Nares ไทย กาฬสินธุ์ ฮู้บ๋อว่า บ้านดินจี่ เพิ่นโด่งดังมาโดนแล้ว
รูปที่ 1 แผนที่กูเกิ้ลแสดงตำแหน่งบ้านดินจี่ อำเภอคำม่วง กาฬสินธุ์
บ้านดินจี่ เป็นหมู่บ้านขนาดกลาง ตั้งอยู่ในเขตตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ (รูปที่ 1) หมู่บ้านนี้มีชื่อเสียงในหลายด้าน ทั้งที่สัมพันธ์กับด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ภูมิปัญญาชาวบ้าน และธรณีวิทยา เช่น
1. เป็นหมู่บ้านแห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีอนุสาวรีย์ดินจี่ (รูปที่ 2) ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ราษฎรของหมู่บ้านนี้ มีความสามารถและมีอาชีพในการนำเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นก้อนอิฐแล้วเผาไฟ ตามกระบวนการที่เรียกว่า “เอาดินมาจี่ไฟ” (คำว่าจี่ หมายถึงเผา) ว่ากันว่า อิฐที่ใช้ก่อสร้างพระธาตุพนม ก็ได้มาจากที่นี่หลายส่วน หมู่บ้านนี้จึงมีชื่อเรียกว่า “บ้านดินจี่” มาช้านาน
2. เป็นที่ตั้งของกองกำลังอาสาสมัครร่วมกับตำรวจและทหาร เพื่อต่อต้านกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2501 ถึงปี 2518 โดยที่ความไม่สงบนี้ เริ่มต้นจากคอมมิวนิสต์จีนคนหนึ่งเดินทางมาจากลาว แล้วส้องสุมกำลังอยู่ตามป่าของเทือกเขาภูพาน จนมีมีการสู้รบกันหลายครั้ง เหตุการณ์เหล่านี้ ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตของทั้งสองฝ่ายร่วมร้อยราย
3. บ้านดินจี่ ตั้งอยู่บนที่ราบลอนลุ่ม มองเห็นภูเขาประเภทสันอีโต้ รายล้อมแต่แยกขาดออกจากกัน (รูปที่ 1 และ 3) ในแง่ของธรณีวิทยาแล้ว อธิบายได้ว่า บ้านดินจี่ กับพื้นที่ของที่ราบสูงโคราชนั้นเคยเป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ไพศาล มีแม่น้ำขนาดใหญ่ไหลผ่าน จากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปทางทิศตะวันตก ก่อให้เกิดตะกอนทับถมกัน จนกลายเป็นหินทราย หินโคลน และหินกรวดมน ที่เรียกรวมกันว่า กลุ่มหินโคราช จนต่อมาเมื่อประมาณ 50 ล้านปีก่อน เทือกเขาหิมาลัยได้ถูกก่อกำเนิดขึ้นมา จากการมุดตัวของทวีปอินเดียลงข้างล่างทวีปยูเรเซีย (ยุโรป +เอเซีย) ทำให้แผ่นดินอีสานโบราณถูกยกตัวขึ้นกลายเป็นที่ราบสูงโคราช ขณะที่พื้นที่ส่วนกลางถูกบีบอัดให้คดโค้งเป็นรูปประทุนทั้งคว่ำและหงายหลายตัว แต่หากมองในภาพรวมจะเป็นเสมือนรูปประทุนคว่ำขนาดใหญ่ (anticlinoriem) รู้จักกันในบรรดาคนไทยว่า เทือกเขาภูพาน
โครงสร้างทางธรณีวิทยาที่บ้านดินจี่และบริเวณใกล้เคียงก็คือ โครงสร้างชั้นหินคดโค้งรูปประทุนที่ทั้งสองปลายเอียงเทลงใต้ดินที่ถูกกัดกลาง (breached doubly plunging antinclineh) นั่นคือชั้นหินของกลุ่มหินโคราช ถูกบีบอัดให้โก่งงอเป็นรูปประทุน ชั้นหินเอียงเทออกทุกด้าน คล้ายลูกรักบี้ผ่าครึ่งวางคว่ำอยู่ แต่เกิดการกัดเซาะผุพังทำลายตามแนวการแตกขนาดแกนกลางของการคดโค้ง ทำให้พื้นที่ส่วนกลางของโครงสร้างหายไปกลายเป็นที่ราบกลางหุบเขา
4. ในปีพ.ศ. 2467 Wallace Lee นักธรณีวิทยาจากสำนักธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา ที่กรมรถไฟหลวงจ้างให้เข้ามาสำรวจถ่านหินและปิโตรเลียมเพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการของรถไฟสยาม (รูปที่ 4) หลังจากที่เขาได้สำรวจแหล่งถ่านหินที่กระบี่ และแม่เมาะ รวมทั้งบ่อน้ำมันดิบที่ฝางแล้ว เขาเดินทางมาสำรวจถ่านหิน ที่มีการแจ้งว่าพบในบริเวณเทือกเขาภูพาน Lee ไม่ได้เขียนรายงานมากมายในการสำรวจครั้งนี้ แต่บอกว่า ที่ภูเขาที่ตั้งอยู่ประมาณ 2 กิโลเมตรทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านดินจี่ เมืองกาฬสินธุ์ เขาพบถ่านหินเล็กน้อย และเศษกระดูกขนาดเล็กกว่า 1 นิ้ว จากแผ่นที่ภูมิประเทศปัจจุบัน เชื่อว่า เขาลูกที่ Lee ทำการสำรวจธรณีวิทยาเมื่อกว่า 100 ปีมานั้น น่าจะเป็นชั้นหินที่ภูโป่ง มิใช่ภูน้อย
