iok2u.com แหล่งรวมข้อมูลข่าวสารเรื่องราวน่าสนใจเพื่อการศึกษาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้

ยืนหยัด เข้มแข็ง และกล้าหาญ (Stay Strong & Be Brave)
ขอเป็นกำลังใจให้คนดีทุกคนในการต่อสู้ความอยุติธรรม ในยุคสังคมที่คดโกงยึดถึงประโยชน์ส่วนตนและพวกฟ้องมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม จนหลายคนคิดว่าพวกด้านได้อายอดมักได้ดี แต่หากยึดคำในหลวงสอนไว้ในเรื่องการทำความดีเราจะมีความสุขครับ
มิสเตอร์เรน (Mr. Rain) และมิสเตอร์เชน (Mr. Chain)
Mr. Rain และ Mr. Chain สองพี่น้องในโลกออฟไลน์และออนไลน์ที่จะมาร่วมมือกันสร้างสื่อสารสนเทศ เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้ในเรื่องราวต่างๆ มากมายสร้างสังคมในการเรียนรู้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องตอบแทนกลับมา
Pay It Forward เป้าหมายเล็ก ๆ ในการส่งมอบความดีต่อ ๆ ไป
เว็ปไซต์นี้เกิดจากแรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward ที่เล่าถึงการมีเป้าหมายเล็ก ๆ กำหนดไว้ให้ส่งมอบความดีต่อไปอีก 3 คน หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องตอบแทนกลับมา อยากให้ส่งต่อเพื่อถ่ายทอดต่อไป

CT51 ความหวังของตลาดกลางสินค้าเกษตร ณ สี่แยกอินโดจีน

ลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2551 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

ผู้เขียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันชัย รัตนวงษ์

ผมและทีมวิจัยมีส่วนเข้าไปผลักดันและพัฒนาพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา จากข้อมูล ณ วันนั้นจนถึงวันนี้ขาดผู้สานต่อโครงการไม่ว่าจะเป็นศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) และ ศูนย์ค้าส่งผักและผลไม้ ณ สี่แยกอินโดจีน คงรอความหวังจากผู้ว่า CEO ที่จะเข้ามาสานฝันประชาชนชาวจังหวัดพิษณุโลก คงมีหลายคนสงสัยว่าทำไมต้องเป็นจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลกเป็นจังหวัดที่มียุทธศาสตร์ทางทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมเนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อทั้ง North-South Corridor และ East-West Corridor จากการเก็บข้อมูลทางวิจัยมีหลายประเด็นที่เป็นประโยชน์ เช่น สินค้าโดยเฉพาะผักและผลไม้ที่เดินทางมาจากประเทศจีนผ่านชายแดนที่เชียงของ พบว่าผักและผลไม้พวกนี้จะถูกนำส่งมาขายที่ตลาดไททันที ประเด็นคำถามที่สำคัญที่ตามมาคือผักและผลไม้พวกนี้จะย้อนกลับขึ้นไปขายคนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีก ยิ่งทำให้ประชาชนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริโภคผักและผลไม้ที่มีราคาแพงกว่าคนกรุงเทพ เนื่องจากมีค่าขนส่งที่บวกเพิ่มขึ้น ดังนั้นศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) และ ศูนย์ค้าส่งผักและผลไม้ ณ สี่แยกอินโดจีนจึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่รัฐบาลโดยเฉพาะรัฐบาลใหม่ควรให้ความสนใจกับคนในกลุ่มภูมิภาคทั้งสองนี้

