iok2u.com แหล่งรวมข้อมูลข่าวสารเรื่องราวน่าสนใจเพื่อการศึกษาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้
CT51 15 วิธีในการลดต้นทุนด้านสินค้าคงคลัง
ลิขสิทธิ์ สำนักโลจิสติกส์
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ผู้เขียน...ผศ.ดร.สถาพร อมรสวัสดิ์วัฒนา
บทนำ
การแข่งขันที่รุนแรงทางธุรกิจมีความจำเป็นที่บริษัทต่างๆ ต้องปรับตัวเพื่อลดต้นทุนในการประกอบการ ต้นทุนด้านสินค้าคงคลังเป็นต้นทุนสำคัญที่มักจะถูกมองข้ามและส่งผลอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจ กลยุทธ์ในการลดต้นทุนด้านสินค้าคงคลังสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเก็บรักษาสินค้าคงคลังให้มีปริมาณน้อยลง หรือ การจัดซื้อปริมาณสินค้าให้มีความเหมาะสม แม้กระทั่งการผลักภาระด้านสินค้าคงคลังไปให้ซัพพลายเออร์หรือผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์เป็นผู้บริหารสินค้าคงคลังให้
คำสำคัญ ต้นทุนสินค้าคงคลัง, การจัดการสินค้าคงคลัง, การจัดการโลจิสติกส์
การลดต้นทุนด้านสินค้าคงคลัง
ปัจจัยสำคัญในการลดต้นทุนด้านสินค้าคงคลัง คือ การวัดประสิทธิภาพด้านการบริหารสินค้าคงคลังอย่างต่อเนื่องและค้นหาวิธีการในการปรับปรุงอยู่เสมอ
ในบทความนี้ได้นำข้อเสนอแนะในการลดต้นทุนด้านสินค้าคงคลังของนายราล์ฟ คอกซ์ (Ralph Cox) ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริษัท Tompkins Associates ซึ่งได้อธิบายเทคนิคในการลดต้นทุนและปริมาณสินค้าคงคลังไว้ในหนังสือ เรื่อง The Supply Chain Handbook โดยมี James A Tompkins และ Dale Harmelink เป็นบรรณาธิการ และจัดพิมพ์โดย Tompkins Press ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
1. สร้างวัฏจักรของสินค้าคงคลังบนฐานด้านเศรษฐศาสตร์ (Base Cycle Stock on Economics)
สำหรับสินค้าที่ทำการจัดซื้อ ให้ทำการบริหารต้นทุนการจัดซื้อ (Acquisition Transaction Costs) ให้ต่ำลง ส่งผลต่อการลดต้นทุนด้านการจัดซื้อและการรับสินค้า หรือการลดปริมาณสินค้าคงคลังโดยเฉลี่ยได้
สำหรับสินค้าที่ทำการผลิต หากต้นทุนการติดตั้งหรือการเปลี่ยนเครื่องมือ (Equipment Changeover Costs) มีค่าสูง การแก้ไขกิจกรรมนี้ให้มีเวลาการเปลี่ยนเครื่องมือที่สั้นลงจะสามารถลดปริมาณสินค้าคงคลังได้ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้
2. ควบคุมต้นทุนการสั่งซื้อ (Control Order Transaction Costs)
ในการสั่งซื้อควรใช้คอมพิวเตอร์หรือระบบสารสนเทศในการสร้างคำสั่งซื้อ (Purchase Orders: PO) การใช้ระบบ Electronic Data Interchange: EDI ในการส่งผ่านข้อมูลคำสั่งซื้อ (PO) การใช้ระบบแจ้งการขนส่งสินค้าล่วงหน้า (Advance Shipping Notices: ASNs) การใช้ระบบการประเมินซัพพลายเออร์ เพื่อการจัดลำดับความสำคัญเพื่อทำการลดต้นทุนการจัดซื้อ
ในโรงงานอุตสาหกรรม การวางแผนความต้องการใช้วัตถุดิบหรือชิ้นส่วนล่วงหน้า การใช้เครื่องมือชนิดพิเศษ การปรับเปลี่ยนเครื่องมือหรือแม่พิมพ์ล่วงหน้าก่อนที่การผลิตล็อตเดิมจะสิ้นสุด การทำงานเป็นทีม การบำรุงรักษาเครื่องมือจะสามารถลดปริมาณสินค้าคงคลังได้
3. ลดต้นทุนการเก็บสินค้าคงคลัง (Lower Inventory Costs)
โดยการเพิ่มการใช้ประโยชน์ของพื้นที่โดยการให้เช่าพื้นที่ที่มีอยู่ หรือ ลดการขยายพื้นที่คลังสินค้าโดยใช้ เครื่องมือที่สามารถขนถ่ายสินค้าในช่องแคบ การใช้ชั้นลอย หรือวิธีการเก็บสินค้าที่เหมาะสมมากขึ้น
4. การตั้งระดับปริมาณสินค้าเผื่อขาดบนพื้นฐานของความพึงพอใจของลูกค้า (Base Safety Stock on Customer Service)
การตั้งระดับปริมาณสินค้าคงคลังเผื่อขาด (Safety Stock) โดยแบ่งกลุ่มของสินค้า (Class) ให้มีความเหมาะสมและชัดเจน ตรวจสอบข้อมูลของระดับปริมาณสินค้าเผื่อขาดอย่างต่อเนื่อง และตั้งระดับความต้องการของสินค้าคงคลังเพื่อตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าในรูปแบบของเป้าหมายทางการเงิน สามารถเป็นตัววัดการลดปริมาณสินค้าคงคลังเผื่อขาด หรือลดเหตุการณ์ที่สินค้าคงคลังขาดแคลน และเป็นการเพิ่มผลกำไร
5. พยากรณ์ความต้องการของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ (Use Routine Demand Forecasting)
การใช้ประสบการณ์แก้ไขสมการพยากรณ์ในการคำนวณความต้องการของสินค้าเพื่อที่ลดความผิดพลาดจากการใช้สูตรพยากรณ์เพียงอย่างเดียวจะสามารถลดการเก็บสินค้าเกินความจำเป็น สินค้าขาดแคลน ทำให้มีสินค้าเพียงแค่ความต้องการของลูกค้า
6. คำนึงถึงผลกระทบของเหตุการณ์ (Forecast Events)
เหตุการณ์บางเหตุการณ์ทำให้เกิดความต้องการของสินค้าเพิ่มขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ต้องคำนึงถึงเหตุการณ์เหล่านั้นในการจัดการสินค้าคงคลัง อาทิ เทศกาลสงกรานต์ที่ทำให้ความต้องการตั๋วรถยนต์โดยสารประจำทางหรือตั๋วเครื่องบินเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องมีการวางแผนสินค้าคงคลังรองรับเหตุการณ์ดังกล่าว
7. วางแผนการประกอบไว้ส่วนท้าย (Think Postponement)
สำหรับสินค้าที่เป็นชิ้นส่วนที่สามารถนำไปผลิตสินค้าต่อเนื่องได้อีกหลายชนิด (Parent Products) ควรจะทำการเก็บสินค้าคงคลังไว้ในรูปแบบของสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (Semi-Finished Product) เพื่อลดปริมาณสินค้าคงคลังทั้งหมด เนื่องจากสามารถลดปริมาณสินค้าคงคลังของทุกรายการแต่ละแบบได้
8. จัดรายการของสินค้าให้เหมาะสม (Rationalize SKUs)
ทำการกำจัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่สร้างกำไรเพิ่มออกจากรายการสินค้าทั้งหมด โดยอาจทำการแบ่งประเภทสินค้าเป็นสินค้าที่สามารถสร้างผลกำไร สินค้าที่เท่าทุน และสินค้าที่ขาดทุน แล้วจัดรายการสินค้าให้มีแต่เฉพาะสินค้าที่มีกำไรหรือสินค้าที่เท่าทุน เพื่อลดภาระจากต้นทุนการเก็บสินค้าคงคลัง
