CT51 การออกแบบเครือข่ายของระบบโลจิสติกส์ สำหรับการบริหารการปฏิบัติงานระดับโลก (ตอนที่ 1)
ลิขสิทธิ์ สำนักโลจิสติกส์
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ดร.นันทิ สุทธิการนฤนัย
บทคัดย่อ : บทความนี้จะอธิบายถึงคุณลักษณะของระบบเครือข่ายโลจิสติกส์แบบต่าง ๆ ที่เป็นส่วนสำคัญในการพิจารณาออกแบบเครือข่ายของระบบโลจิสติกส์ สำหรับการบริหารการปฏิบัติงานระดับโลก ส่วนเนื้อหาอีกสองส่วนที่สำคัญคือ กลยุทธ์และข้อดี/ข้อเสียของการย้ายสถานที่อำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น โรงงาน คลังสินค้า ฯลฯ ไปยังต่างประเทศ และการรับมือกับความไม่แน่นอนในสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ หากจำเป็นต้องมีการย้ายการปฏิบัติการต่างๆ ไปยังประเทศอื่นนั้น จะได้กล่าวถึงต่อไปในตอนที่ 2
ประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์เป็นส่วนสำคัญของการวางแผนกลยุทธ์ในการเพิ่มขีดความสามารถในกระบวนการผลิตและการตลาด สำหรับองค์กรต่าง ๆ ที่ขยายการดำเนินงานขึ้นเป็นองค์กรระดับโลก จะพบว่าการวางแผนการระบบโลจิสติกส์และปัจจัยต่าง ๆ ที่ช่วยในการตัดสินใจจะซับซ้อนมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม มีคำถาม 3 คำถาม ที่ทุกหน่วยงานที่ต้องการขยายการปฏิบัติการขึ้นสู่ระดับโลกต้องสามารถตอบคำถามให้ได้ คือ
- ควรจะออกแบบหรือสร้างลักษณะเครือข่ายระบบโลจิสติกส์อย่างไรสำหรับการปฏิบัติงานหรือดำเนินงานในระบบโลก
- ควรจะเลือกและจัดวางสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานระดับโลกอย่างไร ตามกลไกตลาด ตามประเภทของสินค้า หรือตามประเภทของกระบวนการ
- ควรจะใช้สิ่งอำนวยความสะดวกอะไรบ้างสำหรับการขยายขีดความสามารถในการดำเนินงานที่ขยายขึ้นสู่ระดับโลก และสำหรับรับมือการเกิดขึ้นของผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ
บทความนี้จะนำเสนอแนวคิดที่จะสามารถช่วยตอบคำถามข้อแรกข้างต้นได้ นั้นคือ คุณลักษณะของระบบเครือข่ายโลจิสติกส์แบบต่าง ๆ ทั้งแบบ Modularization และแบบ Postponement และศึกษาลึกลงไปถึงการจัดแบ่งกลุ่มโครงสร้างของเครือข่ายโลจิสติกส์ที่แตกต่างกันออกไป 4 รูปแบบ ได้แก่ rigid, postponed, modularized, และ flexible
ส่วนในตอนที่ 2 ที่จะได้นำเสนอต่อไปในอนาคตนั้น จะนำเสนอแนวคิดที่จะช่วยในการตอบคำถามข้อ 2 นั่นคือ แนวคิดเรื่องกลยุทธ์ การวางแผน และข้อดี/ข้อเสียของการย้ายสถานที่อำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น โรงงาน คลังสินค้า ฯลฯ ไปยังต่างประเทศ และส่วนสุดท้ายที่จะช่วยตอบคำถามข้อที่ 3 นั้น จะเกี่ยวข้องกับแนวคิดในการรับมือกับความไม่แน่นอนในสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ หากจำเป็นต้องมีการย้ายการปฏิบัติการต่างๆ ไปยังประเทศอื่น
โครงสร้างและคุณลักษณะของระบบเครือข่ายโลจิสติกส์ระดับโลก
