การบริหารจัดการโลจิสติกส์ (Logistics Management)
-------------------------------------
iok2u.com แหล่งรวมข้อมูลข่าวสารเรื่องราวน่าสนใจเพื่อการศึกษาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้
Big Data เรื่องชาวโลจิสติกส์พร้อมหรือยังกับการเข้าสู่ยุคอภิมหาข้อมูล
Gerd Leonhard นักคิดนักเขียนเกี่ยวกับอนาคต (Futurist) ชาวสวิส ได้เคยพูดไว้ในปี 2013 ว่า “อนาคตภายใน 6-7 ปี ข้อมูลจะมีคุณค่าทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองมากกว่าพลังงาน” Gerd ได้สรุปในเบื้องต้นว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจของโลกได้เคลื่อนตัวจากการที่เคยขับเคลื่อนด้วยพลังงานน้ำมัน (Oil) ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data) ซึ่งในอดีตเราคงคุ้นเคยกับกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน (Big Oil) กลุ่มบริษัทผู้ค้าน้ำมันยักษ์ใหญ่ทั้ง 5 บริษัทที่เราคุ้นเคยได้แก่ บีพี, เซพรอน, เอ็กซอนโมบิล, เชลล์ และโทเทล จากข้อมูลในอดีตปี 2004 บริษัทในกลุ่ม “Big Oil” มีมูลค่าการตลาดใน 10 อันดับแรกจำนวนถึง 3 บริษัท มีมูลค่ารวม 33 % ของมูลค่าทั้ง 10 อันดับ ในขณะที่มีกลุ่ม “Big Data” ติดอันดับมาเพียง 1 บริษัทคือ ไมโครซอฟท์มีมูลค่ารวม 11 % และในปี 2014 พบว่ามูลค่าการตลาดของ 10 บริษัทที่มียอดจำหน่ายสูงที่สุดในโลกซึ่งอยู่ในกลุ่ม Big Data คือ แอปเปิ้ล, ไมโครซอฟท์ และกูเกิ้ล (อันดับ 1, 3 และ 5 ตามลำดับ) โดยมีมูลค่ารวมคิดเป็น 38 % ของมูลค่ารวมของทั้ง 10 อันดับ ส่วนกลุ่ม “Big Oil” ยังมีเหลือติดมาเพียงแค่ 2 อันดับคือ เอ็กซอนโมบิล และปิโตรไชน่า โดยมีมูลค่ารวมกันคิดเป็น 20 % จากทิศทางเศรษฐกิจของโลกที่กล่าวมา จะเห็นว่ากลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ได้เคลื่อนตัวจากบริษัทที่มีรายได้จากการขับเคลื่อนด้วยพลังงานน้ำมันไปสู่การขับเคลื่อนด้วยข้อมูลสารสนเทศ (ยังไม่ได้นับกลุ่ม Facebook, Amazon และ Alibaba ที่เริ่มมีอันดับดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง) ช่วยยืนยันคำทำนายของ Gerd ว่าได้เป็นจริงแล้วโดยไม่ต้องใช้เวลารอไปถึง 6-7 ปี ดังนั้นความสำคัญของธุรกิจในอนาคตอาจกล่าวได้ว่า การทำงานในอนาคตจะมีการใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนธุรกิจมากขึ้น หรืออาจกล่าวว่า “ข้อมูลคือน้ำมันชนิดใหม่” (Data is the new oil)การจัดการในแนวคิดที่กำลังมาแรงคือเรื่องข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากพัฒนาการของเทคโนโลยีและระบบต่างๆ ในปัจจุบันที่ทำให้เกิดการมีข้อมูลมากมายหลายรูปแบบจากหลายแหล่งที่มา Big Data ถ้าแปลเป็นแบบไทยคงจะเป็นเรื่องของ ข้อมูลที่มีจำนวนมากมายมหาศาล จนบางคนเรียกว่าอภิมหาข้อมูล การเกิด Big Data มาจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสังคมข้อมูลข่าวสารทำให้เกิด 4 ส่วนที่สำคัญ คือ
1 ข้อมูลมีปริมาณมากขึ้นอย่างรวดเร็ว (Volume) จนทำให้การจัดเก็บในรูปแบบฐานข้อมูลเดิมทำได้ยากและยังอาจจะไม่สามารถจัดเก็บได้ทั้งหมด
