CT51 ISO9000: กุญแจสำคัญสำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมไร้พรหมแดน (ISO9000: Key Success in Global Manufacturing Business)
ลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2551 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ผู้เขียน ดร. พงษ์ธนา วณิชย์กอบจินดา
บทนำ (Introduction)
ในปัจจุบันเป็นทราบกันดีอยู่แล้วการที่จะเพิ่มขีดความสามารถในด้านความสามารถในการผลิตสินค้า และต้นทุนที่แข่งขันได้แล้ว ผู้ผลิตสินค้ายังจะต้องได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในด้านของคุณภาพ คุณภาพดังกล่าวนี้ในโลกของการแข่งขันรวมทั้ง คุณภาพของผลิตภัณฑ์ คุณภาพของการผลิต และคุณภาพของการให้บริการ ในการที่จะทำให้เกิดคุณภาพดังที่กล่าวมานั้นภาคอุตสาหกรรมและผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีการพัฒนาหลักการต่าง ๆ ขึ้นมามากมายเช่น การควบคุมคุณภาพ (Quality Control), การประกันคุณภาพ (Quality Assurance), การจัดการคุณภาพ (Quality Management), นโยบายคุณภาพ (Quality Policy), แผนคุณภาพ (Quality Plan), ระบบคุณภาพ (Quality System) เป็นต้น ระบบต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานี้มีความหลายและมาตรฐานที่แตกต่างกันตามแต่ประเทศหรือความต้องการของลูกค้า ซึ่งในการกำหนดกฏเกณฑ์ที่แตกต่างกันอาจทำให้เกิดความหลากหลายของกระบวนการเพื่อตอบสนองการสร้างมาตรฐานของคุณภาพในโลกการค้าไร้พรหมแดน แทนการสร้างคุณภาพและต้นทุนการผลิตต่ำอาจเป็นเหตุที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ดังนั้นจึงได้มีการตั้งองค์กรขึ้นเพื่อกำกับมาตรฐานดูแลในเรื่องของระบบคุณภาพสากล ที่เรียกว่า International Organisation for Standardisation (ISO) วึ่งสมาชิกในองค์จะมีการนัดประชุมเพื่อสร้างข้อตกลง กฎเกณฑ์ แนวทางของระบบการจัดการคุณภาพ และการประกันคุณภาพ ในบทความฉบับนี้ผู้เขียนจะบรรยายแนวทางปฏิบัติและประโยชน์ที่จะได้รับจากการได้รับมาตรฐาน ISO สำหรับ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม
ISO9000 กับระบบคุณภาพของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม
ระบบมาตรฐาน ISO9000 นั้นจะประกอบด้วย Series มาตรฐานของ ISO9001, ISO9002 และ ISO9003 ที่เป็นรูปแบบของการจัดการคุณภาพ และสุดท้าย ISO9004 ซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบการจัดการคุณภาพ ซึ่งในแนวทางในการจัดการคุณภาพของระบบ ISO จะเน้นไปที่การวางมาตรฐานหรือหลักเกณฑ์ที่น้อยที่สุดที่ผู้ผลิตสามารถปฏิบัติได้ในการทำให้เกิดคุณภาพ เช่นการกำหนดมาตรการในกำหนดคุณภาพขององค์กรซึ่งสามารถตรวจติดตามได้และจะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระบบการผลิตโดยทั่วไประบบมาตรฐาน ISO จะเข้าไปควบคุมจัดการกิจกรรมคุณภาพสำคัญ ๆ 20 กระบวนการ ดังนี้
- Management Responsibility;
- Quality System;
- Contract Review;
- Document Control;
- Design Control;
- Purchasing Consistency;
- Customer-Supplied Product;
- Product Identification and Traceability;
- Process Control;
- Inspection and Testing;
- Inspection, Measuring and Test Equipment;
- Inspection and Test Status;
- Control Nonconforming Product;
- Corrective Action;
- Handling, Storing, Packaging and Delivery;
- Quality Record;
- Internal Quality Audits;
- Training;
- Servicing;
- Statistical Techniques;
ซึ่งหากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสามารถจัดการคุณภาพได้ดังกิจกรรม 20 ข้อ และได้รับมาตรฐานและใบรับรอง ISO แสดงถึงได้ว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนั้นมีระบบการจัดการผลิตที่น่าเชื่อถือและสามารถทำให้เกิดสินค้าที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งหากพิจารณาถึงสิ่งที่ผู้ผลิตจะได้รับนั้นนอกจากความเชื่อถือจากภายนอกแล้ว ระบบ ISO ได้สร้างให้ผู้ผลิตโดยเฉพาะระดับ (Small and Medium Enterprises: SMEs) มีการทำงานอย่างมีระบบ สามารถสอบกลับได้ในทุก ๆ ขั้นตอนในการทำงาน ซึ่งการตรวจสอบนี้เองเป็นส่วนสำคัญในการทำให้สามารถลดการสูญเสียในการผลิตลงได้ เช่น การมี Work Procedure ที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ระบบตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบจะช่วยให้ทราบว่าสินค้าใน Stock นั้นหมดอายุแล้วหรือไม่ หรือระบบการตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบก่อนการนำเข้าเก็บในคลังสินค้าซึ่งจะทำให้ทราบว่าสินค้าที่รับมานั้นมีคุณภาพตรงตามความต้องการหรือไม่
