CT51 การออกแบบเครือข่ายของระบบโลจิสติกส์ สำหรับการบริหารการปฏิบัติงานระดับโลก (ตอนที่ 2)
ลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2551 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ผู้เขียน ดร.นันทิ สุทธิการนฤนัย
บทคัดย่อ : บทความนี้เสนอเนื้อหาเกี่ยวกับแนวคิดในการย้ายหรือขยายฐานการผลิตไปยังต่างแดน ซึ่งพบว่าจะมีแนวคิดที่สำคัญ 3 ประการในการตัดสินใจที่จะย้ายฐานการผลิตไปยังต่างแดนคือ Market Focus, Process Focus และ Production Family Focus
บทความนี้เป็นตอนที่สองของการออกแบบเครือข่ายโลจิสติกส์ ซึ่งความเดิมได้กล่าวไว้ว่าการออกแบบเครือข่ายของระบบโลจิสติกส์ สำหรับการบริหารการปฏิบัติงานระดับโลกนั้นจะต้องพิจารณาถึงส่วนประกอบ 3 ส่วนด้วยกัน คือ คุณลักษณะของระบบเครือข่ายโลจิสติกส์แบบต่าง ๆ ข้อดี/ข้อเสียของการย้ายสถานที่อำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น โรงงาน คลังสินค้า ฯลฯ ไปยังต่างประเทศ และส่วนสุดท้ายจะเกี่ยวข้องกับการวางแผนด้านกำลังการผลิต เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนในสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ หากจำเป็นต้องมีการย้ายการปฏิบัติการต่างๆ ไปยังประเทศอื่น
ในหลายปีที่ผ่านมา ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ อีกมากมายได้ย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ ดังนั้น เนื้อหาในตอนที่สองนี้ จะกล่าวถึงกลยุทธ์ การวางแผน และข้อดี/ข้อเสียของการย้ายสถานที่อำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น โรงงาน คลังสินค้า ฯลฯ ไปยังต่างประเทศ ซึ่งพบว่าหากผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการรายใดต้องการย้ายสถานที่ปฏิบัติงานไปยังที่ใหม่ สิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ที่จะต้องพิจารณาคือ การกระจายหรือแบ่งสัดส่วนของการผลิตไปยังสถานที่ผลิตหลายแห่งและการจัดการโซ่อุปทานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งปัจจัยหรือเหตุผลที่สำคัญที่จะช่วยในการพิจารณาขยายหรือย้ายฐานการผลิตไปยังต่างแดน คือ
- เพื่อลดต้นทุนในการผลิต เช่น ต้องหาค่าแรงถูก
- ใกล้กับแหล่งของลูกค้า หรือตลาดที่มีความต้องการ สินค้านั้น เพื่อลดค่า TAX ต่างๆที่เกิดขึ้นในการนำเข้า
- ความต้องการใช้เทคโนโลยีในประเทศนั้น
- การควบคุมและใช้เทคโนโลยี ได้เหมาะสม และคุ้มค่าแก่การลงทุน
- ความต้องการนำหน้า หรือก้าวไปเร็วกว่าคู่แข่ง
ซึ่งหากองค์กรใดตัดสินใจแล้วว่าจะมีการย้ายหรือขยายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ แนวความคิดในการออกแบบโครงข่ายของสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ จะแบ่งออกเป็น 3 แบบด้วยกัน คือ Market focus, Product family focus และ Process focus ซึ่งลักษณะของการจัดการเครือข่ายแบบต่าง ๆ จะสรุปอยู่ในตารางที่ 1
- Market focus
เป็นแนวคิดที่จะตั้งโรงงานตามกลุ่มตลาดแต่ละกลุ่ม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาคหรือทวีป ซึ่งแต่ละโรงงานหรือองค์กรใดที่ใช้แนวคิดนี้ในการย้านฐานการผลิตไปยังต่างแดน จะมีความยืดหยุ่นสูง ในการปรับกระบวนการผลิต/วางแผนการผลิต และการตลาด/การขาย แบบไม่รวมศูนย์ (Decentralized) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในภูมิภาคนั้น ๆ
ข้อดี
- ใกล้ชิดกับกลุ่มเป้าหมาย
- มีความรวดเร็วในด้านการจัดส่ง
- มีความสามารถในการควบคุมการผลิตและการตลาด
- สินค้าที่ผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด
ข้อเสีย
- ไม่สามารถใช้ความได้เปรียบจากต้นทุนการผลิต
