นเรศ ไทย ขอนแก่น ลูกนิมิตพระร่วงที่ภูเวียง (2)
รูปประกอบที่ 1 ภาพพระพระพุทธไสยาสน์ภูเวียง พบที่ผาพระนอน บนสุดของหน้าผาด้านใต้ของเทือกเขาภูเวียง องค์พระถูกแกะสลักขึ้นตามศิลปะยุคทวาราวดี ว่ากันว่า เป็นฝีมือของคนโบราณบ้านโนนเมือง ชุมแพ
จู่ๆ ข้าพเจ้าก็ได้รับการประสานจากคุณเชอรี่ ผกาสวรรค์ ปรัชญคุปต์ ผู้จัดการอุทยานธรณีขอนแก่น และคุณสุธรรม วงษ์จันทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูเวียง ให้กลับไปหาลูกนิมิตพระร่วงที่ข้าพเจ้าเที่ยวโชว์ภาพถ่ายและคุยโม้โอ้อวดว่าพบที่หน้าผาภูเวียงด้านชุมแพ แต่จำไม่ได้ว่าพบที่ส่วนไหนของเทือกเขากันแน่ โดยทั้งสองท่านรับปากว่าจะต้อนรับขับสู้ดูแลเอาใจอย่างเต็มที่ และด้วยความที่เป็นคนไม่ชอบอยู่บ้าน ข้าพเจ้าก็เลยตอบตกลงอย่างง่ายดาย
หลังจากไปช่วยหาแหล่งธรณีวิทยาเพิ่มเติมในพื้นที่ทางด้านตะวันออกของอุทยานธรณีขอนแก่น เพื่อชี้แจงให้คนทั่วไปได้ทราบและเข้าใจถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ของทั้งสองพื้นที่แล้ว เช้าวันที่ 5 สิงหาคม 2567 ข้าพเจ้าเดินทางไปพบกับเจ้าหน้าที่จากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติภูเวียง ที่ลานจอดรถทางขึ้นผาพระนอน (พระพุทธไสยาสน์ภูเวียง) (รูปประกอบที่ 1 และ 2) ซึ่งพระพุทธรูปนี้มีศิลปะแบบทวาราวดี เชื่อว่าคนโบราณโนนเมืองเป็นผู้แกะสลักไว้ที่หน้าผาหินทรายชั้นบนสุดของเทือกเขาภูเวียงเพื่อการเคารพบูชา แต่เมื่อได้พูดคุยกันแล้ว และทราบจุดประสงค์ว่าข้าพเจ้าจะมาหาลูกนิมิตพระร่วง ที่เป็นหินทรงกลมโผล่ออกมาจากหน้าผา ไม่ใช่มาไหว้พระนอน พวกเราจึงย้ายมาหาทางเดินขึ้นเขาที่บ้านไชยสอ (รูปประกอบที่ 2) เราจอดรถไว้ที่วัดท่าช้างเผือกแล้วเดินตะลุยไปตามทางทางป่า ซึ่งก็เป็นอีกเส้นหนึ่งของทางป่าเพื่อไปผาพระนอน
10.00 น. เราเริ่มเดินจากตีนเขา (ความสูงประมาณ 220 เมตรจากระดับน้ำทะเล) ข้าพเจ้าปีนไปพักไปอย่างแสนเหนื่อยอ่อน แม้จะแกล้งแวะดูหินอยู่บ่อยๆ ก็แทบจะไม่ไหว จนถึงความสูง 480 เมตรจากระดับน้ำทะเล เวลาประมาณ 11.15 น. ข้าพเจ้าก็เสนอความเห็นว่า “กินข้าวกลางวันกันเหอะ” เมื่อจัดการข้าวเหนียวหมูปิ้งเรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าก็ประกาศอาญาสิทธิว่า เราปีนขึ้นมาสูงเกินไปแล้ว ไม่พบหน้าผาตามทางเดินเลย เพราะว่าทางเดินนี้เป็นเส้นทางตามแนวหินถล่ม ถ้าอยากเจอหน้าผาต้องเดินเลาะไปด้านซ้ายหรือขวา หน้าผาที่ข้าพเจ้าพบลูกนิมิตพระร่วงเมื่อ 40 ปีก่อน จะต้องอยู่ต่ำลงไปกว่านี้
