การกำหนดแผนที่นําทางเทคโนโลยี (Technology Road Mapping: TRM)
ที่ผ่านมาเรากล่าวถึงการเตรียมตัวขององค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของตนเองในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่ควรจะมีหน่วยงานวิจัยพัฒนา (R&D) และหน่วยงานนวัตกรรม (Innovation) แต่เนื่องจากการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยการใช้ความรู้และนวัตกรรมจากการวิจัยและพัฒนา อาจยังไม่เพียงพอ เพราะแนวคิดเหล่านั้นอาจไม่ได้นำเอาทิศทางของเทคโนโลยีมาร่วมในการกำหนดแผนงาน ผลงานที่ได้จึงไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว จึงควรนำเอาเทคโนโลยีมาประกอบในการทำแผนหรือที่เรียกว่า แผนที่นําทางเทคโนโลยี (Technology Road Mapping: TRM) ซึ่งเป็นแนวคิดที่นำเอาเทคโนโลยีมาเป็นปัจจัยร่วมในการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนองค์กร ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าสามารถใช้เป็นเครื่องมือทำแผนในเชิงนโยบายด้านต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
แผนที่นําทางเทคโนโลยี เป็นวิธีการเชิงกลยุทธ์ที่เชื่อมกลยุทธ์ทางธุรกิจเข้ากับการพัฒนาเทคโนโลยี วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยในทางธุรกิจ ทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในองค์กร เช่น ทิศทางเทคโนโลยีและทรัพยากรที่มี ช่วยในการตัดสินใจในแผนการลงทุนและพัฒนาด้านเทคโนโลยีขององค์กรให้มีประสิทธิภาพ หรือเป็นการวางแผนใช้เทคโนโลยีขององค์กรในอนาคต โดยการคาดการณ์ทิศทางของเทคโนโลยีที่จะมีการพัฒนาในอนาคต และมองภาพเส้นทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งด้านมิติการตลาดและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
ขั้นตอนการจัดทําแผนที่นําทางเทคโนโลยี จะเกี่ยวกับการวางแผนเชิงกลยุทธ์ การจัดสรรงบประมาณ และการกำหนดแนวทางนำเทคโนโลยีมาใช้ แบ่งเป็น 5 ขั้นตอน คือ
- การระดมความคิดเห็นเพื่อกําหนดวิสัยทัศน์
- การกำหนดทิศทางพัฒนาเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์
- การกำหนดกลยุทธ์ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ
- การศึกษาส่วนประกอบงานให้ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
- จัดทำเป็นแผนที่นําทางเทคโนโลยี
การเขียนแผนที่นําทางเทคโนโลยี มีหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และมีความยืดหยุ่นสามารถปรับใช้ได้ดี คือ แผนที่นําทางเทคโนโลยีแบบหลายระดับชั้น โดย EIRMA (1997) ซึ่งรูปแบบแผนผังกระบวนการประกอบด้วย
- แกนแนวนอน: เวลาเป็นตัวหลักอยู่ในแกนนอนควรปรับให้เหมาะสมกับ ระยะเวลาแผนงาน สถานการณ์
- แกนแนวตั้ง: ปัจจัยประกอบสำคัญที่สนใจ กำหนดให้อยู่ในแนวแกนตั้ง เรียงลำดับชั้นตามความสนใจ เช่น ธุรกิจและการตลาด ผลิตภัณฑ์และการบริการ เทคโนโลยีหรือปัจจัยมุมมองด้านที่สนใจ ตามความเหมาะสม ลำดับปัจจัยประกอบ ควรจัดกลุ่มตามปัจจัยภายในจากด้านล่างไปสู่ปัจจัยภายนอกที่อยู่ด้านบน
- ข้อมูลด้านอื่น: สามารถใส่ข้อมูลด้านอื่นไว้ในแผนที่ได้ด้วย โดยใช้รูปของเครื่องมือหรือกราฟิก เช่น รูปสัญลักษณ์ รหัสสี จุดตัดสินใจที่สำคัญ ช่องว่าง เส้นทาง โอกาสและอุปสรรค เป็นต้น
- กระบวนการหรือขั้นตอน: มีขั้นตอนทำงานตามลำดับเมื่อทำเสร็จจึงจะไปขั้นต่อไป แต่ละแห่งมีขั้นตอนที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม เช่น ประเด็นที่นำมาพิจารณา วัตถุประสงค์ ขอบเขต ทรัพยากรที่มีบุคลากร ระยะเวลา งบประมาณ ลักษณะของเรื่องที่ทำ
ประโยชน์ของแผนที่นําทางเทคโนโลยี
- ช่วยให้ผู้บริหารมองเห็นภาพรวมขององค์กรได้อย่างชัดเจน เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารภายในองค์กรให้เข้าใจตรงกัน เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน และตัดสินใจกำหนดทิศทางขององค์กรในอนาคต
- การเชื่อมโยงกลยุทธ์ทางธุรกิจ (Business strategy) และกลยุทธ์ด้านอื่นเข้าด้วยกัน ช่วยให้การพัฒนาองค์กรดำเนินไปในทิศทางเดียวกันในทุกส่วน
- ช่วยให้องค์กรพิจารณาจุดอ่อนจุดแข็งทางด้านเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการดําเนินงานช่วยลดความซํ้าซ้อนของงาน สามารถวางแผนการพัฒนาให้เหนือกว่าคู่แข่งได้
- การทำแผนที่นำทาง (Road Map) ระบุถึงศักยภาพในการนำทรัพยากรที่มีอยู่เดิมกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) ช่วยให้องค์กรสามารถควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น หรือช่วยให้องค์กรสามารถจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วม (Participation) และความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Ownership) ของพนักงานในโครงการต่างๆ
ทุกองค์กรควรเริ่มมีการจัดทำแผนที่นําทางเทคโนโลยี และนำมาใช้กำหนดการทำงานในอนาคต โดยเน้นให้มีการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการปฏิบัติที่เหมาะสมเป็นระบบมากขึ้น และหลังจากที่ได้พัฒนาแผนแล้ว ควรคำนึงถึงเสมอว่าแผนที่ดีต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอเมื่อมีเหตุที่ต้องปรับปรุง เช่น แนวโน้มการตลาดใหม่ นโยบายหรือเหตุการณ์เกิดการเปลี่ยนแปลง และควรมีการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการตลาดและเทคโนโลยีใหม่อยู่ตลอดเวลา เพื่อประโยชน์สูงสุดของการพัฒนาองค์กร