iok2u.com แหล่งรวมข้อมูลข่าวสารเรื่องราวน่าสนใจเพื่อการศึกษาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้
การจัดการโลจิสติกส์ (Logistics management) และ การจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain Management)
ตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1980 การจัดการโลจิสติกส์ (Logistics management) และ การจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) ก็ได้รับความสนใจอย่างมากทั้งจากวงการวิชาการและภาคธุรกิจ เนื่องจากความต้องการที่จะลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นต่าง ๆ เช่น การขนส่ง การจัดเก็บสินค้า และ ต้นทุนการสั่งสินค้า รวมทั้ง เพื่อตอบสนองความต้องการที่สูงขึ้นของผู้บริโภค ทั้งการตอบสนองที่รวดเร็วจากการสั่งและการส่งสินค้า รวมทั้งคุณภาพของสินค้าอีกด้วย ตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมาได้มีหลักฐานต่าง ๆ ทั้งงานวิชาการและความสำเร็จของภาคเอกชนที่ยืนยันถึงประโยชน์ที่ภาคธุรกิจ และลูกค้าได้รับจากการพัฒนาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ทำให้องค์ความรู้ด้านนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
สำหรับประเทศไทยนั้น การจัดการโลจิสติกส์ (Logistics management) และ การจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) นั้น ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง เมื่อรัฐบาลได้กำหนดให้โลจิสติกส์เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีการออกยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในปี พ.ศ. 2547 และมีร่างแผนแม่บทด้านโลจิสติกส์ ในเวลาต่อมา โดยเริ่มในปี พ.ศ. 2549 ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2549 ตั้งแต่นั้นทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ต่างก็ให้ความสำคัญกับ การจัดการโลจิสติกส์ (Logistics management) และ การจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) สำหรับภาครัฐแล้วแต่ละหน่วยงานนั้นได้มีแผนการพัฒนาโลจิสติกส์ออกมาอย่างต่อ เนื่อง ภาคเอกชนก็มีการจัดฝึกอบรมภายในเกี่ยวกับองค์ความรู้ในการจัดการโลจิสติกส์ ขององค์กร องค์กรเอกชนรายใหญ่บางที่ก็ได้มีการส่งพนักงานไปเรียนต่อด้านโลจิสติกส์ในต่างประเทศอีกด้วย ในส่วนของภาคการศึกษานั้นหลายมหาวิทยาลัยได้เริ่มมีการเปิดสอนวิชาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานทั้งระดับ ปริญญาตรี โท และเอก รวมทั้งให้การสนับสนุนให้คณะอาจารย์ให้ไปศึกษาต่อในด้านนี้ทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย
นิยามเพิ่มเติมคลิก การจัดการโลจิสติกส์ (Logistics management)
นิยามเพิ่มเติมคลิก การจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain Management)
- โลจิสติกส์ โดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในขอบเขตขององค์กรเดียว ขณะที่โซ่อุปทานจะเกี่ยวข้องกับเครือข่ายของบรรดาบริษัทต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกันและประสานการทำงานของพวกเขาร่วมกัน เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้แก่ตลาด
