kiattiphong it ปรับตัวและรับมืออย่างไรในยุคอุตสาหกรรม 4.0
เกียรติพงษ์ อุดมธนะธีระ สำนักโลจิสติกส์
จาก : Logistics Forum ปีที่ 7 ฉบับที่ 36 สิงหาคม - กันยายน 2559
ในฉบับที่ผ่านมาเรากล่าวถึงโลกของ อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ปัจจุบันทุกประเทศมีการเชื่อมต่อกันอย่างไร้พรมแดนในทุกมิติ ทั้งความร่วมมือทางการค้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเมือง เศรษฐกิจและสังคม หลายประเทศจำเป็นต้องปรับตัวสู่การพัฒนาในยุค อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของตนเองภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ประเทศไทยอาจต้องใช้ระยะเวลาในการเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 เนื่องจากยังไม่สามารถผลิตเทคโนโลยีได้เอง แม้จะมีการวิจัยและพัฒนาจำนวนมากแต่ยังไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบ และไม่สามารถนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงได้ เราควรเปลี่ยนวิธีคิดใหม่โดยมองให้ออกว่า โลกในวันนี้มีเทคโนโลยีอะไรที่จะนำมาใช้กับการผลิตของเราได้บ้าง จำเป็นแค่ไหนในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต เราจะขับเคลื่อนศักยภาพของประเทศไปสู่การเป็นผู้ผลิตสินค้าระดับโลกได้แค่ไหน มองการผลิตสินค้าสำหรับการบริโภคของคนทั่วโลก โดยหาว่าตัวเองเก่งหรือเหมาะสมกับธุรกิจอะไร และจะสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร ภาครัฐและภาคธุรกิจควรต้องเตรียมพร้อมรับมือในการปฏิรูปอุตสาหกรรมครั้งนี้ร่วมกัน
1. ภาครัฐ ปัจจุบันเริ่มมีการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งเป็นการวางรากฐานการพัฒนาสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ทั้งสิ้น โดยส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมได้วางนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม ดังนี้
1.1 การส่งเสริมต่อยอดอุตสาหกรรมใหม่โดยการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมเป็น Cluster เพื่อพัฒนาตามกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านเทคโนโลยี เช่น ห้องปฏิบัติการ ศูนย์ทดสอบ และสนามทดสอบกลาง พร้อมทั้งส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาให้มีเพิ่มมากขึ้น
1.2 การส่งเสริมเพื่อสร้างผู้ประกอบการในระดับ SMEs รวมทั้งอุตสาหกรรม OTOP โดยเพิ่มการยกระดับมาตรฐานการผลิตและผลิตภัณฑ์ สร้างผู้ประกอบการรายใหม่ให้กระจายไปในภูมิภาค พัฒนาศูนย์บ่มเพาะ SMEs/OTOP ให้มีมากขึ้น ส่งเสริมเทคโนโลยีการตลาดยุคดิจิทัล รวมถึงจัดหาแหล่งเงินทุนในการพัฒนาการผลิต
1.3 ปรับปรุงฐานการลงทุนการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรม โดยแยกเป็น
- การเพิ่มผลผลิต (Productivity) โดยการพัฒนาทักษะแรงงานและสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้ทันสมัย
- การสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการผลิต (Enabling Factor) กำหนดกฎหมาย/กฎระเบียบ พัฒนาคน ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ และบริหารจัดการข้อมูล Big Data
- การเชื่อมโยงเครือข่าย (Connectivity) สร้างพันธมิตรและจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ประสานจัดกลุ่มอุตสาหกรรมเชื่อมโยงเป็น Cluster และเชื่อมโยงการผลิตการตลาดโดยใช้ Digital Technology
- การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) โรงงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Factory) และเมืองนิเวศน์ (ECO-Town)
2. ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการควรต้องเริ่มที่จะมีการกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย กลยุทธ์ที่ชัดเจนในเรื่องที่เกี่ยวข้องเช่น
- การเพิ่มความร่วมมือในการผลิตร่วมกันตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มีการจัดกลุ่มการผลิต
- การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร พัฒนาระบบบริหารจัดการ จัดหาเครื่องมือจัดการองค์ความรู้เพื่อยกระดับศักยภาพการปฏิบัติงาน
- การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต โดยพัฒนาความสามารถในงานด้านโลจิสติกส์และชัพพลายเชน ได้แก่ การวางแผน การจัดซื้อจัดหา การผลิต การจัดเก็บ และการกระจายสินค้า
- พัฒนานำเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาใช้เพื่อการบริหารและการบริการที่มีประสิทธิภาพ
- การพัฒนาอุตสาหกรรมต้องเป็นมาตรฐานสากล สามารถปรับเปลี่ยนเข้ากับเงื่อนไข กฎระเบียบ และกติกาที่เป็นสากลได้
- ส่งเสริมธรรมาภิบาลภายในองค์กร เพื่อสร้างความถูกต้องโปร่งใสและการมีส่วนร่วมในการทำงาน
- พัฒนาศักยภาพของบุคลากรในองค์กรให้สามารถผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
- อุตสาหกรรมต้องอยู่ร่วมกับสังคมได้ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อม
ประเทศไทยยังคงจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่าอุตสาหกรรมไทยจะมีโอกาสแข่งขันในหลายอุตสาหกรรม แต่ก็ควรที่จะต้องเลือกเวทีและสินค้าให้ถูกต้อง อาจมองหาอุตสาหกรรมที่ถือเป็นจุดเด่นของประเทศไทย เช่น อุตสาหกรรมอาหาร หรืออุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เริ่มกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์และพึ่งพาเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อลดปัญหาด้านต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น การดึงศักยภาพที่แท้จริงของประเทศไทยมาพัฒนา โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือจะทำให้เรามีจุดเด่นที่สามารถต่อยอดให้ถึงขีดสุด เน้นการผลักดันนำเอาระบบ IT เข้ามาช่วยในการพัฒนากระบวนการผลิตให้มากขึ้น ตั้งแต่กระบวนการผลิต การบรรจุหีบห่อ และการขนส่ง เป็นต้น หากทำได้จะสามารถลดต้นทุน ลดความสูญเสีย และนำไปสู่การแข่งขันที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนเอาเทคโนโลยีมาใช้งานนั้น ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมในบ้านเรา และต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนไทยด้วย
.
ที่มา
- https://www.facebook.com/udomtanateera.k/
- https://iok2u.com อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0)
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
บทความ เกียรติพงษ์ อุดมธนะธีระ (Kiattiphong Udomtanateera)-------------------------------------------------