9. ลดระยะเวลาในการสั่งซื้อ (Reduce Lead Times for Product Acquisition)
การลดระยะเวลาในการสั่งซื้อวัตถุดิบหรือชิ้นส่วน ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาในการสั่งซื้อจากซัพพลายเออร์หรือระยะเวลาในการขนส่งสินค้า หรือ ระยะเวลาในการรับสินค้า จะส่งผลให้ปริมาณความต้องการในการเก็บสินค้าคงคลังลดลง นอกจากนี้การลดความไม่แน่นอนของระยะเวลาในการสั่งซื้อก็สามารถลดความต้องการของการเก็บสินค้าได้
10. สร้างความร่วมมือระหว่างซัพพลายเออร์ในการสั่งซื้อสินค้า (Implement Common Supplier Joint Procurement for Purchased Parts)
สร้างความร่วมมือของซัพพลายเออร์หลักในการจัดซื้อสินค้าหลายรายการ (Multiple SKUs) เพื่อลดต้นทุนการจัดซื้อต่อหน่วยของสินค้า ดังนั้นผู้ประกอบการสามารถจัดซื้อสินค้าได้ถี่ขึ้น และลดความจำเป็นในการเก็บสินค้าคงคลัง
นอกจากนี้การสร้างความร่วมมือของซัพพลายเออร์หลักที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน สามารถเพิ่มการใช้ประโยชน์ของรถบรรทุกขนส่งสินค้าให้สามารถขนสินค้าได้เต็มน้ำหนักบรรทุกมากขึ้น ดังนั้นการจัดซื้อสินค้าสามารถทำได้ถี่ขึ้น ส่งผลให้การจัดการสินค้าคงคลังทำได้ง่ายขึ้น
11. จัดส่งสินค้าต่อไปให้ลูกค้าเมื่อสินค้ามาถึง (Cross-Dock Customer Shipments)
การจัดการจัดส่งสินค้าต่อไปให้ลูกค้าเมื่อสินค้ามาถึง (Cross-Dock) จะสามารถลดความต้องการในการเก็บสินค้าคงคลัง เนื่องจากสินค้าสามารถนำส่งต่อไปยังลูกค้าได้ทันที โดยไม่ต้องทำการจัดเก็บสินค้า นอกจากนี้การรวบรวมความต้องการของสินค้าจากแหล่งวัตถุดิบหรือสินค้าไว้ในคำสั่งซื้อเดียวแล้วจัดส่งสินค้าต่อไปให้ลูกค้าปลายทางหลายแห่งเมื่อสินค้ามาถึง จะสามารถลดต้นทุนการจัดซื้อและลดปริมาณสินค้าคงคลัง
12. การให้ซัพพลายเออร์เป็นผู้บริหารสินค้าคงคลัง (Use Vendor-Managed Inventory: VMI)
สร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมให้ซัพพลายเออร์เข้ามารับผิดชอบการบริหารสินค้าคงคลัง เนื่องจากซัพพลายเออร์สามารถทราบปริมาณสินค้าคงคลังและแผนการผลิตสินค้าของฝ่ายตนเอง รวมทั้งความต้องการที่แท้จริงของสินค้าพร้อมกับปริมาณสินค้าคงคลังของลูกค้า ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าคงคลังทั้งฝ่ายซัพพลายเออร์และลูกค้าลดลง
13. รวมรายการสินค้าระหว่างการขนส่ง (Try Merge-in-Transit)
กรณีลูกค้ามีความต้องการรับสินค้าหลายรายการในเวลาเดียวกัน ในระหว่างการขนส่งอาจจะมีการรวมบางรายการที่มาจากสถานที่ต่างกันมาขนด้วยกันเพื่อความสะดวกในการรับสินค้าของลูกค้าภายในครั้งเดียว ทำให้การขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสินค้าคงคลังได้ดีขึ้น เนื่องจากสามารถขนส่งสินค้าได้ถี่มากขึ้น ต้นทุนสินค้าคงคลังจะลดลง
14. เก็บสินค้าคงคลังเฉพาะเท่าที่จำเป็น (Keep in Stock, but not Everywhere)
ในสถานการณ์ที่มีศูนย์กระจายสินค้าหลายแห่ง แต่ละแห่งทำการเก็บสินค้าบางรายการที่ไม่เหมือนกันในปริมาณน้อยเท่านั้น ไม่จำเป็นที่ทุกแห่งจะต้องมีการเก็บสินค้าคงคลังที่เหมือนกัน ดังนั้นปริมาณสินค้าคงคลังโดยรวมจะน้อยลง
15. เคลื่อนย้ายสินค้าคงคลัง (Transfer Instead of Purchase)
เมื่อสินค้าคงคลังของสินค้าบางรายการ ณ คลังสินค้าแห่งหนึ่งมีมากเกินไป แต่เกิดความต้องการสินค้าประเภทเดียวกัน ณ คลังสินค้าอีกที่หนึ่ง ดังนั้นระบบในการเกลี่ยปริมาณสินค้าคงคลังจากที่หนึ่งมาที่หนึ่งที่มีประสิทธิภาพ จะส่งผลดีต่อการบริหารสินค้าคงคลังได้ดี อย่างไรก็ตาม ต้นทุนในการเคลื่อนย้ายสินค้านี้ต้องอยู่ในระดับที่จูงใจด้วย
ที่มา:
- หนังสือ เรื่อง “The Supply Chain Handbook” บรรณาธิการโดย James A Tompkins และ Dale Harmelink และจัดพิมพ์โดย Tompkins Press
- บทความเรื่อง “15 Resolutions You Can Make To Reduce Inventory in 2005” ของนิตยสาร Inventory Management Report เดือนมกราคม 2548
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ที่มาภาพและรวบรวมโดย www.iok2u.com
CT51 e-Supply Chain
ลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2551 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ผู้เขียน ผศ.ดร.สุวรรณี อัศวกุลชัย
บทคัดย่อ: e-Supply Chain เป็นกระแสธุรกิจแบบ e-Business ที่บริษัทหรือองค์กร รวมทั้งคู่ค้าทำธุรกิจร่วมกัน มีเป้าหมายอย่างเดียวกัน ในการนำไปสู่ทีมที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และน่าเชื่อถือ ทำให้ได้เปรียบคู่แข่ง
คำหลัก : e-Supply Chain, e-Business, Supply Chain Management, One Stop Service
โซ่อุปทาน (Supply Chain) เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การจัดซื้อจัดหา (Procurement) การผลิต (Manufacturing) การจัดจำหน่าย (Distribution) การขนส่ง (Transportation) และการจัดเก็บ (Storage) ที่เชื่อมโยงกระบวนการดำเนินธุรกิจทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกันเป็นโซ่อุปทานหรือเครือข่าย เพื่อให้เกิดการประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้การดำเนินงานมีต้นทุนต่ำและมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระบวนการเชื่อมโยงขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะในองค์กรเท่านั้น แต่ยังจะเชื่อมต่อกับองค์กรอื่น ภายนอกด้วย ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า ผู้จัดหาวัตถุดิบ ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายหรือร้านค้าปลีก
การบริหารจัดการซัพพลายเชน (Supply Chain Management) จึงเป็นการบริหารกระบวนการต่างๆ ในโซ่อุปทาน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจในการทำงานกันอย่างใกล้ชิดในขั้นตอนต่างๆ ที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันทั้งในองค์กรและนอกองค์กรเป็นสำคัญ จึงจะทำให้ระบบโซ่อุปทานมีประสิทธิภาพ (Efficiency) อันจะมีผลต่อการสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าในที่สุด
จากการเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจใหม่ ทำให้วิถีทางในการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Business ซึ่งต้องมีการนำเทคโนโลยีช่วยในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสื่อสารผ่านเครือข่ายหรืออินเตอร์เน็ตที่มีบทบาทอย่างมากในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ และข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมทุกมุมโลกตลอดเวลา ทั้งยังมีต้นทุนในการดำเนินการต่ำ โดยเฉพาะใช้แรงงานคนน้อยมาก
องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่มีการพัฒนาการเชื่อมโยงระบบสารสนเทศระหว่างองค์กรมาผนวกใช้กับระบบบริหารซัพพลายเชน (Supply Chain Management) เกิดเป็นแนวคิดใหม่เรียกว่า "อี-ซัพพลายเชน (e-Supply Chain)" เพื่อทำให้ระบบบริหารจัดการซัพพลายเชนเกิดประสิทธิผล (Effectiveness) อย่างจริงจัง เนื่องจากแต่ก่อนผู้บริหารยังเข้าไม่ถึงหัวใจของ Supply Chain จึงมักไม่ค่อยให้ความสำคัญที่จะนำมาใช้กำหนดเป็นกลยุทธ์การบริหารต้นทุน ทั้งยังเห็นว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการสร้างระบบรักษาความปลอดภัยของการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางธุรกิจ
e-Supply Chain เป็นแนวคิดที่บริษัทหรือองค์กร รวมทั้งคู่ค้าที่มาทำธุรกิจร่วมกัน ถือเป็นทีมเดียวกัน จะต้องมีเป้าหมายอย่างเดียวกัน และในกระแสการดำเนินธุรกิจที่แข่งขันกันอย่างรุนแรง ทีมที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็วและน่าเชื่อถือเท่านั้นจึงจะได้เปรียบคู่แข่ง สามารถเอาชนะและอยู่รอดเป็นเบอร์หนึ่งหรืออยู่แถวหน้าได้ นอกจากนั้น อี-ซัพพลายเชน (e-Supply Chain) ดังแสดงในรูปที่ 1 ยังเป็นการสร้างพลังต่อรองได้เช่นเดียวกับองค์กรขนาดใหญ่ชั้นนำทั้งหลาย
รูปที่ 1 ตัวอย่างโครงสร้างของ e-Supply Chain
จากรูปที่ 1 แสดงถึงตัวอย่างโครงสร้างของ e-Supply Chain ซึ่งประกอบด้วย 1. Supply Chain Replenishment 2. Collaborative Planning 3. Collaborative Product Development 4. E-Procurement และ 5. E-Logistics
ซึ่งจาก e-Supply Chain สามารถแสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีสารสนเทศที่นำมาใช้ ดังแสดงในรูปที่ 2
รูปที่ 2 ตัวอย่างโครงสร้างของการบูรณาการของ Back office และ Front Office
จากรูปที่ 2 แสดงถึงการบูรณาการของ Back Office และ Front Office ซึ่ง Back Office เป็นการเชื่อมโยงระหว่าง Extranet ของ Supplier และ Business Partners กับ Intranet ภายในบริษัท ซึ่งจะเป็นข้อมูลของลูกค้า จากนั้นในส่วนของ Front Office ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระหว่าง Intranet ภายในบริษัทกับ Internet ของบริษัทคู่ค้า รวมไปถึงผู้จัดจำหน่าย ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศที่นำมาใช้ ได้แก่ EDI, Mobile Computing, Point-of-Service, Virtual Banking, Neural Networks, Smartcard เป็นต้น
สำหรับระบบ One Stop Service บนระบบอินเตอร์เน็ต นับเป็นตัวอย่างการจัดการระบบบริหารโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพได้จริง โดยนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการบริหาร โดยเฉพาระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบโซ่อุปทาน โดยลูกค้าเป็นผู้เริ่มต้นกิจกรรมด้านธุรกิจเองภายใต้ระบบอัตโนมัติทั้งหมด ตั้งแต่การเลือกสินค้า รูปแบบการผลิตที่ต้องการ การจ่ายเงิน รวมไปถึงการจัดส่งอย่างเป็นระบบ ลูกค้าสามารถเห็นการส่งถ่ายและบริหารข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว สามารถโต้ตอบกันได้แบบ Real Time และมีต้นทุนต่ำ ซึ่งเป็นผลดีในการช่วยให้การทำงานและประสานกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีประสิทธิภาพ เกิดการพึ่งพาซึ่งกันและกัน สามารถนำทรัพยากรต่างๆ โดยเฉพาะข้อมูลสารสนเทศ (Information Technology) มาใช้ประโยชน์ร่วมกันในการวางแผน คาดการณ์หรือตัดสินใจ เพื่อพัฒนาทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องในโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพสูง
ขั้นตอนการทำงานของระบบ One Stop Service บนอินเตอร์เน็ต เมื่อลูกค้าทำการสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบแล้ว คำสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าจะถูกแปรรูปเป็นใบเบิกสินค้าจากคลังสินค้า หรือตลอดจนเข้าสู่ระบบการวางแผนการผลิต และสั่งซื้อวัตถุดิบไปยังผู้ขายวัตถุดิบด้วยในกรณีสินค้าที่สั่งซื้อขาดสต็อก ซึ่งวิธีการต่อเชื่อมระหว่างลูกค้า โรงงาน คลังสินค้า ช่วยให้ประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น ทั้งในแง่ของความเร็วในการบริการ และการลดต้นทุนในการดำเนินงานด้วย นอกจากนั้นระบบส่งข้อมูลที่ลูกค้าเป็นผู้จัดทำจะถูกส่งเข้าสู่ระบบการจัดการอัตโนมัติทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์ใบจ่าหน้าพัสดุภัณฑ์ การพิมพ์ใบกำกับสินค้า ออกใบเสร็จรับเงิน หรือแม้แต่บันทึกบัญชี ซึ่งล้วนแล้วแต่ใช้ข้อมูลในชุดเดียวกันจากที่ลูกค้าเป็นผู้กรอกมาให้ตั้งแต่แรกบนระบบอินเตอร์เน็ต
นอกจากนี้การบริหารสินค้าคงคลัง (Inventory Management) ทั้งสินค้าที่ผลิตแล้วเสร็จ (Finish Goods) หรือวัตถุดิบก็จะง่าย มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีต้นทุนต่ำ สินค้าหรือวัตถุดิบจะมีอยู่เต็มพอเพียงที่จะเบิกใช้ได้ตลอดเวลา ปัญหาสินค้าคงคลังจะลดลง เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่วนการจัดจำหน่ายและการขนส่งสินค้าก็จะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ถูกต้องและรวดเร็วขึ้นด้วยเส้นทางที่มีต้นทุนต่ำ สร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า