สืบเนื่องจากการขยายตัวของธุรกิจในปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นความสามารถในการแข่งขันได้ในระดับสากลหรือระดับโลก ซึ่งการขยายกระบวนการดำเนินธุรกิจไปสู่ระดับโลกนั้น บริษัทต่างต้องเผชิญกับสิ่งท้าทายต่าง ๆ มากมาย จึงจำเป็นต้องปรับตัวและพยายามเสาะหาเทคนิคต่าง ๆ ที่สามารถจัดการกับโซ่อุปทานและเครือข่ายโลจิสติกส์ของตนเองให้ดีที่สุด ซึ่งในเบื้องต้นบริษัทหรือองค์กรเหล่านั้นจำเป็นต้องเริ่มจากการปรับปรุงหรือพัฒนาเครือข่ายโลจิสติกส์ของตนให้เสียก่อน
แนวคิดเรื่อง Modularization และ Postponement เป็นแนวคิดที่เป็นตัวกำหนดโครงสร้างของโซ่อุปทานและเครือข่ายของโลจิสติกส์ ซึ่งทั้งสองแนวคิดนั้นมุ่งเน้นหลักการด้านการกำหนดขอบเขตและขนาดที่ประหยัด โดย Modularization เป็นแนวคิดของการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ขึ้นมาจากการส่วนประกอบมาตรฐานด้วยวิธีการประกอบที่แตกต่างไปจากเดิม แต่ Postponement เป็นแนวคิดในการออกแบบกระบวนการโดยการเพิ่มกระบวนการที่จะสามารถเพิ่มคุณค่าให้แก่สินค้า ณ ปลายสุดของกระบวนการผลิต เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด ดังนั้น หลักการของ Postponement จะตรงกับแนวคิดของ customization มากที่สุด
จากกรอบแนวคิดที่ได้กล่าวมาข้างต้น พบว่าระดับของการปฏิบัติตามแนวคิดของ Modularization จะเชื่อมโยงกับปฏิบัติการโลจิสติกส์ขาเข้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุ่งเน้นในเรื่องของการจัดจ้างผลิตวัตถุดิบหรือส่วนประกอบของการผลิต ถ้าในระบบเครือข่ายใด ๆ มีการจัดจ้างผลิตวัตถุดิบหรือส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์น้อย จะถือว่ามีการจัดการแบบแนวดิ่งที่มีข้อจำกัดด้านคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์หรือข้อจำกัดของอุตสาหกรรม แต่หากมีการจัดจ้างผลิตวัตถุดิบหรือส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์มากจะถือว่ามีการจัดการโซ่อุปทานแบบกระจาย (decentralized supply chain)
ในขณะที่แนวคิดของ Postponement นั้นจะเชื่อมโยงกับปฏิบัติการโลจิสติกส์ขาออก ที่คำนึงถึงการเคลื่อนย้ายสินค้าจากแหล่งผลิตไปยังลูกค้า หากโซ่อุปทานใดหรือแหล่งผลิตใดที่สามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงความต้องการของลูกค้าได้มากที่สุด หรือมีลักษณะการผลิตแบบผลิตตามคำสั่งผลิต (make to order) จะถือว่ามีระดับของการปฏิบัติการแบบ postponement สูง แต่หากแหล่งผลิตใดมีลักษณะการผลิตเป็นแบบผลิตเพื่อการจัดเก็บ (make to stock) จะถือว่ามีระดับของการปฏิบัติการแบบ postponement ต่ำ
เมื่อศึกษาลึกลงไปถึงรายละเอียดของการจัดโครงสร้างของเครือข่ายโลจิสติกส์จะพบว่ากรอบแนวคิดเรื่องโครงสร้างของโซ่อุปทานและเครือข่ายของโลจิสติกส์ จะสามารถแบ่งได้อย่างละเอียดเป็น 4 แบบ คือ แบบ rigid แบบ modularized แบบ postponed และแบบ flexible ซึ่งลักษณะของโครงสร้างแต่ละแบบนั้น แสดงรายละเอียดไว้ในตารางที่ 1
ตารางที่ 1 ลักษณะเฉพาะของโครงสร้างของโซ่อุปทานหรือเครือข่ายโลจิสติกส์ประเภทต่าง ๆ
ประเภทของโครงข่าย |