ระหว่างที่เรานั่งพักรอข้าวเรียงเม็ดอยู่นั้น เจ้าหน้าที่คนหนึ่งยกมือถือขึ้นมาโชว์ เห็นเป็นรูปแผนที่กูเกิ้ลมีเส้นสีแดงวงรอบจุดๆ หนึ่ง และให้ข่าวสารที่ไม่น่าเชื่อถือนักว่า ”คนขับรถของเราได้สนทนากับพระที่วัดท่าช้างเผือก ท่านบอกว่า หลายปีก่อนมีคนกรุงเทพฯ คนหนึ่งฝันมามีลูกนิมิตฝังอยู่ในหน้าผาหิน จึงได้เดินทางมาที่ที่วัด เจ้าอาวาสเลยอาสาพาเดินขึ้นไปสำรวจ ปรากฏว่า พบหินลักษณะคล้ายที่เห็นในฝัน ที่ผากกโก ซึ่งก็คือบริเวณที่วงสีแดงไว้นั่นเอง“ เมื่อสอบถามกันแล้ว ได้รับคำตอบว่า ”ผากกโก“ นั้น จะอยู่ถัดไปทางตะวันออกจากที่ที่เรากินข้าวกลางวันประมาณ 300 เมตร
ข้าพเจ้าลองเดินไล่ตามระดับความสูงไปได้ 100 เมตร ก็หมดความพยายาม จึงตัดสินใจเดินกลับมาที่เส้นทางเดินขึ้น ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ 2-3 คนลุยต่อ จากนั้นก็เดินลงไปถึงระดับความสูง 40 เมตรต่ำจากจุดกินข้าว และบอกใครต่อใครว่า หน้าผาที่ผมปีนมาในอดีตนั้น น่าจะอยู่ที่ระดับความสูงนี่แหละ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งจึงอาสาเดินเลาะหาเอง ข้าพเจ้านั่งรออยู่บนเส้นทางเดินด้วยศรัทธาที่ริบหรี่ นึกโทษตัวเองว่า กูปีนขึ้นมาทำไมวะ ตำแหน่งที่พบเจอเดิมก็ไม่มี แล้วมันจะพบก้อนหินดังว่าได้อย่างไร ระหว่างนั้นก็เปิดยูทูปฟังเพลง”ใกล้ตาไกลตีน“ กับ ”แหย่ไข่มดแดง“ เอาเฉพาะท่อนที่ว่า ”ขึ้นกกโกกกหว้า ตามหาแหย่ไข่มดแดง“ เวลาผ่านไปสักครึ่งชั่วโมง ความอัดสะจอรอหันการันยอก็เกิดขึ้น ลุงเกรียง หมีแบกกล้อง (ปกติช่วงนี้ ต้องติดตามถ่ายภาพน้องหูพับกับงาจิ๋ว ช้างป่าแสนซนที่หนีป่าภูหลวง เลย มาที่ภูเวียง) แต่วันนี้ได้รับมอบหมายให้มาติดตามข้าพเจ้า และเป็นหนึ่งผู้ไม่ยอมแพ้ โดยพยายามตามหาผากกโกให้ได้ ก็ส่งภาพถ่ายมาให้ดู และถามว่า ”นี่คือลูกนิมิตพระร่วงใช่ไหมครับ“ ”อุแม่เจ้า“ ข้าพเจ้าอุทานแล้วตอบว่า “ใช่แล้ว แต่นี่มันคนละลูกกับที่ผมเคยเห็นครับ”
