พืดหิน มิได้หมายถึงหินเป็นพืดเฉยๆ นะจ๊ะ (3)
รูปที่ 1 ภาพแสดงสภาพภูมิศาสตร์โบราณของพื้นที่ด้านตะวันตกของที่ราบสูงโคราช ในยุคคาร์อนิเฟอร์รัสตอนปลาย ถึงเพอร์เมียนตอนปลาย ( 305- 255 ล้านปี)
บทความสองตอนที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้นำเสนอแผนที่ภูมิศาสตร์โบราณเมื่อ 300 ล้านปีก่อน ของบริเวณด้านตะวันตกของที่ราบสูงโคราช จากสระบุรีขึ้นไปถึงเลย (รูปที่ 1) วันนี้จึงใคร่ขออธิบายเพิ่มเติมสักเล็กน้อย เผื่อว่า ยุวธรณีหลายคนจะพอได้ทราบถึงสิ่งที่ Wielshowaky and Young นักธรณีวิทยาของบริษัทเอสโซ่ โคราช แสดงความคิดเห็นไว้เมื่อพ.ศ. 2528 นั้น ว่ากระไรบ้าง
แรกสุด คำว่า Non-restored Paleogeography หมายถึง แผนที่แสดงสภาพภูมิศาสตร์โบราณที่ยังไม่ย้ายสิ่งที่พบเห็นกลับไปยังสถานที่ที่เคยเป็นอยู่ในอดีต ภาพด้านซ้ายคือภูมิศาสตร์ในช่วงอนุยุคแอสเซเลียน ถึงตอนต้นของอนุยุคกัวดาลูเปียน (ประมาณ 300-270 ล้านปี) ส่วนภาพขวาคือที่พบเห็นในช่วงตอนกลางถึงตอนปลายของอนุยุคกัวดาลูเปียน (270-260 ล้านปีก่อน) สัญญลักษณ์คล้ายอิฐวางเรียงกันคือตัวแทนของหินปูน รูปที่ข้างบนเป็นวงรี ข้างล่างเป็นเส้นตรงราบ คือเครื่องหมายที่ระบุว่า พื้นที่ตรงนี้คือปะการังสร้างตัวขึ้นมา สัญลักษณ์ที่เป็นขีดสั้นๆ วางตัวในแนวราบคือทะเลลึก ส่วนพื้นที่ที่เป็นจุดขนาดเล็กแทนบริเวณที่เป็นหินตะกอนพัดพาจากแผ่นดินลงในทะเลตื้น ความแตกต่างของภาพซ้ายและขวาแสดงว่าทะเลตื้นเขาขวางนั้น จะมีการสะสมของหินคาร์บอเนตตั้งแต่ 300 ถึง 260 ล้านปีก่อน แต่ในทะเลตื้นผานกเค้านั้น ตั้งแต่ 270 ล้านปีเป็นต้นมา จะมีตะกอนพัดพา (ส่วนใหญ่เป็นหินโคลนกับหินทราย มีหินปูนบ้างเล็กน้อย) ที่มีต้นกำเนิดมาจากแผ่นดินที่ปัจจุบันเป็นประเทศ สปป ลาว และเทือกเขาภูเวียง
ต่อไป ขออนุญาตออกแขกโดยกล่าวถึงนักธรณีฯ ที่ชื่อ Dunham ผู้ซึ่งในปี 1962 ได้เสนอการแบ่งชนิดของหินปูนโดยพิจารณาจากขนาดของเม็ดหินกับเนื้อหิน ซึ่งแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มที่ตอนเกิดมิได้มีการเกี่ยวพันหรือยึดติดกัน(4 ช่องซ้ายสุดของรูปที่ 2) กับกลุ่มที่ในช่วงเวลาการเกิดมีลักษณะการก่อต่อหรือเกี่ยวพันกัน (3 ช่องขวาสุดของรูปที่ 2) มีรายละเอียดแบบหยาบๆ ดังนี้
หากหินปูนนั้นๆมีเนื้อละเอียดขนาดเม็ดโคลน มีหินปูนเม็ดหยาบ หรือซากฟอสซิลปนอยู่น้อยกว่า ร้อยละสิบ เราจะเรียกว่า Mudstone หากมีเม็ดหยาบเกิน 10% เราเรียกว่า Wackstone หากมีเม็ดหยาบมากกว่า 10% และบางเม็ดมีผิวสัมผัสกัน เราเรียกว่า Packstone แต่ถ้าไม่มีโคลนปูนเลย และเม็ดขนาดใหญ่นั้นมีผิวสัมผัสซึ่งกันและกัน เราจะเรียก Grainstone ชื่อทั้ง 4 นี้จะบ่งบอกให้นักล่าน้ำมันได้ทราบว่า หินปูนแต่ละชนิดนั้น เกิดสะสมตัวในสภาพแวดล้อมเช่นไร เกิดในทะเลปิด หรือทะเลตึ้นทึ่มีคลี่นลมแรง หรือว่าหินปูนชนิดนั้นๆ เหมาะสมที่จะเป็นหินต้นกำเนิด หรือหินกักเก็บปิโตรเลียมหรือไม่ นักธรณีวิทยาในวงการน้ำมันจึงเรียกชื่อหินปูนตาม นายดันแฮม กันเกือบหมดเลยแหละ
ถ้าเนื้อในของหินปูนเป็นแบบ 3 ช่องขวาสุด ท่านก็ตีความหมายได้ว่า ท่านได้พบหินปูนในพืดหิน หากหินเป็น Bafflestone แสดงว่าบริเวณนั้นมีสิ่งมีชีวิตที่ก่อตัวขึ้นมาหนาแน่น จนกลายเป็นเสมือนกำแพงขวางกั้น มิให้ตะกอนที่ล่องลอยอยู่ในทะเลหลุดเข้ามาสะสมตัวได้ ถ้าเป็น Framestone อธิบายได้ว่านี่คือหินที่มีสิ่งมีชีวิตที่ก่อตัวขึ้นมาเสมือนเป็นโครงร่างที่แข็งแรง ท้ายสุดที่เรียกว่า Bindstone คือหินที่มีสิ่งมีชีวิตที่เกิดแปะติดและพันรอบสิ่งต่างๆ
กล่าวโดยสรุปก็คือ พืดหินปะการังของทะเลเขาขวางก็จะมีหน้าตาแบบ Framestone ส่วนพืดหินสาหร่ายในทะเลผานกเค้าก็จะประกอบด้วยหิน Bindstone ไงละครับ พ่อแม่พี่น้อง
อ่านแล้วงงเน๊าะ พ่อแม่พี่น้อง อยากจะเห็นกับตาตนเอง ก็มานำข้อยเด้อ สิพาเจ้าเลาะเบิ่ง
-------------------------------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
บทความ ดร. นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย
-------------------------------------------------
รูปที่ 2 การแบ่งชนิดของหินปูนโดยพิจารณาจากขนาดของเม็ดหินกับเนื้อหิน โดย Dunham, 1962