- โลจิสติกส์ แบบเก่าเน้นความสนใจไปที่กิจกรรมเช่น การจัดซื้อจัดหา, การกระจายสินค้า, การซ่อมบำรุง และการจัดการสินค้าคงคลัง ขณะที่แนวคิดของการจัดการโซ่อุปทานจะรวมทุกส่วนของโลจิสติกส์แบบเก่า และครอบคลุมถึงกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การตลาด, การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่, การเงิน และบริการลูกค้าทั้งหมดตั้งแต่ต้นน้ำไปจนสิ้นสุดปลายน้ำ
sc การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน
การจัดการโซ่อุปทาน เกิดขึ้นในช่วงปลายยุคทศวรรษ 1980 และเริ่มนำใช้อย่างแพร่หลายในยุคทศวรรษ 1990 ก่อนหน้านั้นธุรกิจต่างๆ ใช้คำว่า “โลจิสติกส์” และ “การจัดการดำเนินงาน (Operations Management : OM)” แทนคำว่า “การจัดการโซ่อุปทาน” ทั้งนี้ ก็ได้มีผู้เสนอนิยามของคำว่า “โซ่อุปทาน” ไว้ต่างๆ ดังต่อไปนี้
“โซ่อุปทาน คือ การจัดเรียงบริษัท (Alignment of Firms) ซึ่งจะนำผลิตภัณฑ์และบริการเข้าสู่ตลาด” จากหนังสือ Fundamentals of Logistics Management โดย Lambert, Stock, และ Ellram (Lambert, Douglas M.,Jame R.Stock, and Lisa M.Ellram ,1998,Fundamentals of Logistics Management, Boston, MA:Irwin/McGraw-Hill, บทที่14)
“โซ่อุปทานประกอบด้วยขั้นตอนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกันทั้งทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อเติมเต็ม (Fulfill) ความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้ โซ่อุปทานมิได้หมายเฉพาะแค่ผู้ผลิตและผู้จัดหาวัตถุดิบ (Suppliers) เท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงผู้ขนส่งคลังสินค้า, ผู้ค้าปลีกและตัวลูกค้าเองอีกด้วย” จากหนังสือ Supply Chain Management: Strategy, Planning and Operations, Upper Saddle River, NJ: Prentice-Hall, Inc. บทที่1)
“โซ่อุปทานคือเครือข่ายของสิ่งอำนวยความสะดวกและทางเลือกของช่องทางการกระจายสินค้าหรือบริการที่ทำหน้าที่จัดซื้อจัดหาวัตถุดิบ การแปรูปวัตถุดิบเหล่านั้นไปเป็นชิ้นส่วนระหว่างการผลิตและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ตลอดจนการกระจายผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเหล่านั้นไปสู่ลูกค้า” จากบทความของ Ganeshan และ Harrison แห่งมหาวิทยาลัย Penn State ที่ชื่อ “An Introduction to Supply Chain Management”
แนวคิดของการจัดการโซ่อุปทานกับแนวคิดแบบเก่าของโลจิสติกส์มีความแตกต่างกันกล่าวคือ
* โลจิสติกส์ โดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในขอบเขตขององค์กรเดียว ขณะที่โซ่อุปทานจะเกี่ยวข้องกับเครือข่ายของบรรดาบริษัทต่างๆที่ทำงานร่วมกันและประสานการทำงานของพวกเขาร่วมกัน เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้แก่ตลาด