การเชื่อมต่อจึงเป็นหัวใจของการเพิ่มศักยภาพของภาคธุรกิจ เมื่อทุกกระบวนการในระบบโซ่อุปทาน ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดจะช่วยให้การบริหารธุรกิจมีต้นทุนต่ำลง เพราะการบริหารและจัดการโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง เช่น การจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบและบริการ หากบริหารงานให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้ต้นทุนการซื้อและการบริการลดลง ตลอดจนโซ่อุปทานแบบย้อนกลับ (Reverse Supply Chain) ที่ลูกค้าสามารถส่งคืนซากสินค้าให้กับผู้ผลิต เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำ นำไปบำบัดหรือกำจัดต่อไป ทั้งหมดนี้ยังเป็นแนวทางการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่นำพาประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างบูรณาการต่อไป
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
CT51 East-West Economic Corridor และการเป็นศูนย์กลางทางโลจิสติกส์แห่งเอเชียของประเทศไทย
ลิขสิทธิ์ สำนักโลจิสติกส์
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ดร.นันทิ สุทธิการนฤนัย
ศิวณัส อรรฐาเมศร์
East-West Economic Corridor เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจของประเทศใน Greater Mekong Subregion (GMS) ซึ่งประกอบด้วย พม่า ไทย ลาว และเวียดนาม จุดประสงค์หลักของโครงการคือ เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมไปถึงพัฒนาพื้นที่รอบข้างของเส้นทางเพื่อเพิ่มรายได้ และการจ้างงานให้กับท้องถิ่น และการส่งเสริมการท่องเที่ยว
คำสำคัญ เส้นทางเศรษฐกิจ , East-West Economic Corridor, GMS
East-West Economic Corridor เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจของประเทศใน Greater Mekong Subregion (GMS) ซึ่งประกอบด้วย พม่า ไทย ลาว และเวียดนาม โดยเป็นโครงการที่จะให้ส่วนเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วย โครงการจะเน้นการพัฒนาระบบขนส่งซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงระหว่างทะเลอันดามันทางฝั่งพม่าเข้ากับทะเลจีนใต้ทางฝั่งเวียดนาม ด้วยระยะทางทั้งหมด 1,450 กิโลเมตร เส้นทางจะเชื่อมโยงเมือง Mawlamyine และ Myawaddy ในพม่า มายังอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดขอนแก่น จังหวัดกาฬสิน จังหวัดมุกดาหาร ในประเทศไทย และเลยไปถึงเมือง Savannakhet Dansavanh ในลาว และไปสิ้นสุดเส้นทางที่เมือง Lao Bao, Hue-Dong Ha และ Da Nang ในเวียดนาม จุดประสงค์หลักของโครงการเพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมไปถึงพัฒนาพื้นที่รอบข้างของเส้นทางเพื่อเพิ่มรายได้ และการจ้างงานให้กับท้องถิ่น และการส่งเสริมการท่องเที่ยว
East-West Economic Corridor จะทำให้การขนส่งสินค้าจากเมืองต่างๆ ในเส้นทางนี้มีความสะดวกมากขึ้น เราจะสามารถทำการขนส่งสินค้าทางถนนจากเมือง Mawlamyine ซึ่งอยู่ติดกับชายฝั่งอันดามันของพม่า มายังสุดปลายทางที่เมือง Da Nang ซึ่งอยู่ติดกับชายฝั่งทะเลจีนใต้ของเวียดนามได้อย่างสะดวกและต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ปริมาณการค้าการลงทุนที่จะเกิดขึ้นยังต้องอาศัยปัจจัยอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องนอกเหนือจากการมีถนนหนทางเชื่อมต่อกันเท่านั้น การส่งเสริมให้มีการเปิดการค้าเสรีทางการค้าระหว่างประเทศต่างๆ ในกลุ่ม Greater Makong Subregion มีความสำคัญในการที่จะช่วยส่งเสริมและเพิ่มมูลค่าและปริมาณการค้าระหว่างประเทศ การเปิดเสรีทางการค้าไม่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเกินไปและทำทีเดียวทั้งหมด ทางรัฐบาลไทยสามารถที่จะทำการศึกษาถึงข้อได้เปรียบและเสียเปรียบจากเปิดเสรีของสินค้าแต่ละชนิดและเลือกเปิดเสรีในหมวดสินค้าที่จะไม่ทำให้ประเทศเราเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงมุ่งเปิดเสรีเพื่อเพิ่มความกินดีอยู่ดีของคนในประเทศเป็นหลัก โดยอาจตกลงทำการเปิดเสรีในสินค้ากับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ เช่น การทำสัญญา FTA (Free trade area) กับประเทศต่างๆ เป็นรายสินค้าไป การเปิดเสรีอาจจะทำให้ภาคการผลิตบางส่วนของประเทศไทยได้รับผลกระทบ แต่ถ้าการเปิดเสรีทำให้ประชาชนโดยรวมในประเทศสามารถบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้นด้วยราคาที่ถูกลง รัฐบาลก็อาจจะส่งเสริมการเปิดเสรีในภาคนั้นๆ และหามาตรการมาช่วยเหลือรองรับผู้ผลิตในประเทศที่จะได้รับกระทบ
นอกจากการเปิดเสรีทางการค้าแล้ว ควรมีการส่งเสิรมการเปิดเสรีการลงทุนระหว่างประเทศด้วย พม่าและลาวเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพและต้นทุนแรงงานต่ำกว่าประเทศไทยมาก อีกทั้งการมีถนนหนทางที่เชื่อมต่อถึงกันหมดจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักลุงทุนจากประเทศไทย การลงทุนข้ามชาตินี้จะส่งผลดีทั้งต่อประเทศผู้ไปลงทุนและประเทศเจ้าบ้านที่ต้อนรับการลงทุน ซึ่งประเทศผู้ไปลงทุนจะได้รับประโยชน์จากวัตถุดิบและแรงงานที่มีราคาถูกกว่าในประเทศตนเอง ประเทศเจ้าบ้านเองก็จะมีการจ้างงานและเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน การปิดกั้นการลงทุนระหว่างประเทศจะส่งผลให้การลงทุนข้ามชาติไม่เกิดขึ้น เศรษฐกิจในภูมิภาคไม่ขยายตัวอย่างที่ควรจะเป็น และการค้าและการขนส่งจะถูกจำกัดอยู่เพียงแค่การนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศเท่านั้น
