Nares บึงกาฬ ทัศนศึกษาอีสานออนซอนเด้ ลานธรรมภูสิงห์
รูปที่ 1
“กาโล ฆสติ ภูตานิ สพฺพาเนว สหตฺตนา” กาลเวลาย่อมกลืนกินซึ่งสรรพสัตว์ พร้อมทั้งตัวมันเอง
ลานธรรมภูสิงห์ บึงกาฬ เป็นจุดหมายหนึ่งที่คณะทัศนศึกษาอีสานออนซอนเด้ จะแวะชมในวันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2568 ที่นี่ชาวคณะฯ จะได้รับทราบถึงความมะหัดสะจอรอหันการันย์ยอของธรรมชาติ ธรณีวิทยา ศรัทธา ความเชื่อ และประวัติศาตร์ ที่จะเน้นย้ำความถูกต้องของพุทธพจน์บทที่ว่า “กาลเวลาย่อมกลืนกินซึ่งสรรพสัตว์ พร้อมทั้งตัวมันเอง” ดังนี้
ณ เนินโล่งแห่งนี้ จะมีโขดหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ คนทั่วไปจะมองเห็นเป็นรูปสิงโตนั่งหมอบอยู่หันหัวไปทางทิศใต้ (เส้นสีขาวในภาพบนของรูปที่ 1) แต่คนที่มีหัวใจใฝ่ธรรมะ กลับมองเห็นเป็นรูปพระพุทธรูปปางไสยาศน์ (เส้นเหลืองในภาพล่างของรูปที่ 1) (ลองดูนะครับ ลองดูโขดหินแล้วบอกตัวเองอย่างสัตย์ซื่อว่า ท่านเป็นคนธรรมะธัมโม หรือ ธรรมะทำไม)
โขดหินที่ว่ามานี้ นักธรณีฯ บอกว่า เป็นหินของหมู่หินภูทอกน้อย หมวดหินภูทอก มีทั้งหมด 3 ชั้นด้วยกัน แยกออกจากกันด้วยเส้นสีขาวหนาในแนวเกือบราบ (ภาพล่างของรูปที่ 1) ดังนี้ ชั้นบนสุด อยู่ที่หน้าผากและท้ายทอยของสิงโต ชั้นกลางคือตั้งแค่ปากลงไปถึงลำตัวทั้งหมดของสิงโต ส่วนชั้นล่างคือลานราบที่สิงโตนั่งหมอบทับ
เส้นหนาสีขาวทั้งสามเส้นนั้น เมื่อตอนเกิดสะสมตัวจะอยู่ในแนวราบ เรียกว่าชั้นหิน (bedding ) ส่วนเส้นบางสีขาวของชั้นหินทั้งสองที่เห็นเป็นเส้นเอียง มีมุมชันในด้านบน แล้วค่อยๆ ลาดลงไปแตะชั้นหินด้านล่าง เรียกว่า ชั้นเฉียงระดับ (cross bedding) เกิดจากการเคลื่อนตัวของเม็ดทรายตามกระแส หรือแรงที่นำพาให้เคลื่อนตัว ซึ่งในรูปนี้คือเคลื่อนจากซ้ายไปขวา เมื่อกระแสเปลี่ยนทิศ หรือหยุดชั่วขณะ และพัดกระหน่ำใหม่ จะทำให้เกิดชั้นเฉียงระดับชุดใหม่ ระยะทางในแนวดิ่งจากเส้นหนาเส้นกลาง ถึงเส้นหนาสีขาวข้างบน คือ 1 ชุด (set) ของชั้นเฉียงระดับ ซึ่งเท่ากับ ความหนาของชุดเฉียงระดับนั้นๆ (เส้นประสีฟ้า) สำหรับคนไทยเรานั้น เราจะพบเส้นเฉียงระดับได้ไม่ยากนัก แต่เกือบทั้งหมดที่เราได้พบเห็น จะเป็นชั้นเฉียงระดับที่เกิดใต้ท้องน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดจากการไหลของแม่น้ำ ซึ่งชั้นเฉียงระดับที่เกิดจากแม่น้ำนั้น โดยทั่วไปจะมีความหนาของชุดไม่มากนัก เช่นถ้าเป็นห้วย จะหนาไม่กี่สิบเซนติเมตร อย่างแม่น้ำปิงก็จะให้ชุดชั้นเฉียงระดับหนาไม่เกิน 1 เมตร ถ้าเป็นของแม่น้ำโขง ก็จะหนาประมาณ 2 เมตร และมุมเอียงเทจะน้อยกว่า 20 องศา แต่ที่ลานธรรมภูสิงห์นี้ ความหนาของชุดเฉียงระดับจะหนาถึงเกือบ 10 เมตร และมีมุมเอียงเทสูงได้มากกว่า 20 องศา เพราะว่าชั้นเฉียงระดับเหล่านี้เกิดในเนินทราย (sand dune) ที่ลมพัดพาเอาทรายมาสะสมกันในทะเลทราย
