iok2u.com แหล่งรวมข้อมูลข่าวสารเรื่องราวน่าสนใจเพื่อการศึกษาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้
CT51 การบริหารโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมรถยนต์
ลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2551 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ผู้เขียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สถาพร อมรสวัสดิ์วัฒนา
บทนำ
การบริหารโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมรถยนต์มีความต้องการการพัฒนาของอุปทานแบบโมดูลซึ่งจะส่งผลให้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดทั้งกิจกรรมในโซ่อุปทานทั้งหมด โดยที่ซัพพลายเออร์ขั้นต้นเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการผลิตแบบโมดูลของผู้ผลิตประเภทรับจ้างผลิตในแบรนด์ของผู้อื่น ซัพพลายเออร์ต้องมีความพร้อมและเน้นไปที่การสนับสนุนการผลิตแบบโมดูล โดยมีการใช้เทคโนโลยรสารสนเทศที่ทันสมัย การมีเครือข่ายระหว่างประเทศ เป็นต้น
คำสำคัญ การจัดการโซ่อุปทาน, ระบบการผลิตแบบโมดูล, อุตสาหกรรมรถยนต์
การผลิตแบบโมดูล
ความซับซ้อนของความต้องการของลูกค้าส่งผลให้มีการพัฒนาระบบการผลิตแบบโมดูล (Modular system) ผู้ผลิตประเภทรับจ้างผลิตในแบรนด์ของผู้อื่น (Original equipment manufacturer : OEM) โดยที่การผลิตประเภทโมดูลนี้จะใช้ซัพพลายเออร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งซัพพลายเออร์ขั้นต้น (First-tier suppliers) ซึ่งหมายถึงซัพพลายเออร์ที่จำหน่ายวัตถุดิบเฉพาะและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ผลิตประเภท OEM ในการสร้างกลยุทธ์ที่จำเป็นในการสนับสนุนการผลิตรูปแบบโมดูลนี้
การผลิตแบบโมดูลหมายถึงกระบวนการของการสร้างผลิตภัณฑ์ (Product) หรือกระบวนการ (Process) จากระบบย่อยที่เล็กกว่าที่ถูกออกแบบให้เป็นอิสระแต่สามารถทำงานได้เมื่อนำมารวมกันเป็นระบบใหญ่ ตัวอย่างเช่น รถยนต์ Mercedes-Benz ได้พัฒนาระบบโมดูลสำหรับโรงงานรถสปอร์ตในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งทางบริษัทได้วางระบบการผลิตรถสปอร์ตไว้กับโมดูลการผลิตขนาดใหญ่หลายโมดูล ซึ่งรวมถึงโมดูลสำหรับที่นั่งคนขับที่มีถุงลมนิรภัย ระบบทำความร้อนและปรับอากาศ ระบบเกียร์ ซึ่งโมดูลทั้งหมดจะถูกทดสอบและส่งมอบ ให้กับบริษัท Mercedes-Benz ตัวอย่างนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนและความท้าทายของระบบการผลิตแบบโมดูล
ที่มา: งานวิจัยเรื่อง “Case study: Rethinking the supply chain- an automotive perspective” โดย Desmond Doran ในวารสาร Supply Chain Management: An International Journal ฉบับที่ 9 เล่มที่ 1 ปี 2004 หน้า 102-109.
รูปที่ 1 โซ่มูลค่า (โซ่อุปทานแบบไม่ใช่โมดูล)
นอกจากนี้การผลิตแบบโมดูลเป็นการส่งผ่านกิจกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มส่วนใหญ่จากผู้ผลิตประเภท OEM ไปยังซัพพลายเออร์ขั้นต้น โดยที่กิจกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มจะหมายถึงกระบวนการที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นกิจกรรมแบบโมดูลที่ดำเนินการโดยซัพพลายเออร์ดังแสดงในรูปที่ 1 และ 2
ที่มา: งานวิจัยเรื่อง “Case study: Rethinking the supply chain- an automotive perspective” โดย Desmond Doran ในวารสาร Supply Chain Management: An International Journal ฉบับที่ 9 เล่มที่ 1 ปี 2004 หน้า 102-109.
