iok2u.com แหล่งรวมข้อมูลข่าวสารเรื่องราวน่าสนใจเพื่อการศึกษาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้

มิสเตอร์เรน (Mr. Rain) และมิสเตอร์เชน (Mr. Chain)
Mr. Rain และ Mr. Chain สองพี่น้องในโลกออฟไลน์และออนไลน์ที่จะมาร่วมมือกันสร้างสื่อสารสนเทศ เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้ในเรื่องราวต่างๆ มากมายสร้างสังคมในการเรียนรู้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องตอบแทนกลับมา
ยืนหยัด เข้มแข็ง และกล้าหาญ (Stay Strong & Be Brave)
ขอเป็นกำลังใจให้คนดีทุกคนในการต่อสู้ความอยุติธรรม ในยุคสังคมที่คดโกงยึดถึงประโยชน์ส่วนตนและพวกฟ้องมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม จนหลายคนคิดว่าพวกด้านได้อายอดมักได้ดี แต่หากยึดคำในหลวงสอนไว้ในเรื่องการทำความดีเราจะมีความสุขครับ
Pay It Forward เป้าหมายเล็ก ๆ ในการส่งมอบความดีต่อ ๆ ไป
เว็ปไซต์นี้เกิดจากแรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward ที่เล่าถึงการมีเป้าหมายเล็ก ๆ กำหนดไว้ให้ส่งมอบความดีต่อไปอีก 3 คน หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องตอบแทนกลับมา อยากให้ส่งต่อเพื่อถ่ายทอดต่อไป

CT51 นวัตกรรมของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อการเปลี่ยนแปลงของโซ่อุปทาน

ลิขสิทธิ์ สำนักโลจิสติกส์

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

ดร.นันทิ สุทธิการนฤนัย

บทคัดย่อ : บทความนี้ได้แปลมาจากส่วนหนึ่งของเนื้อหาในบทความเรื่อง Who Supplied My Cheese? Supply Chain Management in the Global Economy. ที่เขียนโดย Professor Thomas Siems อาจารย์ประจำภาควิชา Engineering Management and Information Systems และเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายเศรษฐกิจของ Federal Reserve Bank of Dallas ซึ่งบทความนี้ได้ถูกนำเสนอใน NABE Annual Meeting, September 26, 2005 และได้รับรางวัลบทความดีเด่น Edmund A. Mennis Contributed Paper Award. เนื้อหาโดยรวมของบทความนี้กล่าวถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสารที่ทำให้การเชื่อมโยงของหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลกเป็นไปได้อย่างทั่วถึง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้เองทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องมีการปรับตัวโดยการลดข้อจำกัดด้านกฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ รวมถึงการปรับปรุงข้อกำหนดทางการเงิน การค้า ต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งผลจากการปรับตัวของประเทศต่าง ๆ นี้เอง จะทำให้เงินเฟ้อลดลง เศรษฐกิจมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ประสิทธิภาพในการผลิตดีขึ้น มาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ดียิ่งขึ้น

ในปัจจุบันการติดต่อสื่อสารกันของผู้คนในทุกมุมโลกเป็นไปได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากระบบเทคโนโลยีการแลกเปลี่ยนสารสนเทศที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี GPS เทคโนโลยี RFID หรือ เทคโนโลยี internet เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถเชื่อมต่อผู้คนจากทุกมุมทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว ทำให้บริษัทใด ๆ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่หนึ่งแต่มีโรงงานผลิตอยู่อีกฟากหนึ่งของโลกก็สามารถประสานงานกันได้อย่างดี นอกจากนั้น เทคโนโลยีอันทันสมัยต่าง ๆ นี้ ล้วนส่งผลให้โซ่อุปทานของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ขยายวงกว้างขึ้นจากระดับประเทศเป็นโซ่อุปทานระดับโลก ซึ่งผลจากการขยายตัวของโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมขึ้นเป็นระดับโลกนั้น ส่งผลดีต่อประเทศต่าง ๆ โดยจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ เหล่านั้นมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น และสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชากรของประเทศนั้น ๆ ให้ดียิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการจะทำให้ระบบการจัดการโซ่อุปทานในระดับโลกนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประเทศต่าง ๆ จะต้องมีนโยบายในการลดหรือกำจัดการกีดกันทางการค้า ลดความยุ่งยากของขั้นตอนทางกฏหมายลง และที่สำคัญคือเปิดกว้างต่อการรับความร่วมมือทางการค้าในระดับโลก รูปที่ 1 แสดงถึงปริมาณการค้า และปริมาณความร่วมมือหรือข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศใด ๆ หรือระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการสื่อสารที่กำจัดกำแพงที่กั้นขวางด้านภูมิศาสตร์ ภาษา ระยะทางและเวลา           

รูปที่ 1 ปริมาณการค้าและข้อตกลงทางการค้า

บทความนี้จะเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อการเปลี่ยนแปลงของโซ่อุปทาน ซึ่งในมุมมองของผู้เขียนนั้น กล่าวไว้ว่า ในโซ่อุปทานใด ๆ จะประกอบด้วยส่วนสำคัญหลัก ๆ ดังนี้คือ

