CT51 การจัดซื้อวัตถุดิบหรือสินค้าจากประเทศจีนสามารถประหยัดต้นทุนได้จริงหรือไม่
ลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2551 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ผู้เขียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สถาพร อมรสวัสดิ์วัฒนา
บริษัทหลายแห่งจัดซื้อวัตถุดิบหรือสินค้าจากประเทศจีนมากขึ้น ได้ทำให้ประเทศจีนกลายเป็นแหล่งการผลิตวัตถุดิบและสินค้าที่สำคัญของโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม หลายบริษัทอาจมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า “ยิ่งโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมนั้นไกลขึ้นมากเพียงใด ความเสี่ยงในการทำธุรกิจจะยิ่งมากขึ้นตาม” แม้ว่าการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ อินเตอร์เน็ต เรือที่ทันสมัย เข้ามาสนับสนุนในกิจกรรมทางโลจิสติกส์ได้ดีขึ้น และทำให้โอกาสในการเกิดความเสี่ยงน้อยลงก็ตาม แต่ความเสี่ยงในระบบโซ่อุปทานดังกล่าวไม่ได้หายไป หากบริษัทไหนไม่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ กลยุทธ์การจัดซื้อวัตถุดิบหรือสินค้าจากประเทศจีนอาจจะกลายเป็นจุดอ่อนของบริษัทมากกว่าจุดแข็ง และเป็นโอกาสให้คู่แข่งขันทางธุรกิจเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดได้เช่นเดียวกัน
ความยาวของโซ่อุปทานของบริษัทในโลกนี้มีแนวโน้มยาวขึ้นไกลออกไปเรื่อยๆ ซึ่งในบางโซ่อุปทานอาจจะมีระยะทางไกลมากกว่าระยะทางหนึ่งในสามของโลก ทำให้ต้นทุนการบริหารโซ่อุปทานเพิ่มสูงขึ้น หรือความล่าช้าที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดหวังมีโอกาสเกิดมากขึ้น ส่งผลให้ระยะเวลาในการขนส่งวัตถุดิบหรือสินค้าจากโรงงานมายังร้านค้าจะช้ากว่าเดิม
ผู้จัดการหลายท่านคิดว่าต้นทุนของวัตถุดิบหรือสินค้ายังคงต่ำแม้ว่าจะมีความล่าช้าเกิดขึ้นไปบ้าง แต่ในความเป็นจริงแล้วความสูญเสียทางการตลาดจะส่งผลกระทบต่อบริษัทมากกว่าเมื่อสินค้ามาไม่ทันต่อกำหนดการผลิตและการส่งมอบ เมื่อระยะเวลาในการสั่งซื้อสินค้ามีเวลานานขึ้นจากระยะทางที่ไกลมากขึ้น บริษัทแต่ละแห่งมีแนวโน้มในการจัดซื้อสินค้าในจำนวนมากขึ้นต่อครั้งเพื่อมารองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการเก็บรักษาสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้เมื่อทางปลายทางค้นพบว่าสินค้ามีคุณภาพไม่ได้มาตรฐานหรือสินค้ามีตำหนินั้น บริษัทจะมีต้นทุนในการส่งคืนสินค้า ต้นทุนในการเสียโอกาสทางการตลาดเพิ่มขึ้นด้วย เมื่อพิจารณาถึงต้นทุนเหล่านี้แล้ว ต้นทุนที่ซ่อนอยู่ในการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศจีนอาจจะมากกว่าราคาวัตถุดิบหรือสินค้าที่มีราคาต่ำกว่าก็ได้
จากกรณีบริษัทของประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการจัดซื้อวัตถุดิบหรือสินค้าจากประเทศจีนมากขึ้น ได้ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารกระบวนการโลจิสติกส์ในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง เนื่องจากท่าเรือต่างๆ ในฝั่งตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกาได้รองรับจำนวนตู้คอนเทนเนอร์เต็มความสามารถในการรองรับสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ได้แล้ว ดังแสดงไว้ในแผนภาพที่ 1
จากแผนภาพที่ 1 จะเห็นได้ว่าท่าเรือในฝั่งตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ใช้ประโยชน์จนเต็มความสามารถในการรองรับตู้สินค้าอยู่ที่ 19.9 ล้านทีอียู (TEUs: Twenty-Foot Equivalent Units) ต่อปี ซึ่งจากการพยากรณ์แนวโน้มการจัดซื้อวัตถุดิบหรือสินค้าจากประเทศจีนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์อาจจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 30 ล้านทีอียูต่อปี ซึ่งหมายความว่าท่าเรือในฝั่งตะวันตกอาจจะไม่สามารถรองรับปริมาณขนถ่ายตู้สินค้าที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาความล่าช้าของการขนถ่ายสินค้าตามมา
ที่มา: งานวิจัยเรื่อง “The Costly Secret of China Sourcing” ของ George Stalk Jr. จาก Boston Consulting Group ในวารสาร Harvard Business Review เดือนกุมภาพันธ์ 2549
แผนภาพที่ 1 ความสามามารถในการรองรับตู้คอนเทนเนอร์ของท่าเรือฝั่งตะวันตกในประเทศสหรัฐอเมริกา
ความต้องการการขนถ่ายตู้สินค้าของท่าเรือในฝั่งตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกาที่สูงขึ้น จนกลายเป็นปัญหาตามมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตรวจสอบความปลอดภัยของตู้สินค้าต่างๆ นอกจากนี้การกระจายสินค้าจากฝั่งตะวันตกเข้าไปในตอนกลางและฝั่งตะวันออกของประเทศสหรัฐอเมริกาเองจำเป็นจะต้องมีระบบคมนาคมที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำซึ่งหมายถึงการขนส่งโดยรถไฟ
เมื่อพิจารณาถึงความพร้อมของระบบรางในฝั่งตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าความสามารถในการขนถ่ายสินค้าจากฝั่งตะวันตกไปสู่ตอนกลางหรือฝั่งตะวันออกของประเทศได้ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่แล้วเช่นเดียวกัน
ดังนั้นหากทางบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกาต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับบริษัทจัดซื้อวัตถุดิบหรือสินค้าจากประเทศจีน จะต้องมุ่งเน้นไปที่การส่งมอบสินค้าที่มีความรวดเร็ว เช่น การขายสินค้าที่มีความเป็นแฟชั่น หรือสินค้าที่ผลิตเพื่อเทศกาลพิเศษ อาทิ เทศกาลคริสมาสต์ โดยทำการจัดซื้อวัตถุดิบหรือสินค้าภายในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง หรือการสร้างกลยุทธ์ให้ลูกค้าของบริษัททำการชำระเงินค่าสินค้าหลังจากที่ทางลูกค้าได้ขายของไปแล้ว ซึ่งทำให้บริษัทคู่แข่งจะต้องทำตาม เมื่อบริษัทคู่แข่งทำตามจะทำให้บริษัทของคู่แข่งจะต้องแบกรับต้นทุนของสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้นจากโซ่อุปทานที่ยาวกว่า
ที่มา: งานวิจัยเรื่อง “The Costly Secret of China Sourcing” ของ George Stalk Jr. จาก Boston Consulting Group ในวารสาร Ha
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่