รูปที่ 2 กิจกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม (โซ่อุปทานแบบโมดูล)
ผู้เล่นรายสำคัญของการผลิตแบบโมดูลจะเป็นซัพพลายเออร์ที่พัฒนาความสามารถในการผลิตแบบโมดูล โดยการเป็นซัพพลายเออร์ขั้นต้นเพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถรองรับการผลิตแบบโมดูลได้ แต่ซัพพลายเออร์ขั้นต้นจะประสบความสำเร็จในโซ่อุปทานแบบโมดูลได้จะต้องมีคุณลักษณะที่สำคัญ เช่น มีการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการเป็นส่วนใหญ่ มีตลาดในต่างประเทศ ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น นอกจากนี้ซัพพลายเออร์ขั้นต้นที่ประสบความสำเร็จต้องมีความสามารถในการพัฒนาความเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดมากขึ้นกับซัพพลายเออร์ที่สำคัญต่อการจัดซื้อแบบโมดูลและกระบวนการประกอบ
กลยุทธ์ในการปฏิบัติงาน
กลยุทธ์ในการปฎิบัติงานในการผลิตแบบโมดูลสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือแบบ integrator ซึ่งหมายถึง ผู้ผลิตประเภท OEM สามารถควบคุมโซ่อุปทาน ในขณะที่กลยุทธ์แบบ modulariser ซึ่งหมายถึง ผู้ผลิตประเภท OEM ย้ายการผลิตไปให้ซัพพลายเออร์ขั้นต้นที่มีศักยภาพในการสนับสนุนการผลิตแบบโมดูล โดยที่กลยุทธ์ทั้ง 2 ประเภทนี้สามารถสรุปได้ดังตารางที่ 1
ในตารางที่ 1 ผู้ผลิตที่ใช้กลยุทธ์แบบ Modulariser จะส่งความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์ไปให้กับซัพพลายเออร์ ในขณะที่จะเน้นการออกแบบการผลิตของสินค้าให้เป็นแบบโมดูล อย่างไรก็ตามการผลิตจะต้องพึ่งพาซัพพลายเออร์เป็นหลัก อย่างไรก็ตามความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีอาจจะถูกถ่ายเทไปให้กับซัพพลายเออร์ของโมดูลได้ง่าย และไม่สามารถมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้เท่าที่จะเป็น
สำหรับผู้ผลิตที่ใช้กลยุทธ์แบบ integrator จะทำการผลิตชิ้นส่วนด้วยตนเองเป็นหลัก และมุ่งเน้นที่การลงทุนและพัฒนาเครื่องมือและเครื่องจักรในการผลิตเป็นหลัก อย่างไรก็ตามการใช้กลยุทธ์นี้จะก่อให้เกิดต้นทุนและภาระจากการติดตั้งเครื่องจักร
ที่มา: งานวิจัยเรื่อง “Case study: Rethinking the supply chain- an automotive perspective” โดย Desmond Doran ในวารสาร Supply Chain Management: An International Journal ฉบับที่ 9 เล่มที่ 1 ปี 2004 หน้า 102-109.
ตารางที่ 1 การเปรียบเทียบกลยุทธ์ Modulariser และ integrator
สำหรับซัพพลายเออร์ที่ต้องการจะสนับสนุนการผลิตแบบโมดูลต้องมีกระบวนการปฏิบัติงานที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งซัพพลายเออร์ที่มีสัญญาในการส่งมอบวัตถุดิบให้กับผู้ผลิตประเภท OEM หลายรายซึ่งบางรายจะใช้กลยุทธ์เป็น Modulariser ในขณะที่บางรายใช้กลยุทธ์แบบ integrator
กรณีศึกษาของซัพพลายเออร์ขั้นต้นที่ประสบความสำเร็จ
ซัพพลายเออร์ที่จัดหาโมดูลของที่นั่งให้กับผู้ผลิตประเภท OEM ในประเทศอังกฤษรายเดียว และเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรระดับนานาชาติในการจัดหาชิ้นส่วนให้กับผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซัพพลายเออร์ของโมดูลจะรวมกิจกรรมของการออกแบบ การประกันคุณภาพ การทดสอบ การตัด การเย็บ การขึ้นรูป และการประกอบ
ระบบการผลิตจะถูกออกแบบเพื่อทำการส่งมอบระบบที่นั่ง (ที่นั่งด้านหน้าและด้านหลัง, การปรับความสูงของที่นั่ง, ถุงลมนิรภัยและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง) ภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากที่ได้รับคำสั่งซื้อจากผู้ผลิตประเภท OEM โดยไม่ให้เกิดการเก็บสินค้าคงคลังของที่นั่งสำเร็จรูปเมื่อสิ้นสุดกะในการผลิต