  • ซัพพลายเออร์ (Supplier)
  • ผู้ผลิต (Manufacturers)
  • คลังสินค้า (Warehouse)
  • ผู้จำหน่ายรายใหญ่ (Wholesales)
  • ผู้จำหน่ายรายย่อยหรือผู้ค้าปลีก (Retail)
  • ผู้บริโภค (Customer)

ซึ่งการที่จะทำให้ระบบการจัดการโซ่อุปทานใด ๆ เป็นไปอย่างสมบูรณ์และปราศจากอุปสรรคนั้น จะต้องทำให้การไหลของข้อมูลข่าวสารใด ๆ เป็นไปได้อย่างทั่วถึงทั้งโซ่อุปทาน โดยให้เกิดต้นทุนต่ำที่สุด

ผู้เขียนได้สรุปไว้ในบทความว่าการเปลี่ยนแปลงหรือวิวัฒนาการของการจัดการโซ่อุปทานสามารถได้แบ่งออกเป็น 4 ช่วง คือ

  1. ยุคการปฏิวัติเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม (Economical and Industrial Revolution Era)

ยุคนี้อยู่ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1776 - 1912 ที่กลุ่มธุรกิจต่างๆจะแบ่งแยกจากกันและมีแรงงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านและมีการแผ่ขยายของตลาดอย่างมาก มีการพัฒนาของการไฟฟ้า ทางรถไฟ การขนส่ง และระบบการติดต่อสื่อสาร ซึ่งจะมีอิทธิพลทำให้ประชาชนได้ออกจากฟาร์มไปสู่อุตสาหกรรม

  1. ยุคผลผลิตเชิงปริมาณ (Mass Production Era)

ยุคนี้อยู่ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1913 – 1973 ในระหว่างยุคนี้กลุ่มธุรกิจได้พัฒนาและนำเครื่องมือเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพมาใช้เพื่อพัฒนาระบบการผลิต โดยมุ่งความสนใจไปในขั้นตอนการจัดการที่เป็นระบบ ใช้เทคนิคการวิจัยและการปฏิบัติการ และระบบการผลิตสินค้าในปริมาณมาก

  1. ยุคการผลิตแบบลีน/การควบคุมคุณภาพ (Lean Manufacturing and Quality Control)

ยุคนี้อยู่ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1974 – 1995 โดยผู้ผลิตส่วนใหญ่มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงแต่ต้นทุนต่ำ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั่วโลกโดยเฉพาะในอเมริกาที่ต้องการพัฒนาคุณภาพของสินค้าให้ดีขึ้นและขจัดข้อบกพร่องในห่วงโซ่อุปทานของตนเอง หลายๆ ธุรกิจมุ่งที่จะพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการภายในต่างๆโดยมีการนำเอาระบบต่างๆ เช่น JIT, TQM และ ERP มาใช้

  1. ยุคการจัดการข่าวสารข้อมูลด้วยการวางแผน (Information Engineering Era)

1996-ปัจจุบัน)

ยุคนี้อยู่ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1996 – ปัจจุบัน ที่กลุ่มธุรกิจต่างๆเริ่มมีความสนใจและเรียนรู้วิธีเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดโดยการนำเอา Internet, e-commerce และการเชื่อมโยงข้อมูลใหม่ รวมทั้งเทคนิคในการการติดต่อสื่อสารมาใช้ในห่วงโซ่อุทาน

การเปลี่ยนแปลงของวิวัฒนาการในยุคต่าง ๆ นั้น ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์ประกอบที่สำคัญในโซ่อุปทาน ในส่วนต่าง ๆ คือ กระบวนการผลิต การควบคุมสินค้าคงคลัง การขนถ่ายและการขนส่ง การจัดหาสินค้า และการชำระเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่จัดเป็นยุคของการสื่อสารที่ไร้พรมแดน ทำให้การติดต่อสื่อสารกันระหว่างห่วงแต่ละห่วงในโซ่อุปทานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ สามารถส่งผ่านภายในโซ่อุปทานนั้นอย่างรวดเร็วและสมบูรณ์มากกว่าสมัยก่อน ดังนั้นการตัดสินใจที่เกิดขึ้นภายในโซ่อุปทานจะถูกต้องแม่นยำ และเกิดต้นทุนการดำเนินการต่ำกว่าสมัยอดีต ซึ่งเท่ากับว่าวิวัฒนาการของเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารในยุคปัจจุบันนั้น จะช่วยลดปรากฏการณ์แซ่ม้า (Bullwhip Effect) ที่เกิดการผิดพลาดของการส่งต่อและการรับข้อมูลข่าวสารภายในโซ่อุปทานได้ ดังแสดงในรูปที่ 2

รูปที่ 2 การลดลงของปรากฎการณ์ Bullwhip Effect

ข้อบ่งชี้หลายประการที่แสดงให้เห็นว่าวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารช่วยให้การจัดการโซ่อุปทานมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีหลายประการดังต่อไปนี้

