CT51 การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมโดยใช้การจัดการโซ่อุปทานที่รวดเร็ว
ลิขสิทธิ์ สำนักโลจิสติกส์
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สถาพร อมรสวัสดิ์วัฒนา
บทนำ
ภัยพิบัติทางธรรมชาติก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประเทศผู้ประสบภัยเป็นอย่างมาก เช่น ประเทศพม่าประสบภัยจากพายุนาร์กีส หรือเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมืองเฉินตูประเทศจีนเป็นต้น ผู้ประสบภัยบางท่านไร้ที่อยู่อาศัย ขาดแคลนสิ่งของ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ อาหาร น้ำดื่ม เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค นอกจากนี้ผู้ประสบภัยยังมีสภาพจิตใจที่อ่อนแอ ย่ำแย่อีกด้วย การให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้กับผู้ประสบภัยเหล่านี้ที่ทันท่วงทีจะส่งผลต่อความอยู่รอด และสามารถมีชีวิตต่อไปได้ การจัดการโซ่อุปทานของการให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรคจะต้องมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามโซ่อุปทานลักษณะนี้มีความแตกต่างจากโซ่อุปทานของทางองค์กรธุรกิจโดยทั่วไปมาก เนื่องจากจะเกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว และสถานที่แตกต่างกันออกไป
คำสำคัญ การจัดการโซ่อุปทานที่รวดเร็ว, การให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม, ภัยพิบัติทางธรรมชาติ, ผู้ประสบภัย, การจัดการโลจิสติกส์
โซ่อุปทานของการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม
การช่วยเหลือทางมนุษยธรรม (Humanitarian aid) ส่วนใหญ่จะกระทำโดยฝ่ายการเมือง และทหารของทั้งประเทศผู้บริจาคและรับบริจาค ซึ่งอุตสาหกรรมของการบริจาค (Donor industry) นี้ส่วนใหญ่จะขาดแผนการประสานงานที่ดี กลุ่มเอ็นจีโอ (Non-governmental organizations: NGOs) หลายฝ่ายจะออกแข่งขันกันรับบริจาค และเน้นการช่วยเหลือแบบฉุกเฉินมากกว่าความช่วยเหลือในระยะยาว ซึ่งทำให้การใช้เงินอุดหนุนกระจายออกไป และไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม
โซ่อุปทานของการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมมีรูปแบบที่หลากหลาย อย่างไรก็ตามโซ่อุปทานของการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมโดยทั่วไปสามารถแสดงได้ตามแผนภาพที่ 1
ที่มา: งานวิจัยเรื่อง “Humanitarian aid: an agile supply chain?” โดย Richard Oloruntoba และ Richard Gray ในวารสาร Supply Chain Management: An International Journal ฉบับที่ ฉบับที่ 11 เล่มที่ 2 ปี 2549 หน้า 115-120
แผนภาพที่ 1 โซ่อุปทานของการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม
โซ่อุปทานในแผนภาพที่ 1 แสดงให้เห็นถึงการให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศหลายขั้นตอนผ่านองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ รวมถึงกลุ่มเอ็นจีโอ ซึ่งโซ่อุปทานของการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจะไม่มีเสถียรภาพซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับการจัดการโซ่อุปทานขององค์กรธุรกิจทั่วไป ในบางครั้งโซ่อุปทานอาจล้มเหลวที่ผู้รับปลายทาง (Receiving end) ที่ยากแก่การส่งมอบหรือการส่งมอบไปไม่ถึงผู้รับที่แท้จริง หรือล้มเหลวจากผู้ให้ต้นทางที่มีประเด็นทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นโซ่อุปทานที่รวดเร็ว
แนวคิดของความรวดเร็ว (Agility) ใช้กับมากในกระบวนการผลิต แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้สามารถนำมาใช้กับการบริหารโซ่อุปทานได้ ความรวดเร็วจะหมายถึงความสามารถในการตอบสนองต่อสภาวะแวดล้อมที่คงที่และที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตอบสนองความต้องการของลูกค้าภายใต้สภาวะที่ไม่อยู่นิ่ง
การตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้ามีปัญหาอย่างมากเมื่อนำมาใช้ในโซ่อุปทานของการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เนื่องจากกลุ่มของลูกค้าต้องพึงพอใจในโซ่อุปทานของการช่วยเหลือซึ่งเป็นผลมาจากผู้ให้บริจาค ดังนั้นความรวดเร็วในเชิงของโซ่อุปทานของการให้ความช่วยเหลือต้องคำนึงถึงความไม่แน่นอนของการให้เงินบริจาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งมูลนิธิทางการกุศลส่วนใหญ่ต้องระดมเงินทุนจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้นเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