โมดูลของที่นั่งต้องทำการผลิตให้ถูกต้องตั้งแต่ครั้งแรกในทุกๆ ครั้งที่ทำการผลิตซึ่งจะส่งผลให้อัตราของเสียอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และใช้ระบบควบคุมคุณภาพที่มีประสิทธิภาพมาใช้ตลอดทั้งโซ่อุปทาน ซัพพลายเออร์จะจะเกี่ยวข้องในการขายการแก้ปัญหาการผลิตแบบโมดูลมากกว่าการผลิตตามข้อกำหนดของผู้ผลิตแบบ OEM อย่างเดียว
เนื่องจากซัพพลายเออร์นี้มีลูกค้าเพียงรายเดียวการสร้างมูลค่าเพิ่มจึงเกิดขึ้นอย่างจำกัด อย่างไรก็ตามกิจกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มที่มีศักยภาพในรูปแบบของกิจกรรมของการขึ้นรูป (injection-moulding) และการประกอบโครงที่นั่ง (seat frame assembly) ซึ่งทำการผลิตเองภายในโรงงาน
การตัดสินใจในการย้ายกิจกรรมขึ้นอยู่กับธุรกิจของที่นั่งรถยนต์และต้นทุนและผลประโยชน์ทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการย้ายกิจกรรมนั้นออกไปให้ซัพพลายเออร์
ที่มา:
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
CT51 การประยุกต์ใช้ระบบ Logistics ใน Food Industry Supply Chain (Improving Logistics Operations across the Food Industry Supply Chain)
ลิขสิทธิ์ สำนักโลจิสติกส์
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
โดย ดร. พงษ์ธนา วณิชย์กอบจินดา
1 บทนำ
ตลอดช่วงระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ผลิต กลุ่มผู้ขนส่งและกระจายสินค้า และ กลุ่มผู้ค้าปลีก ได้พยายามที่รวมกลุ่มในเพื่อที่จะสร้างพันธมิตรในระบบห่วงโซ่อุปทาน และนำเอาหลักการของการจัดการโลจิสติกส์เข้ามาเพื่อช่วยในการแก้ปัญหาทางด้านต้นทุนและสร้างศักยภาพในการแข่งทางธุรกิจ โดยการเพิ่มความสามารถในการขนส่งกระจายสินค้า การลดต้นทุนสินค้าคงคลัง และกลยุทธ์ในการส่งสินค้าเข้าสู่ผู้บริโภคคนสุดท้าย อย่างไรก็ตามในอุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่ซับซ้อนที่ยากลำบากในการบริหารจัดการ เนื่องจากอาหารเป็นสินค้าที่มีอายุจำกัด อาหารเป็นสินค้าที่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์ อาหารมีอายุในการจัดเก็บสั้นโดยเฉพาะอาหารสด อาหารบางประเภทต้องเก็บเข้าห้องเย็นเพื่อเก็บเพื่อยืดอายุซึ่งจะต้องทำให้เกิดต้นสินค้าคงคลังมูลค่ามหาศาล ดังนั้นในบทความนี้ผู้เขียนจะนำเสนอแนวทางการนำระบบการจัดการโลจิสติกส์เข้าไปพัฒนาระบบโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหารเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรม
ระบบระบบโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหารแนวใหม่
ผู้นำในการพัฒนาการค้าปลีกในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น Wall-Mart ได้นำหลักการของการ Share Information จากผู้ซื้อคนสุดท้าย (ปลายน้ำ) ไล่จนไปถึงผู้ผลิตซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ โดยใช้ระบบ Electronic ที่ช่วยในการเติมเต็มสินค้า (Replenishment) ซึ่งหลักการดังกล่าวของ Wall-Mart นี้ได้ช่วยลดต้นทุนของสินค้าคงคลังในระบบโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหารซึ่งสุดท้ายก็จะสามารถช่วยให้ผู้บริโภคซื้ออาหารที่มีราคาถูกลงทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งให้กับ Wall-Mart เป็นผู้นำในระบบการค้านี้อีกด้วย