  • มีกระบวนการจัดการอุปสงค์ได้ดีกว่าสมัยก่อน เทคโนโลยีการสื่อสารทำให้ผู้ผลิตสามารถคาดการณ์ความต้องการของผู้ซื้อและนำไปวางแผนการผลิตได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
  • ปริมาณสินค้าคงคลังอยู่ในระดับต่ำกว่าในอดีต เนื่องมาจากประสิทธิภาพในการสื่อสารทำให้สามารถเคลื่อนย้ายสิ่งที่ลูกค้าต้องการไปยังสถานที่ที่ถูกต้องในเวลาที่ถูกต้องมากกว่าเดิม รูปที่ 3 แสดงถึงการพัฒนาด้านการจัดการสินค้าคงคลังที่พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ. 1960 – 2005

รูปที่ 3 ผลของการจัดการสินค้าคงคลังที่มีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ ค.ศ. 1960 – 2005

  • ต้นทุนโลจิสติกส์ เช่น ต้นทุนการขนส่ง/ขนถ่าย และต้นทุนการถือครองสินค้าคงคลังต่อต้นทุนรวม และต่อยอดขายสินค้าทั้งหมด ต่ำกว่าในอดีต เนื่องจากสินค้าทั้งหลายสามารถเคลื่อนไหวภายในโซ่อุปทานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รูปที่ 4 แสดงถึง ต้นทุนโลจิสติกส์ประเภทต่าง ๆ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981 – 2004

รูปที่ 4 ต้นทุนโลจิสติกส์ ที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981 – 2004

  • ต้นทุนในการจัดหาต่ำกว่าในอดีต เนื่องจากระบบการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัยในปัจจุบันสามารถทดแทนระบบเอกสารได้ รูปที่ 5 แสดงถึงต้นทุนด้านการติดต่อสื่อสารที่ลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับต้นทุนการขนส่งทางอากาศและทางทะเล

รูปที่ 5 ค่าระวางในการขนส่งทางการอากาศ ทางทะเล

และค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารที่ลดลง ตั้งแต่ปี 1930 – 2000

จากข้อบ่งชี้ดังกล่าวข้างต้น สามารถสรุปได้ว่า การปรับปรุงการดำเนินงานต่าง ๆ ภายในโซ่อุปทาน ร่วมกับการนำเทคโนโลยีการสื่อสารมาใช้ จะช่วยให้บริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ สามารถ ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างโอกาสในการขยายตลาดได้ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพใหญ่คือ จะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง เศรษฐกิจมั่นคงขึ้น และมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชนดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนกล่าวว่า เทคโนโลยีไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้ายหรือยาวิเศษที่จะสร้างความเจริญเติบโตให้กับเศรษฐกิจเสมอไป ในทางกลับกัน เทคโนโลยีกลับทำลายอาชีพบางอย่างที่จะถูกแทนที่ได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่า ประเทศต่าง ๆ ต่างมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคการเฟื่องฟูของเทคโนโลยี ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในปัจจุบัน คือประเทศจีนและอินเดีย ที่สามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์ของความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น อินเตอร์เน็ท เป็นต้น สร้างโอกาสและความได้เปรียบให้แก่ประเทศของตนเองเหนือประเทศอื่น ๆ ในขณะที่ประชากรหรือแรงงานในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการปรับตัวโดยการพัฒนาความรู้ความสามารถเฉพาะบุคคล เพื่อให้ได้เปรียบทางด้านแนวคิดและเป็นการเพิ่มโอกาสใหม่ให้แก่ตนเอง

Reference:

Thomas Siems (2005). Who Supplied My Cheese? Supply Chain Management in the Global Economy. Presented paper in NABE Annual Meeting, September 26, 2005.

 --------------------------------

สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง

สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง

CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551

เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล

 --------------------------------

ที่มา

เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551

โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ 

ขอต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์
www.iok2u.com
แหล่งข้อมูลสารสนเทศเพื่อคุณ

เว็บไซต์ www.iok2u.com นี้เกิดมาจาก แรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward โดยมีเป้าหมายเล็ก ๆ ที่กำหนดไว้ว่า ทุกครั้งที่เข้าเรียนสัมมนาหรืออบรมในแต่ละครั้ง จะนำความรู้มาจัดทำเป็นบทความอย่างน้อย 3 เรื่อง เพื่อมาลงในเว็บนี้
ความตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับมาทำการถ่ายทอดต่อไป และหวังว่าจะมีคนมาอ่านแล้วเห็นว่ามีประโยชน์นำเอาไปใช้ได้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลย โดยอาจไม่ต้องอ้างอิงที่มาหรือมาตอบแทนผู้จัด แต่ขอให้ส่งต่อหากคิดว่ามันดีหรือมีประโยชน์ เพื่อถ่ายทอดความรู้และสิ่งดี ๆ ต่อไปข้างหน้าต่อไป Pay It Forward