คุณสมบัติ |
Rigid |
· เป็นโครงสร้างแบบแนวดิ่งโดยสมบูรณ์ · ไม่ทราบปริมาณและความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า · เน้นการผลิตในปริมาณการผลิตที่ประหยัด (Economies of Scale) · มีปริมาณสินค้าคงคลังสูง |
Flexible |
· มีการ outsource subcontractor เพื่อผลิตวัตถุดิบหรือส่วนประกอบป้อนสู่กระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก · คำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า · จะทำการผลิตเมื่อได้รับคำสั่งผลิตเท่านั้น · ไม่มีการเก็บสินค้าคงคลังโดยเฉพาะสินค้าสำเร็จรูป จะเน้นการเก็บวัตถุดิบคงคลังในขนาดการเก็บที่ประหยัดที่สุด |
Modularized |
· มีการ outsource subcontractor เพื่อผลิตวัตถุดิบหรือส่วนประกอบป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก · ทำการผลิตสินค้า โดยไม่ทราบปริมาณและความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า · มีการเก็บสินค้าสำเร็จรูปไว้ในคลังสินค้า เพื่อรอการขายให้แก่ลูกค้า |
Postponed |
· มีชิ้นส่วนเพื่อการผลิตเป็นจำนวนมาก แต่ไม่เน้นการ outsource subcontractor เพื่อช่วยผลิตชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ · เน้นการผลิตตามคำสั่งผลิตของลูกค้าเท่านั้น |
หากจะอธิบายโครงสร้างของเครือข่ายโลจิสติกส์ทั้ง 4 แบบข้างต้นให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น ให้พิจารณารูปที่ 1 ซึ่งแสดงถึงรูปแบบของโซ่อุปทานที่ประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน คือ ฝ่ายผลิต (Making: M) ฝ่ายประกอบ (Assembly: A) และฝ่ายบรรจุ (Packing: P) ในขณะที่ตารางที่ 2 แสดงถึงตัวอย่างของบริษัทต่าง ๆ ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันแต่มีโครงสร้างของเครือข่ายโลจิสติกส์ที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ (Chrysler, Rolls Royce, General Motors) กลุ่มของผู้ผลิตอาหารฟาสต์ฟูด (Burger King, McDonalds) และกลุ่มของผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ (Dell Computers, IBM, Compaq) เป็นต้น
รูปที่ 1 โครงสร้างของเครือข่ายโลจิสติกส์
ตารางที่ 2 ตัวอย่างของบริษัทต่าง ๆ ที่มีโครงสร้างของเครือข่ายโลจิสติกส์ที่แตกต่างกัน
|
Inbound Outsourcing |
||
Low |
High |
||
Outbound Postponement |
High |
Postponed Texas Instrument Retail Painted Stores Gas Stations Rolls Royce |
Flexible Dell Computers Beneton Mail Order Firms Burger King |
Low |
Rigid Compaq Apparel Industry Adidas General Motors |
Modularized IBM NIKE McDonald’s Chrysler |