นอกจากนี้ในรายงานปีพ.ศ. 2466 Lee ได้บันทึกว่า เขาได้ยินมาจากพ่อค้าชาวจีนคนหนึ่งว่ามีผู้คนพบน้ำมันดิบซึมขึ้นมาสู่ผิวดิน ณ ที่ที่อยู่ไกลประมาณ 10 ไมล์ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกาฬสินธุ์ และมีการซื้อขายให้แก่คาราวานของกลุ่มนายฮ้อย Lee พิจารณาจากข้อมูลทางธรณีวิทยาตามเส้นทางที่เขาเดินทางจากบางกอกมากาฬสินธุ์ ประกอบกับข่าวเรื่องน้ำมันดิบ เขาจึงเชื่อมั่นว่า โครงสร้างรูปประทุนในเทือกเขาจะต้องมีศักยภาพปิโตรเลียมสูงแน่นอน และนี่น่าจะเป็นเหตุจูงใจหนึ่งประการที่ทำให้บริษัทยูเนียน ออยล์ ออฟ แคลิฟอร์เนีย เข้ามาขอสัมปทานในพื้นที่อีสานบ้านเฮา และเจาะสำรวจน้ำมันเป็นหลุมแรก ที่ดำเนินการโดยบริษัทน้ำมันต่างชาติในประเทศไทย ที่โครงสร้างรูปประทุนกุฉินารายณ์ โดยหลุมชื่อว่า กุฉินารายณ์-1 (รูปที่5) น่าเสียดายที่ ผลจากการเจาะไม่พบปิโตรเลียมใดๆ เลย
5. ข่าวดีที่น่าประทับใจมากของไทยคือ ในปีพ.ศ. 2551 ชาวบ้านดินจี่คนหนึ่งที่ชื่อว่า ทองหล่อ นาคำจันทร์ ได้นำชิ้นส่วนของซากดึกดำบรรพ์หลายชิ้น ที่พบที่เชิงเขาภูน้อย เขาลูกเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ท้ายหมู่บ้าน ไปให้พิพิธพัณฑ์สิรินธร กาฬสินธุ์ ซึ่งต่อมาได้พิสูจน์ทราบว่าเป็นกระดูกไดโนเสาร์ และเกล็ดปลา ทำให้กรมทรัพยากรธรณี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมมือกันในการขุดค้นศึกษารายละเอียดมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งปัจจุบันนี้ มีการยอมรับว่าแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูน้อย มีอายุอยู่ในยุคจูแรสสิกตอนปลาย ในหมวดหินภูกระดึง พบซากฟอสซิลมากกว่า 5,000 ชิ้น (รูปที่ 6 ) ประกอบด้วยไดโนเสาร์ทั้งกินพืช และกินเนื้อ ฉลามน้ำจืด ปลานักล่า ปลาปอด เต่า จระเข้ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลานบินได้ หอยน้ำจืด ไม้กลายเป็นหิน และไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก และตัวที่ 13 ของไทยที่ชื่อ มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส (นักวิ่งตัวจิ๋วแห่งภูน้อย ) (Minimocursor phunoiensis) จะว่าไปแล้วเราสามารถโม้ได้ว่า แหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูน้อยนี้ นับว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ทีเดียวเชียวแหละ
จังซี้แล้ว บ้านดินจี่ คือโด่งดังระดับโลกเลย แม่นบ๋อครับ อ้ายสารวัตร
.
-------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------
บทความ ดร. นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย
-------------------------
รูปที่ 2 ภาพอนุสาวรีย์ดินจี่ ที่บ้านดินจี่ ที่ขาวบ้านสร้างขึ้นมา เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้รู้จักความเป็นมาของถิ่นเกิดของตนเอง
รูปที่ 3 แผนที่แสดงชั้นความสูง โครงสร้างชั้นหินคดโค้งรูปประทุนที่ปลายทั้งสองเอียงเทลง และชื่อภูเขาที่อยู่ใกล้เคียง
รูปที่ 4 ภาพถ่ายนาย วัลเลซ ลี รวมทั้งแสดงรางวัลที่เขาได้รับจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา รวมทั้งข้อความที่น่าสนใจที่คัดลอกมาจากรายงานของเขา
รูปที่ 5 ภาพถ่ายขณะที่จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีของไทย (คนยืนกลาง) เดินทางไปเยี่ยมหลุมเจาะน้ำมัน กุฉินารายณ์-1 X เมื่อวันที่ 10 เดือนมกราคม พ.ศ. 2515 (ปัจจุบันนี้อยู่ในเขตอำเภอเขาวง กาฬสินธุ์) โดยมีนายวิชา เศรษฐบุตร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม(คนซ้ายสุด) กับนาย สมาน บุราวาศ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี (คนขวาสุด) ให้การต้อนรับ
รูปที่ 6 ภาพประกอบในรายงานของ Manitkoon et. al, 2023 เกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์ที่พบที้ภูน้อย คำม่วง กาฬสินธุ์
.
.