ในรายละเอียดปลีกย่อยของระบบการจัดการโดยการนำเอาระบบ Electronic ของ Wall-Mart ในการบริหารจัดการ โดย Wall-Mart ได้นำระบบที่เรียกว่า Electronic Data Interchange หรือที่เป็นที่รู้จักกันว่า EDI ที่เป็นระบบที่มีการประสานงานกันที่ยุ่งยากของระบบโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหาร[1] (ดังแสดงในแผนภาพที่ 1) ตั้งแต่ Manufacturer Supplier และ Wall-Mart ด้วยคอมพิวเตอร์และมีการส่งข้อมูลความต้องการผ่านระบบคอมพิวเตอร์นี้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา (Kinsley[2], 2000) ระบบนี้จะช่วยส่งเสริมการขนส่งสินค้าแบบ Just in Time ทั้งยังช่วยป้องกันสินค้าขาด Stock ลดต้นทุนสินค้าคงคลัง และช่วยผู้ประกอบการในด้านการบริหารการผลิตซึ่งผู้ผลิตก็จะไม่จำเป็นจะต้องผลิตสินค้าทีละมาก ๆ ลดการเก็บวัตถุดิบที่มีประมาณมากจนเกินไป ลดการเก็บสินค้าคงคลัง ซึ่งจะช่วยให้ลดต้นทุนลงตลอดโซ่อุปทานและทำให้ต้นทุนโดยรวมของสินค้าลดลง
แผนภาพที่ 1 โซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหาร
อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติเนื่องจากความแตกต่างเทคโนโลยีในห่วงโซ่อุปทานที่จะนำระบบ Electronic มาใช้ทั้งยังลักษณะของการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร และการบริโภคที่แตกต่างทำให้การนำระบบ Electronic มาใช้ค่อนข้างยาก
ดังนั้นหนทางให้การแก้ปัญหาครั้งนี้จึงได้มีการตั้งองค์กรกลางที่ไม่ได้หลังในผลกำไรที่จะช่วยสนับสนุนการตั้ง Code และระบบพื้นฐาน โดยที่องค์กรนี้เรียกว่า Uniform Code Council (UCC) UCC จะช่วยในการสร้างเครือข่ายในลักษณะระบบเปิดที่สามารถเข้าถึงได้รวมถึงการหาพันธมิตร และการสร้างระบบ Electronic ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มในการสร้างความสัมพันธ์แบบ Business-to-Business (B2B Relationship) ระบบดังกล่าวนี้จะเรียกว่า UCCNET ที่จะช่วยเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ผลิต จนไปถึงลูกค้าคนสุดท้าย โดยการลดต้นทุนสินค้าคงคลัง ลดการเก็บวัตถุดิบที่มีประมาณมากจนเกินไป ลดการเก็บสินค้าคงคลัง ซึ่งจะช่วยให้ลดต้นทุนลงตลอดโซ่อุปทานและทำให้ต้นทุนโดยรวมของสินค้าลดลง นอกจากนั้นในปัจจุบันยังมีการประยุกต์นำสามารถนำระบบ Electronic มาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมอาหารที่เน้นการส่งตรงและเป็นอาหารที่มีอายุในการเก็บสั้นเช่น ขนมปัง ไอศรีม
หลังที่นำระบบ UCCNET ก็ยังพบว่าความแตกต่างในการการใช้เทคโนโลยีและการลงทุนในการใช้เทคโนโลยีก็ยังมีอุปสรรคที่สำคัญโดยเฉพาะใน Supermarket ขนาดเล็ก ดังนั้นจึงมีการปรับปรุงโดยการใช้ระบบเครือข่าย Internet ที่เรียกว่า World Wide Retailers Exchange ก็พบว่ามีผู้ประกอบการในระบบโซ่อุปทานเข้ามาใช้มากขึ้นและช่วยละต้นทุนในระบบโซ่อุปทานมากได้มาขึ้นอีกด้วย
การนำระบบการจัดการโลจิสติกส์ประยุกต์ในอุตสาหกรรมอาหาร
จากที่ทราบกันว่าการบริหารจัดการโลจิสติกส์ คือ การขนส่งสินค้าให้ถูกที่ ถูกเวลา ถูกจำนวน ในสภาพสินค้าที่ปกติ ส่งไปถูกสถานที่ และราคาที่สามารถแข่งขันได้ ดังนั้นในการนำระบบโลจิสติกส์เข้ามาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมอาหารก็ต้องมีการนำเอาหลักการของโลจิสติกส์ข้างต้นมาประยุกต์ใช้ดังเช่นตัวอย่างของ Wall-Mart ซึ่งกิจกรรมที่จะต้องพิจารณาหลัก ๆ คือ มีการประมาณการความต้องการที่แม่นยำ มีประสิทธิภาพในการจัดหาจัดซื้อ มีความแน่นอน ส่งสินค้าได้ตรงตามเวลา ซึ่งหากต้องการะจะประยุกต์ใช้ระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพได้นั้นจะต้องมีการระบบในองค์กรขึ้น ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาดังนี้[3]
