CT51 การวางแผนความร่วมมือในโซ่อุปทาน
ลิขสิทธิ์ สำนักโลจิสติกส์
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สถาพร อมรสวัสดิ์วัฒนา
บทนำ
องค์กรหลายองค์กรนิยมที่จะใช้การจัดการโซ่อุปทานและเครื่องมือในการประสานงานกันทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งประสิทธิภาพการทำงานนี้จะหมายถึงระดับการร่วมมือในโซ่อุปทาน สภาพแวดล้อมทางธุรกิจขององค์กรต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรงและรวดเร็วทำให้การบริหารโซ่อุปทานมีความจำเป็นมากขึ้น ดังนั้นแนวโน้มของการเอาท์ซอร์สและความร่วมมือระหว่างบริษัทจะมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งความร่วมมือนี้จะส่งผลต่อรูปแบบและปริมาณของข้อมูลที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนกันระหว่างองค์กรและประสิทธิภาพของโซ่อุปทานที่ตามมา
คำสำคัญ การจัดการโซ่อุปทาน, ความร่วมมือกัน, การสื่อสารระหว่างองค์กร, CPFR
ความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ ที่อยู่ในโซ่อุปทานมีความจำเป็นเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจและความต้องการของลูกค้าที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เพื่อให้ความร่วมมือนี้มีประสิทธิภาพ องค์กรได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ เช่น การวางแผนร่วมกัน การพยากรณ์ การสั่งซื้อ และการบริหารสินค้าคงคลัง ซึ่งทำให้กิจกรรมเหล่านี้ได้จัดทำร่วมกันได้สะดวกมากขึ้น อย่างไรก็ตามองค์กรต่างๆ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งซัพพลายเออร์และลูกค้า ส่งผลให้บริษัทต้องทำการปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการทำงาน ผลติภัณฑ์ และความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรเพื่อให้ บริษัทของตนเองยังสามารถแข่งขันได้
ความร่วมมือในการวางแผน การพยากรณ์ และการเติมเต็มสินค้า (Collaborative planning, forecasting and replenishment: CPFR)
ความร่วมมือในการวางแผน การพยากรณ์ และการเติมเต็มสินค้า (CPFR) เป็นกระบวนการที่ค้นหาจุดสำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กร โดยหลักการของ CPFR สามารถแสดงได้ในรูปที่ 1
ในรูปที่ 1 CPFR จะแบ่งเป็นขั้นตอนต่างๆ โดยที่ขั้นตอนที่ 1 คือการวางแผน ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ส่วน คือ ข้อตกลงกันระหว่างพันธมิตร และแผนธุรกิจร่วมกัน ขั้นตอนที่ 2 คือการพยากรณ์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การร่วมมือในการพยากรณ์ยอดขาย และร่วมมือกันพยากรณ์คำสั่งซื้อ สำหรับขั้นสุดท้าย การเติมเต็มสินค้าคือการสร้างคำสั่งซื้อ โดยที่ขั้นตอนของการวางแผนจะมีความสำคัญมากที่สุด
ในการวางแผนโซ่อุปทานความต้องการของผู้ที่มีส่วนร่วมในโซ่อุปทานและวัตถุประสงค์ในความร่วมมือกันจะต้องมีความชัดเจน โดยสร้างตัววัดประสิทธิภาพของโซ่อุปทาน ซึ่งทำให้ทุกองค์กรต้องร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อตอบสนองเป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกัน
ประโยชน์ของ CPFR จะทำให้ยอดขายสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ลดปริมาณของสินค้าคงคลังและเพิ่มระดับความพึงพอใจของลูกค้า นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มระดับความไว้ใจซึ่งกันและกันซึ่งทำให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ที่มา: งานวิจัยเรื่อง “Collaboration planning in a supply chain” โดย Luc Cassivi ในวารสาร Supply Chain Management: An International Journal ฉบับที่ 11 เล่มที่ 3 ปี 2006 หน้า 249-258.
รูปที่ 1 หลักการ CPFR
กรณีศึกษาอุตสาหกรรมอุปกรณ์โทรคมนาคม
อุตสาหกรรมอุปกรณ์โทรคมนาคมประกอบไปด้วยบริษัทที่ทำการผลิตอุปกรณ์และซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการทำงานในการประมวลผลข้อมูลและการสื่อสารรวมทั้งด้านการแสดงผล
รูปที่ 2 แสดงให้เห็นถึงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอุปกรณ์โทรคมนาคม 4 ชั้นเริ่มต้นจากผู้ให้บริการเครือข่าย (Network operators) และเสร็จสิ้นที่ผู้รับจ้างประกอบชิ้นส่วน (Sub-assemblers) ซึ่งผู้ที่อยู่ในโซ่อุปทานนี้จะร่วมมือกันทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อทำการ ผลิต ประกอบ ติดตั้งอุปกรณ์โทรคมนาคม
ข้อมูลเบื้องต้นของกรณีศึกษาโซ่อุปทานของอุปกรณ์โทรคมนาคมสามารถแสดงได้ดังตารางที่ 1 ส่วนเครื่องมือที่ใช้ในการร่วมมือทางอิเล็กทรอนิกส์ในโซ่อุปทานนั้นสามารถแสดงได้ในตารางที่ 2 และ อุปสรรค ข้อได้เปรียบ และประโยชน์ที่ได้จากการใช้เครื่องมือในการร่วมมือทางอิเล็กทรอนิกส์ในโซ่อุปทานสามารถแสดงได้ในตารางที่ 3
จากกรณีศึกษาพบว่าข้อได้เปรียบและประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะสามารถช่วยให้ระยะเวลาในการส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าในลำดับสุดท้ายเป็นไปได้ด้วยความรวดเร็วมากขึ้น และทำให้องค์กรต่างๆ เข้าถึงข้อมูลของฝ่ายต่างๆ ได้ง่ายขึ้น การตัดสินใจจะสะท้อนต่อความต้องการที่แท้จริงมากขึ้น อย่างไรก็ตามอุปสรรคจะเป็นประเด็นของทักษะของพนักงานขององค์กรที่เกิดขึ้นในโซ่อุปทานที่ต้องมีการพัฒนาเพื่อใช้เทคโนโลยีในการร่วมมือทางอิเล็กทรอนิกส์และประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่อาจจะถูกละเมิดได้ง่ายขึ้น
ที่มา: งานวิจัยเรื่อง “Collaboration planning in a supply chain” โดย Luc Cassivi ในวารสาร Supply Chain Management: An International Journal ฉบับที่ 11 เล่มที่ 3 ปี 2006 หน้า 249-258.
