CT51 ดัชนีต้นทุนโลจิสติกส์ (Logistics Cost Index)
ลิขสิทธิ์ สำนักโลจิสติกส์
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ดัชนีต้นทุนโลจิสติกส์ (Logistics Cost Index) คือ ตัวเลขที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง เปรียบเทียบกับระยะเวลา ณ ปีฐาน
โครงสร้างดัชนีต้นทุนโลจิสติกส์ประกอบด้วย 4 หมวดได้แก่
1. ต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง (Inventory Carrying Cost)
2. ต้นทุนการจัดการคลังสินค้า (Warehousing Cost)
3. ต้นทุนการขนส่งสินค้า (Transportation Cost)
4. ต้นทุนการบริหารจัดการ (Administration Cost)
ข้อดีของการจัดทำดัชนีต้นทุนโลจิสติกส์
1. เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบาย มาตรการและแผนการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
2. เป็นข้อมูลพื้นฐานในการศึกษาวิเคราะห์วิจัยทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ ราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ภาวะเงินเฟ้อ
3. เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาต้นทุนโลจิสติกส์ และประกอบการคิดต้นทุนโลจิสติกส์ที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละไตรมาส
4. เป็นข้อมูลเปรียบเทียบสมรรถนะการดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนของผู้ประกอบการแต่ละอุตสาหกรรมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
5. เป็นเครื่องบ่งชี้ภาวะด้านต้นทุนโลจิสติกส์ของอุตสาหกรรมภายในประเทศ
ข้อเสียของการจัดทำดัชนีต้นทุนโลจิสติกส์
1. จำเป็นต้องใช้ข้อมูลสถิติด้านภาวะเศรษฐกิจของปีฐานที่แน่นอน และครอบคลุมอย่างแท้จริงจึงจะได้ข้อมูลที่แน่นอน
2. ใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานค่อนข้างมาก และใช้ข้อมูลค่อนข้างมากเช่นภาวะเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน เป็นต้น
3. ผู้ประกอบการเอกชน SME ได้รับผลประโยชน์น้อยกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สามารถใช้ข้อมูลในการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจได้
ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อยอดขาย
ต้นทุนจากกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ จากการบริการลูกค้า การขนส่ง การคลังสินค้า กระบวนการคำสั่งซื้อและข้อมูล ปริมาณการผลิต และสินค้าคงคลัง ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เปรียบเทียบกับยอดขายในแต่ละปี
ข้อดีของการจัดทำต้นทุนโลจิสติกส์ต่อยอดขาย
1. สามารถใช้เป็นดัชนีในการลดต้นทุนจากกิจกรรมการผลิตของผู้ประกอบการ
2. สามารถใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแข่งขันทางด้านธุรกิจ
3. การใช้สินทรัพย์มีความคุ้มค่ามากขึ้น
4. ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้เอง หรือจ้างที่ปรึกษาดำเนินการได้
ข้อเสียของการจัดทำต้นทุนโลจิสติกส์
1. หากต้องการข้อมูลที่จะสามารถเปรียบเทียบหรือแข่งขันกับสากลได้นั้น ต้องใช้ข้อมูลระดับสากลและข้อมูลกลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศเป็นตัวเปรียบเทียบ
2. เป็นข้อมูลของแต่ละอุตสาหกรรมหรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่ดำเนินการ
3. หากเป็นหน่วยงานอื่นภายนอกที่จะทำการศึกษา อาจได้ข้อมูลไม่ครบถ้วนหรือมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากข้อมูลบางตัวเป็นความลับของทางบริษัท โดยเฉพาะต้นทุนการผลิต หรือยอดขาย
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่