- ยุ่งยากในการผลิตสินค้าใหม่ ๆ
- กระบวนการผลิตซ้ำซ้อน
- เกิดต้นทุนสินค้าคงคลังเป็นจำนวนมาก
- เกิดความเสียหาย ถ้าไม่สามารถจัดส่งสินค้าได้ตามเวลาที่กำหนด
- มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
- Product family focus
แนวความคิดนี้จะแบ่งกลุ่มของผลิตภัณฑ์ออกเป็นกลุ่ม ๆ และแบ่งฐานการผลิตออกเป็นกลุ่มเช่นเดียวกัน โดยแต่ละกลุ่มจะรับผิดชอบหรือมุ่งเน้นที่จะผลิตผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน เพื่อวัตถุประสงค์ในการเป็นผู้นำด้านต้นทุนการผลิต โดยยึดหลักการผลิตเพื่อให้ได้ปริมาณการผลิตที่ประหยัด (Economic of Scale) การจัดการด้านการผลิตอาจเป็นแบบรวมศูนย์ (Centralized) ที่หากต้องมีการแบ่งสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเดียวกันไปยังตลาดหลาย ๆ กลุ่ม หรือแบ่งสัดส่วนการผลิตผลิตภัณฑ์จากตลาดหลาย ๆ กลุ่มไปยังกลุ่มการผลิตหลาย ๆ กลุ่ม แต่อย่างไรก็ตาม การจัดการด้านการผลิตอาจเป็นแบบไม่รวมศูนย์ (Decentralized) ถ้าความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่มสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ในแต่ละกลุ่มพอดี ซึ่งลักษณะการจัดการหรือการผลิตแบบรวมศูนย์หรือไม่รวมศูนย์นี้เอง ก็ถือเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลให้การจัดการด้านการตลาดหรือการขายเป็นแบบรวมศูนย์หรือไม่รวมศูนย์ด้วยเช่นกัน
ข้อดี
- สามารถลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากมีการผลิตล็อตใหญ่
- ลดปัญหาการทำงานที่ซ้ำซ้อน
- ง่ายต่อการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่
- สินค้าได้มาตรฐาน
- สามารถควบคุมปริมาณสินค้าคงคลังได้ง่าย
ข้อเสีย
- ต้นทุนการขนส่งสินค้าสูง
- มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากการเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยน
- การประสานงานกันระหว่างการผลิตและการตลาดให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันเป็นไปได้ยาก
- Process focus
บริษัทต่าง ๆ ที่ใช้แนวคิดนี้ในการวางโครงข่ายการผลิตทั่วโลก แต่ในแต่ละฐานการผลิตจะมีความสามารถในการผลิตเฉพาะด้าน หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการมุ่งเน้นกระบวนการผลิตแบบเดิม ๆ ซ้ำ ๆ แต่ในปริมาณการผลิตที่สูง เพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำ ดังนั้นการจัดการการผลิตและการตลาดจะเป็นแบบรวมศูนย์เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันระหว่างโรงงานผลิตแต่ละแห่งและตลาดให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ข้อดี
- ต้นทุนการผลิตต่ำ
- มีการคุณภาพการออกแบบสูง
- มีการควบคุมจัดการการผลิตที่ดี
- สามารถลดหรือเลี่ยงการทำงานที่ซ้ำซ้อนได้เกือบทั้งหมด
- มุ่งลูกค้าและการปรับตัวการผลิต
ข้อเสีย
- วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์สั้น
- การส่งมอบใช้เวลาค่อนข้างนาน
- มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากการเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยน
- ต้นทุนสินค้าคงคลังสูง
- มีความยุ่งยากในการจัดตารางการผลิตและการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป
- ยากในการจะแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด
ตารางที่ 1 ลักษณะการจัดการเครือข่ายสำหรับแนวคิดแบบต่าง ๆ
