พืดหิน มิได้หมายถึงหินเป็นพืดเฉยๆ นะจ๊ะ (1)
รูปที่ 1 ภาพลุงชาร์ลี (Charles Pendexter) ยกค้อนในมือขึ้นชูเหนือศีรษะ เลียนแบบข้าพเจ้า ที่กำลังตั้งใจจะถ่ายภาพแบบซิลลูเอต หน้าถ้ำแห่งหนึ่งที่จังหวัดเลย เมื่อ 40 กว่าปีมาแล้ว
ปี พ.ศ. 2524 ข้าพเจ้าได้รับมอบหมาย ให้ไปช่วยนักธรณีวิทยาของ บริษัท เอสโซ โคราช อิงค์ สำรวจธรณีวิทยาพื้นผิวเพื่อทำแผนที่สภาพภูมิศาสตร์โบราณของประเทศไทย เมื่อประมาณ 305-255 ล้านปีมาแล้ว ข้าพเจ้าได้ยินเขาพูดถึง Reef บ่อย จึงถามเขาว่า “What does reef look like?” ลุงชาร์ลี นักธรณีฯ ระดับเซียนคาร์บอเนตคนหนึ่งของโลก (รูปที่ 1) ย้อนถามว่า What leaf do you like to know, bamboo leaf or teak leaf? (ขอสารภาพครับว่า จนป่านนี้ ข้าพเจ้าก็ยังออกเสียง ตัว R กับตัว L ไม่ถูกต้อง)
ที่เขียนมาข้างบนนั้น เป็นการกระเซ้าเย้าแหย่ของลุงชาร์ลี เพราะเอาเข้าจริงไม่ถึงสิบวัน แกก็เฉลยความพิเศษของ Reef ว่า หินปูนทั่วๆ ไป จะเกิดจากการตะกอนของแร่ แคลไซต์ และ/หรือเศษซากสิ่งมีชีวิตที่มีแร่แคลไซต์เป็นองค์ประกอบหลัก แต่ที่เราเรียก Reef นั้น ไม่ได้เกิดจากการตกตะกอน แต่เป็นการสร้างตัวซ้อนกันขึ้นมาของสิ่งมีชีวิต (Build-up) จนคำคำนี้ กลายเป็นอีกคำเรียกหนึ่งของ Reef ไปซะเลย
ว่ากันว่า Reef แบ่งออกตามการเกิดได้ 4 ประเภท (รูปที่ 2 และ 3) ประกอบด้วย Fringing Reef ที่เกิดขึ้นติดกับชายฝั่งทะเล , Patch Reef เกิดในทะเลตื้น ระหว่าง Fringing Reef กับ Barrier Reef โดยที่ Barrier Reef เกิดอยู่ในพื้นที่ห่างจากชายทะเล และตั้งอยู่บริเวณแนวต่อของทะเลตื้นกับทะเลลึก ส่วน Atoll นั้น มีลักษณะคล้ายวงกลม ล้อมรอบด้วยทะเลลึก และมีทะเลสาบน้ำเค็มอยู่ภายใน
เมื่อเราพบว่ามี Reef อยู่ในพื้นที่สำรวจชองเรา ก็ต้องพยายามแยกแยะว่า Reef ที่เราพบนั้น เป็นประเภทไหน ซึ่งก็จะทำให้เราทราบว่า สภาพภูมิศาสตร์โบราณในบริเวณนั้นๆ เป็นเช่นใด บริเวณที่เป็นแผ่นดิน หรือ ทะเลลึกอยู่ทางด้านไหนของพื้นที่สำรวจ ตัวอย่างก็เช่นที่ปรากฏในรายงานของนักธรณีวิทยาบริษัทเอสโซ่ โคราช (Wielshowsky and Young, 1985) ที่สำรวจธรณีวิทยาพื้นผิวบริเวณพื้นที่ทางตะวันตกของที่ราบสูงโคราช (รูปที่ 4) พวกเขาอธิบายว่า ในช่วงของยุคคาร์บอนิเฟอรัสตอนปลายถึงเพอร์เมียนตอนปลาย (ประมาณ 305-255 ล้านปี) นั้น จะมีทะเลตื้นที่มีแนวยาวประมาณเหนือ-ใต้ 2 แห่ง ทางด้านตะวันออกเรียกว่า ทะเบผานกเค้า (Pha Nok Khao Platform) ทางด้านตะวันตกเรียกว่า ทะเลเขาขวาง (Khao Khwang Plattform) ตรงกลางเป็นทะเลลึก ที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ เช่นกัน เรียกว่า ทะเลน้ำดุก (Nam Duk Deep Sea Basin) ทางด้านตะวันตกนั้น ยังไม่พบหลักฐานว่าชายฝั่งอยู่ที่ไหน แต่เชื่อว่า ชายฝั่งของทะเลผานกเค้านั้นจะอยู่ที่ที่ปัจจุบันเป็น สปป.ลาว และเทือกเขาภูเวียง
ขออนุญาตตบท้าย ep. นี้ว่า คำว่า Reef นั้น กรมทรัพยากรธรณี แปลว่า “พืดหิน” (จังซั่นแล้ว)
-------------------------------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
บทความ ดร. นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย
-------------------------------------------------
รูปที่ 2 ภาพแสดงชนิดด่างๆ ของพืดหิน แบ่งตามลักษณะการเกิด
รูปที่ 3 ภาพจินตนาการแสดงสภาพแวดล้อมการสะสมตัวของตะกอนคาร์บอเนต ตั้งแต่บริเวณน้ำขึ้นน้ำลง ไปจนถึงทะเลลึก
รูปที่ 4 ภาพแสดงสภาพภูมิศาสตร์โบราณของพื้นที่ด้านตะวนตกของที่ราบสูงโคราช ในยุคคาร์อนิเฟอร์รัสตอนปลาย ถึงเพอร์เมียนตอนปลาย ( 305- 255 ล้านปี)