ระบบการตลาดของสินค้าผักและผลไม้ที่ดีมีส่วนช่วยให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูง และผู้บริโภคเองก็ได้รับอรรถประโยชน์หรือความพึงพอใจสูงสุดด้วย แต่เนื่องจากระบบตลาดสำหรับสินค้าผักและผลไม้ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพดีพอ ทั้งนี้สาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่ผักและผลไม้เป็นสินค้าที่เน่าเสียได้ง่าย ความสดไม่คงทน มีความเสี่ยงภัยสูงทั้งทางด้านคุณภาพของความสดและความผันผวนของราคา วิธีการกระจายสินค้าจึงจำเป็นต้องดำเนินการโดยผ่านคนกลางที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีความชำนาญทางด้านการค้าพอที่จะรับมือกับอัตราเสี่ยงภัยดังกล่าวได้ และเพื่อให้สามารถระบายสินค้าได้ทันท่วงที ดังนั้นกลไกด้านการตลาดจึงจำเป็นที่จะต้องเอื้ออำนวยต่อการกระจายผลผลิตจากแหล่งผลิต ไปถึงมือผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาถึงสภาพทั่วไปของตลาดสินค้าเกษตรของประเทศไทยในปัจจุบัน พบว่า ระบบตลาดและการกำหนดราคานั้นเป็นลักษณะที่มีการรวมศูนย์ กล่าวคือ ราคาผลผลิตในประเทศโดยส่วนใหญ่จะถูกกำหนดโดยตลาดขายส่งในกรุงเทพ จากนั้นจึงแปลงราคากลับลงไปสู่ภูมิภาค จนถึงแหล่งผลิตโดยผ่านพ่อค้าคนกลางในแต่ละระดับ ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านี้ทราบทิศทางความเคลื่อนไหวของระดับราคาได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้องกว่ากลุ่มเกษตรกร และส่งผลให้เกษตรกรซึ่งมีอำนาจต่อรองน้อย ตกอยู่ในฐานะที่ต้องยอมรับเงื่อนไขและราคาที่พ่อค้าคนกลางเสนอมาให้ ทั้งนี้สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเกษตรกรโดยส่วนใหญ่ขาดความรู้ ความเข้าใจในด้านการตลาด มีภาระหนี้สินผูกพัน กอปรกับการขาดเข้าใจในเทคโนโลยี และระบบสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานอื่น อาทิ วิธีการบรรจุหีบห่อ วิธีการคัดแยกขนาดของผลผลิต และระบบการขนส่งที่รวดเร็ว เป็นต้น

จากการที่ผักและผลไม้เป็นสินค้าที่มีอุปทานเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดราคา ประกอบกับเกษตรกรยังขาดทักษะที่จำเป็นทั้งทางด้านการผลิตและการตลาด ส่งผลทำให้เกษตรกรไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่สอดคล้องกับภาวะตลาด และในขณะเดียวกันผู้บริโภคกลับต้องซื้อสินค้าเกษตรในราคาที่สูงเกินกว่าระดับที่ควรจะเป็น ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องทำการศึกษาระบบตลาดของสินค้าประเภทผักและผลไม้ เพื่อหาข้อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุง และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับระบบการตลาดของสินค้าผักและผลไม้ ผมและทีมวิจัยมุ่งศึกษาเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่า ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะทางกายภาพที่เหมาะสมต่อการปลูกพืชประเภทผักและผลไม้ ซึ่งแต่เดิมการปลูกพืชประเภทผักและผลไม้ของเกษตรกรเป็นไปเพื่อต้องการตอบสนองความต้องการบริโภคภายในประเทศเท่านั้น แต่ในปัจจุบันการผลิตผักและผลไม้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก จากการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก ดังนั้นการตลาดจึงเริ่มมีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งเมื่อพิจารณากระบวนการค้าในตลาดผักและผลไม้พบว่า ตลาดกลางขายส่งถือว่าเป็นตลาดที่สำคัญที่สุด เพราะทำหน้าที่เป็นทั้งตลาดรวม และตลาดกระจาย (Concentration & Dispersion Market) ผลผลิตในเวลาเดียวกัน รวมทั้งยังเป็นแหล่งในการปรับอุปทาน และอุปสงค์ของผลผลิตให้อยู่ในภาวะสมดุล นอกจากนั้นยังเป็นสถานที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการซื้อขาย ตลอดจนเป็นแหล่งเสนอข่าวสารและข้อมูลการตลาดให้กับพ่อค้า เกษตรกร และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจในการวางแผนการผลิต และการตลาด ตลอดจนการดำเนินมาตรการของภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาด

การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการกระจายตัวของพื้นที่การผลิต ปริมาณผลผลิต ตลอดจนแหล่งรวบรวมและกระจายผลผลิตผักและผลไม้ในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อนำมาใช้ประกอบการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งตลาดกลางสินค้าผักและผลไม้จังหวัดพิษณุโลก พร้อมทั้งออกแบบระบบการบริหารจัดการตลาดกลางฯ และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบการผลิต และการตลาดสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรประเภทผักและผลไม้ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ

