พืดหิน มิได้หมายถึงหินเป็นพืดเฉยๆ นะจ๊ะ (2)
รูปที่ 1 ภาพหินตัดบางแสดงฟอสซิลสโตรมาโทโพรอยด์ ยุคดีโวเนียน (ประมาณ 400 ล้านปี) พบที่จังหวัดเลย
หนังสืออภิธานศัพท์ธรณีวิทยา ของกรมทรัพยากรธรณีและสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย ให้คำจำกัดความของคำว่า Reef ว่า “พืดหิน” ขณะที่หน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งสำนักงานราชบัณฑิตยสภา และประชาชนทั่วไป กลับแปลว่า “แนวปะการัง” ทั้งนี้ก็จะน่าเป็นเพราะคนส่วนใหญ่คิดว่า มีแต่ปะการังเท่านั้น ที่สามารถสร้างตัวต่อกันขึ้นมาเป็นพืดหินได้ ซึ่งอันที่จริงแล้ว พืชหรือสัตว์หลายชนิดมีความสามารถดังกล่าวนี้ได้ เช่น ฟองน้ำโบราณที่สูญพันธ์ไปแล้ว ทื่ชื่อ Stromatoporoids (รูปที่ 1) ซึ่งในประเทศไทยเราก็ได้พบพืดหินดังกล่าว ในหินปูนยุคดีโวเนียน (ร่วม 400 ล้านปีมาแล้ว) แต่พืดหินที่เราคุ้นเคยและได้ยินบ่อยก็คือ พืดหินปะการัง (Coral Reef) (รูปที่ 2) และ พืดหินสาหร่าย (Algal Reef) (รูปที่ 3)
James, 1979 ได้เสนอว่า การกำเนิดของพืดหินนั้นมี 4 ขั้น (รูปที่ 4) เริ่มต้นด้วยการสร้างพื้นท้องทะเลที่มั่นคง (Stabilization) โดยพื้นท้องทะเลจะเต็มไปด้วยเศษซากของพืชหรือสัตว์ เพื่อที่ปะการังและสาหร่าย ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องเกาะติดกับพื้นทะเล จะสามารถสร้างตัวขึ้นได้ ต่อจากนั้นสาหร่ายกับปะการัง จะพยายามเพิ่มปริมาณเอาชนะซึ่งกันและกัน เพื่อเข้าสู่ขั้นตอน การสร้างอาณานิคม (Colonization) หลังการต่อสู้ ผู้ที่เอาชนะก็จะขยายพันธ์ให้หลากหลาย เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนของการขยายเผ่าพันธุ์ (Diversification) อย่างไรก็ตาม หินในขั้นตอนนี้ ยังคงมีหินปูนเนื้อละเอียด หรือหินปูนที่มีเศษซากฟอสซิลอยู่บ้าง ในที่สุด พืดหินจะเข้าสู่ขั้นการโดดเด่น (Domination) โดยจะเหลือแต่สิ่งมีชีวิตที่สร้างตัวขึ้นเพียงชนิดเดียว เช่น ไผเป็นไผ ระหว่างปะการัง กับสาหร่าย จนกลายเป็นพืดหินปะการัง หรือพืดหินสาหร่ายในที่สุด
โดยความเป็นจริงแล้ว ขั้นตอนการเติบโตของพืดหิน ไม่ว่าจะเป็นพืดหินประเภทไหนไม่จำเป็นว่าจะต้องมีครบทั้ง 4 ขั้นตอน หรืออาจมี แต่เกิดขึ้นและผ่านไปรวดเร็วมาก ด้วยเหตุที่พืดหินประเภทติดชายฝั่งกับประเภทที่เกิดในทะเลตื้นนั้น ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็ก ทั้งในด้านความสูงหรือความยาว ถึงแม้ว่าหินปูนที่จัดว่าเป็นพืดหิน จะมีช่องว่างหรือรูพรุนภายในสูงก็ตาม แม้ว่าจะมีปิโตรเลียมเคลื่อนตัวเข้ามาอยู่ ก็จะมีปริมาณไม่มากนัแต่ นักสำรวจน้ำมัน จึงจะไม่ใส่ใจกับพวกมันมากนัก พวกเขาจะสนใจพวกที่เป็นพืดหินตามแนวต่อระหว่างทะเลตื้นกับทะเลลึก (barrier reef) เพราะมีขนาดใหญ่และหนา สามารถพัฒนาเป็นแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ได้