รัฐบาลที่ให้ความช่วยเหลือมักจะกำหนดวัตถุประสงค์ของเงินบริจาคให้ดำเนินการเฉพาะกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือจะมุงเน้นไปที่การกระจายความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์ในระยะสั้นมากกว่าการที่จะไปลงทุนพัฒนากระบวนการโลจิสติกส์เพื่อให้ความช่วยเหลือในระยะยาว
โซ่อุปทานของการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ มักจะมีความไม่แน่นอนสูง โกลาหล และต้องการความยืดหยุ่นอย่างยิ่ง โซ่อุปทานของความช่วยเหลือที่รวดเร็วสามารถแสดงได้ดังแผนภาพที่ 2
จุดที่มีการตัดความสัมพันธ์ (Decoupling point) เป็นจุดที่สินค้าในโซ่อุปทานหยุดที่จะเป็นสินค้าที่มาจากการพยากรณ์ แต่จะกลายเป็นสินค้าที่มาจากความต้องการของลูกค้า ซึ่งหมายความว่า สำหรับกลยุทธ์ด้านสินค้าคงคลังให้เก็บสินค้าในรูปแบบทั่วไปไว้ให้มากที่สุดในปลายน้ำของโซ่อุปทาน (Principle of postponement) และสำหรับข้อมูลทางด้านความต้องการของสินค้าควรจะนำมาไว้ในช่วงต้นน้ำให้มากที่สุด ตำแหน่งที่เหมาะสมของจุดที่มีการตัดสัมพันธ์สำหรับการไหลของสินค้าและข้อมูลสามารถสร้างโซ่อุปทานแบบผสม (Hybrid supply chain) ที่ผสมผสานระหว่างประสิทธิภาพและความคล่องตัวของโซ่อุปทานต้นน้ำและความรวดเร็วของโซ่อุปทานปลายน้ำ
ที่มา: งานวิจัยเรื่อง “Humanitarian aid: an agile supply chain?” โดย Richard Oloruntoba และ Richard Gray ในวารสาร Supply Chain Management: An International Journal ฉบับที่ ฉบับที่ 11 เล่มที่ 2 ปี 2549 หน้า 115-120
แผนภาพที่ 2 โซ่อุปทานของความช่วยเหลือที่รวดเร็ว
ดังนั้นโซ่อุปทานของการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในประเทศที่กำลังพัฒนาต้องมีความคล่องตัวสำหรับกิจกรรมต้นน้ำ เช่น การวิเคราะห์ความต้องการ การสนับสนุนทางการเงินที่เพียงพอ บุคลากร ทักษะ การจัดหา การวางแผนการขนส่ง เป็นต้น อย่างไรก็ตามกิจกรรมด้านต้นน้ำจะถูกวัดที่ความรวดเร็วในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือของประเทศผู้บริจาค และขึ้นกับจำนวนปัจจัยที่มอบให้มากกว่าที่จะไปให้ความช่วยเหลือในการฟื้นฟูพื้นที่ในระยะยาวซึ่งมีผลกระทบด้านสื่อมวลชนน้อยกว่า
ความไร้ประสิทธิภาพขององค์กรให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศในการเตรียมสิ่งของบริจาคเป็นจุดวิกฤติสำหรับผู้ได้รับความเดือดร้อน ดังนั้นการเตรียมสิ่งของบริจาคหรือทรัพยากรที่สามารถจัดเตรียมไว้ล่วงหน้าไว้ใกล้กับสถานที่ที่มีโอกาสเกิดภัยพิบัติได้ ในรูปแบบของการวางแผนล่วงหน้าซึ่งเกิดขึ้นทั้งทางการทหารและด้านโลจิสติกส์
แนวความคิดของ postponement นั้นจะใช้เพื่อที่จะลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นโดยทำการเลื่อนการจัดหาสินค้าจนกว่าจะทราบคำสั่งซื้อที่ชัดเจน สินค้าบริจาคจะถูกเก็บไว้ในรูปแบบทั่วไปก่อนที่จะกระจายไปสู่ผู้ได้รับความเดือดร้อนที่แท้จริง ส่งผลให้เกิดความแม่นยำและความน่าเชื่อถือของความต้องการที่แท้จริงของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน สินค้าคงคลังรูปทั่วไปจะต้องเปลี่ยนเป็นรูปแบบตามความต้องการเฉพาะของผู้ได้รับความเดือดร้อนจริงอย่างรวดเร็ว โดยที่การเลือกสถานที่ตั้งในการให้ความช่วยเหลือจะมาจากข้อมูลโดยบุคลากรในท้องถิ่น ตัวอย่างของข้อมูลนี้ได้แก่ การเข้าถึงพื้นที่ประสบภัย สภาพอากาศ ภูมิประเทศ และเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่มีอยู่
โซ่อุปทานของการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมพร้อมกับโครงสร้างพื้นฐานทางด้านข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและกลไกในการเข้าถึงความจำเป็นของผู้ประสบภัย จะสามารถเพิ่มความรวดเร็วของโซ่อุปทานได้โดยสามารถตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของผู้ได้รับความเดือดร้อนอย่างทันทีทันใด ทำให้โซ่อุปทานมีลักษณะอ้างอิงจากข้อมูลจริงมากกว่าจะให้ประเทศผู้บริจาคเป็นผู้กำหนดเพียงอย่างเดียว
ที่มา:
- งานวิจัยเรื่อง “Humanitarian aid: an agile supply chain?” โดย Richard Oloruntoba และ Richard Gray ในวารสาร Supply Chain Management: An International Journal ฉบับที่ ฉบับที่ 11 เล่มที่ 2 ปี 2549 หน้า 115-120.
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่