จากการศึกษารูปแบบการกระจายตัวของพื้นที่การผลิต พบว่า ในพื้นที่ภาคเหนือมีการเพาะปลูกพืชผักและผลไม้กระจายตัวอยู่ทั่วไปทุกพื้นที่ โดยชนิดพืชผักและผลไม้ที่ปลูกส่วนหนึ่งเป็นพืชผัก/ผลไม้ ที่มีลักษณะเฉพาะตัว เช่น ผักและผลไม้เมืองหนาวที่สามารถเพาะปลูกและให้ผลผลิตได้ดีเฉพาะสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็น ซึ่งส่วนใหญ่มีแหล่งเพาะปลูกบริเวณพื้นที่ตอนบนของภาค ส่วนพืชผัก/ผลไม้อีกส่วนหนึ่งเป็นพืชผัก/ผลไม้ทั่วไปที่สามารถเพาะปลูกได้ในทุกพื้นที่ของภาค โดยผัก/ผลไม้ส่วนนี้ไม่ค่อยมีความจำกัดทางด้านสภาพภูมิอากาศและพื้นที่มากนัก ดังนั้นชนิดและจำนวนการเพาะปลูก รวมถึงการกระจายตัวของพื้นที่เพาะปลูก จึงขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรการผลิตตามพื้นที่นั้นๆ อาทิเช่น ลักษณะของชุดดินที่แตกต่างกันไปตามคุณภาพของดินของแต่ละพื้นที่ ปริมาณ และคุณภาพของแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ความชำนาญเรื่องการเพาะปลูกพืชชนิดนั้นๆ ของเกษตรกรซึ่งแตกต่างกันไปตามพื้นที่ ความนิยมของการเพาะปลูกพืชชนิดนั้นๆ ในแต่ละพื้นที่ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความต้องการของตลาดในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง เป็นต้น

อนึ่ง หากพิจารณาถึงความเป็นศูนย์กลางการเพาะปลูก สภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ และความเป็นศูนย์กลางการคมนาคมแล้ว สามารถแบ่งพื้นที่การเพาะปลูกที่สำคัญของภาคเหนือออกได้เป็นสองพื้นที่หลักๆ สำหรับพื้นที่ส่วนที่หนึ่ง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง และจังหวัดตาก โดยที่จังหวัดเชียงใหม่นั้นมีความเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางของพื้นที่ส่วนนี้ ส่วนพื้นที่ส่วนที่สอง ได้แก่ จังหวัดพะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ และนครสวรรค์ ทั้งนี้จังหวัดพิษณุโลกมีความเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางของพื้นที่ส่วนนี้ เนื่องด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกับจังหวัดเชียงใหม่ คือ ความเจริญเติบโตของเมือง ความพร้อมในเส้นทางการคมนาคม ทั้งทางรถยนต์ ทางรถไฟ และทางเครื่องบิน ที่ตั้งของตัวจังหวัดที่นอกจากจะเป็นศูนย์กลางของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างแล้ว การเดินทางสู่ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังสามารถขนส่งเดินทางได้โดยสะดวกด้วย ซึ่งการรวมจังหวัดพะเยา น่าน และแพร่ มารวมอยู่ในพื้นที่ส่วนนี้ด้วย เนื่องจากเหตุผลมาจากผลผลิตที่สามจังหวัดดังกล่าวทำการเพาะปลูกส่วนใหญ่เป็นผลผลิตที่พื้นที่ส่วนที่หนึ่งมีการเพาะปลูกเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว เช่น ลิ้นจี่ หอมแดง ถั่วลิสง เป็นต้น ดังนั้นหากนำผลผลิตดังกล่าวลงมากระจายสู่พื้นที่ในส่วนนี้ (ตอนล่างของภูมิภาค) โดยตรงจะส่งผลดีต่อภาพรวมของระบบตลาดสินค้าเกษตรทั่วทั้งภูมิภาค