2 ข้อมูลมีรูปแบบที่หลากหลายรูปแบบ (Variety) มีปริมาณแบบการนำเสนอข้อมูลที่มากแบบเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งยังสามารถเสนอได้ในหลายช่องทางเช่น ข้อความ รูปภาพ วีดิโอ มัลติมีเดีย
3 ข้อมูลจะมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว (Velocity) เกิดเป็นข้อมูลที่ใหม่ทันสมัยและเพิ่มปริมาณที่มากขึ้นอย่างรวดเร็วจากทุกสื่อทุกช่องทาง เช่น ข้อมูลจาก Social Media ข้อมูล Transaction ข้อมูลทางการเงิน เป็นต้น
4 ข้อมูลจะมีการปรับเปลี่ยนไปต่อเนื่อง (Veracity ) จากการที่ข้อมูลมีความไม่ชัดเจน ไม่มีรูปแบบที่แน่นอนตายตัว (unstructured) อาจมีให้เห็นได้ไม่ชัดเจน (uncleaned) หรือสูญหายล้าสมัยได้ง่ายจากที่มีการพูดถึงข้อมูลขนาดใหญ่กันเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน อาจเพราะเป็นยุคที่ข้อมูลจาก Social Media ที่เฟื่องฟู จนมีข้อมูลเกิดขึ้นจำนวนมาก ทุกคนสามารถที่จะผลิตข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย และยังเกิดมีอุปกรณ์ (Device) ที่มีความหลากหลายจำนวนมากราคาถูกลง จนเกิดมีอัตราการขยายตัวการใช้ที่สูงขึ้นมีการเข้าถึงใช้งานข้อมูลจำนวนมากได้อย่างง่ายดาย
ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าข้อมูลนั้นมีขนาดใหญ่จริงหรือไม่และจะใช้ช่วยในการทำงานได้ดีแค่ไหน
ที่มาข้อมูล
-
รวบรวมโดย
----------------------------------------------------------------
สนใจข้อมูลเพิ่มเติมดูที่
Big Data รวมข้อมูลและเรื่องราวที่เกี่ยวกับข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)
การบริหารจัดการโลจิสติกส์ (Logistics Management)
-------------------------------------
lm ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ณ ราคา (Logistics Cost / GDP) ประจำปี ปี 2550 – 2559
การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศมีประสิทธิภาพดีขึ้น ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมดำเนินการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาคธุรกิจไทยมีความตื่นตัวและให้ความสำคัญของการพัฒนาระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์ภายในองค์กรมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 17.1 ต่อ GDP ในปี 2550 เป็นร้อยละ 14.0 ต่อ GDP ในปี 2558 และปี 2559 มีแนวโน้มลดลงเหลือร้อยละ 13.9 ต่อ GDP ซึ่งประกอบด้วย ต้นทุนค่าขนส่งสินค้า ร้อยละ 7.5 ต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลังและต้นทุนการบริหารจัดการ ร้อยละ 5.1 และร้อยละ 1.3 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาความร่วมมือด้านการบริหารจัดการระดับโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำ0ถึงปลายน้ำ และการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Logistics) ยังมีการดำเนินการในวงจำกัดและไม่สะท้อนผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก
----------------------------------------
.
