CT51 กลยุทธ์การจัดซื้อแบบกรีน (Green Purchasing Strategy)
ลิขสิทธิ์ สำนักโลจิสติกส์
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
โดย กาญจนา กาญจนสุนทร
บทนำ
ปัจจุบัน ประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมกำลังได้รับความสำคัญในวงการธุรกิจและบริหารจัดการเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศที่มีลักษณะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน และเมื่อถึงเวลานั้นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมจะกลายมาเป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีการค้าในการค้าระหว่างประเทศ ดังจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมในประเทศแถบยุโรปและญี่ปุ่นได้มีการปรับเปลี่ยนและหันมาสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (environment friendly products หรือ eco-products) และนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจเพื่อความอยู่รอด ยั่งยืน และสามารถแข่งขันได้ในอนาคต ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ตลาดสินค้าประเภทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยังอยู่ในขอบเขตที่จำกัด แต่ก็มีสัญญาณหลายๆอย่างที่บ่งบอกได้ถึงแนวโน้มการเจริญเติบโตที่ใหญ่ขึ้นของตลาดสินค้าประเภทนี้ในอนาคต ดังนั้นในหลายๆประเภท ทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม องค์กร และสถาบันทางด้านสังคมได้มีการทำงานร่วมกันในการจัดซื้อและจัดหาสินค้าประเภทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเล็งเห็นถึงประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และคุณภาพชีวิตเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้ คำว่า Green Purchasing และ Green Supply Chain จึงกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้โลกปรับเปลี่ยนไป
Green Purchasing - วิธีการสำคัญที่สร้างให้เกิดการรักษาสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน
การจัดซื้อที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม (Environmentally Preferable Purchasing : EPP) หรือที่ส่วนใหญ่เรียกกันว่า “การจัดซื้อแบบกรีน” (green purchasing) หมายถึง กระบวนการในการเลือกและทำให้ได้มาซึ่งสินค้าและบริการที่มีผลให้เกิดผลกระทบในเชิงลบด้านสิ่งแวดน้อยที่สุดตลอดวงจรอายุ (life cycle) ของการผลิต การขนส่ง การใช้ และการนำกลับไปใช้ใหม่ รวมไปถึงการกำจัดด้วย ตัวอย่างของคุณลักษณะที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมได้แก่ สินค้าหรือบริการที่ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและน้ำ ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เกิดของเสีย และการปลดปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือผลิตใหม่ได้ พลังงานที่ได้จากทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถฟื้นตัวได้รวดเร็วเช่น น้ำมันเชื้อเพลิงจากพืช พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม และน้ำมันเชี้อเพลิงทางเลือกอื่นๆ เป็นต้น
เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น คำว่า green purchasing จึงหมายถึง การเพิ่มมุมมองทางด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปในราคาและเกณฑ์อื่นๆในการคัดเลือกผู้ส่งมอบ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในกระบวนการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของการจัดซื้อแบบนี้คือ เพื่อลดผลกระทบในเชิงลบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประสิทธิภาพของทรัพยากรที่มีอยู่ ดังนั้นกลยุทธ์ในการจัดซื้อแบบกรีนจึงเป็นการเพิ่มมุมมองทางด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปในเกณฑ์การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ซึ่งเกณฑ์ที่ใช้ก็มีตั้งแต่ระดับง่ายไปจนถึงระดับที่ยากและซับซ้อน
ปัจจุบัน กลยุทธ์การจัดซื้อแบบกรีนสามารถพบได้จำนวนมากในองค์กรขนาดใหญ่ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากข้อมูลการสำรวจบริษัทผู้ซื้อสินค้าจำนวน 1,000 แห่งในปี ค.ศ.1995 พบว่าผู้ซื้ออุปกรณ์หรือเครื่องมือสำนักงาน และวัสดุสิ้นเปลือง ร้อยละ 80 ของผู้ตอบแบบสอบถามมองประเด็นทางด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการเลือกซื้อสินค้าเข้ามาใช้ในองค์กร ซึ่งผลสำรวจดังกล่าวนี้ในปี ค.ศ. 1993 มีเพียงร้อยละ 40 เท่านั้น ในระดับประเทศ พบว่าในประเทศเยอรมันนี ได้เริ่มกิจกรรมการจัดซื้อแบบกรีนเป็นประเทศแรกในปลายคริตศตวรรษที่ 1980 ตามมาด้วยประเทศในแถบยุโรป เช่นประเทศเดนมาร์ก (ค.ศ.1994) ฝรั่งเศส (ค.ศ.1995) อังกฤษและออสเตรเลีย (ค.ศ.1997) และสวีเดน (ค.ศ.1998) ในประเทศสหรัฐอเมริกาโดย US EPA ได้พัฒนาแนวทางและคู่มือในการจัดซื้อที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมขึ้น ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายด้านการจัดซื้อแบบกรีนขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.2000 เพื่อเป็นการรณรงค์ให้เห็นว่าการจัดซื้อแบบกรีนถือเป็นนโยบายสำคัญของชาติ โดยในกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วย รวมถึงระดับท้องถิ่น ต้องดำเนินกระบวนการจัดซื้อแบบกรีน และต้องรายงานสรุปประวัติด้านการจัดซื้อของหน่วยงานมายังส่วนกลางอย่างต่อเนื่อง และนอกเหนือจากภาครัฐและองค์กรต่างๆระดับชาติแล้ว ในองค์กรเอกชนต่างก็หันมาให้ความสนใจกับการจัดซื้อแบบกรีนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ดังตัวอย่างแนวโน้มของการจัดซื้อแบบกรีนของบริษัท Olympus ที่ได้เผยแพร่ประวัติการจัดซื้อแบบกรีน