จากการพิจารณาข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับระบบตลาดสินค้าเกษตรในพื้นที่ภาคเหนือ พบว่า พื้นที่การเพาะปลูกพืชส่วนใหญ่มักจะมีพื้นที่เพาะปลูกตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน และจะกระจายอยู่ทางตอนบนของภาค สำหรับพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกมีการเพาะปลูกผักผลไม้ที่สำคัญไม่มากนัก แต่จังหวัดพิษณุโลกนั้นจะถูกใช้เป็นแหล่งรวบรวมและกระจายสินค้าเกษตรจากพื้นที่ตอนบนของภาคไปยังพื้นที่ตอนล่างของภาค และผลผลิตบางส่วนจะถูกกระจายออกไปสู่ภูมิภาคอื่น และในขณะเดียวกันจังหวัดพิษณุโลกก็จะทำหน้าที่กระจายสินค้าจากภูมิภาคอื่นขึ้นไปสู่พื้นที่ทางตอนบนของภาคเช่นกัน

เมื่อพิจารณาสถิติการค้าสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่อยู่ในตลาดกลางสินค้าเกษตรในจังหวัดพิษณุโลก พบว่า สินค้ากว่าร้อยละ 80 เป็นผลผลิตที่มิได้มีการเพาะปลูกอยู่ในบริเวณพื้นที่เลย และเมื่อพิจารณาถึงความเชื่อมโยงทางกายภาพทำให้เห็นภาพการหมุนเวียนของปริมาณผลผลิต และกระแสการค้าในพื้นที่ต่างๆ ทั้งภายในภูมิภาคและนอกภูมิภาค หมุนเวียนผ่านเข้า-ออกตลาดกลางฯ ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้น จังหวัดพิษณุโลกนับว่ามีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาเป็นตลาดกลางสินค้าผักแผลไม้ระดับภูมิภาค โดยที่มีเหตุผลสนับสนุนหลักที่สำคัญดังนี้

  • จังหวัดพิษณุโลก เป็นเมืองหน้าด่านหรือประตูเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น ในขณะเดียวกันระบบโครงข่ายการคมนาคม ก็มีเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ต่างๆ ของภาคเหนือและภาคกลางหลายเส้นทาง และมีสภาพพื้นผิวจราจรที่ดีอยู่  และนอกจากเส้นทางการคมนาคมทางบกที่เป็นถนนแล้ว  ยังมีเส้นทางรถไฟตัดผ่าน จังหวัดพิษณุโลกมุ่งหน้าขึ้นไปถึงจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งมีท่าอากาศยานที่มีความสมบูรณ์อยู่ในระดับภูมิภาค ดังนั้นจึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะพัฒนาตลาดกลางผักและผลไม้ของจังหวัดพิษณุโลกให้เป็นตลาดกลางฯ ระดับภูมิภาคต่อไป 
  • ตลาดกลางสินค้าเกษตรในจังหวัดพิษณุโลก ควรจะเป็นตลาดกลางสินค้าเกษตรประเภทผักและผลไม้ เพราะถ้าหากจะพิจารณาข้อมูลจำนวนตลาดกลางในพื้นที่ภาคเหนือในแต่ละประเภท จะสังเกตเห็นว่า ในปัจจุบันตลาดกลางข้าวและพืชไร่ในเขตภาคเหนือมีมากถึง 28 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งมีแหล่งที่ตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่างเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงไม่เหมาะอย่างยิ่งที่จะพัฒนาตลาดกลางดังกล่าวให้ครอบคลุมตลาดข้าวและพืชไร่ด้วย เนื่องจากจะทำให้ภาพรวมของระบบการค้าของตลาดในภาคเหนือไม่มีประสิทธิภาพเนื่องจากมีจำนวนของตลาดประเภทนี้มากแล้ว  ในขณะที่ตลาดผักและผลไม้กลับมีเพียง 5 แห่ง และแต่ละแห่งก็ตั้งกระจายอยู่ห่างกันออกไป โดยยังไม่มีตลาดกลางผักและผลไม้แห่งใดถูกพัฒนาให้เป็นตลาดกลางผักและผลไม้ในระดับภูมิภาคเลย

ในการพิจารณากำหนดทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมสำหรับจัดตั้งตลาดกลางผักและผลไม้นั้น การศึกษาครั้งนี้ทางคณะผู้วิจัยเลือกใช้วิธีการประเมินปัจจัย (Factor Rating Method) เนื่องจากวิธีการดังกล่าวนี้มีความหลากหลาย ครอบคลุม และเหมาะสมกับแบบจำลองที่มีทั้งปัจจัยเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ ซึ่งในการประเมินหาที่ตั้งตลาดกลางผักและผลไม้จังหวัดพิษณุโลกนั้นจะประกอบด้วย ปัจจัยทางด้านเทคนิค ปัจจัยด้านกายภาพ ปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์ และปัจจัยทางด้านสังคม โดยวิธีการให้คะแนนจะใช้หลักการของการให้น้ำหนักความสำคัญของแต่ละเกณฑ์ (Average Weight Score) ของแต่ละทำเล จากนั้นจึงนำมาคำนวณหาคะแนนรวมทั้งหมด แล้วจึงทำการพิจารณาเลือกทำเลที่มีคะแนนรวมสูงที่สุดเป็นสถานที่จัดตั้งตลาดกลางผักและผลไม้จังหวัดพิษณุโลก โดยในการประเมินความเหมาะสมของพื้นที่ พบว่ามีพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้สำหรับการจัดตั้งตลาดกลางผักและผลไม้ของจังหวัดพิษณุโลกอยู่ 3 แห่ง ซึ่งได้แก่ (1) ตำบลดอนทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก (2) ตำบลสมอแข อำเภอเมืองพิษณุโลก และ (3) ตำบลบ้านป่า อำเภอเมืองพิษณุโลก

เมื่อคณะผู้วิจัยได้พิจารณาข้อมูลเบื้องต้นจากการลงสำรวจพื้นที่และสอบถามชาวบ้าน เพื่อทำการประเมินเบื้องต้นจากข้อมูลทางกายภาพทั้งข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิพบว่า พื้นที่บริเวณตำบลดอนทองนั้น เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมอันดับที่ 1 เนื่องจากมีผลทางด้านปัจจัยสนับสนุน โดยเฉพาะโครงสร้างทางด้านกายภาพซึ่งถือว่าได้เปรียบพื้นที่อื่นมากที่สุด รองลงมาเป็นพื้นที่ตำบลสมอแข และตำบลบ้านป่า ตามลำดับ โดยเมื่อคณะผู้วิจัยทำการศึกษาในรายละเอียดแล้วพบว่า ในบริเวณพื้นที่บริเวณตำบลดอนทองนั้น ตลาดไทยเจริญ นับเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะพัฒนาไปเป็นตลาดกลางผักและผลไม้ของจังหวัดพิษณุโลก ทั้งนี้เนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีความพร้อมทั้งทางด้านพื้นที่ เนื่องจากมีที่ดินขนาดมากกว่า 100 ไร่ ต่อเนื่องเป็นที่ดินผืนเดียวกัน และในขณะเดียวกันเจ้าของที่ดินก็มีความพร้อมที่จะลงทุนเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาตลาดแห่งเดิมให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นด้วย

สำหรับแนวคิดในการออกแบบระบบการบริหารจัดการตลาดกลางผักและผลไม้จังหวัดพิษณุโลกจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างกลไกการทำงานขึ้น เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการระบบตลาดสินค้าเกษตรภายในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างในระยะสั้น และมุ่งหวังที่จะบริหารจัดการระบบตลาดสินค้าเกษตรภายในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือทั้งหมดในระยะยาว โดยตลาดกลางฯ ดังกล่าวนี้จัดตั้งขึ้นมาโดยมิได้มุ่งหวังที่จะเป็นคู่แข่งกับตลาดไท ซึ่งเป็นตลาดกลางฯ ระดับประเทศ หากแต่ต้องการที่จะมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินงานของตลาดกลางสินค้าเกษตรระดับประเทศ โดยที่ตลาดกลางผักและผลไม้จังหวัดพิษณุโลกวางเป้าหมายที่ต้องการจะพัฒนาเป็นตลาดกลางสินค้าเกษตรระดับภูมิภาค และจะมุ่งเน้นไปที่สินค้าเกษตรประเภทผักและผลไม้เป็นหลัก

อนึ่ง จากการพิจารณาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค (SWOT Analysis) ทำให้ทราบถึงศักยภาพ โอกาส ตลอดจนข้อจำกัดในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวสามารถนำมาใช้ประกอบการกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาตลาดกลางผักและผลไม้จังหวัดพิษณุโลกได้ดังนี้

 “เป็นตลาดกลางค้าส่งผักและผลไม้ในภูมิภาคอินโดจีน” 

“To be a Vegetable and Fruit Wholesale Market in Indo-China Region”