การอำนวยความสะดวกของรัฐบาลในการตรวจปล่อยสินค้าที่ด่านศุลกากรตามชายแดนก็มีความสำคัญต่อการค้าและการลงทุนในภูมิภาค รัฐบาลต้องพัฒนาด่านตรวจปล่อยศุลกากรให้มีการดำเนินงานที่รวดเร็วและไม่เป็นอุปสรรคต่อการขนย้ายสินค้าข้ามประเทศ สินค้าบางประเภทอาจจะผ่านเข้ามาในประเทศไทยเพื่อส่งต่อไปยังลาวและเวียดนามโดยไม่มีการเปิดกล่องเอามาขายในประเทศแต่อาจจะมีการพักสินค้าไว้ในโกดังในประเทศ รัฐบาลจะต้องออกเอกสารพิเศษให้กับสินค้าเหล่านี้โดยเร่งให้กระบวนการตรวจปล่อยเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด รวมไปถึงการเจรจาต่อรองกับประเทศอื่นๆ ในการอำนวยความสะดวกการตรวจปล่อยทางด่านศุลกากรลักษณะเดียวกันสำหรับสินค้าที่ถูกส่งผ่านประเทศนั้นๆ การพัฒนาควรมุ่งไปถึงจุดที่จะทำให้การตรวจปล่อยสินค้าของศุลกากรของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคใช้มาตรฐานและเอกสารรูปแบบเดียวกัน เพื่อลดขั้นตอนที่ยุ่งยากและแตกต่างและช่วยให้การดำเนินงานตรวจปล่อยรวดเร็วยิ่งขึ้น
สิ่งต่อไปที่จะสนับสนุนให้เกิดการค้าการลงทุนระหว่างภูมิภาคคือการพัฒนาระบบการสื่อสารโทรคมนาคมระหว่างประเทศต่าง ๆ โดยเน้นการลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดต้นทุนในการสื่อสารโทรคมนาคม การค้าจะเกิดขึ้นอย่างยากลำบากมากถ้าต้นทุนค่าโทรศัพท์ระหว่างประเทศของไทย พม่า ลาว และ เวียดนามยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้รัฐบาลควรสนับสนุนให้มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการให้บริการทางอินเตอร์เน็ท ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากในการติดต่อสื่อสารระหว่างบริษัทต่างๆ รวมไปถึงการติดต่อกับส่วนราชการ โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้รูปแบบการติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลทางธุรกิจได้พัฒนาเป็นรูปแบบการส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์และผ่านทางเวปไซต์เป็นหลัก (Web-based applications) รัฐบาลของประเทศต่างๆ ควรร่วมประชุมหารือกันโดยร่วมกันสร้างแผนแม่บทในการพัฒนาระบบโทรคมนาคมติดต่อสื่อสารของภูมิภาค การมีแผนแม่บทเดียวกันจะส่งผลให้ประเทศต่างๆ มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีมาตรฐานเดียวกันและสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ นอกจากนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันจะส่งผลให้ประเทศต่างๆ ได้ประโยชน์จากการประหยัดจากการมีเครือข่ายการผลิตและบริการขนาดใหญ่ (Economy of Scale) ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนโดยรวมได้
ในส่วนของประเทศไทย ควรจะมีการวางแผนอย่างเป็นระบบเพื่อที่จะใช้ประโยชน์จาก East-West Economic Corridor ได้อย่างเต็มที่ รัฐบาลควรมีการส่งเสริมการค้าและการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยอาจมีกระทรวงพานิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นด้านหน้าในการเข้าไปเจรจาต่อรองในเรื่องการนำสินค้าเข้าไปขายและลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนั้น ก็อาจมีการจัดอบรมและร่วมกำหนดกลยุทธ์กับผู้ประการทางด้าน Logistics ในการที่จะเข้าไปมีส่วมร่วมในการให้บริการทางด้านการขนส่งบนเส้นทางนี้ เพราะเชื่อว่าผู้ประกอบการไทยเองมีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าผู้ประกอบการณ์จากประเทศเพื่อนบ้านในละแวกนี้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเทคโนโลยีการบริหารการจัดการและความพร้อมในเรื่องของบุคลากรและพาหนะในการขนส่ง จะติดปัญหาเพียงแค่ว่าประเทศเพื่อนบ้านจะยินยอมให้เข้าไปให้บริการในประเทศหรือไม่เท่านั้น นอกจากนี้ ภูมิประเทศของประเทศไทยเองถือว่าอยู่ตรงกลางของเส้นทาง East-West Economic Corridor ซึ่งจะเป็นโอกาสให้เราสามารถที่จะจัดตั้งคลังสินค้าขึ้นเพื่อบริการกระจายสินค้าต่อไปยังเมือง และประเทศต่างๆ ได้ ตัวอย่างเช่น สินค้าบางอย่างจากพม่า อาจจะได้รับความสนใจจากลูกค้าที่ลาวและเวียดนาม แต่เนื่องจากปริมาณความต้องการสินค้ามีไม่มากพอที่จะขนส่งเต็มคันรถได้ ซึ่งเป็นการไม่คุ้มต้นทุนที่จะส่งสินค้าในปริมาณน้อย ก็สามารถที่จะนำสินค้ามาพักไว้ที่โกดังสินค้าในไทย และถูกจัดส่งรวมไปกับสินค้าจากไทยที่จะส่งไปยังลาวและเวียดนามได้ การกำหนดกลยุทธ์และการวางแผนและจัดการอย่างเป็นระบบของภาครัฐและเอกชน จะเป็นสิ่งที่ทำให้มั่นใจได้ว่าโครงการลงทุน East-West Economic Corridor ไม่ได้เป็นการลงทุนที่เสียเปล่าของรัฐบาลไทย
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
CT51 ISO9000: กุญแจสำคัญสำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมไร้พรหมแดน (ISO9000: Key Success in Global Manufacturing Business)
ลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2551 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ผู้เขียน ดร. พงษ์ธนา วณิชย์กอบจินดา
บทนำ (Introduction)