* โลจิสติกส์ แบบเก่าเน้นความสนใจไปที่กิจกรรม เช่น การจัดซื้อจัดหา, การกระจายสินค้า, การซ่อมบำรุงและการจัดการสินค้าคงคลัง ขณะที่แนวคิดของการจัดการโซ่อุปทานจะรวมทุกส่วนของโลจิสติกส์แบบเก่า และครอบคลุมถึงกิจกรรมต่างๆ เช่น การตลาด, การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่, การเงิน และบริการลูกค้าด้วยการจัดการโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงทั้งด้าน “ระดับการบริการลูกค้า” และ “ประสิทธิภาพการทำงานภายในบริษัทต่างๆในโซ่อุปทาน” ไปพร้อม ๆ กัน
อย่างไรก็ตาม ก็มีรูปแบบพื้นฐานที่จะนำมาใช้จัดการโซ่อุปทานได้ในทางปฏิบัติ แม้ว่าแต่ละโซ่อุปทานจะมีความต้องการหรือ “อุปสงค์”ของตลาด และความท้าทายจากการปฏิบัติงานที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่ถือเป็นสาระสำคัญเหมือนๆกันในทุกๆรายด้วย ทั้งนี้บริษัทต่างๆในโซ่อุปทานใดๆ ก็จะต้องตัดสินใจทั้งโดยลำพังและโดยรวมใน 5 ประเด็น คือ
1. การผลิต (Production) ตลาดต้องการผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง และควรจะผลิตในปริมาณเท่าไรและเมื่อไร กิจกรรมเหล่านี้รวมถึงการจัดทำตารางกำหนดเวลาการผลิตหลัก (Master Production Schedule) ซึ่งต้องคำนึงถึงความสามารถในการผลิต, การสมดุลงาน, การควบคุมคุณภาพ และการซ่อมบำรุงเครื่องจักรอุปกรณ์
2. สินค้าคงคลัง (Inventory) ควรเก็บสินค้าคงคลังอะไรไว้บ้างในแต่ละขั้นของโซ่อุปทาน ควรเก็บวัตถุดิบ, สินค้ากื่งสำเร็จรุป หรือสินค้าสำเร็จรูปเป็นสินค้าคงคลังในปริมาณเท่าใด เนื่องจากจุดประสงค์แรกสุดของสินค้าคงคลัง คือ การทำหน้าที่เป็นกันชน (Buffer) เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในโซ่อุปทาน อย่างไรก็ตาม จำนวนสินค้าคงคลังที่มากเกินไปก็ทำให้ ต้องแบกต้นทุนสูง ดังนั้น ระดับของสินค้าคงคลังและจุดสั่งสินค้าซ้ำ (Reorder Point) ใดที่เหมาะสมที่สุด
3. สถานที่ (Location) ที่ใดเหมาะสมและสะดวกที่จะตั้งสถานที่ผลิตและจัดเก็บสินค้าคงคลังที่ใด เป็นสถานที่ ๆ มีต้นทุนที่มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุดสำหรับการผลิตและจัดเก็บสินค้าคงคลัง ควรเป็นสถานที่เก่าที่มีอยู่แล้วหรือควรจะสร้างใหม่ เมื่อทำการตัดสินใจในเรื่องเหล่านี้แล้ว การตัดสินใจนั้นจะกำหนดหนทางที่เป็นไปได้สำหรับผลิตภัณฑ์ที่จะไหลผ่านเพื่อจัดส่งไปยังผู้บริโภคคนสุดท้าย
4. การขนส่ง (Transportation) จะย้ายสินค้าคงคลังจากสถานที่หนึ่งในโซ่อุปทานไปยังอีกสถานที่หนึ่งได้อย่างไร การขนส่งทางอากาศและทางรถบรรทุกมีความรวดเร็วสูงและมั่นใจได้ แต่มีราคาแพง การขนส่งทางเรือหรือทางรถไฟถูกกว่ามาก แต่ปกติจะใช้เวลานานและไม่แน่นอน ความไม่แน่นอนนี้ต้องทดแทนด้วยการเก็บสินค้าคงคลังในระดับที่สูงขึ้น เมื่อใดจะใช้การขนส่งแบบใดแบบหนึ่งได้ดีกว่ากัน
5. ข้อมูล (Information) ควรเก็บข้อมูลไว้มากแค่ไหนและควรแบ่งข้อมูลออกไปเท่าใด ข้อมูลที่ถูกเวลาและแม่นยำจะทำให้เกิดการประสานงานที่ดีกว่าและการตัดสินใจที่ดีกว่า ด้วยข้อมูลที่ดีนี้เองทำให้เราทำการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพว่าจะผลิตอะไร, จำนวนเท่าไร ควรเก็บสินค้าคงคลังไว้ที่ใดและวิธีการขนส่งแบบใดที่ดีที่สุด