รูปที่ 2 โซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอุปกรณ์โทรคมนาคม
ที่มา: งานวิจัยเรื่อง “Collaboration planning in a supply chain” โดย Luc Cassivi ในวารสาร Supply Chain Management: An International Journal ฉบับที่ 11 เล่มที่ 3 ปี 2006 หน้า 249-258.
ตารางที่ 1 ข้อมูลเบื้องต้นของโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอุปกรณ์โทรคมนาคม
ที่มา: งานวิจัยเรื่อง “Collaboration planning in a supply chain” โดย Luc Cassivi ในวารสาร Supply Chain Management: An International Journal ฉบับที่ 11 เล่มที่ 3 ปี 2006 หน้า 249-258.
ตารางที่ 2 เครื่องมือที่ใช้ในการร่วมมือทางอิเล็กทรอนิกส์ในโซ่อุปทาน
ที่มา: งานวิจัยเรื่อง “Collaboration planning in a supply chain” โดย Luc Cassivi ในวารสาร Supply Chain Management: An International Journal ฉบับที่ 11 เล่มที่ 3 ปี 2006 หน้า 249-258.
ตารางที่ 3 อุปสรรค ข้อได้เปรียบ และประโยชน์ที่ได้จากการใช้เครื่องมือในการร่วมมือทางอิเล็กทรอนิกส์ในโซ่อุปทาน
จากกรณีศึกษาดังกล่าวพบว่าความร่วมมือในโซ่อุปทานจะเน้นไปที่กิจกรรมในการวางแผนร่วมกันซึ่งผลกระทบของการร่วมมือกันทางอิเล็กทรอนิกส์จะพบในขั้นตอนการเตรียมการและการสนับสนุนการสร้างความสัมพันธ์ ซึ่งประสิทธิภาพขององค์กรในโซ่อุปทานจะขึ้นอยู่กับการวางแผนของการร่วมมือกันมากกว่าจะขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิตของตนเอง
อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์ผลกระทบของการใช้เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ในการสร้างความร่วมมือในโซ่อุปทาน ไม่ได้มีการนำความร่วมมือนี้มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น หรือไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ของผลิตภัณฑ์เลย มีแต่การพัฒนาระบบการผลิตให้มีประสิทธิภาพเท่านั้น
ในขณะเดียวกันแนวโน้มของพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ได้นำอุปกรณ์โทรคมนาคมมาใช้ในชีวิตประจำวันมีสูงขึ้นทำให้การแข่งขันสูงมาก การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรต่างๆ จึงมีความจำเป็น โดยทำการลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น ต้นทุนโลจิสติกส์ในโซ่อุปทานของอุปกรณ์โทรคมนาคมสามารถลดได้โดยทำการวางแผนร่วมกันในการพยากรณ์ความต้องการที่แท้จริงและจัดซื้อชิ้นส่วนให้มีปริมาณพอเหมาะกับความต้องจริง เนื่องจากอุปกรณ์โทรคมนาคมเป็นสินค้าที่มีวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์เร็ว (Short product life cycle) ซึ่งส่งผลให้เกิดต้นทุนของความล้าสมัยที่สูง หากเก็บชิ้นส่วนไว้ในสต็อกโดยไม่จำเป็นทำให้ราคาของชิ้นส่วนจะลดลงอย่างรวดเร็ว
การเข้าถึงข้อมูลขององค์กรต่างๆ ในโซ่อุปทานเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาประสิทธิภาพของโซ่อุปทาน ซึ่งการเข้าถึงข้อมูลขององค์กรในโซ่อุปทานจะเกิดขึ้นได้จากการวางแผนและการร่วมมือกันขององค์กรต้นน้ำและปลายน้ำ
ที่มา:
- งานวิจัยเรื่อง “Collaboration planning in a supply chain” โดย Luc Cassivi ในวารสาร Supply Chain Management: An International Journal ฉบับที่ 11 เล่มที่ 3 ปี 2006 หน้า 249-258.
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่