ในชั้นหินชั้นล่างที่นี่กลับมีเนื้อหินและลักษณะการวางตัวที่เปลี่ยนไป โดยภาพรวมแล้ว เราจะเห็นว่าชั้นหินวางตัวในแนวราบ แต่หากเข้าไปพิจารณาอย่างใกล้ชิดและถี่ถ้วนแล้ว เราจะเห็นว่า ชั้นทรายภายใน จะมีทั้งที่เป็นระลอกทรายรูปเลนส์ (lenticular bedding) รูประลอกทรายรูปคลื่น (wavy bedding) รูประลอกทรายหุ้มโคลน (flaser bedding) (รูปที่ 2) รอยแตก รอยแยก รอยด่าง ลักษณะเช่นนี้แสดงถึงการสะสมตัวในแอ่งน้ำหรือที่ลุ่มต่ำระหว่างเนินทราย (interdune environment)
การที่เนินทรายวางทับอยู่บนทรายที่ทับถมบนแอ่ง ยืนยันได้ว่า เนินทรายเหล่านี้ ครั้งหนึ่งอยู่ติดกับแอ่งน้ำ ต่อมาลมพายุได้พัดพาเนินทรายให้เคลื่อนที่ลงด้านทิศใต้ทีละเล็กทีละน้อยจนปิดทับที่ลุ่มดังกล่าวทั้งหมด ข้อเท็จจริงข้อที่สองก็คือ เมื่อประมาณ สี่ถึงห้าสิบปีก่อนนี้ ภูสิงห์เคยเป็นที่ตั้งมั่นแห่งหนึ่งของกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ลานสิงห์แห่งนี้ เคยถูกใช้เป็นสถานที่ระดมพล หรือการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่นี่
การมาเยือนลานธรรมภูสิงห์ จึงเป็นการพิสูจน์ว่าพุทธภาษิตที่ว่ากาลเวลาย่อมกลืนกินสรรพสัตว์ รวมทั้งตัวเองนั้นถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่า กาลครั้งหนึ่ง สถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำกว้างใหญ่ของกลุ่มหินโคราช แล้วกลับกลายเป็นทะเลที่มีน้ำเค็มอย่างยิ่งยวดจนกลายเป็นแอ่งเกลือแกงและแร่โพแทช กลายเป็นทะเลทรายที่ร้อนและแห้งแล้งสุดๆ จากนั้นก็กลายเป็นเทือกเขา แล้วถูกกัดกร่อนโดยแม่น้ำบรรพกาล โดยน้ำฝน โดยห้วยละหาน อีกทั้งแม่น้ำน้อยใหญ่ จนกลายเป็นโขดหินรูปสิงโต และลานเรียบ กลายเป็นสถานที่ประชุมของกองกำลังทหารป่า และท้ายสุดก็กลายเป็นลานธรรมที่มีพระพุทธรูปที่ชื่อ หลวงพ่อพระสิงห์ อันเป็นที่สักการะกราบไหว้บูชาของประชาชนคนสามัญชาวไทยทั่วไป
อมิตตาพุทธ
.
-------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------
บทความ ดร. นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย
-------------------------
----------------------------------------