------------------------------------------------------------------
sc การจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory Management)
รูประบบการดำเนินงานในคลังสินค้า (Warehouse Activities)
การจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory Management) เป็นกิจกรรมที่สำคัญกิจกรรมหนึ่งของการจัดการโลจิสติกส์ เนื่องจากส่งผลต่อประสิทธิภาพการตอบสนองความต้องการลูกค้า กล่าวคือคำว่า “สินค้าคงคลัง (Inventory หรือ Stock)” หมายถึงวัตถุดิบหรือสินค้าที่เก็บไว้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรทางธุรกิจ เช่น การผลิต การขาย เป็นต้น ทั้งนี้เราสามารถแบ่งประเภทของสินค้าคงคลังได้ออกเป็น 6 ประเภท ดังนี้ (Lambert และ Stock ,2001)
1) สินค้าคงคลังที่เก็บตามรอบ (Cycle Stock) หมายถึง สินค้าคงคลังที่มีไว้เติมเต็มสินค้าที่ถูกขายไปหรือ (วัตถุดิบ) ที่ถูกใช้ไปในกระบวนการผลิต ซึ่งสินค้าคงคลังประเภทนี้จะถูกเก็บไว้เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เราทราบแน่นอนรวมทั้งช่วยเวลารอคอย (และลดการสูการหลักในการบริหารและดำเนินธุรกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคลังสินค้าก็เพื่อให้เกิดระบบที่คุ้มกับการลLead-time) ในการสั่งวัตถุดิบหรือสินค้านั้นคงที่ โดยการกำหนดวันให้สินค้าคงคลังในแต่ละรอบมาถึง จะตรงกับเวลาที่วัตถุดิบหรือสินค้าชิ้นสุดท้ายนั้นหมดพอดี
2) สินค้าคงคลังระหว่างทาง (In-transit Inventories) หมายถึง วัตถุดิบหรือสินค้าที่อยู่ระหว่างการขนส่งจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งวัตถุดิบหรือสินค้าเหล่านี้อาจจะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าคงคลังที่เก็บไว้ตามรอบ (Cycle Stock) ถึงแม้ว่าวัตถุดิบหรือสินค้าที่อยู่ระหว่างขนส่งนั้นจะต้องรอจนกว่าจะไปถึงผู้ที่สั่งวัตถุดิบหรือสินค้านั้นเสียก่อนจึงจะสามารถนำไปใช้ในกระบวนการผลิตหรือนำไปขายต่อไปได้
3) สินค้าคงคลังสำรอง (Safety Stock or Buffer Stock) หมายถึง สินค้าคงคลังจำนวนหนึ่งที่เก็บไว้เกินจากจำนวนหรือปริมาณที่เก็บไว้ตามรอบปกติเนื่องจากความต้องการสินค้าของลูกค้าหรือช่วงเวลารอคอย (Lead-time) ในการสั่งสินค้านั้นมีความไม่แน่นอน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีสินค้าคงคลังสำรองไว้ในปริมาณที่เพียงพอกับการนำไปใช้ก่อน
4) สินค้าคงคลังที่เก็บไว้เพื่อบริหารความเสี่ยง (Speculative Stock) หมายถึง สินค้าคงคลังที่เก็บไว้ สำหรับตอบสนองความต้องการลูกค้าในปัจจุบันและยังเผื่อไว้สำหรับความไม่แน่นอนต่าง ๆ (Uncertainties) ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การสั่งซื้อวัตถุดิบจำนวนมากกว่าปกติเพราะมีการคาดการณ์ว่าวัตถุดิบจะมีขึ้นราคาหรือขาดแคลนในอนาคต เป็นต้น