ในปัจจุบันเป็นทราบกันดีอยู่แล้วการที่จะเพิ่มขีดความสามารถในด้านความสามารถในการผลิตสินค้า และต้นทุนที่แข่งขันได้แล้ว ผู้ผลิตสินค้ายังจะต้องได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในด้านของคุณภาพ คุณภาพดังกล่าวนี้ในโลกของการแข่งขันรวมทั้ง คุณภาพของผลิตภัณฑ์ คุณภาพของการผลิต และคุณภาพของการให้บริการ ในการที่จะทำให้เกิดคุณภาพดังที่กล่าวมานั้นภาคอุตสาหกรรมและผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีการพัฒนาหลักการต่าง ๆ ขึ้นมามากมายเช่น การควบคุมคุณภาพ (Quality Control), การประกันคุณภาพ (Quality Assurance), การจัดการคุณภาพ (Quality Management), นโยบายคุณภาพ (Quality Policy), แผนคุณภาพ (Quality Plan), ระบบคุณภาพ (Quality System) เป็นต้น ระบบต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานี้มีความหลายและมาตรฐานที่แตกต่างกันตามแต่ประเทศหรือความต้องการของลูกค้า ซึ่งในการกำหนดกฏเกณฑ์ที่แตกต่างกันอาจทำให้เกิดความหลากหลายของกระบวนการเพื่อตอบสนองการสร้างมาตรฐานของคุณภาพในโลกการค้าไร้พรหมแดน แทนการสร้างคุณภาพและต้นทุนการผลิตต่ำอาจเป็นเหตุที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ดังนั้นจึงได้มีการตั้งองค์กรขึ้นเพื่อกำกับมาตรฐานดูแลในเรื่องของระบบคุณภาพสากล ที่เรียกว่า International Organisation for Standardisation (ISO) วึ่งสมาชิกในองค์จะมีการนัดประชุมเพื่อสร้างข้อตกลง กฎเกณฑ์ แนวทางของระบบการจัดการคุณภาพ และการประกันคุณภาพ ในบทความฉบับนี้ผู้เขียนจะบรรยายแนวทางปฏิบัติและประโยชน์ที่จะได้รับจากการได้รับมาตรฐาน ISO สำหรับ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม
ISO9000 กับระบบคุณภาพของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม
ระบบมาตรฐาน ISO9000 นั้นจะประกอบด้วย Series มาตรฐานของ ISO9001, ISO9002 และ ISO9003 ที่เป็นรูปแบบของการจัดการคุณภาพ และสุดท้าย ISO9004 ซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบการจัดการคุณภาพ ซึ่งในแนวทางในการจัดการคุณภาพของระบบ ISO จะเน้นไปที่การวางมาตรฐานหรือหลักเกณฑ์ที่น้อยที่สุดที่ผู้ผลิตสามารถปฏิบัติได้ในการทำให้เกิดคุณภาพ เช่นการกำหนดมาตรการในกำหนดคุณภาพขององค์กรซึ่งสามารถตรวจติดตามได้และจะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระบบการผลิตโดยทั่วไประบบมาตรฐาน ISO จะเข้าไปควบคุมจัดการกิจกรรมคุณภาพสำคัญ ๆ 20 กระบวนการ ดังนี้
ซึ่งหากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสามารถจัดการคุณภาพได้ดังกิจกรรม 20 ข้อ และได้รับมาตรฐานและใบรับรอง ISO แสดงถึงได้ว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนั้นมีระบบการจัดการผลิตที่น่าเชื่อถือและสามารถทำให้เกิดสินค้าที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งหากพิจารณาถึงสิ่งที่ผู้ผลิตจะได้รับนั้นนอกจากความเชื่อถือจากภายนอกแล้ว ระบบ ISO ได้สร้างให้ผู้ผลิตโดยเฉพาะระดับ (Small and Medium Enterprises: SMEs) มีการทำงานอย่างมีระบบ สามารถสอบกลับได้ในทุก ๆ ขั้นตอนในการทำงาน ซึ่งการตรวจสอบนี้เองเป็นส่วนสำคัญในการทำให้สามารถลดการสูญเสียในการผลิตลงได้ เช่น การมี Work Procedure ที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ระบบตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบจะช่วยให้ทราบว่าสินค้าใน Stock นั้นหมดอายุแล้วหรือไม่ หรือระบบการตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบก่อนการนำเข้าเก็บในคลังสินค้าซึ่งจะทำให้ทราบว่าสินค้าที่รับมานั้นมีคุณภาพตรงตามความต้องการหรือไม่
ซึ่งนอกจากจะเป็นการยอมรับถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในระดับสากลแล้ว มาตรฐาน ISO ยังมีส่วนช่วยในการลดปัญหาในด้านข้อกีดกันทางการค้าอันเนื่องมาจากมาตรฐานอีกด้วยโดยเฉพาะจากกลุ่มสหภาพยุโรป (European Community: EC) และ ข้อตกลงการค้าเสรีในสหภาพยุโรป (European Free Trade Agreement: EFTA) รวมถึงกับประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นอีกด้วย (Kochan 1993)
Dzus (1991), Lofgen (1991), Sateesh (1992) and Sprow (1992), ได้สรุปถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากระบบ ISO ดังนี้
1. ในด้านการค้า สามารถเป็นหลักประกันถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อลดปัญหาด้านการกีดกันทางการค้าอันเนื่องมาจากข้อกังขาในด้านคุณภาพโดยเฉพาะระหว่างประเทศกำลังพัฒนา กับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น การส่งสินค้าเข้าไปขายในกลุ่มสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา เป็นต้น และการได้รับ ISO Standard จะทำให้เป็นที่ยอมในโลกของการผลิตและกาค้าทั้งยังสามารถนำการได้รับรองจาก ISO ไปใช้เป็นการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์
2. ในด้านการผลิต ทำให้ระบบการผลิตมีประสิทธิภาพที่ดีมีมาตรฐานและมีคุณภาพมากขึ้นรวมถึงช่วยให้ลดต้นทุนใน การผลิตลงได้ซึ่งส่งผลให้มีความสามารถในการแข่งในด้านราคาโดยที่คุณภาพไม่ได้ด้อยลง รวมถึง ลด Cycle time ในระบบการผลิต
3. ในด้านการจัดการโลจิสติกส์ จะช่วยให้เพิ่มความสามารถความแน่นอนในการจัดส่งสินค้า รวมถึงความสามารถในการจัดการคลังสินค้าและสินค้าคงคลัง โดยเฉพาะการลดความผิดพลาดในระบบคลังสินค้า
สรุป
ISO9000 เป็นระบบคุณภาพที่เป็นมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 และถึงแม้ว่าจะเป็นมาตรฐานยุ่งยากและใช้ระยะเวลานานในการขออนุญาต แต่ผลของระบบ ISO9000 ก็ได้สร้างประโยชน์ให้กับอุสาหกรรมหลายประการเช่น เพิ่มระดับความพึงพอใจให้กับลูกค้าหรือผู้รับบริการ ทำให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพลดการเกิดความเสียหายในกระบวนการ ส่งผลให้มีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำลง และยังเพิ่มระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และผลิตภาพ หลาย ๆ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมได้มีความภาคูมิใจจากการได้รับระบบมาตรฐาน ISO9000 และได้ประโยชน์สำหรับองค์กรดังที่กล่าวมา นอกจากนั้นการได้รับ ISO9000 ยังแสดงถึงสถานะและจุดยืนทางการตลาด ภาพพจน์ และระดับของคุณภาพของอุตสาหกรรมนั้น ที่แสดงถึงมาตรฐานขององค์กร มาตรฐานของการผลิต และระดับควรมรับผิดชอบทั้งต่อภายในองค์กรและภายนอกองค์กรอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
Dzus, G., 1991, “Planning a successful ISO 9000 assessment”, Quality Progress, Vol. 24 No. 11, pp. 14-17.