จากวิสัยทัศน์ (Vision) ดังกล่าวพบว่าจังหวัดพิษณุโลกต้องเตรียมความพร้อมในการส่งเสริมการเป็นตลาดกลางผักและผลไม้ของตลาดไทยเจริญในระดับภูมิภาค ดังต่อไปนี้

  • พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกรรมการค้าภายในตลาดกลางฯ เช่น จังหวัดประสานงานกับธนาคารให้มาตั้งธนาคารในบริเวณตลาด จังหวัดประสานงานกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการประปาส่วนภูมิภาคในการติดตั้งระบบไฟฟ้าและน้ำประปาให้กับตลาดกลาง
  • ยกระดับผลิตภาพการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มความหลากหลายให้กับอุปทานสินค้าเกษตรที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในตลาดกลางฯ เช่น จัดตั้งศูนย์บรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
  • ปรับปรุงคุณภาพการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับสินค้าเกษตรและอาหาร (Food Safety) จากระดับไร่นาถึงโต๊ะอาหาร (From Farm to Table) โดยสร้างระบบตรวจสอบความปลอดภัยและวิเคราะห์สารตกค้างซึ่งจังหวัดต้องประสานงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรให้เข้ามาควบคุมและดูแล
  • จัดหาคลังสินค้าหรือห้องเย็นโดยจัดจ้างให้บริษัท Outsource เข้ามาบริหารงานหรือลงทุนร่วมกับตลาดกลาง
  • จัดตั้งศูนย์ข้อมูลการค้าขาย เช่น ปริมาณสินค้าและความต้องการในแต่ละช่วงเวลา เหตุการณ์หรือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในแหล่งผลิต นำข้อมาทำนายความต้องการในอนาคต และสามารถกำหนดราคาการขายล่วงหน้าได้ โดยจังหวัดประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์
  • จัดสร้างศูนย์บำบัดน้ำเสียและกำจัดขยะ โดยจังหวัดประสานงานกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด
  • ระบบรักษาความปลอดภัยต่างๆ เช่น ดับเพลิง สายตรวจรวมถึงการจัดการจราจร
  • ดูแลระบบการชั่งน้ำหนัก การตวงและการวัด ซึ่งจังหวัดต้องประสานงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรให้เข้ามาควบคุมและดูแล
  • พัฒนาระบบสารสนเทศด้านการเกษตร เพื่อบูรณาการข้อมูลด้านการผลิตและการตลาดระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน
  • ให้การส่งเสริมเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

ในขณะเดียวกันตลาดกลางก็ต้องเตรียมตัวเพื่อยกระดับตลาดกลางให้เป็นตลาดกลางในภูมิภาค โดยต้องเตรียมตัวดังต่อไปนี้

  • สร้างเครือข่ายการตลาดสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ซื้อ และปริมาณความต้องการซื้อ (Demand) ให้กับตลาดกลางฯ
  • สร้างเครือข่ายพันธมิตรระหว่างตลาดกลางร่วมกัน เช่น สร้างพันธมิตรกับตลาดไท
  • ดูแลผู้ซื้อและผู้ขายด้วยความเป็นธรรม

--------------------------------

สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง

สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง

CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551

เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล

 --------------------------------

ที่มา

เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551

โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ 

ขอต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์
www.iok2u.com
แหล่งข้อมูลสารสนเทศเพื่อคุณ

เว็บไซต์ www.iok2u.com นี้เกิดมาจาก แรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward โดยมีเป้าหมายเล็ก ๆ ที่กำหนดไว้ว่า ทุกครั้งที่เข้าเรียนสัมมนาหรืออบรมในแต่ละครั้ง จะนำความรู้มาจัดทำเป็นบทความอย่างน้อย 3 เรื่อง เพื่อมาลงในเว็บนี้
ความตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับมาทำการถ่ายทอดต่อไป และหวังว่าจะมีคนมาอ่านแล้วเห็นว่ามีประโยชน์นำเอาไปใช้ได้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลย โดยอาจไม่ต้องอ้างอิงที่มาหรือมาตอบแทนผู้จัด แต่ขอให้ส่งต่อหากคิดว่ามันดีหรือมีประโยชน์ เพื่อถ่ายทอดความรู้และสิ่งดี ๆ ต่อไปข้างหน้าต่อไป Pay It Forward