นอกจากนี้การพิจารณาถึงปริมาณวัตถุดิบที่ต้องใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ “จุดคุ้มทุนในการผลิต (Production Economies)” หรือความต้องการส่วนลดในการสั่งซื้อแต่ละครั้งอาจทำให้มีความต้องการวัตถุดิบเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตที่มีปริมาณมากกว่าความต้องการลูกค้าที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละช่วงเวลา
5) สินค้าคงคลังที่เก็บไว้ตามฤดูกาล (Seasonal Stock) เป็นรูปแบบหนึ่งของสินค้าคงคลังที่เก็บไว้เพื่อบริหารความเสี่ยง โดยเป็นการสะสมสินค้าคงคลังไว้จำนวนหนึ่งก่อนที่ฤดูกาลของการขายสินค้าจะมาถึง ซึ่งสินค้าคงคลังประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่มีตามฤดูกาลรวมทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวแฟชั่น เช่น เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็จัดเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าตามฤดูกาลโดยผู้ผลิตจะมีการสต๊อกสินค้ารุ่นใหม่เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในแต่ละฤดูกาลที่กำลังจะมาถึง
6) สินค้าคงคลังที่ไม่มีการเคลื่อนไหว ( Dead Stock) หมายถึง สินค้าที่ถูกเก็บไว้และไม่มีความต้องการใช้ ทั้งนี้อาจเป็นสินค้าที่ล้าสมัย เสื่อมสภาพ หรือเป็นสินค้าที่ตกค้างอยู่ในคลังสินค้าเป็นเวลานาน เป็นต้น
การจัดการสินค้าคงคลังเป็นขึ้นตอนในการควบคุมวัสดุ อุปกรณ์ สิ่งของ สินค้า และวัตถุดิบต่างๆ ให้เกิดการไหลลื่นในกระบวนการทำงาน โดยคลังสินค้าทำหน้าที่หลังในการรับ เก็บรักษาและเบิกจ่าย ให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ต่อไป การส่งมอบของหน่วยงานในคลังสินค้ามีการส่งมอบทั้งดำเนินงานในคลังสินค้า (Warehouse Activities) ดังนี้
- งานรับสินค้า (Good Receipt)
- การตรวจพิสูจน์ทราบ (Identify gooks)
- การตรวจแยกประเภท (Sorting goods)
- งานจัดเก็บสินค้า (Put away)
- งานดูแลรักษาสินค้า (Holding goods)
- งานจัดส่งสินค้า (Dispatch goods)
- การนำออกจากที่เก็บ (Picking)
- การจัดส่ง (Shipping)
- การส่งสินค้าผ่านคลัง (Cross docking)
--------------------------------------------------------
sc การจัดการสินค้าคงคลัง ขนาดการสั่งซื้อที่ประหยัด
ขนาดการสั่งซื้อที่ประหยัด เป็นระบบการจัดการสินค้าคงคลังที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมานาน โดยระบบนี้ใช้กับสินค้าคงคลังที่มีลักษณะของความต้องการที่เป็นอิสระไม่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกับความต้องการของสินค้าคงคลังตัวอื่น จึงต้องวางแผนพิจารณาความต้องการอย่างเป็นเอกเทศด้วยวิธีการพยากรณ์อุปสงค์ของลูกค้าโดยตรง เช่น การวางแผนผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคล บริษัทรถยนต์จะพยากรณ์อุปสงค์จากจำนวนครอบครัวขนาดเล็กถึงปานกลางที่มีรายได้รวมเกินกว่า 50,000 บาทต่อเดือน
ระบบขนาดการสั่งซื้อที่ประหยัดจะพิจารณาต้นทุนรวมของสินค้าคงคลังที่ต่ำสุดเป็นหลักเพื่อกำหนดระดับปริมาณการสั่งซื้อต่อครั้งที่เรียกว่า “ขนาดการสั่งซื้อที่ประหยัด”