Lofgren, G., 1991, “Quality system registration”, Quality Progress, , pp. 35-37.
Kochan, A., 1993, “ISO 9000: creating a global standardization process”, Quality, Vol. 32 No. 10, pp. 26-34.
Sateesh, K., 1992, “ISO 9000 sets the stage for global competition”, Controls & Systems, Vol. 39 No. 9, pp. 22-4.
Sprow, E., “Insights into ISO 9000”, Manufacturing Engineering, Vol. 109 No. 3, 1992, pp. 73-7.
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
CT51 Logistics and Supply Chain ต้นน้ำในอุตสาหกรรมกาแฟ กรณีศึกษา บริษัทเนสกาแฟ
ลิขสิทธิ์ สำนักโลจิสติกส์
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
โดย ผศ.ดร.วันชัย รัตนวงษ์
ในปัจจุบันไทยมีผู้ผลิตกาแฟผงสําเร็จรูปเพียง 3 รายในประเทศ โดยมีบริษัท ควอลิตี้คอฟฟี่โปรดัคส์ จํากัด ที่ผลิตกาแฟยี่ห้อ “เนสกาแฟ” มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด ดังนั้นการมีผู้ผลิตภายในประเทศน้อยรายและมีรายหนึ่งที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงกว่ามาก อุตสาหกรรมกาแฟผงสําเร็จรูปเริ่มมีขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2517 โดยมีบริษัท กาแฟผงไทยจํากัด เป็นผู้ผลิตรายแรกในตรา “เนสกาแฟ” แต่ต่อมาเมื่อบริษัท เนสท์เล่ (สวิตเซอร์แลนด์) เข้ามาเป็นผู้ร่วมทุน จึงได้ตั้งบริษัทชื่อ บริษัท ควอลิตี้คอฟฟี่โปรดัคส์ จํากัด ขึ้นมาเป็นผู้ผลิตกาแฟผงสําเร็จรูปแทน ส่วนบริษัท เขาช่องอุตสาหกรรม 1979 จํากัด และ บริษัท ซาราลี(ประเทศไทย) จํากัด (เดิมชื่อ บริษัท สยามโคน่า จํากัด) นั้นเข้ามาเป็นผู้ผลิตกาแฟผงสําเร็จรูป
ในภายหลังในปี 2543 ประเทศไทยมีกําลังการผลิตกาแฟผงสําเร็จรูปทั้งอุตสาหกรรมประมาณ 15,690 ตัน โดยมีปริมาณการผลิตประมาณ 10,000 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 64 ของกําลังการผลิตทั้งหมด ซึ่งกาแฟผงสําเร็จรูปยี่ห้อ “เนสกาแฟ” มีส่วนแบ่งตลาดโดยคำนวณจากปริมาณการผลิตในปี 2544 มากที่สุดถึงร้อยละ 88 ส่วนยี่ห้อ “เขาช่อง” และ “มอคโคน่า” มีส่วนแบ่งตลาดใกล้เคียงกันคือร้อยละ 3 และ 4 ตามลำดับ
ส่วนกาแฟผงสําเร็จรปูที่นำเข้าจากต่างประเทศนั้นยังมีปริมาณไม่มากนักซึ่งมักเป็นกาแฟผงสําเร็จรูปที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศไทย ตลาดหลักกาแฟผงสําเร็จรูปของผู้ผลิตในประเทศมากกว่าร้อยละ 90-95 คือ ตลาดในประเทศ ขณะที่ปริมาณการส่งออกและนําเข้ามีเพียงเล็กน้อย โดยผู้ผลิตกาแฟผงสําเร็จรูปในประเทศมีช่องทางการจัดจําหน่าย โดยมี 2 บริษัท คือ บริษัทควอลิตี้คอฟฟี่โปรดัคส์ และ บริษัทเขาช่องอุตสาหกรรม ที่มีการตั้งตัวแทนจําหน่ายเพียง 1-2 ราย และตัวแทนเหล่านั้นจะเป็นผู้ขายสินค้าต่อให้แก่ร้านค้าส่ง ร้านค้าปลีก หรือกลุ่ม Modern Trade อีกทอดหนึ่ง ซึ่งบริษัทควอลิตี้ คอฟฟี่โปรดัคส์ ได้แต่งตั้งให้ บริษัท เนสท์เล่ โปรดักส์ ไทยแลนด์อิงค์ เป็นตัวแทนจําหน่ายสินค้าให้ ส่วนบริษัทเขาช่องอุตสาหกรรม มีตัวแทนจํ าหน่ายคือ บริษัทคอฟฟี่เซลส์ (ขายในกรุงเทพ) และบริษัทซีพีคอนซูเมอร์โปรดักส์ (ขายในต่างจังหวัด) ส่วนบริษัทซาราลี นั้นไม่ได้ตั้งตัวแทนจําหน่าย โดยบริษัททําการจัดจําหน่ายแก่ผู้ค้าส่งและกลุ่ม modern trade เอง จะเห็นได้ว่าผู้ผลิตทั้ง 3 รายมิได้ขายตรงให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งจะแตกต่างกับในกรณีของปูนซีเมนต์ กระเบื้องมุงหลังคา ยางรถยนต์ ฯลฯ ที่มีการขายโดยตรงให้แก่ผู้บริโภครายใหญ่ เช่น บริษัทรับเหมาก่อสร้างหรือโรงงานประกอบรถยนต์ เป็นต้น
อุปสรรคและปัญหาการแข่งขันของตลาดกาแฟผงสําเร็จรูป
