iok2u.com แหล่งรวมข้อมูลข่าวสารเรื่องราวน่าสนใจเพื่อการศึกษาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้

Pay It Forward เป้าหมายเล็ก ๆ ในการส่งมอบความดีต่อ ๆ ไป
เว็ปไซต์นี้เกิดจากแรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward ที่เล่าถึงการมีเป้าหมายเล็ก ๆ กำหนดไว้ให้ส่งมอบความดีต่อไปอีก 3 คน หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องตอบแทนกลับมา อยากให้ส่งต่อเพื่อถ่ายทอดต่อไป
มิสเตอร์เรน (Mr. Rain) และมิสเตอร์เชน (Mr. Chain)
Mr. Rain และ Mr. Chain สองพี่น้องในโลกออฟไลน์และออนไลน์ที่จะมาร่วมมือกันสร้างสื่อสารสนเทศ เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้ในเรื่องราวต่างๆ มากมายสร้างสังคมในการเรียนรู้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องตอบแทนกลับมา
ยืนหยัด เข้มแข็ง และกล้าหาญ (Stay Strong & Be Brave)
ขอเป็นกำลังใจให้คนดีทุกคนในการต่อสู้ความอยุติธรรม ในยุคสังคมที่คดโกงยึดถึงประโยชน์ส่วนตนและพวกฟ้องมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม จนหลายคนคิดว่าพวกด้านได้อายอดมักได้ดี แต่หากยึดคำในหลวงสอนไว้ในเรื่องการทำความดีเราจะมีความสุขครับ

Nares ไทย ลุยทุ่งกุลาตามประสานักธรณีฯ 6 (บ่อพันขัน / บ่อพันขันธ์ บ่อน้ำมหัศจรรย์ กลางทุ่งกุลาร้องไห้)

 

รูปที่ 1 แผนที่แสดงตำแหน่งของบ่อพันขัน หนองพันขัน ลานหินตัด/ลานหินต่าง บ่อศิลาแลง ภาพถ่ายบ่อพันขันและลานหิน เมื่อปีพ.ศ. 2509 รวมทั้งข้อมูลการวัดความไหวสะเทือนในชั้นหิน ในแนวเหนือ-ใต้ ประมาณ 2-กิโลเมตร ใต้บ่อพันขัน

 

 

ลุยทุ่งกุลาตามประสานักธรณีฯ 6 (บ่อพันขัน / บ่อพันขันธ์ บ่อน้ำมหัศจรรย์ กลางทุ่งกุลาร้องไห้)