ในกรณีนี้กล่าวถึงขนาดการสั่งซื้อที่ประหยัดที่ง่ายที่สุดคือ ขนาดการสั่งซื้อที่ประหยัดที่อุปสงค์คงที่และสินค้าคงคลังไม่ขาดมือ โดยมีสมมติฐานที่กำหนดเป็นขอบเขตไว้ว่า
- ทราบปริมาณอุปสงค์อย่างชัดเจน และอุปสงค์คงที่
- ได้รับสินค้าที่สั่งซื้อพร้อมกันทั้งหมด
- รอบเวลาในการสั่งซื้อ ซึ่งเป็นช่วงเวลาตั้งแต่สั่งซื้อจนได้รับสินค้าคงคงที่
- ต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าและต้นทุนการสั่งซื้อคงที่
- ราคาสินค้าที่สั่งซื้อคงที่
- ไม่มีสภาวะของขาดมือเลย
หากสมมติฐานเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไป อาจจะต้องใช้การประมาณการในการคำนวณ หรือใช้สูตรในการคำนวณที่มีความซับซ้อนขึ้น แต่ทั้งนี้สามารถปรับวิธีการคำนวณที่จะกล่าวถึงเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้ตามความเหมาะสม
--------------------------------------------------------
sc การจัดการสินค้าคงคลัง จุดสั่งซื้อใหม่ (Reorder Point)
จุดสั่งซื้อใหม่ (Reorder Point) ในการจัดซื้อสินค้าคงคลัง เวลาก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งตัวหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าระบบการควบคุมสินค้าคงคลังของกิจการเป็นแบบต่อเนื่อง จะสามารถกำหนดการสั่งซื้อใหม่ได้เมื่อพบว่าสินค้าคงคลังลดเหลือระดับหนึ่ง ก็สั่งซื้อของมาใหม่ในประมาณคงที่เท่ากับปริมาณการสั่งซื้อที่กำหนดไว้ ซื้อเรียกว่า Fixed Order Quantity System โดยมีความสัมพันธ์แปรตามตัวแปร 3 ตัว คือ อัตราความต้องการใช้สินค้าคงคลังและรอบเวลาในการสั่งซื้อ (Lead Time)
1. จุดสั่งซื้อใหม่ในอัตราความต้องการสินค้าคงคลังคงที่และรอบเวลาคงที่ เป็นสภาวะที่ไม่เสี่ยงที่จะเกิดสินค้าขาดมือเลย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างแน่นอน
จุดสั่งซื้อใหม่ R = d x L
โดยที่ d = อัตราความต้องการสินค้าคงคลัง
L = เวลารอคอย
2. สต็อกเพื่อความปลอดภัย (Safety Stock) เป็นสต็อกที่ต้องสำรองไว้กันสินค้าขาดเมื่อสินค้าถูกใช้และปริมาณลดลงจนถึงจุดสั่งซื้อ (Reorder point) เป็นจุดที่ใช้เตือนสำหรับการสั่งซื้อรอบถัดไป เมื่ออุปสงค์สูงกว่าสินค้าคงคลังที่เก็บไว้ เป็นการป้องกันสินค้าขาดมือไว้ล่วงหน้า หรืออีกคำอธิบายหนึ่งเป็นการเก็บสะสมสินค้าคงคลังในช่วงของรอบเวลาในการสั่งซื้อ
3. ระดับการให้บริการ (Service Level) เป็นวิธีการวัดปริมาณสต็อกเพื่อความปลอดภัยเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดในด้านคุณภาพ โดยปกติในระบบคุณภาพลูกค้าจะมีการคาดหวังในระดับที่กำหนดเป็นร้อยละของการตอบสนอกคำสั่งซื้อ ซึ่งขึ้นกับนโยบายที่ป้องกันสต๊อกขาดมือรวมไปถึงต้นทุนสำหรับเก็บสต็อกเพิ่มเติมและการเสียยอดขาย
การควบคุมสินค้าคงคลังโดยการใช้ระบบ ABC (ABC Inventory Control)
ABC Analysis มาจากกฎของ Parelo (Parelo’s Law) จากการศึกษาการกระจายความมั่งคั่งในเมือง Milan สังเกตพบว่ามีสินค้าไม่กี่รายการของบริษัทที่จำหน่ายได้มากและสินค้าจำนวนมากจำหน่ายได้น้อย บริษัทสามารถนำหลักการดังกล่าวมาใช้บริหารสินค้าคงคลัง โดยจำแนกสินค้าตามปริมาณการขายเป็นระดับ A B และ C
