CT51 โลจิสติกส์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม (Green Logistics)
ลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2551 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ผู้เขียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวรรณี อัศวกุลชัย
การบริหารด้วยระบบโลจิสติกส์ (Logistics) เป็นกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการนำส่งสินค้าจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค และช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งในแง่การลดต้นทุนการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม การประหยัดพลังงาน และการรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย ปัจจุบันในเวทีโลกได้ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม อาทิ มลภาวะในอากาศที่เกิดจากการขนส่ง การใช้พลังงานในกระบวนการผลิต และการใช้วัสดุด้านบรรจุภัณฑ์ การบริหารงานด้านโลจิสติกส์ สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่มุ่งเน้นเฉพาะการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ไม่ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ก็นำไปสู่การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้มีการกล่าวถึง “Green Logistics” เพื่อสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรมากยิ่งขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะประเด็นการเปลี่ยนแปลงอากาศ (Climate Change) จากผลกระทบของภาวะโลกร้อน (Global Warming) และ Greenhouse effect
นอกจากนั้น มลพิษทางอากาศอันเนื่องมาจากก๊าซ Carbon dioxide (CO2) เกิดจากการเผาผลาญน้ำมันในการขนส่งสินค้าจากรถบรรทุกชนิดต่างๆ การใช้ระบบการขนส่งในรูปแบบต่างๆ เช่น การใช้ศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) สามารถทำให้จำนวนรอบในการขนส่งลดลง นำมาซึ่งต้นทุนขององค์กรที่ลดลง และประการสำคัญคือ มลภาวะที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด การทำ Repackaging และ Re-used Packaging ในศูนย์กระจายสินค้าก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการลำเลียงสินค้าบนพาหนะได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ผลกระทบจากการขนส่งอย่างไม่มีระบบที่ดี นำมาซึ่งต้นทุนที่สูง ระยะเวลาการขนส่งที่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ และมลภาวะที่เกิดจาก Carbon dioxide (CO2) ดังแสดงในรูปที่ 1
รูปที่ 1 ผลกระทบของการปลดปล่อยก๊าซ Carbon dioxide (CO2)
จากรูปที่ 1 แสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากก๊าซ Carbon dioxide (CO2) ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ผลที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมประการแรกคือ การเกิดภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) ซึ่งมีผลทำให้โลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ (Global Warming)
ดังนั้น โลจิสติกส์จึงต้องเป็น “Green Logistics” ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับมลภาวะในอากาศที่เกิดจากการขนส่ง การประหยัดพลังงาน และการใช้วัสดุด้านบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ (Recycle) การบริหารงานด้านโลจิสติกส์ จึงต้องให้ความสำคัญต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ รวมทั้งของจำกัดของน้ำหนักสินค้าที่สามารถจะบรรทุกหรือบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ (Container) ซึ่งในแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน นอกจากนี้ การจัดการโลจิสติกส์จะต้องให้ความสำคัญต่อปัญหาอุบัติภัยที่จะมีต่อสังคมและการทำงานที่ปลอดภัย (Safety First) ของบุคคลที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่โลจิสติกส์และที่สำคัญจะต้องคำนึงถึงศีลธรรมและบรรษัทภิบาล (Good Corporate) ทั้งนี้ การค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศตะวันตกได้ให้ความสำคัญกับ Reverse Logistics หรือโลจิสติกส์ย้อนกลับในการที่ผู้ขาย (Shipper) จะต้องรับผิดชอบในการขนส่งนำซากของเสียหรือวัสดุเหลือใช้กลับคืนประเทศของผู้ส่งออก
Green Logistics จึงได้เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ตลอดโซ่อุปทาน ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
กระบวนการจัดซื้อจัดหา การปรับปรุงสิ่งอํานวยความสะดวกทางการคา (Trade Facilitation Enhancement) เช่น การเชื่อมโยงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างองค์กร (B2B business) ดังแสดงในรูปที่ 2 เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในติดต่อสื่อสารทุกกระบวนการ ตัวอย่างระบบการสั่งซื้อสินค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-ordering) เช่น ระบบการสั่งซื้อสินค้าของบริษัทบุญถาวรที่เชื่อมโยงกับระบบของบริษัท อเมริกันสแตนดาร์ด บีแอนเค (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นระบบที่รวดเร็ว และทำให้ลดขั้นตอนด้านเอกสาร (paperless) ลงอย่างมาก รวมทั้งลดขั้นตอนความผิดพลาดในการผลิตด้วย ดังแสดงในรูปที่ 3
รูปที่ 2 ระบบ B2B business
รูปที่ 3 ระบบ e-ordering