ซึ่งนอกจากจะเป็นการยอมรับถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในระดับสากลแล้ว มาตรฐาน ISO ยังมีส่วนช่วยในการลดปัญหาในด้านข้อกีดกันทางการค้าอันเนื่องมาจากมาตรฐานอีกด้วยโดยเฉพาะจากกลุ่มสหภาพยุโรป (European Community: EC) และ ข้อตกลงการค้าเสรีในสหภาพยุโรป (European Free Trade Agreement: EFTA) รวมถึงกับประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นอีกด้วย (Kochan 1993)
Dzus (1991), Lofgen (1991), Sateesh (1992) and Sprow (1992), ได้สรุปถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากระบบ ISO ดังนี้
1. ในด้านการค้า สามารถเป็นหลักประกันถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อลดปัญหาด้านการกีดกันทางการค้าอันเนื่องมาจากข้อกังขาในด้านคุณภาพโดยเฉพาะระหว่างประเทศกำลังพัฒนา กับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น การส่งสินค้าเข้าไปขายในกลุ่มสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา เป็นต้น และการได้รับ ISO Standard จะทำให้เป็นที่ยอมในโลกของการผลิตและกาค้าทั้งยังสามารถนำการได้รับรองจาก ISO ไปใช้เป็นการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์
2. ในด้านการผลิต ทำให้ระบบการผลิตมีประสิทธิภาพที่ดีมีมาตรฐานและมีคุณภาพมากขึ้นรวมถึงช่วยให้ลดต้นทุนใน การผลิตลงได้ซึ่งส่งผลให้มีความสามารถในการแข่งในด้านราคาโดยที่คุณภาพไม่ได้ด้อยลง รวมถึง ลด Cycle time ในระบบการผลิต
3. ในด้านการจัดการโลจิสติกส์ จะช่วยให้เพิ่มความสามารถความแน่นอนในการจัดส่งสินค้า รวมถึงความสามารถในการจัดการคลังสินค้าและสินค้าคงคลัง โดยเฉพาะการลดความผิดพลาดในระบบคลังสินค้า
สรุป
ISO9000 เป็นระบบคุณภาพที่เป็นมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 และถึงแม้ว่าจะเป็นมาตรฐานยุ่งยากและใช้ระยะเวลานานในการขออนุญาต แต่ผลของระบบ ISO9000 ก็ได้สร้างประโยชน์ให้กับอุสาหกรรมหลายประการเช่น เพิ่มระดับความพึงพอใจให้กับลูกค้าหรือผู้รับบริการ ทำให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพลดการเกิดความเสียหายในกระบวนการ ส่งผลให้มีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำลง และยังเพิ่มระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และผลิตภาพ หลาย ๆ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมได้มีความภาคูมิใจจากการได้รับระบบมาตรฐาน ISO9000 และได้ประโยชน์สำหรับองค์กรดังที่กล่าวมา นอกจากนั้นการได้รับ ISO9000 ยังแสดงถึงสถานะและจุดยืนทางการตลาด ภาพพจน์ และระดับของคุณภาพของอุตสาหกรรมนั้น ที่แสดงถึงมาตรฐานขององค์กร มาตรฐานของการผลิต และระดับควรมรับผิดชอบทั้งต่อภายในองค์กรและภายนอกองค์กรอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
Dzus, G., 1991, “Planning a successful ISO 9000 assessment”, Quality Progress, Vol. 24 No. 11, pp. 14-17.
Lofgren, G., 1991, “Quality system registration”, Quality Progress, , pp. 35-37.
Kochan, A., 1993, “ISO 9000: creating a global standardization process”, Quality, Vol. 32 No. 10, pp. 26-34.
Sateesh, K., 1992, “ISO 9000 sets the stage for global competition”, Controls & Systems, Vol. 39 No. 9, pp. 22-4.
Sprow, E., “Insights into ISO 9000”, Manufacturing Engineering, Vol. 109 No. 3, 1992, pp. 73-7.
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่