iok2u.com แหล่งรวมข้อมูลข่าวสารเรื่องราวน่าสนใจเพื่อการศึกษาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้

มิสเตอร์เรน (Mr. Rain) และมิสเตอร์เชน (Mr. Chain)
Mr. Rain และ Mr. Chain สองพี่น้องในโลกออฟไลน์และออนไลน์ที่จะมาร่วมมือกันสร้างสื่อสารสนเทศ เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้ในเรื่องราวต่างๆ มากมายสร้างสังคมในการเรียนรู้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องตอบแทนกลับมา
ยืนหยัด เข้มแข็ง และกล้าหาญ (Stay Strong & Be Brave)
ขอเป็นกำลังใจให้คนดีทุกคนในการต่อสู้ความอยุติธรรม ในยุคสังคมที่คดโกงยึดถึงประโยชน์ส่วนตนและพวกฟ้องมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม จนหลายคนคิดว่าพวกด้านได้อายอดมักได้ดี แต่หากยึดคำในหลวงสอนไว้ในเรื่องการทำความดีเราจะมีความสุขครับ
Pay It Forward เป้าหมายเล็ก ๆ ในการส่งมอบความดีต่อ ๆ ไป
เว็ปไซต์นี้เกิดจากแรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward ที่เล่าถึงการมีเป้าหมายเล็ก ๆ กำหนดไว้ให้ส่งมอบความดีต่อไปอีก 3 คน หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องตอบแทนกลับมา อยากให้ส่งต่อเพื่อถ่ายทอดต่อไป

CT51 การประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์  (GIS) ในการขับเคลื่อนระบบขนส่งไทย

ลิขสิทธิ์ สำนักโลจิสติกส์

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

ผู้เขียน...ผศ.ดร.สุวรรณี อัศวกุลชัย

ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) สามารถแสดงเส้นทางการขนส่งแต่ละประเภทจากข้อมูลที่เก็บไว้ในฐานข้อมูลสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบขนส่งไทย ให้ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว สถานการณ์จำลอง (Simulation) เพื่อจัดทำแผนที่เฉพาะกิจในการกำหนดเส้นทางถนน ทางรถไฟ แม่น้ำ ท่าเรือ และสนามบิน ที่สั้นที่สุดในการขนส่ง ช่วยประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย

ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ หรือ GIS หมายถึง กระบวนการใช้คอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ (Hardware) ซอฟท์แวร์ (Software) ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ (Geographic Data) และการออกแบบ (Personnel Design) ในการจัดเก็บข้อมูล การปรับปรุงข้อมูล การคำนวณ และการวิเคราะห์ข้อมูล ให้แสดงผลในรูปของข้อมูลที่สามารถอ้างอิงได้ในทางภูมิศาสตร์ หรือหมายถึง การใช้คอมพิวเตอร์ในการจัดเก็บและการใช้ข้อมูลเพื่ออธิบายสภาพต่างๆ บนพื้นผิวโลก โดยอาศัยลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นตัวเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลต่างๆ   GIS เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล 2 ประเภท ได้แก่

1. ข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Data) เป็นข้อมูลที่สามารถอ้างอิงกับตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ (Geo-Referenced) ทางภาคพื้นดิน ประกอบด้วย 3 รูปแบบ คือ จุด (Point) ได้แก่ ที่ตั้งหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จุดตัดของถนน จุดตัดของแม่น้ำ เป็นต้น เส้น (Line) ได้แก่ ถนน ลำคลอง แม่น้ำ เป็นต้น และพื้นที่หรือรูปหลายเหลี่ยม (Area or Polygons) ได้แก่ พื้นที่เพาะปลูกพืช พื้นที่ป่า ขอบเขตอำเภอ ขอบเขตจังหวัด เป็นต้น

2. ข้อมูลเชิงอธิบาย (Attribute Data) เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคุณลักษณะต่างๆ ในพื้นที่นั้นๆ เป็นข้อมูลทั้งตัวเลขและตัวอักษรที่จัดเก็บได้ในรูปฐานข้อมูลมาตรฐาน DBMS (Database Management System) เช่น MySQL, SQL Server, ORACLE และ Microsoft Access (Attributes) ได้แก่ ข้อมูลชื่อถนน ชื่อร้านค้า เป็นต้น

การประยุกต์ GIS ต้องนำข้อมูลทั้งสองประเภทมาวิเคราะห์และนำผลของการวิเคราะห์มาใช้ประโยชน์อาทิ การใช้ GIS ในการกำหนดเส้นทางการขนส่ง กรณีการให้บริการขนส่งแบบฉุกเฉิน (Emergency Services Delivery) หรือการวางแผนการขนส่ง คำนวณเส้นทาง เพื่อให้ได้เส้นทางในการขนส่งสินค้าที่สั้นที่สุด (Shortage Path) รวมทั้งสามารถนำ GIS มาพัฒนาเครือข่ายขนส่งแบบเบ็ดเสร็จที่จะช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า ซึ่งสอดคล้องกับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ที่ให้มีการดำเนินงานด้านการขนส่งจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ นอกจากนั้น  GIS ยังสามารถวิเคราะห์ทิศทางการเคลื่อนย้ายและปริมาณการขนส่ง การพยากรณ์ความต้องการด้านการขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อใช้ในการวางแผนจัดการเส้นทางคมนาคมให้สอดคล้องกับปริมาณการขนส่งทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดตามต้องการ