ที่มา
-
รวมรวมข้อมูลภาพ
- www.iok2u.com
-------------------------------------
การบริหารจัดการโลจิสติกส์ (Logistics Management)
-------------------------------------
ทำน้อยแต่ได้มาก (Do less, Get more) ด้วย Logistics
นายภาสันต์ วิชิตอมรพันธ์
นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ สำนักโลจิสติกส์
การแก้ไขปัญหาจากการดำเนินธุรกิจนั้น ถ้าเราแก้ไขปัญหาเดิมๆ ด้วยวิธีเดิมๆ ผลที่ออกมาก็จะยังคงเหมือนเดิม ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบการเปลี่ยนความคิดและจัดการด้วยแนวคิดใหม่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน แนวคิดการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน สำหรับผู้ประกอบการ SMEs สามารถแบ่งตามกิจกรรมโลจิสติกส์ 9 หัวข้อ ดังนี้
1. เข้าใจความต้องการของลูกค้าและส่งมอบได้ตามที่ต้องการ ผู้ประกอบการต้องสามารถคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า (Sales Forecast) ไว้ล่วงหน้า มีกระบวนการศึกษาข้อมูลความต้องการของตลาด เพื่อวางแผนจัดเตรียมวัตถุดิบ แผนการผลิต และแผนการจัดเตรียมสินค้าสำเร็จรูปให้พร้อมและตรงกับความต้องการของลูกค้า พร้อมที่จะจัดส่งสินค้าให้ตรงเวลาและจำนวนครบถ้วนตามความต้องการของผู้ซื้อ เพราะหากไม่มีสินค้าตามที่ผู้ซื้อต้องการหรือไม่สามารถจัดส่งได้ตามกำหนดเวลา ผู้ประกอบการก็ไม่อาจแปลงกิจกรรมการดำเนินธุรกิจให้เป็นยอดขายได้
2. วางแผนให้สอดคล้องกันตลอดทั้งโซ่อุปทาน ผู้ประกอบการ SMEs จะต้องมีการเชื่อมโยงระบบการทำงานทั่วทั้งองค์กรให้มีความสอดคล้องกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ตรงตามต้องการ มีการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย เช่น ฝ่ายขายและการตลาด ฝ่ายจัดส่ง ฝ่ายผลิต ฝ่ายคลังสินค้าและคลังวัตถุดิบ ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายการเงิน และมีการวางแผนการผลิตและส่งมอบวัตถุดิบร่วมกันกับซัพพลายเออร์ ทำให้สองบริษัทได้รับประโยชน์ในการจัดการระดับสินค้าคงคลังให้เพียงพอและเหมาะสม เป็นต้น
3. การสื่อสารข้อมูลกับผู้เกี่ยวข้องให้เข้าใจตรงกันทั้งหมด สถานประกอบการต้องมีการบันทึกข้อมูลที่ถูกต้อง ใช้ข้อมูลชุดเดียวกันและตรงกัน เพื่อให้ทุกหน่วยงานสื่อสารและเกิดความเข้าใจเหมือนกัน ทำให้การทำงานง่ายและตัดสินใจได้ดี
4. จัดการให้ได้วัตถุดิบมาอย่างมีประสิทธิภาพและต้นทุนที่เหมาะสม สถานประกอบการจะต้องเข้าใจตลาดของวัตถุดิบว่ามีลักษณะเป็นฤดูกาลหรือไม่จะต้องจัดซื้อให้ถูกจังหวะ และควรมีแหล่งซื้อวัตถุดิบหลายแหล่ง เพื่อไม่ให้ธุรกิจเกิดการหยุดชะงักเนื่องมาจากขาดวัตถุดิบ ซึ่งบริษัทที่ดีจะมีการวางแผนการผลิตและส่งมอบวัตถุดิบร่วมกับซัพพลายเออร์ เพื่อสามารถลดต้นทุน ลดเวลา และความผิดพลาดของการส่งมอบได้
5. เครื่องมือเครื่องใช้ในกระบวนการโลจิสติกส์ที่ทันสมัย ปัจจุบันการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ (Internet of Things) ร่วมกับเครื่องมืออุปกรณ์ในงานโลจิสติกส์ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดเวลา ลดขั้นตอนการทำงานและมีความแม่นยำในกระบวนการจัดการโลจิสติกส์ภายในองค์กรได้ดียิ่งขึ้น เช่น การนำระบบ Barcode และ RFID มาใช้ในการจัดการสินค้าภายในคลังสินค้า เป็นต้น
6. การจัดการคลังสินค้าให้มีประสิทธิภาพ ต้องจัดการพื้นที่จัดเก็บสินค้าในคลังให้เพียงพอต่อความต้องการด้านการผลิตและการขาย ต้องวางแผนจัดการโลจิสติกส์ให้สอดคล้องกับแผนการผลิตและแผนการจัดเก็บสินค้า มีขั้นตอนการปฏิบัติงานสำหรับการจัดการคลังสินค้า และมีการควบคุมการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานด้านโลจิสติกส์ และการเลือกสถานที่ตั้งคลังสินค้าที่เหมาะสมจะเป็นการสร้างความได้เปรียบด้านประสิทธิภาพการส่งมอบสินค้า และการจัดการต้นทุนโลจิสติกส์ในระยะยาว