สรุป
ผู้ประกอบการในปัจจุบันพยายามที่จะหาวิธีการต่าง ๆ ในการลดต้นทุน ปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต มุ่งสร้างพันธมิตร เพื่อสร้างผลกำไรให้กับอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามจากการพัฒนาของระบบ IT ที่ทำให้ระบบการสื่อสารการทราบถึงความต้องการซื้อที่ฉับไวมากขึ้นและทราบในระดับ Real Time ซึ่งทำให้นำไประยุกต์กับระบบการจัดซื้อ ระบบการผลิต ระบบการขนส่งสินค้า ระบบการจัดการสินค้าคงคลัง ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจึงช่วยให้สามารถลดต้นทุนในโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหารได้ ดังตัวอย่างของ Wall-Mart
[1] Matopoulos, A., Vlachopoulou, A., Manthou, V., and Manos, V., (2007) A concept framework for supply chain collaboration: empirical evidence from the agri-food industry, Supply Chain Management: An International Journal, Vol. 12(3), PP. 177 – 186
[2] Kinsley, J. (2000), “A faster, leaner, supply chain: new uses of information technologies”, American Journal of Agricultural Economics, Vol. 14, No. 2
[3] Aghazadeh, S.M., (2004), Improving logistics operations across the food industry supply chain, International Journal of Contemporary Hospitality Management, Volume 16, No.4, PP. 263 – 268
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
CT51 การประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ในการขับเคลื่อนระบบขนส่งไทย
ลิขสิทธิ์ สำนักโลจิสติกส์
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ผู้เขียน...ผศ.ดร.สุวรรณี อัศวกุลชัย
ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) สามารถแสดงเส้นทางการขนส่งแต่ละประเภทจากข้อมูลที่เก็บไว้ในฐานข้อมูลสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบขนส่งไทย ให้ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว สถานการณ์จำลอง (Simulation) เพื่อจัดทำแผนที่เฉพาะกิจในการกำหนดเส้นทางถนน ทางรถไฟ แม่น้ำ ท่าเรือ และสนามบิน ที่สั้นที่สุดในการขนส่ง ช่วยประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ หรือ GIS หมายถึง กระบวนการใช้คอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ (Hardware) ซอฟท์แวร์ (Software) ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ (Geographic Data) และการออกแบบ (Personnel Design) ในการจัดเก็บข้อมูล การปรับปรุงข้อมูล การคำนวณ และการวิเคราะห์ข้อมูล ให้แสดงผลในรูปของข้อมูลที่สามารถอ้างอิงได้ในทางภูมิศาสตร์ หรือหมายถึง การใช้คอมพิวเตอร์ในการจัดเก็บและการใช้ข้อมูลเพื่ออธิบายสภาพต่างๆ บนพื้นผิวโลก โดยอาศัยลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นตัวเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลต่างๆ GIS เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล 2 ประเภท ได้แก่