รูปที่ 1 การเติบโตของกระบวนการจัดซื้อแบบกรีน ของบริษัท Olympus
รูปที่ 1 แสดงถึงร้อยละของการจัดซื้อซึ่งผู้ใช้และฝ่ายจัดซื้อได้ให้ความสำคัญกับประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม เทียบกับจำนวนของการจัดซื้อสินค้าตลอดทั้งปี จากรูปจะเห็นได้ว่าระบบการจัดซื้อของบริษัทมีแนวโน้มเป็นการจัดซื้อแบบกรีนเพิ่มขึ้นและอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เนื่องจากเป็นนโยบายของบริษัท และเป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญ นอกจากนี้เรายังจะได้เห็นบทความหรือผลงานตีพิมพ์ทางด้านการจัดซื้อแบบกรีนที่มีเพิ่มมากขึ้นในลักษณะของเอกสารด้านการศึกษา และตำราเรียน
ในผลงานตีพิมพ์ฉบับหนึ่งได้รายงานผลการสำรวจโรงงานจำนวน 256 แห่ง ในสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างและลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ผลจากแบบสอบถามพบว่าประมาณ 50% ที่ระบุว่าผู้ส่งมอบ (supplier) เป็นส่วนสำคัญดังกล่าว ในงานตีพิมพ์ยังได้ระบุว่าองค์กรข้ามชาติที่คัดเลือกผู้ส่งมอบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญในปัจจุบัน ได้แก่ Motorola, IBM, S.C. Johnson, TRW, Nokia, Sony, Ford, Ray-O-Vac, Northern Telecom, Apple Computer, Sun Microsystems, และ Body Shop เป็นต้น
กลยุทธ์การจัดซื้อแบบกรีน และผลกระทบที่มีต่อผู้ส่งมอบ (Green Purchasing Strategies and Impact on Suppliers)
การจัดซื้อแบบกรีนในองค์กรระดับชาติหลายๆ แห่ง ใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกัน และส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของผู้ส่งมอบ (suppliers)ที่แตกต่างกัน โดยกลยุทธ์เหล่านี้สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ (product standards) มาตรฐานด้านพฤติกรรม (behavior standards) และความร่วมมือ (collaboration) ผลกระทบของกลยุทธ์เหล่านี้ที่มีต่อพฤติกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของผู้ส่งมอบก็มีลักษณะต่อเนื่องเป็นขั้นๆ ตั้งแต่ระดับต่ำ คือระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงระดับสูง ได้แก่ระดับของความร่วมมือ ตัวอย่างเช่น การกำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ กลยุทธ์ดังกล่าวไม่ได้ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ส่งมอบ เนื่องจากผู้ส่งมอบสามารถกระทำได้โดยเพียงแค่เปลี่ยนแปลงส่วนผสมของสินค้าและบริการเท่านั้น ในทางตรงกันข้ามกับระดับสูงสุดซึ่งได้แก่ระดับของความร่วมมือระหว่างผู้ซื้อกับผู้ส่งมอบในประเด็นพฤติกรรมของผู้ส่งมอบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องอาศัยแรงผลักดันจากผู้ซื้อ และโดยทั่วไปแล้ว ความพยายามของผู้ซื้อมักเป็นไปในลักษณะที่เพิ่มการดำเนินงานของผู้ส่งมอบในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นผู้ซื้อจำเป็นต้องทำการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ที่ได้รับจากการที่ผู้ส่งมอบมีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงพฤติกรรมด้านสิ่งแวดล้อม
กลยุทธ์การจัดซื้อแบบกรีน (Green Purchasing Strategies)
ตามที่กล่าวมาแล้วว่า กลยุทธ์การจัดซื้อแบบกรีนสามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
มาตรฐานของผลิตภัณฑ์ (Product Standards)
1. การซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ผลิตใหม่ และมีส่วนประกอบหรือวัตถุดิบที่ไม่เป็นพิษ (recycled materials, non-toxic ingredients)
2. ซื้อผลิตภัณฑ์ที่แสดงคุณลักษณะด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ติดฉลากอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
มาตรฐานด้านพฤติกรรม (Behavior Standards)
1. การจัดซื้อที่กำหนดให้ผู้ส่งมอบต้องแสดงข้อมูลเกี่ยวกับแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม เช่นวิธีการปลดปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม
2. ตรวจสอบผู้ส่งมอบเพื่อประเมินผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม
3. กำหนดให้ผู้ส่งมอบต้องปฏิบัติและรักษาไว้ซึ่งระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental Management System : EMS)
4. กำหนดให้ผู้ส่งมอบต้องมีระบบการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (EMS) ที่ได้มาตรฐาน เช่น มาตรฐาน ISO 14001 และมาตรฐาน Responsible Care
