว ข้าพเจ้าแบ่งพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือออกตามลักษณะที่ตั้งทางธรณีวิทยา (Geologic Setting) ทั้งหมด 8 พื้นที่ (รูปที่2) ดังนี้ พื้นที่เทือกเขาเลย-เพชรบูรณ์ (หมายเลข 1) มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน วางตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ ประกอบขึ้นด้วยหินอายุมหายุคชีวิตเก่า (Paleozoic Era) เป็นส่วนใหญ่ คล้ายๆ กับบริเวณตะวันตกของประเทศ พื้นที่ภูเวียง (หมายเลข 2) มีสภาพเป็นที่ราบลอนลุ่มสลับกับภูเขายอดตัด ประกอบขึ้นด้วยหินตะกอนในมหายุคชีวิตกลาง (Mesozoic Era) เช่นเดียวกับพื้นที่ที่เหลือ แนวเทือกเขาสันอีโต้ (Questa) (หมายเลข 3) ที่มีลักษณะเป็นเทือกเขาที่มีชั้นหินวางตัวเอียงเทเข้าหาใจกลางของอีสานนั้น นับว่าเป็นขอบที่ราบสูงโคราช ฉะนั้นแล้ว พื้นที่หมายเลข 1 และ 2 จึงไม่นับว่าอยู่ในที่ราบสูงโคราช เทือกเขาภูพาน (หมายเลข6) คือเทือกเขาที่วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ- ตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่สูงบึงกาฬ มีสภาพคล้ายพื้นที่ภูเวียง แต่ภูเขายอดตัดในบริเวณนี้กลับเกิดสะสมตัวในทะเลทรายเป็นส่วนใหญ่ และอายุน้อยกว่าหมายเลข 2 พื้นที่สูงบุรีรัมย์ (หมายเลข 😎 เป็นที่ราบลอนสูงคล้ายพื้นที่สูงบึงกาฬ แต่ภูเขาที่พบกลับเป็นภูเขาไฟ พื้นที่ลุ่มโคราช-อุบล และที่ลุ่มอุดร-สกลนคร (หมายเลข 7 และ 5) นั้นเทียบเท่าได้กับ Korat และ Sakon Nakhon Basin ที่เรียกกันในสมัยก่อน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการสับสน กับ แอ่งสะสมตะกอนโคราช (Khorat Sedimentary Basin)
จากการศึกษาข้อมูลใต้ผิวดิน เช่น ข้อมูลการวัดคลื่นไหวสะเทือนในชั้นหิน และข้อมูลหลุมเจาะ สามารถแสดงชั้นหินที่วางตัวอยู่ใต้ที่ราบสูงได้ดียิ่งขึ้น (รูปที่ 3 และ 4) เช่น ลึกลงไปใต้ชั้นเกลือหินและกลุ่มหินโคราช จะประกอบด้วยหินแปรชั้นสูงหรือหินอัคนีอายุแก่ (สีชมพูในรูปที่3) หินตะกอนที่สะสมตัวในทะเลในมหายุคชีวิตเก่า (สีเขียว สีน้ำเงิน สีม่วง) หินตะกอนยุคไทรแอสสิกของหมวดหินกุฉินารายณ์ หรือห้วยหินลาด (สีส้มในรูปที่ 3) ส่วนชั้นหินที่วางตัวอยู่บนกลุ่มหินโคราช ได้แก่หมวดหินมหาสารคาม (กากะบาดในรูปที่ 3 และ 4) กับหมวดหินภูทอก ที่วางตัวอยู่บนสุด ท่านที่เข้าใจถึงกระบวนการทางธรณีวิทยา เมื่อพิจารณารูปที่ 3 และ 4 แล้ว น่าจะเข้าใจเหตุผลได้ว่า ทำไมข้าพเจ้าจึงแบ่งพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือออกเป็น 8 พื้นที่ ทำไมบางพื้นที่ของที่ราบสูงโคราชจึงมีโดมเกลือ และคราบเกลือ รวมทั้งทราบถึงสภาพทางธรณีวิทยาภายในพื้นที่ของทุ่งกุลาร้องไห้ (TKR)
ได้เวลาจิบยาแก้ไอน้ำดำตราเสือใหญ่อีกแล้วครับ ท่านสารวัตร
-------------------------------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
บทความ ดร. นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย
-------------------------------------------------
ภาพที่ 2 แผนที่แสดงการแบ่งพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยออกตามหลักของธรณีสันฐานวิทยา
ภาพที่ 3 ภาพตัดขวางในแนวเกือบเหนือใต้จากเขายายเที่ยง ไปเทือกเขาภูพาน จากข้อมูลการวัดความไหวสะเทือนในชั้นหิน แสดงตำแหน่ง ลักษณะการวางตัว และชนิดหินใต้ผิวดินของที่ราบสูงโคราช
ภาพที่ 4 ภาพตัดขวางจากข้อมูลการวัดความไหวสะเทือนในชั้นหิน แสดงรายละเอียดของการวางตัว และชนิดหินในระดับตื้นใต้ผิวดินของที่ราบสูงโคราช โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุ่งกุลาร้องให้ (TKR)