ประวัติความเป็นมาการก่อตั้งโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ช่วงที่ 2 (พ.ศ. 2478 - 2515)
ประวัติความเป็นมาการก่อตั้งโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช รากฐานการศึกษาไทยในหัวเมืองเริ่มต้นที่นี่
เบ็ญจะมะ ช่วงที่ 2 (พ.ศ. 2478 - 2515) อาคารเรียนหลังที่สอง ใน พ.ศ. 2477 เนื่องจากโรงเรียนหลังแรกที่กล่าวมาแล้ว ได้ขยายชั้นเรียนและโรงเรียนรับนักเรียนที่มาเข้าเรียนมากจนล้นโรงเรียน ทำให้สถานที่คับแคบ โรงเรียนจึงได้แบ่งนักเรียนชั้นต้นๆ แยกไปเรียนและใช้สถานที่สโมสรเสือป่าเก่า (ตั้งอยู่แผนกศึกษาธิการจังหวัดขณะนี้) ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวเป็นที่เรียนด้วย ทำให้นักเรียนแยกโรงเรียนไปเรียนตามที่ต่างๆ เป็นการไม่สะดวกในการปกครองและการดูแลการเรียนการสอน
ต่อมาจังหวัดได้รับงบประมาณเงิน 4 หมื่นเศษ สร้างอาคารเรียนหลังใหม่ขึ้นอีก ในบริเวณกรมทหารเก่า ซึ่งย้ายไปตั้งอยู่ที่อำเภอว่ารินชำราบ โรงเรียนหลังที่กล่าวนี้คือ หลังที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของทุ่งศรีเมือง หรือด้านหลังของศาลากลางจังหวัด ในปัจจุบันงบประมาณ 4 หมื่นบาทนับว่าเป็นเงินก้อนใหญ่ เป็นที่ตื่นเต้นของชาวบ้านชาวเมืองมาก นับว่าเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ สร้างในเนื้อที่ราว 40 กว่าไร่ ทิศเหนือจดถนนเบ็ญจะมะและวัดชัยมงคล ทิศใต้จดถนนศรีณรงค์และวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม ในปัจจุบัน) ทิศตะวันออกจดถนนอุปราชและทุ่งศรีเมือง ทิศตะวันตกจดบ้านประชาชนและป่าช้าโรมันคาทอลิก ตัวอาคารอยู่ตรงกลางของพื้นที่ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีสนามและเสาธงขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนพูนดินมีขาเสาธงสี่ขาตั้งอยู่หน้าอาคารเรียน มีถนนรอบสนามฟุตบอลออกไปทางด้านหน้าโรงเรียน ด้านหน้าของอาคารทั้งสองข้างมีถนนเดินเข้าสู่โรงเรียน ด้านหลังเยื้องไปทางทิศใต้มีโรงพละศึกษา ด้านหลังมีบ้านพักครู โรงพัสดุ บ้านพักภารโรง และใช้เนื้อที่หลังสุดสำหรับงานเกษตรกรรมจนจดป่าช้าโรมันคาทอลิก
ตัวโรงเรียนเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ตั้งอยู่บนฐานที่ก่อด้วยซีเมนต์ ด้านหน้ามีมุข 3 มุขเรียงกันหลังคาเป็นกระเบื้อง ตัวอาคารเป็นไม้เนื้อแข็ง ทั้งหมดทั้งพื้น เพดานและฝาผนัง พื้นเข้าลิ้นสนิทจนเป็นเนื้อเดียวกัน น้ำที่หกจากชั้นบนไม่สามารถจะไหลลงมาชั้นล่างได้ ประตูหน้าต่างเป็นไม้สักหมดทุกบาน มีบันไดขึ้นลงจากชั้นล่างสู่ชั้นบนทั้งสองข้างตัวอาคารทาสีไข่ไก้ทั้งด้านนอกและด้านใน เพดานทาสีขาว กรอบประตูหน้าต่างคาดเส้นพื้นผนังและคิ้วไม้ด้วยสีน้ำตาลแดงคล้ำ มีฟุตบาทก่อด้วยซีเมนต์รอบตัวอาคาร มีถังน้ำสร้างด้วยซีเมนต์ขนาดใหญ่ 2 ถังไว้รองรับน้ำฝนให้นักเรียนไว้ดื่มกิน ทางขึ้นลงมี 6 ทางด้านหน้าและหลังด้านละ 2 ทาง ด้านข้างด้านละทาง การก่อสร้างประณีตและยอดเยี่ยมมาก เป็นที่นิยมยกย่องแก่ผู้พบเห็น ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนมาทาสีอาคารเป็นสีฟ้าอมเทาตลอดทั้งหลัง
อาคารทั้ง 2 ชั้นมีห้องเรียน 20 ห้อง ห้องประชุม 1 ห้อง อยู่ตอนกลางชั้นบน ห้องพักครู 1 ห้อง อยู่ชั้นล่างตอนกลาง ห้องครูใหญ่และห้องธุรการอยู่มุขกลางชั้นล่าง ห้องสมุดอยู่มุขกลางชั้นบนห้องประชุมบางครั้งใช้เป็นห้องวิทยาศาสตร์อยู่ตอนกลางชั้นบน
ผู้ออกแบบอาคารคือ พระสาโรจน์รัตนนิมมาน สถาปนิกประจำกระทรวงศึกษาธิการ ท่านบอกว่ารากฐานของโรงเรียนหลังนี้มั่นคงแข็งแรงมาก ถ้าเครื่องไม้ชำรุดพังลง จะรื้อไม้ออกแล้วก่อตึกบนฐานเดิมได้เลย แต่ไม่ปรากฏว่าโรงเรียนได้เกิดความชำรุดเสียหายแต่อย่างใดยังคงใช้การได้เป็นเวลานาน พื้นคงแนบสนิท ประตูหน้าต่างยังคงสภาพเดิม นับว่ามั่นคงแข็งแรงหาอาคารใดเทียบได้ยาก ผู้รับเหมาก่อสร้างคือนายเชย เป็นคนจีน ใช้เวลาก่อสร้างเกือบปีทราบว่าการรับเหมาก่อสร้างอาคารหลังนี้ ขาดทุนเป็นจำนวนมาก และนายเชยได้หายหน้าหายตาไปเลย
? ที่มา Internet
.
-----------------------------------------------------------------------------
? กลุ่มชุมชนไลน์ "พี่น้องเบ็ญจะมะมหาราช"
https://line.me/ti/g2/lJ6w6p7dSfpZGO0GcDO_ZA?utm_source=invitation&utm_medium=link_copy&utm_campaign=default
-----------------------------------------------------------------------------