1. ความภักดีในสินค้าสูงผู้ผลิตกาแฟผงสําเร็จรูปยี่ห้อ “เนสกาแฟ” เป็นผู้ผลิตกาแฟรายแรกในประเทศไทยทําให้ผู้บริโภค โดยทั่วไปคุ้นเคยกับยี่ห้อและรสชาติของกาแฟนี้มานาน อีกทั้งผู้ผลิต “เนสกาแฟ” ยังมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นการตอกยํ้ายี่ห้อสินค้าและสร้างภาพลักษณ์ให้ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าตนเองมากขึ้น เมื่อมีผู้ผลิตรายใหม่เข้ามาในตลาดจึงไม่สามารถแย่งชิงตลาดจากเนสกาแฟได้ อีกทั้งราคาของเนสกาแฟก็อยู่ในระดับปานกลาง ผู้บริโภคจึงสามารถหาซื้อมาบริโภคได้
2. ภาษีนําเข้ากาแฟผงสําเร็จรูปดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า กาแฟผงสําเร็จรูปที่นําเข้ามาในประเทศจะเป็นชนิดที่ผู้ผลิตไทยไม่สามารถผลิตเองได้เท่านั้น คือ เป็นกาแฟแบบเกล็ดแข็ง หรือกาแฟประเภทไม่มีคาเฟอีน ส่วนกาแฟที่ผู้ผลิตไทยผลิตได้ เช่น กาแฟชนิดเกล็ดฟู จะไม่มีผู้ผลิตรายใดนําเข้ามาเนื่องจากภาษีนําเข้ากาแฟผงสําเร็จรูปสูงถึง 40% หากนําเข้าจากประเทศนอกกลุ่มอาเซียน แต่ถ้านําเข้ากาแฟผงสําเร็จรูปจากกลุ่มประเทศอาเซียนจะมีอัตราภาษี 0-5% อย่างไรก็ตาม กาแฟผงสําเร็จรูปที่นําเข้าโดยส่วนใหญ่จะนําเข้ามาจากประเทศเยอรมันและฮอลแลนด์ ทําให้ราคากาแฟนําเข้าสูงกว่ากาแฟที่ผลิตในไทย
3. ราคาเมล็ดกาแฟดิบแม้ว่าประเทศไทยจะสามารถผลิตเมล็ดกาแฟดิบได้เป็นจํานวนมาก แต่รัฐบาลยังมีการคุ้มครองราคาเมล็ดกาแฟดิบภายในประเทศอยู่ โดยกําหนดให้ผู้ผลิตกาแฟผงสํ าเร็จรูปต้องซื้อเมล็ดกาแฟดิบในราคาประกัน ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาในตลาดโลกประมาณ 50% ทําให้ผู้ผลิตกาแฟโครงการสํารวจพฤติกรรมทางการตลาดเพื่อสนับสนุนระบบการแข่งขันตามโครงการส่งเสริมระบบการแข่งขันทางการค้าที่เกื้อหนุนต่อการส่งออก
Supply Chain Management of Nestle
จากในตอนต้นที่เราได้กล่าวถึงกาแฟ และตลาดกาแฟในไทยไปแล้ว ต่อไปจะเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อุปทานของบริษัทควอลิตี้ คอฟฟี่โปรดัคส์ “Nestle” เพื่อทำการติดตามดู ตั้งแต่ที่มาของเมล็ดกาแฟ การอบรมชาวสวน จุดรับซื้อตลอดจนการผลิตและการกระจายสินค้าให้แก่ผู้บริโภค
Nestle มี Supplier หลักอยู่ทางภาคใต้ ดังนั้นวัตถุดิบทั้ง 100% จึงได้แก่กาแฟพันธุ์โรบัสต้าโดย Nestle จะมีศูนย์อยู่ทางภาคใต้ทั้งหมด 5 แห่งได้แก่
Nestle มีรูปแบบขั้นตอนในการหา Supplier โดยการแจก ต้นอ่อนของกาแฟให้แก่เกษตร เพื่อนำไปปลูกโดยจะแจกให้ที่อัตรา ไร่ละ 500 ต้น หรือในกรณีที่ประสบกับภาวะที่มีต้นกาแฟไม่เพียงพอ ก็จะใช้วิธีกำหนดโควต้าแทน
สำหรับการเพาะพันธุ์กาแฟ ที่ทาง Nestle ต้องการจะอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสและเมื่อเพาะพันธุ์ได้ที่ 3-5 ปี จะทำการขนส่งไปยัง บริษัทฯในเครือทั้งหมดเพื่อทำการแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรสำหรับการเพาะปลูก โดยทาง Nestle ประเทศไทยเอง ยังมีการจัดตั้งศูนย์อบรม เพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรอีกด้วย
นอกเหนือจากนั้น ทาง Nestle ได้มีการจัดตั้งศูนย์ทดลองที่ อ.สวี จังหวัดชุมพรอีกด้วย ส่วนวิธีการปลูกนั้นจะเป็นไปตามรายละเอียดที่ได้กล่าวไว้ในเรื่องการเพาะปลูก ในเนื้อหาก่อนหน้านี้ จากนั้นเมื่อทำการปลูกและได้ผลผลิตเป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงทำการ บรรจุลงถุงกระสอบเพื่อส่งต่อไปยังจุดรับซื้อของทางบริษัทฯดังรูป
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
เว็บไซต์ www.iok2u.com นี้เกิดมาจาก แรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward โดยมีเป้าหมายเล็ก ๆ ที่กำหนดไว้ว่า ทุกครั้งที่เข้าเรียนสัมมนาหรืออบรมในแต่ละครั้ง จะนำความรู้มาจัดทำเป็นบทความอย่างน้อย 3 เรื่อง เพื่อมาลงในเว็บนี้
ความตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับมาทำการถ่ายทอดต่อไป และหวังว่าจะมีคนมาอ่านแล้วเห็นว่ามีประโยชน์นำเอาไปใช้ได้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลย โดยอาจไม่ต้องอ้างอิงที่มาหรือมาตอบแทนผู้จัด แต่ขอให้ส่งต่อหากคิดว่ามันดีหรือมีประโยชน์ เพื่อถ่ายทอดความรู้และสิ่งดี ๆ ต่อไปข้างหน้าต่อไป Pay It Forward