7. การบริหารสินค้าคงคลัง ปัญหาที่พบมากของภาคธุรกิจก็คือ หน่วยของสินค้าคงคลังในแต่ละแผนกจัดเก็บข้อมูลไม่เหมือนกัน เช่น ฝ่ายบัญชีมองสินค้าคงคลังเป็นเงิน (บาท) ฝ่ายคลังสินค้ามองสินค้าคงคลังเป็น หน่วย (ชิ้น กล่อง พาเลท น้ำหนัก หรือตารางเมตร) ซึ่งการจัดการสินค้าคงคลังเมื่อมองในระดับโซ่อุปทาน ผู้ประกอบการควรจัดการสินค้าคงคลังอยู่ในรูปของ จำนวนวัน หรือ Day of Sales (DOS) หรือ Month of Sales (MOS) เพื่อให้ทุกฝ่ายมาประชุมร่วมกัน และกำหนดระดับสินค้าคงคลังขององค์กรที่เหมาะสมต่อไป
8. การขนส่ง ต้องขนส่งสินค้าให้ถูกต้องครบถ้วนทันเวลาและดำเนินการด้านเอกสารตามที่ระบุในข้อกำหนดการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ ควรมีการจัดการใช้รถขนส่งที่เหมาะสมกับสินค้าและปริมาณที่จะบรรทุก มีการวางแผนเส้นทางการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ หากมีการขนส่งเที่ยวกลับ (Backhauling) จะช่วยลดต้นทุนการขนส่ง และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานเชื้อเพลิงอีกด้วย
9. โลจิสติกส์ย้อนกลับ เมื่อวัตถุดิบที่ถูกส่งมาจากซัพพลายเออร์ไม่ตรงตามคุณภาพที่กำหนด ผู้ประกอบการจะต้องมีกระบวนการจัดการที่เป็นมาตรฐาน กำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานให้ชัดเจน และมีการดำเนินการแก้ปัญหาร่วมกันในการรับเข้าวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ หากจำเป็นต้องส่งคืนวัตถุดิบให้ดำเนินงานตามขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานที่ตกลงร่วมกับซัพพลายเออร์ ในกรณีพบสินค้าที่ส่งมอบให้ลูกค้ามีปัญหาและอาจเกิดความเสียหายต้องรีบดำเนินการเรียกคืนสินค้าตามมาตรฐานที่กำหนด
หลักการแนวคิดที่กล่าวมานี้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาการอบรมเชิงปฏิบัติการภายใต้โครงการ Workshop สัญจรขยายผลความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานระดับจังหวัดหรือ “Workshop สัญจรพารวย ด้วย Smart Logistics” สามารถติดตามข่าวสารการอบรมและผลการดำเนินงานของโครงการนี้จากเว็บไซต์ www.logistics.go.th ของสำนักโลจิสติกส์
ที่มา
- http://www.logistics.go.th/en/news-article/bol-article/9569-60lof41-do-less
รวมรวมข้อมูลภาพ
- www.iok2u.com
-------------------------------------
การบริหารจัดการโลจิสติกส์ (Logistics Management)
-------------------------------------
ประเภทของโลจิสติกส์ (Type of logistics)
ประเภทของโลจิสติกส์ (Type of logistics) สามารถแบ่งได้หลายแนวทาง ในปัจจุบันพบมีการแบ่งดังรายละเอียด 2 ลักษณะ ดังต่อไปนี้
1. โลจิสติกส์ แบ่งตามลักษณะการให้บริการ ในการศึกษาแบ่งตามหลักการให้บริการของจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดในการไหลของวัสดุ หรือ สินค้า หรือ ผู้โดยสาร ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.1 โลจิสติกส์เพื่อการผลิต (Manufacturing Logistics) หรือการจัดการวัสดุ (Material Management) หรือโลจิสติกส์ขาเข้า (Inbound Logistics) ซึ่งเป็นการเคลื่อนย้ายสินค้าจากผู้ขายปัจจัยการผลิตทั้งในและต่างประเทศ มาส่งยังโรงงาน จนถึงจุดสุดท้ายก่อนเป็นสินค้าสำเร็จรูป โดยจะสนับสนุนในการผลิตเป็นหลัก มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้แก่ การศึกษาอุปสงค์ของพื้นที่จัดเก็บและการเคลื่อนย้ายของวัตถุดิบ สินค้า ชิ้นส่วน บรรจุภัณฑ์ ที่ต้องจัดซื้อ จัดหา เพื่อการผลิต รวมถึงพิจาณาต้นทุนและการบริการ เพื่อให้มีมูลค่าเพิ่มในกิจกรรมทางเลือกที่ดีที่สุด