เมื่อกล่าวถึงการบริหารและการควบคุมสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้บริหารต้องทำความเข้าใจว่าสินค้าคงคลังแต่ละรายการไม่สามารถใช้วิธีบริหารจัดการแบบเดียวกันได้ เมื่อสินค้าคงคลังบางรายการที่ถูกจำหน่ายออกไปได้เร็วสามารถนำรายได้เข้าบริษัทได้มากกว่ารายการอื่นที่มียอดจำหน่ายต่ำ ฉะนั้นรายการสินค้าคงคลังที่มียอดขายมากต้องถูกดูแลอย่างใกล้ชิด และช่วยให้ผู้วางแผนสินค้าคงคลังพิจารณาลงทุนได้ง่ายขึ้นโดยสังเกตจากรายการสินค้าที่มียอดจำหน่ายสูง
หลักของ Perato ช่วยให้ผู้วางแผนสินค้าคงคลังตอบโจทย์สำคัญต่อไปนี้
1. สามารถพิจารณาได้ว่าสินค้าคงคลังรายการใดสำคัญกว่ารายการอื่น
2. สามารถพิจารณาได้ว่าสินค้าคงคลังใดที่ต้องมีการควบคุมในระดับ
ที่สูงกว่ารายการอื่นเพื่อป้องกันสินค้าขาดสต็อก
การแบ่งระดับของสินค้าคงคลังที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่นมูลค่า หรือยอดการใช้การแบ่งสินค้าคงคลังออกเป็นระดับ ดังนี้
- ระดับ A ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าที่มีราคาแพงหรือมีปริมาณการเคลื่อนไหวสูง ผู้บริหารสินค้าคงคลังจึงต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เช่น กำหนดระดับบริการลูกค้าที่ 95% และมีสินค้าคงคลังไว้มากเพื่อป้องกันสินค้าหมดสต็อก และเก็บสินค้าคงคลังและสินค้าคงคลังสำรองไว้ในทุกคลังสินค้า ได้แก่ คลังสินค้ากลาง คลังสินค้าภูมิภาค และคลังสินค้าท้องถิ่น โดยให้มีการตรวจสอบสถานะสินค้าคงคลังทุกวัน เป็นต้น
- ระดับ B เป็นสินค้าคงคลังที่มีความสำคัญรองลงมาจากระดับ A จัดอยู่ในกลุ่มของสินค้าที่มียอดขายหรือใช้ในระดับปานกลางถึงต่ำ ต้องมีการตรวจสอบเป็นระยะๆ เช่น ตรวจสอบทุกสัปดาห์ ระดับบริการอยู่ที่ 90% เก็บสต็อกไว้ที่คลังสินค้าภูมิภาคทั่วไปมีการควบคุมอัตโนมัติโดยระบบคอมพิวเตอร์
- ระดับ C เป็นสินค้าที่มีปริมาณมากแต่การเคลื่อนไหวช้าหรือยอดจำหน่ายต่ำ บริษัทอาจจะกำหนดระดับบริการไว้ที่ 85% และเก็บสต็อกไว้ที่คลังสินค้ากลางของบริษัทเท่านั้นเพื่อลดต้นทุนคลังสินค้า และควบคุมโดยการใช้หลักระบบ 2 กระบะ หรือใช้ระบบการตรวจสอบเป็นระยะ
รูปที่ 2.8 การจำแนกสอนค้าคงคลังแบบ ABC
--------------------------------------------------------
เว็บไซต์ www.iok2u.com นี้เกิดมาจาก แรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward โดยมีเป้าหมายเล็ก ๆ ที่กำหนดไว้ว่า ทุกครั้งที่เข้าเรียนสัมมนาหรืออบรมในแต่ละครั้ง จะนำความรู้มาจัดทำเป็นบทความอย่างน้อย 3 เรื่อง เพื่อมาลงในเว็บนี้
ความตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับมาทำการถ่ายทอดต่อไป และหวังว่าจะมีคนมาอ่านแล้วเห็นว่ามีประโยชน์นำเอาไปใช้ได้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลย โดยอาจไม่ต้องอ้างอิงที่มาหรือมาตอบแทนผู้จัด แต่ขอให้ส่งต่อหากคิดว่ามันดีหรือมีประโยชน์ เพื่อถ่ายทอดความรู้และสิ่งดี ๆ ต่อไปข้างหน้าต่อไป Pay It Forward