เมื่อได้รับคำถามว่าแล้วโครงสร้างของเครือข่ายระบบโลจิสติกส์แบบใดดีที่สุดนั้น คำตอบคือ ไม่มีโครงสร้างใดที่ดีที่สุดและเหมาะสมกับทุกองค์กร แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารงานและ trade off ระหว่างบริการกับต้นทุน (service vs. cost) ตัวอย่างเช่น บริษัท Kamaz ผู้ผลิตรถบรรทุกรายใหญ่ ผลิตส่วนประกอบหรือชิ้นส่วนสำหรับประกอบเป็นตัวรถบรรทุกเองเกือบทั้งหมด เช่นเดียวกับบริษัท GM ที่ 70% ของส่วนประกอบทั้งหมดถูกผลิตขึ้นเองภายในองค์กรในขณะที่บริษัท BMW นั้น 80% ของวัตถุดิบหรือส่วนประกอบต่าง ๆ สำหรับประกอบนั้นสั่งซื้อมาจากผู้ผลิตส่วนประกอบรายอื่น เหมือนกับบริษัท Chrysler ก็นำเข้าส่วนประกอบมากถึง 70% จาก subcontractor หรือ suppliers
สำหรับกลุ่มของผู้ผลิตคอมพิวเตอร์นั้น พบว่า บริษัท Dell Computer และ IBM ต่างเป็นบริษัทที่ให้บริษัทอื่น ๆ เช่น SCI Systems, Solectron และ Jabil Circuit ผลิตส่วนประกอบให้ แต่ Dell จะทำการผลิตให้แก่ลูกค้าก็ต่อเมื่อได้รับคำสั่งผลิตของลูกค้าเท่านั้น ในขณะที่ IBM จะทำการผลิตคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปตามลักษณะที่ IBM คาดว่าลูกค้าจะต้องการและรอให้ลูกค้ามาทำการซื้อ ดังนั้น Dell Computer มีโครงสร้างของเครือข่ายโลจิสติกส์แบบ Flexible แต่ IBM มีโครงสร้างของเครือข่ายโลจิสติกส์แบบ Modularized ในขณะที่บริษัท Compaq จะเน้นการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ด้วยตนเอง และจะทำการประกอบหรือผลิตคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปตามลักษณะที่ IBM คาดว่าลูกค้าจะต้องการและรอให้ลูกค้ามาทำการซื้อ ดังนั้น Compaq มีโครงสร้างของเครือข่ายโลจิสติกส์แบบ rigid อย่างชัดเจน
McDonald’s และ Burger King นั้น เป็นอีกตัวอย่างที่ชัดเจนของการวางเครือข่ายของระบบโลจิสติกส์ที่แตกต่างกัน ทั้งคู่นั้นนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตอาหารในลักษณะเดียวกัน คือสั่งจาก supplier หลายราย แต่ McDonald’s นั้นผลิตผลิตภัณฑ์ตามนโยบาย Make to Stock และรอให้ลูกค้ามาซื้อไปบริโภค แต่ในขณะที่ Burger King นั้น มีสโลแกนว่า Make It Your Way คือรอให้ลูกค้าทำการสั่งซื้อก่อนจึงจะทำการปรุงอาหารให้ได้คุณลักษณะตามที่ลูกค้าต้องการมากที่สุด ดังนั้น McDonald’s จึงมีโครงสร้างของระบบเครือข่ายโลจิสติกส์แบบ Modularized และ Burger King มีโครงสร้างแบบ Flexible
ถึงแม้ในเบื้องต้นจะได้กล่าวไว้ว่า ไม่มีโครงสร้างแบบใดที่ดีที่สุด แต่อย่างไรก็ตามตัวอย่างหรือกรณีศึกษาของบริษัท Compaq และ General Motors ที่มีโครงสร้างเครือข่ายระบบโลจิสติกส์แบบ rigid และประสบความล้มเหลวในการดำเนินธุรกิจทั้งสองบริษัทนั้น ทำให้สามารถสรุปได้ว่าโครงสร้างของเครือข่ายระบบโลจิสติกส์แบบ rigid นั้นไม่เหมาะสมสำหรับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ในปัจจุบันแนวคิดหรือกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจแบบ vertical integration (rigid) ได้พยายามปรับเปลี่ยนไปเป็น Vertical Corporation แล้ว
Reference:
Dornier, P., Ernst, R., Fender, M., and Kouvelis, P. (1998). Global Operations and Logistics: Text and Cases, John Wiley & Sons, Inc., USA.
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่