จากนั้น ข้าพเจ้าจึงต้องเดินย้อนขึ้นเขาไปอีกครั้ง แล้วเดินเลาะระดับไปทางด้านตะวันออกเกือบ 400 เมตรเราก็ไปถึง ”ผากกโก“ พบลูกนิมิตพระร่วง 1 ลูก มีขนาดใหญ่กว่า 2 เมตร และรูเปล่าขนาดเกือบเมตร ที่ลูกนิมิตพระร่วงหลุดหายไปแล้ว (รูปประกอบที่ 3)
มวลสารพอกที่พบในประเทศไทยนั้น เกือบทั้งหมดจะเห็นเป็นก้อนกลมหรือรีมนเท่านั้น มีน้อยมาก ที่จะมีเส้นสายลายหิน หรือว่าลักษณะทางธรณีวิทยาปรากฏอยู่ด้วย แต่ความคิดที่จะประกาศว่า ลูกนิมิตที่เราพบที่ภูเวียงนี่ มีความโดดเด่นระดับโลกด นั้น ก็เสียงอ่อยลง เพราะที่อเมริกามีการค้นพบ พื้นที่ที่อัศจรรย์ใจกว่า คือที่ Rock City มลรัฐแคนซัส (รูปประกอบที่ 4) ที่พบเยอะกว่า ซึ่งน่าจะเป็นเพราะว่า หินที่มีมวลสารพอกนี้ เกิดสะสมตัวในทะเลตื้นเมื่อ 100 ล้านปี จึงควรต้องมีซากบรรพชีวิน อันเป็นต้นกำเนิดของมวลสารพอกมากกว่า ต่างจากในเมืองไทย เป็นหินทรายที่สะสมตัวใต้ท้องแม่น้ำ
ที่ผากกโกนี้ อย่างน้อยเราก็พบมวลสารพอกที่มีเส้นสายลายหินสวยงามภายในแล้ว 2 ก้อน ก้อนแรกที่ข้าพเจ้าพบเมื่อ พ.ศ. 2527 อีกก้อนคือที่ลุงเกรียง หมีแบกกล้อง พบในวันนี้ ดังนั้น ถ้าเราค้นหาให้ดี น่าจะพบว่ามีมากกว่านี้แน่นอน และสำหรับความโดดเด่นของแหล่งธรณีวิทยานั้น ถ้าไม่โดดเด่นถึงระดับโลก ก็น่าจะระดับนานาชาติ เน๊าะ อ้ายสารวัตร
-------------------------------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
บทความ ดร. นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย
-------------------------------------------------
รูปประกอบที่ 2 ภาพถ่ายเทืเขาภูเวียง ภาพ 1 ถ่ายจากสถานีบริการน้ำมันก่อนขึ้น ภาพ 2 ถ่ายจากตีนเขา หลังจากเดินทางกลับลงมาแล้ว ภาพ 3 แผนที่ภูมิประเทศจากกูเกิ้ล แสดงตำแหน่งของ ผาพระนอน ผากกโก และบ้านไชยสอ
รูปประกอบที่ 3 ภาพ 1-4 มวลสารพอก หรือลูกนิมิตพระร่วง แต่เจ้าหน้าที่กับชาวบ้านเมื่อเห็นของจริงแล้ว บอกว่า ”นี่มัน ”หินฆ้อง“ และนั่นน่าจะเป็นเหตุผลที่ถามใครต่อใครว่า เคยเห็นลูกนิมิตพระร่วงไหม จึงได้คำตอบว่า ไม่
รูปประกอบที่ 4 ภาพมวลสารพอก (concretions) ที่ Rick City, Miniapolis, Kansas, USA หินทรายที่มีมวลสารพอกนี้เกิดสะสมตัวในทะเลตื้น ผิดกลับกลุ่มหินโคราชที่เกิดใต้ท้องแม่น้ำ