สำหรับระบบการขายสินค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) ช่วยลดปริมาณเอกสาร และการเดินทางเพื่อรับส่งเอกสารได้เป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน ซึ่งการลดปริมาณกระดาษที่ใช้ สามารถรักษาสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างมาก ตั้งแต่การตัดต้นไม้เพื่อกระบวนการผลิตกระดาษ หรือแม้กระทั่งการนำกระดาษมาผลิตใหม่ ก็ยังคงใช้พลังงานเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน การพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส (Logistics Service Internationalization) เช่น การใช้หลัก Global Sourcing มากขึ้น โดยหาวัตถุดิบจากแหล่งที่ถูกที่สุด และเปลี่ยนรูปแบบจากเดิมที่ผลิตตามการวางแผนของผู้ผลิต มาเป็นผลิตตามความต้องการของลูกค้ามากขึ้น และต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น เทคโนโลยี RFID เพื่อให้ข้อมูลถูกต้อง แม่นยำ เพื่อการจัดส่งสินค้าถึงมือลูกค้าได้อย่างตรงเวลา รวดเร็ว และปลอดภัย
กระบวนการผลิต โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพระบบโลจิสติกสในภาคการผลิต (Business Logistics Improvement) เช่น การลดการใช้พลังงาน ตัวอย่างในอุตสาหกรรมเซรามิก การลดอุณหภูมิเตาเผา โดยที่ยังคงคุณภาพสินค้าดีเหมือนเดิม การนำความร้อนจากกระบวนการเผามาใช้ประโยชน์ ไม่ปล่อยความร้อนสู่สิ่งแวดล้อม การลดของเสียจากกระบวนการผลิต การนำน้ำดินกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การบำบัดของเสียเพื่อสามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ (Recycle) เป็นต้น
กระบวนการจัดการคลังสินค้า เช่น การนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ การเคลื่อนย้ายสินค้าภายในคลังสินค้า ในการขนสินค้า และควรมีการวางแผนรับ-ส่งสินค้าภายในเพื่อไม่ให้รถ Folk lift วิ่งรถเปล่าในขากลับ เพื่อลดจำนวนเที่ยววิ่ง รวมทั้งลดการเกิด Double handling ทำให้ลดปริมาณพลังงานและน้ำมัน การพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า เช่น จากเดิมมีคลังสินค้า 5 สาขา ก็เปลี่ยนเป็นศูนย์กระจายสินค้า1 ที่ เพื่อกระจายสินค้าให้กับ 5 สาขา ซึ่งนอกจากลดต้นทุนคลังสินค้าแล้ว ยังลดการขนส่งสินค้า และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในที่สุด นอกจากนั้นอาจใช้ระบบ Warehouse Management ช่วยดำเนินการ ดังแสดงในรูปที่ 4
รูปที่ 4 ระบบ Warehouse Management
กระบวนการขนส่ง การเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนสงและโลจิสติกส (Transport and Logistics Network Optimization) การพัฒนาการขนส่ง และจราจรอย่างยั่งยืนท่ามกลางวิกฤต นอกจากจะเน้นเรื่องสมรรถนะ และประสิทธิภาพของระบบ ความสะดวกในการเข้าถึง และส่งเสริมความเสมอภาคในสังคมแล้ว ยังต้องการการขนส่งที่ใช้ทรัพยากรน้อย และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย เช่น การวางแผนการขนส่งที่ดี เช่น การจัดเส้นทางการขนส่งที่สั้นที่สุด หรือรับ-ส่ง สินค้าในเส้นทางเดียวกัน การจัดเรียงสินค้าให้เต็มคันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในการขนส่งในแต่ละเส้นทาง ทำให้สามารถขนส่งสินค้าได้ในปริมาณเท่าเดิมแต่สามารถลดจำนวนเที่ยวในการขนส่งลงได้ ส่งผลให้ลดปริมาณปลดปล่อยมลพิษทางอากาศ ช่วยลดมลพิษทางอากาศได้ การออกแบบรูปแบบการขนส่งแบบ Hub และ Spoke ดังแสดงในรูปที่ 5 ตัวอย่างในอุตสาหกรรมเซรามิก โรงงานผลิตขนาดเล็กจากหลายโรงงานในจังหวัดลำปาง เชียงใหม่ ส่งสินค้ามารวมกันที่ Hub ที่ลำปางและขนส่งโดยรถบรรทุก ไปยัง Spoke ที่จตุจักร กรุงเทพฯ เพื่อกระจายสินค้าต่อไป ทำให้ลดการขนส่งสินค้าไม่เต็มคัน เป็นต้น นอกจากนั้นในกระบวน Hub และ Spoke สามารถลดจำนวนรถเที่ยวเปล่าได้ เช่น รถบรรทุกรับเครื่องใช้ไฟฟ้าจากกรุงเทพฯ เพื่อไปส่งยังภาคเหนือ และรถบรรทุกคันดังกล่าวก็รับสินค้าเซรามิกกลับมายังจตุจักร เป็นต้น การจัดการระบบการขนส่งแบบศูนย์กลาง ทำให้ทราบความต้องการรถบรรทุกสินค้าทั้งขาไป-ขากลับ และสามารถจัดรถบรรทุกได้อย่างเป็นระบบ ทำให้ประหยัดพลังงานได้เป็นอย่างมาก ดังนั้นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่งให้เชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์แบบ ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่ง
รูปที่ 5 รูปแบบการขนส่งแบบ Hub และ Spoke
กล่าวโดยสรุป ภาครัฐควรต้องมีกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการวางแผนเพื่อนำไปสู่โลจิสติกส์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ในกระบวนการโซ่อุปทาน อาทิ การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในแง่ของการก่อให้เกิดมลพิษ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาคุณภาพชีวิต โดยแนวทางในการรักษาสมดุลในการพัฒนาที่เหมาะสม คือ การพัฒนาการขนส่งให้มีความความยั่งยืน (Sustainable Transportation) เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นการลดมลพิษที่เกิดจากกิจกรรมภาคขนส่ง และเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน รวมทั้งการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งภายในประเทศโดยหลักการพิจารณาอุปสงค์ เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง โดยมีการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น และเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบขนส่ง (สินค้า และคน-ขนส่งสาธารณะ) และการบริหารจัดการกระบวนการขนส่ง รวมทั้งการจัดการระบบการขนส่งแบบศูนย์กลาง การจัดการของเสีย ขยะและวัสดุเหลือใช้ เป็นต้น รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการโลจิสติกส์ภายในภาคการผลิต โดยมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องโลจิสติกส์เพื่อนำไปพัฒนาในองค์กร รวมถึงการพิจารณาแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำการค้าด้วย
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่