1.2 โลจิสติกส์เพื่อการกระจายสินค้า (Distribution Logistics) หรือการกระจายสินค้า (Distribution Management) หรือโลจิสติกส์ขาออก (Outbound Logistics) เป็นการเคลื่อนย้ายสินค้าสำเร็จรูปไปส่งลูกค้า จะสนองความต้องการในการจัดจำหน่าย และการตลาด โดยทำหน้าที่สำคัญ คือ การจัดการคลังสินค้าสำเร็จรูปและการขนส่ง โดยคลังสินค้าจะต้องมีสาธารณูปโภคพื้นฐาน อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงระบบการจัดการที่เหมาะสม
1.3 โลจิสติกส์สำหรับผู้โดยสาร (Passenger Logistics) เป็นโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับ การขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งต้องจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น ถนน ระบบราง สถานี สนามบิน ท่าเรือ ร่องน้ำ อุปกรณ์ในการขนส่ง การเชื่อมต่อการขนส่งหลายรูปแบบ ในประเทศไทย ในการขนส่งทางบก มีระบบการจัดการขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่ไม่ดีนัก ส่งผลให้เกิดภาวะความหนาแน่นของการจราจร ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโลจิสติกส์เพื่อการผลิต และโลจิสติกส์เพื่อการกระจายสินค้า
2. โลจิสติกส์ แบ่งตามวัตถุประสงค์
ในการแบ่งแบบนี้จะมีการพิจารณาจากวัตถุประสงค์ที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก โดยระบบ โลจิสติกส์ ในธุรกิจคือ การสร้างประโยชน์จากเวลาและสถานที่ หรือการสร้างคุณค่าโดยการขนส่งสินค้าจากจุดที่ผลิตไปยังจุดที่มีความต้องการของตลาด (อุปสงค์) เพื่อให้ส่งสินค้าได้อย่างถูกต้องทั้งรูปแบบ คุณภาพ ปริมาณ จังหวะเวลา ด้วยต้นทุนที่เหมาะสมไปสู่สถานที่ที่ถูกต้อง โดยมีพันธกิจของการจัดการโลจิสติกส์ คือ การวางแผน การดำเนินงาน และประสานการดำเนินงานทั้งในกิจกรรมต่างๆ ที่มุ่งบรรลุผลในด้านการตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยการนำเสนอบริการและคุณภาพในระดับที่เหนือกว่าด้วยต้นทุนการดำเนินงานที่สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้แบ่งประเภทโลจิสติกส์ตามวัตถุประสงค์ได้ดังนี้
2.1 วิศวกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Engineering) ประกอบด้วยกิจกรรมดังต่อไปนี้
- การจำกัดความต้องการการสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ในการเริ่มต้น
- การพัฒนาเกณฑ์เพื่อเป็นปัจจัยในการป้อนเข้าสู่การออกแบบโลจิสติกส์
- การประเมินทางเลือกของการออกแบบ ตลอดจนการศึกษาการประเมินผลได้และผลเสีย
- ความเหมาะสมของการออกแบบ และการทบทวนการออกแบบ
- การกำหนดความต้องการทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการออกแบบ เช่น จำนวนคน ระดับทักษะ อะไหล่ ส่วนประกอบ เครื่องมือทดสอบและสนับสนุน การขนส่ง สิ่งอำนวยความสะดวก ข้อมูล และคอมพิวเตอร์
- การทำการประเมินของโครงสร้างสนับสนุนด้วยวัตถุประสงค์ของการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการวัดประเมินกระบวนการอย่างสม่ำเสมอ และให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดีขึ้น เช่น การเก็บรวบรวมข้อมูล การประเมิน และประสิทธิภาพการปรับปรุงของกระบวนการ
