CT51 การวางแผนการกระจายสินค้าโดยการพิจารณาจำนวนคลังย่อยที่เหมาะสม
ลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2551 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ผู้เขียน ผศ.ดร.สถาพร อมรสวัสดิ์วัฒนา
ในการบริหารต้นทุนโลจิสติกส์ที่เหมาะสมสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายครอบคลุมลูกค้าปลายทางทั่วประเทศ อาทิ ร้านสะดวกซื้อ น้ำอัดลม การไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง น้ำมัน เป็นต้น การวางแผนการกระจายสินค้าจากต้นทางไปยังปลายทางจะมีผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนด้านโลจิสติกส์โดยตรงทั้งในส่วนของต้นทุนการเก็บสินค้าคงคลังและต้นทุนการกระจายสินค้า กล่าวคือ ถ้าบริษัทมีจำนวนคลังย่อยหรือศูนย์กระจายสินค้า (Depots) อยู่เป็นจำนวนมากครอบคลุมเกือบทุกจังหวัด จะส่งผลให้การเข้าถึงกลุ่มของลูกค้ารายย่อยที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเป็นไปได้ด้วยความสะดวก รวดเร็ว การขนส่งสินค้าไปยังลูกค้ารายย่อยมีระยะทางใกล้ ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าในภาพรวมทั้งระบบของบริษัทต่ำลง ในทางกลับกัน หากจำนวนคลังย่อยหรือศูนย์กระจายสินค้ามีจำนวนไม่กี่แห่ง การกระจายสินค้าจะต้องนำมาจากคลังที่อยู่ไกลออกไป การเข้าถึงลูกค้าช้าลง และต้นทุนการขนส่งสินค้าถึงลูกค้าจะสูงขึ้น ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุนการขนส่งสินค้ากับจำนวนคลังย่อยจะถูกแสดงไว้ในภาพที่ 1
ที่มา: The Handbook of Logistics and Distribution Management โดย Rushton, A., Oxley, J., และ Croucher, P., The Institute of Logistics and Transport. ปี 2543
ภาพที่ 1 ความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุนการขนส่งสินค้ากับจำนวนคลังย่อย
จากภาพที่ 1 ต้นทุนการขนส่งสินค้าในภาพรวมทั้งระบบจะต่ำลงเมื่อจำนวนศูนย์กระจายสินค้าหรือคลังย่อยมีจำนวนมากขึ้น ในขณะที่ต้นทุนจะสูงขึ้นเมื่อมีจำนวนคลังย่อยหรือศูนย์กระจายสินค้าไม่กี่แห่ง
ในกรณีที่บริษัทมีศูนย์กระจายสินค้าหรือคลังย่อยอยู่เป็นจำนวนมาก จะส่งผลให้ทุกคลังย่อยหรือศูนย์กระจายสินค้าทุกแห่งมีการเก็บสินค้าที่ซ้ำกันหลายประเภท (Duplication of Resources) ส่งผลให้ปริมาณการเก็บสินค้าคงคลังทั้งระบบมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากต้องมีจำนวนสินค้าคงคลังของสินค้าแต่ละชนิดในคลัง ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าคงคลังเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนคลังย่อยหรือศูนย์กระจายสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นดังแสดงในภาพที่ 2
ที่มา: The Handbook of Logistics and Distribution Management โดย Rushton, A., Oxley, J., และ Croucher, P., The Institute of Logistics and Transport. ปี 2543
ภาพที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุนการเก็บสินค้าคงคลังกับจำนวนคลังย่อย
จากภาพที่ 2 ต้นทุนการเก็บสินค้าคงคลังในภาพรวมทั้งระบบจะสูงขึ้นเมื่อจำนวนศูนย์กระจายสินค้าหรือคลังย่อยมีจำนวนมากขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการเก็บสินค้าคงคลังจะต่ำลงเมื่อมีจำนวนคลังย่อยหรือศูนย์กระจายสินค้าไม่กี่แห่ง
นอกจากนี้ความต้องการใช้สินค้าแต่ละประเภทไม่เท่ากันในคลังย่อยแต่ละแห่ง บางแห่งอาจจะมีความต้องการสินค้าชนิดหนึ่งสูง และทำให้สินค้านั้นไม่พอจำหน่าย แต่ในคลังย่อยอีกแห่งซึ่งตั้งอยู่อีกบริเวณหนึ่งที่ไกลออกไปไม่มีความต้องการของสินค้าชนิดนี้อยู่เลยส่งผลให้ปริมาณสินค้าคงคลังเหลือเกินความจำเป็นเสมอ
ดังนั้น การพิจารณาหาจำนวนศูนย์กระจายสินค้าที่เหมาะสมต้องคำนึงถึงต้นทุนการกระจายสินค้าในภาพรวม (Total Distribution Costs) ซึ่งจะรวมถึงต้นทุนการเก็บสินค้าคงคลัง ต้นทุนการขนส่ง ต้นทุนการขนถ่ายสินค้า ต้นทุนด้านระบบสารสนเทศที่ใช้ในการบริหารจัดการ ดังแสดงในภาพที่ 3
ที่มา: The Handbook of Logistics and Distribution Management โดย Rushton, A., Oxley, J., และ Croucher, P., The Institute of Logistics and Transport. ปี 2543
ภาพที่ 3 ความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุนการกระจายสินค้ากับจำนวนคลังย่อย
จากภาพที่ 3 จะเห็นได้ว่าจำนวนศูนย์กระจายสินค้าที่เหมาะสมต้องหาจากจำนวนคลังย่อยที่ทำให้ต้นทุนการกระจายสินค้าโดยรวม (Total Distribution Costs) ต่ำที่สุด ดังนั้น จำนวนศูนย์กระจายสินค้าที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ของแต่ละบริษัท ประเภทของสินค้า และนโยบายของผู้บริหาร
ที่มา: หนังสือเรื่อง “The Handbook of Logistics and Distribution Management” โดย Rushton, A., Oxley, J., และ Croucher, P., The Institute of Logistics and Transport. ปี 2543
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่