ที่กลางทุ่งกุลาร้องให้ (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ต่อเขตระหว่างอำเภอสุวรรณภูมิ กับอำเภอหนองฮี จังหวัดร้อยเอ็ด) มีลานหินทรายสีแดงเนื้อละเอียดมีขนาดกว้างยาวประมาณ 150x 1,200 เมตร ในที่นี้ มีบ่อหินทรายขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง และความลึกประมาณ 30 และ 60 เซนติเมตร ตามลำดับ มีน้ำจืดซึมขึ้นมาตลอดเวลา ชาวบ้านเรียกว่าน้ำส่างครก (น้ำผุดจากบ่อที่มีรูปร่างคล้ายครก) น้ำที่ผุดขึ้นมานั้น มีอัตราการไหลซึมค่อนข้างสูง หลายคนเชื่อว่า แม้จะตักน้ำออกพันขัน น้ำก็ไม่แห้ง จึงมีชื่อเรียกขานกันทั่วไปอีกชื่อว่า บ่อพันขัน (รูปที่ 1 )
อย่างไรก็ตาม การไปเยี่ยมชม บ่อพันขัน ของข้าพเจ้ากับคณะครั้งนี้ เรามีมัคคุเทศก์กิติมศักดิ์นำทาง เขาคือ ดร. แกง วีระพงษ์ ประสงค์จีน ดร. หนุ่มลูกชาวนา ผู้รักและภูมิใจในภูมิลำเนาของตน ผู้มีความสามารถหลากหลายด้าน (คนใส่เสื้อลายตาหมากรุก ในภาพบนด้านซ้ายของรูปที่ 2) ดร.แกง เชื่อว่า ชื่อที่ถูกต้องของบ่อนี้ควรจะเป็น “บ่อพันขันธ์” ซึ่งสอดคล้องกับตำนานความเป็นมาของทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งในรายละเอียดจะแตกต่างออกไป ตามแต่ความเชื่อและจินตนาการ แต่สามารถเล่าได้สั้นๆ ดังนี้
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเมืองๆ หนึ่งชื่อว่า “จำปาขัน” ซึ่งถูกล้อมรอบด้วยทะเลกว้างใหญ่ ได้เกิดศึกชิงนางขึ้นมา อีกฝ่ายหนึ่งมีนาคเป็นสหาย ได้ขอให้ทัพนาคขึ้นมาช่วยสู้รบ การโผล่ตัวออกขึ้นมา ทำให้เกิดรูขนาดใหญ่มากมาย น้ำทะเลจึงไหลลงไปใต้ผิวโลก จนทะเลเหือดแห้ง ทำให้กุ้ง หอย ปู ปลา ตายทับถมกันสิ้น ส่งกลิ่นเหม็นไปถึงสวรรค์ชั้นฟ้า พระอินทร์จึงสั่งให้พญานกอินทรีลงมากินซากสัตว์เหล่านั้น เมื่อพญานกอินทรีดำเนินการเสร็จสิ้นตามคำบัญชาแล้ว ก็เกิดความเหิมเกริม กินมนุษย์ ช้าง ม้า วัว ควาย จนเกือบหมดทั้งแผ่นดิน พระพุทธเจ้าจึงมีบัญชาให้พระโมคคัลลานะ ปราบพญาอินทรี ซึ่งขณะที่ยอมแพ้นั้น พญาอินทรีได้ร้องออกมาด้วยเสียงดัง ฝูงนาคที่อยู่ในเมืองบาดาลได้ยินก็เข้าใจผิดว่า พญานกอินทรีจะลงมาจู่โจมทำร้าย จึงพ่นพิษขึ้นมาสู่ผิวดิน สร้างความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสกับชาวจำปาขัน พระโมคคัลลานะ จึงตั้งจิตอธิษฐานแล้วใช้จีวรของท่านวางคลุมทั่วบริเวณดังกล่าว จากนั้นได้ใช้นิ้วจิ้มทะลุจีวร กลายเป็นบ่อน้ำจืด เพื่อให้ชาวจำปาขันได้อาศัยใช้กิน
ว่ากันว่า จีวรของพระโมคคัลลานะนั้น ได้กลายเป็นหิน มีลายแตกเป็นรูปสี่เหลี่ยมเหมือนจีวรพระ ชาวบ้านร้านถิ่นในอดีตเมื่อได้เห็นก็มีความเชื่อว่าหินที่บ่อน้ำจืดนี้ คือจีวรของพระโมคคัลลานะ และมีขนาดใหญ่มาก ไม่ได้มีขนาด 5 หรือ 9 ขันธ์ เหมือนจีวรทั่วไป แต่ใหญ่ถึง 1,000 ขันธ์ ดร. แกง จึงฟันธงว่า ชื่อดั้งเดิมของบ่อน้ำผุดนี้ ที่ถูกต้องคือ “บ่อพันขันธ์”