2.2 โลจิสติกส์แบบย้อนกลับ คือ กระบวนการของการเก็บรวบรวมผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้ว และพยายามที่จะทำให้เกิดคุณค่าของผลิตภัณฑ์นั้นใหม่ด้วยวิธีการปรับปรุงใหม่ที่ดีที่สุด โลจิสติกส์แบบย้อนกลับ (Reverse Logistics) ครอบคลุมประเด็นที่กว้างขวางมากกว่าวิศวกรรมโลจิสติกส์ เช่น การนำกลับมาสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ (Value-added recovery) กระบวนการคืนสินค้าเพื่อนำมาทำลาย หรือเป็นสินค้าคงคลังแบบตามฤดูกาล การเรียกสินค้าคืน และ สินค้าคงคลังที่เกิน โลจิสติกส์แบบย้อนกลับยังรวมถึงการนำสินค้ากลับมาผลิตใหม่ การกำจัดวัสดุที่มีพิษ การกำจัดอุปกรณ์ที่ล้าสมัย และการนำสินทรัพย์กลับมาใช้ใหม่
2.3 โลจิสติกส์การผลิต (Production Logistics) คือ ส่วนของโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย การออกแบบ การพัฒนา การผลิต และการจัดหาวัสดุ รวมถึง การทำให้เป็นมาตรฐาน การทำสัญญา การประกันคุณภาพ การจัดซื้ออะไหล่ การวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือ มาตรฐานความปลอดภัยสำหรับเครื่องมือ ข้อกำหนดรายละเอียด (Specification) กระบวนการผลิต การทดลอง และ การทดสอบ การตั้งรหัสเอกสารของเครื่องมือ การปรับปรุงและการควบคุมการผลิต
2.4 โลจิสติกส์สำหรับผู้บริโภค (Consumer Logistics หรือ Operational Logistics) หรือ โลจิสติกส์เชิงปฏิบัติการ คือ ส่วนของโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกันตั้งแต่เริ่มผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ การจัดเก็บ การขนส่ง การบำรุงรักษา การซ่อม และความสามารถของการบริการ ส่วนการจัดการวัสดุ รวมถึงการควบคุมสต็อก การวางแผนผังคลังสินค้า หรือศูนย์กระจายสินค้า การควบคุมารเคลื่อนย้าย รายงานของเสีย และความน่าเชื่อถือ มาตรฐานความปลอดภัยสำหรับการจัดเก็บ การขนส่ง และการอบรมที่เกี่ยวข้อง
2.5 ผู้ให้บริการโลจิสติกส์จากภายนอก (Third Party Logistics :3PL) การให้บริการแบบนี้ส่วนมากบริษัทที่เป็นผู้ให้บริการมักจะเป็นเจ้าของยานพาหนะ และอุปกรณ์ที่ใช้อำนวยความสะดวกในการขนส่งเอง แต่จะใช้ระบบพันธมิตรทางการค้ากับผู้ขนส่งและจะประสานงานกับผู้ขนส่งที่เหมาะสม ในการให้บริการการขนส่ง ซึ่งลักษณะการบริการแบบนี้มีดังนี้
- ผู้ให้บริการขนส่ง (Transportation brokers) บริษัทที่ให้บริการขนส่งทางเรือ และผู้รับขน (Carrier) โดยวางแผนและประสานงานการขนส่งสินค้า
- ผู้รับจองระวาง (Freight forwarders) องค์กรที่รวบรวมการขนส่งขนาดเล็กจากผู้ขายหลายราย จากหลายสถานที่ เพื่อให้ขนาดขนส่งใหญ่ขึ้นเพื่อลดต้นทุน
- สมาคมเพื่อขนส่งทางเรือ (Shippers’ association) สมาคมที่ให้ความช่วยเหลือในการรวบรวมการขนส่งขนาดเล็ก ให้เป็นการขนส่งเต็มคันรถสำหรับบริษัทในสมาชิก
- บุคคลที่ 3 (Third parties) บริษัทที่ให้บริการประสานงานและบริหารงานด้านโลจิสติกส์ให้กับลูกค้า บางบริษัทขนาดใหญ่ได้ว่างจ้างบุคคลภายนอก (Outsource) ทำกิจกรรมทางโลจิสติกส์ให้บริษัทผู้ให้บริการบุคคลที่ 3 เป็นผู้บริหารงานแทน ทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานในสิ่งที่ตนเองถนัด
โดยกิจกรรมโลจิสติกส์ทั้งหมด ที่ดำเนินการโดยองค์กรหรือหน่วยเศรษฐกิจ (Economic Unit) ในระบบเศรษฐกิจ สามารถจำแนกการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวตามขอบเขตการดำเนินธุรกิจของผุ้ประกอบการได้ 2 รูปแบบ คือ
- กิจกรรมโลจิสติกส์ซึ่งผู้ประกอบการดำเนินการเองในองค์กร (In-house Logistics)
- กิจกรรมโลจิสติกส์ที่ผู้ประกอบการได้ว่าจ้างองค์กรอื่นมาดำเนินการให้ (Outsourcing)
ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์เองทั้งหมด หรือเลือกดำเนินการเพียงบางส่วนก็ได้ เนื่องจากในปัจจุบันสภาวะการแข่งขันเป็นตัวผลักดันให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องเร่งพัฒนาความสามารถหลัก (Core Competency) และมีความต้องการพันธมิตรทางธุรกิจมากขึ้นกว่าในอดีต จึงมีความนิยมในการใช้บริการจากผู้ให้บริการทางโลจิสติกส์ โดยเฉพาะ (Logistics Service Provider : 3PL) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งกิจกรรมที่เกิดจากการให้บริการด้านโลจิสติกส์ของผู้ให้บริการทั้งระบบ เรียกว่า อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Industry)
2.6 โลจิสติกส์ในระดับสากล (Global Logistics) ในยุคการค้าเสรีในปัจจุบัน ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจในระดับสากลมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจที่มีการเจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอ ผู้บริหารมักกำหนดเป้าหมายไปทั่วโลก เพื่อส่งเสริมตลาดต่างประเทศ กิจการจะต้องมีระบบโลจิสติกส์ ที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าในตลาดเฉพาะ การจัดการระบบโลจิสติกส์ในระดับสากลมีความซับซ้อนมากกว่าระบบโลจิสติกส์ภายในประเทศ ในการควบคุมเพื่อติดตามตรวจสอบความสำเร็จ หรือความล้มเหลวของระบบการกระจายสินค้าในตลาดต่างประเทศ โดยกิจกรรมโลจิสติกส์ในระดับสากล จะประกอบด้วย การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและสภาพตลาด การวางแผน การวางโครงสร้าง การนำแผนไปปฏิบัติ และการควบคุมระบบโลจิสติกส์
------------------------------------------------------------------
ที่มา
เอกสาร สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ 2558 www.logistics.go.th
รวมรวมข้อมูลภาพ
- www.iok2u.com
-------------------------------------
การบริหารจัดการโลจิสติกส์ (Logistics Management)
-------------------------------------
ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (Logistics Service Provider)
- ผู้ให้บริการรับเหมาช่วง (Subcontractor) เป็นรูปแบบการให้บริการแบบดั้งเดิมโดยการตัดช่วงงาน มีการแบ่งงานที่ไม่ซับซ้อนให้กับผู้ให้บริการภายนอกรับเหมาไปจัดการ อาจเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการในลักษณะที่ไม่ต้องใช้แรงงาน ทักษะ หรือเทคโนโลยีมากนัก หรือเป็นงานที่ใช้ความเสี่ยงที่สูงซึ่งจะเป็นการประหยัดกว่าหากให้ผู้ให้บริการภายนอกรับงานไป
- ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (Logistics Service Provider, LSP) เป็นลักษณะของการให้บริการจัดการงานส่วนที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ โดยงานที่ให้บริการจะเป็นกิจกรรมที่มีพันธะผูกพันถึงระดับการให้บริการอย่างเป็นกระบวนการ ซึ่งลักษณะงานมีความซับซ้อนกว่าผู้ให้บริการรับเหมาช่วงต้องใช้ทักษะความชำนาญเฉพาะด้านและเทคโนโลยี แต่การมอบหมายงาน ยังมีลักษณะไม่เป็นเชิงบูรณาการ โดยผู้ว่าจ้าง (User) อาจใช้ผู้ให้บริการ (Provider) หลายราย โดยผู้ว่าจ้างยังคงเข้าไปมีส่วนในการบริหารจัดการ เพื่อให้งานซึ่งมอบหมายให้กับผู้ให้บริการโลจิสติกส์แต่ละรายมีการเชื่อมโยงกัน ในที่นี้เรียกว่าผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (Logistics Service Provider, LSP) หรือ (Asset Based Logistics: 2PL) ซึ่งก็คือ การจัดการด้านการปฎิบัติงานโลจิสติกส์แบบดั้งเดิม เช่น การขนส่งและคลังสินค้า บริษัทที่ไม่มียานพาหนะหรือคลังสินค้าเป็นของตนเอง หรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานหรือโครงสร้างพื้นฐาน เหตุผลหลักคือ เพื่อลดต้นทุนหรือลดการลงทุนในการซื้อสินทรัพย์
