CT51 ความเคลื่อนไหวของต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศออสเตรเลีย
ลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2551 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ผู้เขียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สถาพร อมรสวัสดิ์วัฒนา
บทนำ
ในปัจจุบันนี้ราคาน้ำมันที่ได้ปรับตัวสูงขึ้นมาจากในอดีตได้ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศออสเตรเลียได้ปรับตัวสูงกว่าที่พยากรณ์ไว้ ส่งผลให้เกิดค่าครองชีพและราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากราคาน้ำมันได้ส่งผลให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศออสเตรเลียปรับตัวสูงขึ้นในอัตราก้าวกระโดด ดังนั้นการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพจะต้องนำมาใช้เพื่อลดผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
คำสำคัญ ต้นทุนโลจิสติกส์, ดัชนีราคาผู้บริโภค, ต้นทุนการขนส่ง
ความเคลื่อนไหวด้านต้นทุนโลจิสติกส์
ความเคลื่อนไหวของต้นทุนโลจิสติกส์ (Logistics Cost Monitor: LCM) ของบริษัท Sinclair Knight Merz ประทศออสเตรเลีย เป็นแบบจำลองที่ใช้เพื่อให้ข้อมูลรายไตรมาสของภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวกับแนวโน้มของต้นทุนโลจิสติกส์ ข้อมูลนี้จะใช้ต้นทุนเป็นตัวดัชนีที่ใช้ในการเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนในการผลิต นอกจากนี้ความเคลื่อนไหวของต้นทุนโลจิสติกส์ยังใช้อ้างอิงถึงการเปลี่ยนแปลงในไตรมาสก่อนหน้านี้โดยเปรียบเทียบกับดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ของประเทศออสเตรเลีย
ค่าดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 1.49% ในไตรมาสที่ 2 (เมษายน – มิถุนายน 2551) ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคประจำปีเพิ่มขึ้นเป็น 4.51% ซึ่งเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกันที่การเติบโตของค่าดัชนีราคาผู้บริโภคเกินการพยากรณ์อัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลางประเทศออสเตรเลีย (Reserve Bank of Australia) ที่ตั้งไว้ 2-3 %
ค่าดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศออสเตรเลียที่เพิ่มขึ้นมีปัจจัยมาจากต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนค่าขนส่ง และต้นทุนด้านสุขภาพซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้โตด้วยอัตราเฉลี่ยมากกว่า 2% ในแต่ละไตรมาส เมื่อเปรียบเทียบเป็นรายปีแล้วปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อจะมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การขนส่งและภาคการเงินที่มีแต่ละภาคธุรกิจได้มีอัตราเงินเฟ้อมากกว่า 6% ต่อปี
แผนภาพที่ 1 จะแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคและความเคลื่อนไหวของต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศออสเตรเลีย
ที่มา: บทความเรื่อง “Logistics Cost Monitor” ของบริษัท Sinclair Knight Merz ประเทศออสเตรเลียฉบับมิถุนายน 2551
แผนภาพที่ 1 ดัชนีราคาผู้บริโภคและต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศออสเตรเลีย
ในแผนภาพที่ 1 ต้นทุนของบริการทางโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น 6.49% ไปที่ 161.59 จุดในไตรมาสนี้ซึ่งมีค่าเพิ่มขึ้นสูงกว่าการเพิ่มขึ้นในดัชนีราคาผู้บริโภค โดยที่การเพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากการเพิ่มสูงขึ้นของต้นทุนของราคาน้ำมันดีเซลในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ซึ่งการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดีเซลส่งผลกระทบต่อบริการด้านโลจิสติกส์มากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนของเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินดอลลาร์ออสเตรเลียได้ช่วยให้ต้นทุนโลจิสติกส์ในไตรมาสนี้มีเสถียรภาพ แต่ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 10% ส่งผลกระทบอย่างหนักหนาสาหัสต่อต้นทุนโลจิสติกส์ นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นเพียง 1.75% จากเดือนมีนาคมมาจนถึงเดือนมิถุนายนทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 17.77% เปรียบเทียบกับต้นทุนทางการเงินเมื่อ 12 เดือนที่แล้ว
นอกจากนี้ต้นทุนของราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 20.36% ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมาถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2551 ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลสูงขึ้น 40.22% เมื่อเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันดีเซลเมื่อ 12 เดือนที่แล้ว อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันล่าสุดได้ลดต่ำลงจากราคาที่ใกล้เคียง 150 เหรียญสหรัฐมาจนต่ำกว่า 130 เหรียยสหรัฐ ซึ่งได้มีการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญในหลายอุตสาหกรรมว่าราคาน้ำมันจะมีแนวโน้มต่ำลงจนถึง 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล การพยากรณ์ราคาน้ำมันเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ราคามีความผันผวนและมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายส่วน แนวโน้มของราคาน้ำมันสามารถแสดงได้ดังแผนภาพที่ 2
ที่มา: บทความเรื่อง “Logistics Cost Monitor” ของบริษัท Sinclair Knight Merz ประเทศออสเตรเลียฉบับมิถุนายน 2551
แผนภาพที่ 2 แนวโน้มของการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน
นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อจะส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อได้เร็วมากขึ้น เนื่องจากค่าจ้างแรงงานจะเป็นตัวเพิ่มต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการซึ่งทางผู้ผลิตจะผลักภาระไปสู่ผู้บริโภคโดยการเพิ่มราคาสินค้าอีก
แนวโน้มในอนาคต
จากการเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐศาสตร์ของระบบโซ่อุปทานในช่วงเวลาที่ผ่านมาจะเห็นว่า องค์กรธุรกิจจะหาวิธีการที่ดีกว่าในการจัดการกิจกรรมการขนส่ง โดยที่ต้นทุนในการขนส่งของวิธีการรูปแบบต่างๆ จะนำมาเปรียบเทียบเพื่อจัดลำดับความสำคัญขององค์กร เช่น การขนส่งทางรางหรือทางน้ำจะเข้ามามีบทบาทมากกว่าการขนส่งทางถนนยกเว้นประเภทของสินค้าที่ต้องการความรวดเร็วในการส่งมอบ นอกจากนี้ต้นทุนของการนำเข้าสินค้าที่ต้องใช้การขนส่งในประเทศเป็นระยะทางไกลจะทำให้การขนส่งมีต้นทุนสูงมากขึ้น จะส่งผลให้ผู้ผลิตในประเทศมีความได้เปรียบมากขึ้น
ที่มา:
- บทความเรื่อง “Logistics Cost Monitor” ของบริษัท Sinclair Knight Merz ประเทศออสเตรเลียฉบับมิถุนายน 2551
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่