ท่ามกลางแดดร้อนภายใต้อุณหภูมิมากกว่า 41 องศาเซลเซียส ดร.แกง ได้พาข้าพเจ้าและคณะไปที่ขอบด้านตะวันตกเฉียงเหนือของหนองพันขัน ที่ที่ชาวบ้านเรียกว่า ลานหินตัด กับ ลานหินต่าง โชคดีของการแวะชมในหน้าร้อนก็คือ น้ำในหนองลดลงมาก จนเราสามารถเดินลงไปดูหินได้ เราได้พบว่า ลานหินในหนองนั้น ประกอบด้วยชั้นหินทรายเม็ดละเอียด สีน้ำตาลแกมแดง มีความหนาของชั้นหินไม่มากนัก (ส่วนใหญ่ไม่เกิน 50 เซนติเมตร) ชั้นหินท้้งหมดวางตัวเอียงเทไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นมุมประมาณ 5 องศา ที่ลานหินตัดนั้นจะมีรอยแยก (joint) 2 แนวตั้งฉากกันชัดเจน (ภาพบนขวาของรูปที่ 2) โดยมีแนวแนวเด่น และแนวรอง ในทิศ N80 W และ N20 E ตามลำดับ พบร่องรอยการสกัดหินของมนุษย์โบราณ มีแนวยาวของหินสกัดทั้งขนาน และทำมุมกับแนวรอยแยก ส่วนลานหินต่างนั้น จะมีรอยแยกไม่มากนัก แต่จะพบการสลับเปลี่ยนแปลงของเนื้อหิน เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมการสะสมตะกอนเปลี่ยนบ่อยและไวมาก (ภาพล่างด้านขวาของรูปที่ 2) เช่น จากหินทรายไม่แสดงการเรียงตัว เปลี่ยนไปเป็นหินทรายชั้นบาง หินทรายมีชั้นเฉียงระดับ ส่วนหินทรายที่แสดงลักษณะการผุพังทำลายเป็นรูปรังผึ้ง (Honey Comb / Tafoni Sandstone) และร่องรอยของรูหนอนชอนไชในแนวราบนั้น พบเห็นได้ทั้งในลานหินทั้งสอง
แหละแล้วก็ได้เวลาพูดถึงบ่อน้ำมหัศจรรย์ ที่มีน้ำจืดผุดขึ้นมาในบ่อเล็กๆ และล้อมรอบด้วยคราบเกลือสินเธาว์ และเนินดินที่เกิดจากการทำเกลือสินเธาว์ของชาวบ้านโบราณ ว่ากันว่า น้ำไหลออกมาทั้งปีทั้งชาติ ตักออกทิ้งพันขันก็ไม่หมด (ภาพบนของรูปที่ 3) ซึ่งสะกดให้ข้าพเจ้าอยู่ในอาการอัดสะจอรอหันการันยอมาตลอดเวลา จนกระทั่งในการแวะเยี่ยมชมครั้งนี้ จึงได้พบความแปลกใหม่ที่ว่า หลายเดือนมานี้ น้ำในบ่อได้แห้งสนิท แถมหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล ได้นำหินทรายสีขาวที่มีชั้นเฉียงระดับสวยงามมาวางทับลงบนบ่อเดิม หลังจากเจาะกลึงเป็นรูและบ่อที่สวยงาม (ภาพล่างด้านซ้ายและขวาของรูปที่ 3) การตะลุยทุ่งกุลาร้องไห้ครั้งนี้ ดร. แกง ได้พาคณะของข้าพเจ้าไปดูบ่อศิลาแลง ที่อยู่ข้างถนนก่อนถึงบ่อพันขันประมาณ 1 กิโลเมตร ทางด้านใต้ (ภาพบนขวาของรูปที่ 1) ณ จุดนี้เราพบว่ามีชั้นศิลาแลงหนาตั้งแต่ 1-3 เมตร วางอยู่บนหินทรายสีแดงของหมวดหินภูทอก (ภาพบนของรูปที่ 4) ซึ่งพิจารณาแล้วคิดว่า น่าจะจัดให้อยู่ในหมู่หินคำตะกร้า เหมือนกับที่ลานหินตัดและลานหินต่าง เพียงแต่ว่าในรอยแยกและรอยแตกของหินจะเปลี่ยนเป็นสีขาว เนื่องจากเหล็กออกไซด์ถูกชะหายไป และมีเกลือซัลเฟตเกิดแทรกขึ้นมา ศิลาแลงที่พบที่นี่เป็นพวกศิลาแลงรูหนอน (Vermicular Laterite) ซึ่งเกิดจากการปรับเปลี่ยนของระดับน้ำใต้ดินที่มีสารละลายเหล็กเจือปนสูง คล้ายกับที่พบตามบ่อน้ำที่ชาวบ้านขุดในบริเวณใกล้ๆ นี้ (ภาพล่างของรูปที่ 4)
เราตรวจพบว่าความสูงของบ่อลูกรังข้างถนน กับบ่อพันขันนั้น คือ 131 กับ 117 เมตรจากระดับน้ำทะเลตามลำดับ ข้อมูลใหม่ที่ได้จากทริปนี้ ทำให้ข้าพเจ้าเชื่อว่า น้ำผุดที่บ่อพันขันนั้น ไหลซึมตามชั้นหินใต้ดินมากับชั้นหินภูทอก ด้วยกระบวนการการเคลื่อนตัวของน้ำใต้ดิน ไม่ได้ถูกถูกอัดขึ้นมาโดยตรงจากชั้นหินข้างล่าง เข้าใจว่าเนื่องจากในอดีตนั้น ป่าไม้บนเนินดังกล่าวยังสมบูรณ์ มีฝนตกมากพอสมควร จึงมีน้ำใต้ดินไหลได้ทั้งปี แต่ปัจจุบัน เกิดสภาพอากาศร้อน และแห้งแล้ง ฝนตกน้อย ทำให้ไม่มีน้ำใต้ดินมากพอที่จะซึมลงไปเติมบ่อพันขัน เป็นเหตุให้ บ่อพันขันไม่มีน้ำผุดขึ้นมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว
แห่นางแมวกันไหมละครับ ท่านสารวัตร

