Nares กาฬสินธุ์ ทัศนศึกษาอีสานออนซอนเด้ หลุมเจาะ กุฉินารายณ์-1
รูปที่ 1 แผนที่ธรณีวิทยาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (ภาพซ้าย) รวมทั้งตำแหน่งของแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม (ดาวแดง) และแหล่งน้ำพอง (ดาวน้ำเงิน) ภาพทางด้านขวาคือแผนที่แสดงโครงสร้างทางธรณีของอีสานบ้านเฮาที่ได้จากการแปลความหมายจากภาพถ่ายดาวเทียม (Chuaviroj, 1997)
“Petroleum is where we found it” “น้ำมันก็อยู่ที่ที่เราพบมันนั่นแหละ”
ปิโตรเลียมมาจากอินทรีย์สาร (organic matters) อินทรีย์สารอยู่ในแอ่งสะสมตะกอน (sedimentary basin) เมื่อมีแอ่งสะสมที่ดูดี ก็ต้องพิจารณาว่าแอ่งนั้นมีระบบปิโตรเลียม (petroleum system) ไหม ระบบปิโตรเลียมจะต้องมีพระรัตนตรัยกับเบญจธรรม พระรัตนตรัยได้แก่ องค์ประกอบที่สำคัญ ( essential element) 3 ประการ คือ หินต้นกำเนิด (source rock) หินกักเก็บ (reservoir rock) และหินปิดกั้น (seal rock) แต่ว่า ถึงจะมีแก้วสามดวงครบแล้ว ก็ยังไม่พอ จะต้องมี กระบวนการที่ชอบที่เหมาะสม (appropriate process) อีก 5 ประการ ได้แก่ กำเนิดชอบ (generation) เคลื่อนไหลชอบ (migration) สะสมตัวชอบ (accumulation) จังหวะเวลาชอบ (timing) และเก็บรักษาชอบ (preservation) และเมื่อพบแล้วก็ต้องพิจารณาต่อว่า จะสามารถพัฒนานำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่าไหม
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีชื่อเสียงมากว่า 100 ปีแล้วว่า เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะพบปิโตรเลียมสูงมาก โดยนายวัลเลซ ลี นักธรณีวิทยาจากสำนักธรณีวิทยา สหรัฐอเมริกา ได้ระบุในรายงานผลการศึกษาของเขา ที่รับจ้างสำรวจค้นหาถ่านหินและน้ำมันดิบ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนรถจักรไอน้ำให้กรมรถไฟหลวงของสยามประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นผลให้ หลุมขุดเจาะค้นหาปิโตรเลียมโดยบริษัทน้ำมันข้ามชาติ ในพื้นที่บนบกแห่งแรกของไทย ก็คือที่อีสานบ้านเฮา หลุมที่ว่านี้เจาะเมื่อปี พ.ศ. 2514 ในโครงสร้างชั้นหินรูปประทุน (anticline) ที่ตั้งชื่อตามตำแหน่งของหลุมเจาะว่า “กุฉินารายณ์-1” (แต่ปัจจุบันอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์)
โครงสร้างรูปประทุนกุฉินารายณ์ มีแกนการวางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ (รูปที่ 1) ผลจากการเจาะ ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ความพยายามในการค้นหาปิโตรเลียมในอีสานบ้านเฮาซบเซาและขาดหายไปเป็นเวลาร่วม 10 ปี จนกระทั่งมีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติ ที่แหล่งน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และแหล่งสินภูฮ่อม จังหวัดอุดรธานี (รูปที่ 1) ซึ่งแหล่งก๊าซฯ ทั้งสองนี้ ตั้งอยู่ในโครงสร้างรูปประทุนที่มีแนวการวางตัวในทิศประมาณเหนือ-ใต้ (รูปที่ 2) และในปัจจุบันนี้ ก็ยังผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าความร้อนร่วมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยอยู่ตลอดมา
จากแผนที่ธรณีวิทยา และแผนที่แสดงลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาของที่ราบสูงโคราช (รูปที่ 1) จะสังเกตุเห็นว่า โครงสร้างชั้นหินจะมีอยู่ 2 แนว โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนแนวเหนือ-ใต้ จะอยู่ออกไปทางทิศตะวันตก ติดกับขอบตะวันตกของที่ราบสูงโคราช ในจำนวนหลุมเจาะสำรวจปิโตรเลียมทั้งหมดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2514 มีมากกว่า 20 หลุมแล้ว ผลการสำรวจพบความจริงที่น่าทึ่งว่า โครงสร้างที่พบก๊าซธรรมชาติในปริมาณที่สามารถพัฒนานำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการกักเก็บแบบโครงสร้างที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้เท่านั้น
ในโครงสร้างรูปประทุนของกลุ่มหินโคราชในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้นั้น พบก๊าซธรรมชาติสะสมอยู่ในปริมาณที่มากพอสมควรเพียงแหล่งเดียว คือแหล่งดงมูล อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ แต่รูปแบบการกักเก็บ (petroleum trap) ไม่ใช่แบบโครงสร้าง (structural trap) แต่เป็นแบบเนื้อหินแปรเปลี่ยน (stratigraphic trap) นั่นคือ สะสมตัวในหินปูนที่เป็นพืดหินสาหร่าย (algal reef) (รูปที่ 2) น่าเสียดายที่จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่สามารถทำการผลิตได้ เพราะยังติดขัดกับบางขั้นตอนของกฏหมายบางฉบับ
ขุดหาเขึยด หากบ ต้องอาศัยภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อหารูหรือร่องรอยบนผิวดิน ถ้าไม่เจอก็ขุดใหม่ เสียแรงและเวลาบ้างนิดหน่อย (รูปที่3) แต่การขุดหาปิโตรเลียมต้องใช้แนวคิด และเทคโนโลยีสมัยใหม่ หากไม่เจอก็ต้องพิจารณาอย่าเคร่งเครียดและเอาจริงเอาจัง เพราะการขุดหลุมเจาะหาปิโตรเลียมในพื้นที่อีสานนั้น ต้องใช้เวลาเฉพาะการเจาะหลายเดือน และค่าใช้จ่ายต่อหลุมไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท
คำถามอย่างง่ายที่สุด สำหรับทุกท่านก็คือ ทำไมหลุมเจาะปิโตรเลียมที่ประสบความสำเร็จจึงจะเป็นเฉพาะในโครงสร้างรูปประทุนที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้เท่านั้น
ถ้าอยากรู้คำตอบจากเซียนน้ำมันระดับ ”ไส้เดือนอีสาน“ ก็เข้าร่วมทริปอีสานออนซอนเด้ ของสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 12-18 มกราคม 2568 สิครับ พี่น้อง
.
-------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------
บทความ ดร. นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย
-------------------------
----------------------------------------