5. กำหนดให้ผู้ส่งมอบต้องได้รับใบรับรองอย่างเป็นทางการของระบบการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
ความร่วมมือ (Collaboration)
1. การทำงานร่วมกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ส่งมอบจะช่วยลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมลงได้ จากการปรับเปลี่ยนรูปแบบของผลิตภัณฑ์และวัสดุที่ใช้โดยกระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์
2. บริหารจัดการเชิงรุกในทุกแง่มุมของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เป็นวัตถุดิบไปจนถึงการกำจัดในขั้นสุท้าย
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะต้องกล่าวถึงก็ คือ การใช้มาตรฐานบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอาจไม่ทำให้เกิดการปรับปรุงพฤติกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของผู้ส่งมอบเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมาตรฐานที่นำมาใช้ เช่น มาตรฐาน ISO14001 ไม่ได้กำหนดให้ต้องมีการปรับปรุงผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ มาตรฐาน EMAS (Eco-Management & Audit Scheme) กำหนดให้ต้องมีการปรับปรุง ดังนั้น ผู้ซื้อที่ตัดสินใจเลือกซื้อโดยใช้กลยุทธ์ต้นทุนต่ำ จะผลักดันให้ผู้ส่งมอบมุ่งเน้นการบรรลุมาตรฐานจากภายนอกแทนที่จะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือการบริหารจัดการ
Lamming และ Hampson ได้ทำการศึกษาบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศอังกฤษจำนวน 4 แห่งที่ได้กำหนดเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่ผู้ส่งมอบ และพบว่าบริษัทผู้ส่งมอบได้ให้ความสนใจกับการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเพียงเฉพาะในกรณีที่บริษัทลูกค้ามีความต้องการให้ทำ และผู้บริหารถือเป็นเครื่องมือสำหรับการขับเคลื่อนทางการตลาดเท่านั้น ซึ่งจากผลการสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่าการกำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์ไม่ส่งผลให้เกิดการปรับปรุงหรือเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านสิ่งแวดล้อมโดยรวมของโซ่อุปทานที่แท้จริง การแก้ปัญหาที่แท้จริงต้องอาศัยความร่วมมือในระดับสูง (collaboration) ระหว่างองค์กรในโซ่อุปทาน
ตัวอย่างของการร่วมมือกับผู้ส่งมอบในโซ่อุปทานเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่บริษัท Apple Computer ซึ่งได้กำจัดการใช้สาร CFCs ในผลิตภัณฑ์ของบริษัทโดยการทำงานร่วมกับผู้ส่งมอบเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตแผ่นวงจร (circuit board production) ใหม่ที่ไม่ต้องมีขั้นตอนสำหรับการทำงานสะอาดผลิตภัณฑ์ออกไป ซึ่งไม่เป็นเพียงแค่การลดมลพิษในโรงงานของผู้ส่งมอบเท่านั้น แต่ยังเป็นการลดจุดคอขวดแลเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้กับกระบวนการผลิตได้อีกด้วย ในรายงานระยะหลังๆยังพบว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ได้รับจากการทำงานใกล้ชิดกับผู้ส่งมอบในลักษณะของคู่ค้าที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมยังมีอีกมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกด้วย
การทำงานใกล้ชิดกับผู้ส่งมอบเพื่อลดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมสามารถทำได้ตั้งแต่การปรับปรุงช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน การเชื่อมโยงระบบการดำเนินงาน การวางแผนและวิจัยร่วมกัน ไปจนถึงการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน ประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินการดังกล่าวได้แก่การลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมโดยการเลือกแหล่งวัตถุดิบที่น่าเชื่อถือในด้านสิ่งแวดล้อม และต้นทุนในการควบคุมมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมต่ำ เนื่องจากต้นทุนดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภในที่สุด
กล่าวโดยสรุป ความพยายามและต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ส่งมอบเพื่อการปรับปรุงพฤติกรรม และคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อมควรจะสามารดเชยได้กับประโยชน์ทางธุรกิจที่ทั้งคู่จะได้รับ (สถานการณ์แบบ win – win) เพื่อให้ความสัมพันธ์ในลักษณะของคู่ค้ามีลักษณะยาวนานและต่อเนื่อง
เอกสารอ้างอิง:
- Green Purchasing: The Issue of Responsible Supply Chain Management for Improving the Environmental Performance; เอกสารประกอบการบรรยาย โดย Nidhi S., 2008. ที่มา www.extension.ucr.edu/files/certificates/purchasing.pdf
- Environmental Management Based on the Olympus Corporation Environmental Management System ที่มา http://www.olympus-global.com/en/corc/csr/environment/emanagement/image/emanagement
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่