สถานการณ์จำลอง (Simulation) เป็นหนึ่งในการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์  (GIS) ในการขับเคลื่อนระบบขนส่งไทย โดยการใช้ GIS ทำแผนที่เฉพาะกิจ (Special Theme) เพื่อแสดงเส้นทางถนน ทางรถไฟ แม่น้ำ ท่าเรือ และสนามบิน ตัวอย่างเช่น สถานการณ์จำลองเส้นทางการขนส่งน้ำมันเครื่องของบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น โดยจำลองเส้นทางการขนส่งของพนักงานขาย 1 คนที่ต้องส่งสินค้าให้ร้านค้าทั้งหมด 80 แห่ง ใน 14 อำเภอ ของจังหวัดของแก่น ดังแสดงในรูปที่ 1

รูปที่ 1 ตำแหน่งร้านค้า 80 แห่งใน 14 อำเภอของจังหวัดขอนแก่น 

สำหรับการวิเคราะห์เส้นทางขนส่งทั้งหมด จึงเลือกพื้นที่ในอำเภอบ้านไผ่เป็นตัวอย่าง ดังแสดงในรูปที่ 2

รูปที่ 2  ตัวอย่างเส้นทางการขนส่งสินค้าให้กับร้านค้าต่างๆ ในอำเภอบ้านไผ่

เมื่อมีการนำ GIS มาใช้ในการกำหนดเส้นทางการขนส่งสินค้าให้กับร้านค้าต่างๆ ในอำเภอบ้านไผ่ พบว่ามีเส้นทางการขนส่ง 2 เส้นทาง ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุด คือ เส้นสีแดง และเส้นสีเขียว ดังแสดงในรูปที่ 2 ได้แก่

เส้นสีแดงมีระยะทางรวม          42,786          เมตร

เส้นสีเขียวมีระยะทางรวม         44,264          เมตร

เมื่อวิเคราะห์เส้นทางจากแผนที่แล้วพบว่าเส้นสีแดงสั้นกว่าเส้นสีเขียว 1,478 เมตร

จากรูปที่ 2 เส้นทางที่สามารถนำมาวิเคราะห์ระยะทางที่ความแตกต่างกันมี 2 ตำแหน่ง ดังแสดงในรูปที่ 3 และ 4 จากรูปที่ 3 เมื่อวิเคราะห์ระยะทางระหว่างจุด A ถึง B พบว่า ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุด คือ เส้นสีแดง และเส้นสีเขียว ได้แก่

เส้นสีแดงมีระยะทางรวม          6,200 เมตร

เส้นสีเขียวมีระยะทางรวม         6,646 เมตร

เมื่อวิเคราะห์เส้นทางจากแผนที่แล้วพบว่าเส้นสีแดงสั้นกว่าเส้นสีเขียว 446 เมตร 

รูปที่ 3  ตัวอย่างภาพขยายเส้นทางการขนส่งเส้นทางที่ 1 ของอำเภอบ้านไผ่ 

รูปที่ 4  ตัวอย่างภาพขยายเส้นทางการขนส่งเส้นทางที่ 2 ของอำเภอบ้านไผ่ 

จากรูปที่ 4 เมื่อวิเคราะห์ระยะทางระหว่างจุด X ถึงจุด Y พบว่า มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุด คือ เส้นสีแดงและเส้นสีเขียว ได้แก่