- ผู้ให้บริการโลจิสติกส์บุคคลที่ 3 (Third Party Logistics Provider, 3PL) เป็นผู้ให้บริการงานที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์ ซึ่งการให้บริการต้องอาศัยทักษะและเครือข่ายธุรกิจในระดับโลก (Global Network) โดยมีเครื่องมือเทคโนโลยี และการลงทุน ลักษณะงานที่ให้บริการจะมีขอบเขตความรับผิดชอบกว้างขวาง โดยเป็นตัวแทนของผู้ว่าจ้าง (User) กับลูกค้าหรือคู่ค้า และมีความเชื่อมโยงเป็นบูรณาการโดยผู้ใช้บริการจะเป็นผู้ใช้งานจริง ผู้ให้บริการลักษณะนี้ต้องมีการลงทุนที่สูงโดยเฉพาะต้องมีเครือข่ายในระดับโลก (Third Party Logistics, 3PL/TPL หรือ Forwarding Logistics หรือ Contract Logistics) คือ กิจกรรมต่างๆ ที่กระทำโดยผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในนามของผู้ส่งของโดยประกอบด้วยอย่างน้อยการบริการการจัดการและการปฏิบัติการทางด้านการขนส่งและการจัดการสินค้าคงคลัง ดังภาพแสดง ความแตกต่าง ระหว่าง การรับเหมาช่วง (Subcontractor) กับการบริการแบบ 3PL
- ผู้ให้บริการบุคคลที่ 4 (Fourth Party Logistics Provider, 4PL) เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในระดับที่มี่การบูรณาการสูงมาก เป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการ ควบคุมผู้ให้บริการ3PL ในแต่ละรายให้สามารถเชื่อมโยงการทำงาน คือทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้รับบริการในการควบคุมและกำกับ 3PL ให้ปฏิบัติไปตามข้อตกลงซึ่งได้มีสัญญาไวกับผู้ใช้บริการ
- การบริหารจัดการโลจิสติกส์อย่างผู้นำ (Lead Logistics Management, LLM) คือแนวคิดที่มีการวิวัฒนาการของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ลำดับที่ 3 สำหรับการตอบสนองในด้านการให้บริการที่ดีกว่า ตรงตามความต้องการของลูกค้า และสามารถจัดการและบริหารงานโลจิสติกส์ที่มีความซับซ้อนได้มากกว่าการควบคุมและการแจ้งข้อมูลในห่วงโซ่อุปทาน ครอบคลุมไปถึงการให้บริการด้านเทคโนโลยี และการจัดการด้านธุรกิจด้วย
- รูปแบบการจัดการแบบร่วมกัน (Joint Operation Model, JOM) คือ การให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญการจัดการบริหารโซ่อุปทาน มีการกระจายความเสี่ยง มีแนวทางการแก้ไขปัญหาหรือการปรับปรุงอย่างลึกซึ้ง มีระบบเทคโนโลยีก้าวหน้า เป็นการพัฒนาเพื่อรองรับตลาด หัวใจของความสำเร็จในส่วนนี้คือ เทคโนโลยีทางด้านข่าวสาร ข้อมูลและระบบ ตัวอย่างเช่น องค์กรขนาดใหญ่ที่จัดตั้งหน่วยงานการจัดการบริหารโซ่อุปทานขึ้นมาเพื่อรองรับและสนับสนุนการบริหารโซ่อุปทานให้แก่บริษัทต่างๆในกลุ่มเดียวกัน เพื่อใช้ทรัพยากรส่วนกลางร่วมกัน
.
ที่มา
-
รวมรวมข้อมูลภาพ
- www.iok2u.com
-------------------------------------
การบริหารจัดการโลจิสติกส์ (Logistics Management)
-------------------------------------
เว็บไซต์ www.iok2u.com นี้เกิดมาจาก แรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward โดยมีเป้าหมายเล็ก ๆ ที่กำหนดไว้ว่า ทุกครั้งที่เข้าเรียนสัมมนาหรืออบรมในแต่ละครั้ง จะนำความรู้มาจัดทำเป็นบทความอย่างน้อย 3 เรื่อง เพื่อมาลงในเว็บนี้
ความตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับมาทำการถ่ายทอดต่อไป และหวังว่าจะมีคนมาอ่านแล้วเห็นว่ามีประโยชน์นำเอาไปใช้ได้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลย โดยอาจไม่ต้องอ้างอิงที่มาหรือมาตอบแทนผู้จัด แต่ขอให้ส่งต่อหากคิดว่ามันดีหรือมีประโยชน์ เพื่อถ่ายทอดความรู้และสิ่งดี ๆ ต่อไปข้างหน้าต่อไป Pay It Forward