จากการสำรวจพบว่าไม่มีบริษัทหรือองค์กรใดที่จะยึดแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งในการขยายฐานการผลิตไปยังต่างแดน ส่วนมากจะเป็นการนำแนวคิดหลาย ๆ แบบมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับเป้าหมายขององค์กรแต่ละองค์กร รูปที่ 1 แสดงถึงตัวอย่างการจัดโครงข่ายโลจิสติกส์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงใน 2 ขั้วของโครงข่าย รูป 1 ก จะแสดงถึงรวมศูนย์ของการจัดการด้านการผลิต ในขณะที่มีการไม่รวมศูนย์ของการจัดการด้านการตลาด และรูป 1ข แสดงถึงด้านกลับกันกับรูป 1 ก
รูปที่ 1 โครงข่ายโลจิสติกส์ 2 แบบที่มีการจัดการแตกต่างกัน
ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่ายังไม่พบว่าองค์กรใดที่จะเลือกใช้แนวทางใดแนวทางหนึ่งอย่างเดียวในการสร้างโครงข่ายโลจิสติกส์เพื่อรองรับการขยายกิจการไปยังต่างแดน แต่ความซับซ้อนด้านการผลิต และความต้องการของตลาดที่แตกต่างกัน เป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้บริษัทตัดสินใจที่จะเลือกแนวคิดใดเป็นหลักในการปฏิบัติระหว่าง 3 ทางเลือก ดังรูปที่ 2 ที่แสดงให้เห็นว่าเมื่อผลิตภัณฑ์ใดไม่ต้องการกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนและไม่ต้องการตลาดในระดับที่เข้มข้นมากนัก แนวความคิดแบบ market focus จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด หากเมื่อผลิตภัณฑ์ใดต้องผ่านกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ต้องการผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้นเพื่อให้สนองตอบต่อความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น การจัดการแบบแนวคิดของ product family focus จะเป็นแนวทางที่ดี แต่หากความต้องการของลูกค้าเพิ่มสูงขึ้นไปอีก แนวคิดเรื่อง process focus จะเป็นแนวทางที่เหมาะสม
รูปที่ 2 ระดับความซับซ้อนของการผลิตและการตลาดที่ส่งผลต่อการเลือกแนวคิดในการสร้างโครงข่ายโลจิสติกส์
รูปที่ 3 ตัวอย่างของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อนของการผลิตและการตลาดที่แตกต่างกัน
รูปที่ 3 แสดงถึงตัวอย่างของอุตสาหกรรม 4 อุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมผลิตเครื่องมือ ที่ประยุกต์ใช้แนวคิดที่แตกต่างกันเนื่องจากมีความซับซ้อนของการผลิตผลิตภัณฑ์และการตลาดที่แตกต่างกัน ซึ่งเครื่องนุ่งห่มและคอมพิวเตอร์ จัดอยู่ในกลุ่มสินค้าเพื่อการบริโภค ส่วนสินค้าอิเลคทรอนิคและเครื่องมือ จะตกอยู่ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งจากรูปสามารถอธิบายได้ว่าสินค้าอุตสาหกรรมมีความซับซ้อนด้านการตลาดน้อยกว่าสินค้าเพื่อการบริโภค ในขณะที่สินค้าเพื่อการบริโภคเช่น เครื่องนุ่งห่มกับคอมพิวเตอร์ ที่มีความแตกต่างกันอย่างมากของระดับความซับซ้อนในกระบวนการผลิต กลับมีความเหมือนกันในด้านการแข่งขันด้านการตลาด ซึ่งปัจจัยหลักในการวัดประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ คือ ต้นทุน, คุณภาพ, การบริการ และความยืดหยุ่น ตารางที่ 2 แสดงถึงลำดับความสำคัญของมาตรวัดประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมต่าง ๆ
อุตสาหกรรม |
ลำดับความสำคัญของมาตรวัด |
อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม |
ราคา – ความยืดหยุ่น |
อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ |
ราคา – คุณภาพ |
อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ |
การบริการ - ความยืดหยุ่น |
อุตสาหกรรมเครื่องมือ |
การบริการ - คุณภาพ |
Reference:
Dornier, P., Ernst, R., Fender, M., and Kouvelis, P. (1998). Global Operations and Logistics: Text and Cases, John Wiley & Sons, Inc., USA.
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่