ป.ล. มีรายงานเมื่อปีพ.ศ. 2496 โดยนักปฐพีวิทยาชาวอเมริกัน (Pendleton, 1953) ว่าในบริเวณลานหินนี้ พบน้ำผุดขึ้นมามากมาย แต่ส่วนใหญ่จะเป้นน้ำกร่อยถึงเค็ม จนกระทั่งมีการสร้างฝายน้ำกั้นคลองปลาคล้าวในปีพ.ศ. 2524 น้ำจึงท่วมลานหินทั้งหมด รวมทั้งบ่อพันขัน จนถึงปีพ.ศ. 2547 จึงได้มีการลงทุนเป็นเงินหลายแสนบาท เพื่อฟื้นฟูบ่อกลับคืนมา โดยการทำเขื่อนดินกั้นตัวบ่อออกมาจากอ่างฝายน้ำล้น

-------------------------------------------------

ที่มา

-  https://www.facebook.com/nares.sattayarak

รวบรวมข้อมูลและภาพ

-  www.iok2u.com

-------------------------------------------------

บทความ ดร. นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)

รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย

-------------------------------------------------

 

  

ภาพที่ 2  ภาพถ่ายบริเวณลานหินตัด และลานหินต่าง ดร.วีระพงษ์ ประสงค์จีน คือคนเดินหน้าสุดอยู่บนชั้นหินทรายที่มีชั้นเฉียงระดับ (ภาพบนซ้าย) ลานหินตัด (ภาพบนขวา) หินทรายรังผึ้ง (ภาพล่างซ้าย) และลานหินต่าง (ภาพล่างขวา)

ภาพที่ 3 ภาพถ่ายบ่อพันขันเมื่อหลายปีก่อน จะเห็นว่ามีน้ำผุดขึ้นมาจนเต็มบ่อ (ภาพบน) เปรียบกับภาพถ่ายปัจจุบันที่มีการนำหินทรายจากแหล่งอื่นมาประดับตกแต่งครอบบนบ่อพันขัน ซึ่งปัจจุบันนี้แห้งสนิท

 

ภาพที่ 4 ภาพถ่ายที่บ่อศิลาแลง (ภาพบน) ที่อยู่บนเนินประมาณ 1 กิโลเมตรทางด้านใต้ของบ่อพันขัน ด้านบนของภาพคือเนินดินที่น่าจะเป็นตะกอนของน้ำเสียว ถัดลงไปคือชั้นศิลาแลงที่เหลือจากการขุดออกไป ถัดลงมาด้านล่างคือหินทรายสีน้ำตาลแกมแดงของหมวดหินภูทอก ส่วนภาพล่างคือภาพถ่ายบ่อน้ำปัจจุบัน ณ ตำแหน่งประมาณ 3 กิโลเมตรทางทิศเหนือของบ่อพันขัน จะเห็นชั้นศิลาแลงรูปเลนส์บริเวณขอบบ่อ อันเนื่องจากการที่ชั้นดินที่มีสารละลายเหล็กสูง จากนั้นก็แข็งตัวกลายเป็นศิลาแลง

 

ภาพที่ 5 คณะลุยทุ่งกุลาของข้าพเจ้า ร่วมกับดร.แกง วีระพงษ์ ประสงค์จีน (กางเกงขาวยืนอยู่ขวาสุด) ผู้ใหญ่บ้านสายฝน แก้วสมบัติ บ้านหญ้าหน่อง สุวรรณภูมิ (คนนั่ง) ถ่ายทำที่ลานหินตัด บ่อพันขัน

 

 

ขอต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์
www.iok2u.com
แหล่งข้อมูลสารสนเทศเพื่อคุณ

เว็บไซต์ www.iok2u.com นี้เกิดมาจาก แรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward โดยมีเป้าหมายเล็ก ๆ ที่กำหนดไว้ว่า ทุกครั้งที่เข้าเรียนสัมมนาหรืออบรมในแต่ละครั้ง จะนำความรู้มาจัดทำเป็นบทความอย่างน้อย 3 เรื่อง เพื่อมาลงในเว็บนี้
ความตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับมาทำการถ่ายทอดต่อไป และหวังว่าจะมีคนมาอ่านแล้วเห็นว่ามีประโยชน์นำเอาไปใช้ได้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลย โดยอาจไม่ต้องอ้างอิงที่มาหรือมาตอบแทนผู้จัด แต่ขอให้ส่งต่อหากคิดว่ามันดีหรือมีประโยชน์ เพื่อถ่ายทอดความรู้และสิ่งดี ๆ ต่อไปข้างหน้าต่อไป Pay It Forward