จากบทความของ Wielshowsky and Young, 1985 ที่ระบุว่า ในช่วงยุคคาร์บอนิเฟอร์รัสกับเพอร์เมียนนั้น บริเวณด้านตะวันตกของที่ราบสูงโคราช จะมีทะเล 2 แห่ง วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ชื่อว่า ทะเลผานกเค้า กับทะเลเขาขวาง ที่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออก และตะวันตก ตามลำดับ (รูปที่ 5 ) ก่อนหน้านี้ Pendexter, 1981 นักธรณีวิทยาอีกคนหนึ่งของบริษัทเอสโซ่ โคราช ได้เขียนรายงานผลการสำรวจพืดหินในยุคดังกล่าวว่า ในขั้นตอนของการสร้างพื้นท้องทะเลที่มั่นคงของทะเลทั้งสองด้านนั้น จะประกอบด้วยหินปูนที่เต็มไปด้วยเศษซากของฟอสซิลพลับพลึงทะเล (Sea Lily: Crinoids) หรือข้าวสารพระร่วง (Fusulinids) และได้ตั้งข้อสังเกตว่า พืดหินที่พบในทะเลผานกเค้านั้น จะเป็นพืดหินสาหร่าย (รูปที่ 6) ส่วนในทะเลทะเลเขาขวางจะเป็นพืดหินปะการัง (รูปที่ 7) ลุงชาร์ลีเคยกล่าวทีเล่นทีจริงกับข้าพเจ้าว่า ใครสามารถอธิบายได้ชัดแจ้งว่า ทำไมทะเลทั้งสองจึงมีพืดหินต่างชนิดกัน ก็สมควรที่จะได้ปริญญาเอกทีเดียวเชียวเลย
ตัวอย่างของพืดหินปะการังของทะเลผานกเค้านั้น คือที่ ผาเดิ่น อำเภอเมือง จังหวัดเลย (รูปที่ 8 ภาพบน) ถึงแม้ว่าหินเกือบทั้งหมดจะกลายจากหินปูนไปเป็นหินโดโลไมต์แล้วก็ตาม เราจะยังคงพบร่องรอยที่แสดงว่า หินเหล่านี้เกิดจากการพันตัวของสาหร่ายแผ่น ทว่า ผาเดิ่นมิได้เป็นผาที่ประกอบด้วยพืดหินตัวใหญ่ตัวเดียว แต่ประกอบขึ้นด้วยพืดหินขนาดเล็ก ซ้อนตัวกันมากกว่า 3 ตัว
ลักษณะทางธรณีวิทยาที่ผาเดิ่นนี้ คล้ายคลึงกับแหล่งก๊าซธรรมชาติดงมูล อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ (รูปที่ 8 ภาพล่าง) จากข้อมูลจากการวัดคลื่นไหวสะเทือนของชั้นหินในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้นี้ ข้างบนที่เห็นคือกลุ่มหินโคราชซึ่งวางตัวเกือบเป็นแนวราบ ทับอยู่บนชั้นหินปูนยุคเพอร์เมียน โดยที่ทางด้านขวามือเกือบทั้งหมด จะเห็นเป็นชั้นที่คดโค้งเล็กน้อย นี่คือชั้นหินปูนที่สะสมตัวในทะเลตื้น ส่วนที่นูนขึ้นมา คือพืดหินสาหร่าย ด้านซ้ายมือสุด (ซ้ายของจุดที่ระบุว่า เป็นตำแหน่งของหลุมเจาะสำรวจปิโตรเลียมชื่อ Dong Mun #1) นั่นคือชั้นหินที่สะสมตัวในทะเลลึก หลุมเจาะดงมูล 1 พบก๊าซธรรมชาติในพืดหินสาหร่าย โดยแทรกอยู่ในช่องว่างของการพันตัวของสาหร่าย (รูปที่ 3) ในปริมาณที่มากพอสมควร น่าเสียดายที่จนถึงปัจจุบันนี้ เรายังไม่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งนี้ได้
มีคนแซวว่าคงต้องรอให้น้ำท่วมหลังเป็ดก่อนครับ ท่านสารวัตร
-------------------------------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
บทความ ดร. นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย
-------------------------------------------------
รูปที่ 2 ภาพหินจากพืดหินปะการัง
รูปที่ 3 ภาพหินจากพืดหินสาหร่าย (โปรดสังเกตช่องว่างระหว่างการพันกันของสาหร่ายแผ่น ที่ถูกแทนที่ด้วยแร่แคลไซต์(สีขาว)
รูปที่ 4 การก่อตัว 4 ขั้นของพืดหิน ได้แก่ การสร้างฐาน การสร้างอาณานิคม การแพร่ขยายพันธ์ และการโดดเด่น จากล่างขึ้นบน ตามลำดับ
รูปที่ 5 ภาพแสดงสภาพภูมิศาสตร์โบราณของพื้นที่ด้านตะวันตกของที่ราบสูงโคราช ในยุคคาร์อนิเฟอร์รัสตอนปลาย ถึงเพอร์เมียนตอนปลาย ( 305- 255 ล้านปี)
รูปที่ 6 ภาพจินตนาการเปรียบเทียบหินแต่ละชนิดที่เกิดร่วมกับพืดหินในทะเลผานกเค้า
รูปที่ 7 ภาพจินตนาการเปรียบเทียบหินแต่ละชนิดที่เกิดร่วมกับพืดหินในทะเลเขาขวาง