เส้นสีแดงมีระยะทางรวม          2,227 เมตร

เส้นสีเขียวมีระยะทางรวม         3,259 เมตร

เมื่อวิเคราะห์เส้นทางจากแผนที่แล้วพบว่าเส้นสีแดงสั้นกว่าเส้นสีเขียว 1,032 เมตร

จากรูปที่ 3 และ 4 จะเห็นได้ว่าจากเส้นทางดังกล่าวข้างต้น เมื่อนำเอาระยะทางมาคำนวณหาค่าน้ำมันต่อเดือนของพนักงานขายคนนี้ เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับค่าน้ำมันเฉลี่ยเดิม พบว่าการวางแผนเส้นทางการเดินทางที่สั้นลงในครั้งนี้สามารถช่วยลดต้นทุนค่าน้ำมันได้ร้อยละ 4.91%  ซึ่งการประยุกต์ใช้ GIS สามารถวิเคราะห์เพื่อหาระยะทางที่สั้นที่สุด และช่วยสนับสนุนการตัดสินใจเลือกเส้นทาง  อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติอาจมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ไม่เป็นดังแผนที่วางไว้ ในกรณีนี้อาจเกิดจากพนักงานขายแต่ละคนมีความประพฤติที่ไม่เหมือนกัน แม้เส้นทางจะถูกวางไว้แล้วแต่ในการนำไปใช้จริง พนักงานขายอาจไม่เดินรถตามเส้นทางที่ถูกกำหนดไว้ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป GIS สามารถช่วยในการจัดการและบริหารข้อมูลเชิงพื้นที่ พร้อมทั้งทำให้สามารถเข้าใจในความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ในเชิงพื้นที่ได้เป็นอย่างดี สามารถแสดงเส้นทางการขนส่งแต่ละประเภทจากข้อมูลที่เก็บไว้ในฐานข้อมูลได้ เพื่อใช้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการวางแผนสำหรับการใช้เส้นทางใดในการขนส่ง รวมทั้งสอดคล้องกับปริมาณการขนส่ง นับว่าเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบขนส่งไทย ให้เกิดการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการวิเคราะห์ข้อมูลได้มากซึ่งเป็นรากฐานที่ดีในการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเลือกใช้ประเภทการขนส่งขึ้นกับปัจจัยและองค์ประกอบต่างๆ เพื่อจะได้เส้นทางที่สั้นที่สุดเป็นหลัก หรือใช้เส้นทางหลวงที่สำคัญเป็นหลัก หรือใช้ปริมาณการขนส่งเป็นหลัก

สำหรับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ GIS เช่น Global Position System (GPS) เป็นเครื่องที่ระบุพิกัดบนพื้นโลกโดยอาศัยสัญญาณดาวเทียม สามารถแสดงตำแหน่งเพื่อใช้กำหนดเส้นทางการเดินทาง พัฒนาระบบนำทางรถยนต์ ระบบค้นหาตำแหน่ง ระบบติดตามยานพาหนะ (Vehicle Tracking) ระบบค้นหาตำแหน่งโทรศัพท์มือถือ LBS (Location Based Service) ระบบ Logistics และแผนที่กระดาษมาตราส่วนต่างๆ เป็นต้น รวมถึงแผนที่ดิจิตัล การสำรวจ การถ่ายภาพทางอากาศและดาวเทียม

ข้อดีของ GIS กับการขับเคลื่อนระบบขนส่งไทย คือ สามารถจัดเก็บข้อมูลได้ครั้งละมากๆ ไม่ต้องเสียเวลาในการเปิดหาแผนที่ ใช้งานง่าย ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการวิเคราะห์ข้อมูล

ส่วนข้อจำกัด คือ ข้อมูลมีความสำคัญมากสำหรับการสร้างฐานข้อมูลให้กับระบบ GIS เพราะคุณภาพของสารสนเทศที่จัดเก็บเข้าไว้ในระบบย่อมส่งผลถึงประสิทธิภาพที่จะได้รับ เมื่อมีการนำสารสนเทศมาใช้ในการวิเคราะห์ อีกทั้งใช้ระยะเวลาในการเก็บรวบรวมข้อมูลและอาจเกิดความคลาดเคลื่อนจากการนำเข้าข้อมูล เมื่อข้อมูลข่าวสารมีความพร้อมและระบบเทคโนโลยีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว อนาคตการขนส่งของประเทศคงไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้ GIS สามารถสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์การขนส่งแห่งชาติ ที่อาจจะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการขนส่งของภูมิภาคนี้ หรือติดอันดับประเทศที่มีระบบการขนส่งที่ดีก็ได้

--------------------------------

สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง

สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง

CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551

เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล

 --------------------------------

ที่มา

เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551

โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ 

ขอต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์
www.iok2u.com
แหล่งข้อมูลสารสนเทศเพื่อคุณ

เว็บไซต์ www.iok2u.com นี้เกิดมาจาก แรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward โดยมีเป้าหมายเล็ก ๆ ที่กำหนดไว้ว่า ทุกครั้งที่เข้าเรียนสัมมนาหรืออบรมในแต่ละครั้ง จะนำความรู้มาจัดทำเป็นบทความอย่างน้อย 3 เรื่อง เพื่อมาลงในเว็บนี้
ความตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับมาทำการถ่ายทอดต่อไป และหวังว่าจะมีคนมาอ่านแล้วเห็นว่ามีประโยชน์นำเอาไปใช้ได้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลย โดยอาจไม่ต้องอ้างอิงที่มาหรือมาตอบแทนผู้จัด แต่ขอให้ส่งต่อหากคิดว่ามันดีหรือมีประโยชน์ เพื่อถ่ายทอดความรู้และสิ่งดี ๆ ต่อไปข้างหน้าต่อไป Pay It Forward