1. ข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Data) เป็นข้อมูลที่สามารถอ้างอิงกับตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ (Geo-Referenced) ทางภาคพื้นดิน ประกอบด้วย 3 รูปแบบ คือ จุด (Point) ได้แก่ ที่ตั้งหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จุดตัดของถนน จุดตัดของแม่น้ำ เป็นต้น เส้น (Line) ได้แก่ ถนน ลำคลอง แม่น้ำ เป็นต้น และพื้นที่หรือรูปหลายเหลี่ยม (Area or Polygons) ได้แก่ พื้นที่เพาะปลูกพืช พื้นที่ป่า ขอบเขตอำเภอ ขอบเขตจังหวัด เป็นต้น
2. ข้อมูลเชิงอธิบาย (Attribute Data) เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคุณลักษณะต่างๆ ในพื้นที่นั้นๆ เป็นข้อมูลทั้งตัวเลขและตัวอักษรที่จัดเก็บได้ในรูปฐานข้อมูลมาตรฐาน DBMS (Database Management System) เช่น MySQL, SQL Server, ORACLE และ Microsoft Access (Attributes) ได้แก่ ข้อมูลชื่อถนน ชื่อร้านค้า เป็นต้น
การประยุกต์ GIS ต้องนำข้อมูลทั้งสองประเภทมาวิเคราะห์และนำผลของการวิเคราะห์มาใช้ประโยชน์อาทิ การใช้ GIS ในการกำหนดเส้นทางการขนส่ง กรณีการให้บริการขนส่งแบบฉุกเฉิน (Emergency Services Delivery) หรือการวางแผนการขนส่ง คำนวณเส้นทาง เพื่อให้ได้เส้นทางในการขนส่งสินค้าที่สั้นที่สุด (Shortage Path) รวมทั้งสามารถนำ GIS มาพัฒนาเครือข่ายขนส่งแบบเบ็ดเสร็จที่จะช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า ซึ่งสอดคล้องกับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ที่ให้มีการดำเนินงานด้านการขนส่งจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ นอกจากนั้น GIS ยังสามารถวิเคราะห์ทิศทางการเคลื่อนย้ายและปริมาณการขนส่ง การพยากรณ์ความต้องการด้านการขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อใช้ในการวางแผนจัดการเส้นทางคมนาคมให้สอดคล้องกับปริมาณการขนส่งทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดตามต้องการ
สถานการณ์จำลอง (Simulation) เป็นหนึ่งในการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ในการขับเคลื่อนระบบขนส่งไทย โดยการใช้ GIS ทำแผนที่เฉพาะกิจ (Special Theme) เพื่อแสดงเส้นทางถนน ทางรถไฟ แม่น้ำ ท่าเรือ และสนามบิน ตัวอย่างเช่น สถานการณ์จำลองเส้นทางการขนส่งน้ำมันเครื่องของบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น โดยจำลองเส้นทางการขนส่งของพนักงานขาย 1 คนที่ต้องส่งสินค้าให้ร้านค้าทั้งหมด 80 แห่ง ใน 14 อำเภอ ของจังหวัดของแก่น ดังแสดงในรูปที่ 1
รูปที่ 1 ตำแหน่งร้านค้า 80 แห่งใน 14 อำเภอของจังหวัดขอนแก่น
สำหรับการวิเคราะห์เส้นทางขนส่งทั้งหมด จึงเลือกพื้นที่ในอำเภอบ้านไผ่เป็นตัวอย่าง ดังแสดงในรูปที่ 2
รูปที่ 2 ตัวอย่างเส้นทางการขนส่งสินค้าให้กับร้านค้าต่างๆ ในอำเภอบ้านไผ่
เมื่อมีการนำ GIS มาใช้ในการกำหนดเส้นทางการขนส่งสินค้าให้กับร้านค้าต่างๆ ในอำเภอบ้านไผ่ พบว่ามีเส้นทางการขนส่ง 2 เส้นทาง ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุด คือ เส้นสีแดง และเส้นสีเขียว ดังแสดงในรูปที่ 2 ได้แก่
เส้นสีแดงมีระยะทางรวม 42,786 เมตร
เส้นสีเขียวมีระยะทางรวม 44,264 เมตร
เมื่อวิเคราะห์เส้นทางจากแผนที่แล้วพบว่าเส้นสีแดงสั้นกว่าเส้นสีเขียว 1,478 เมตร
จากรูปที่ 2 เส้นทางที่สามารถนำมาวิเคราะห์ระยะทางที่ความแตกต่างกันมี 2 ตำแหน่ง ดังแสดงในรูปที่ 3 และ 4 จากรูปที่ 3 เมื่อวิเคราะห์ระยะทางระหว่างจุด A ถึง B พบว่า ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุด คือ เส้นสีแดง และเส้นสีเขียว ได้แก่
เส้นสีแดงมีระยะทางรวม 6,200 เมตร
เส้นสีเขียวมีระยะทางรวม 6,646 เมตร
เมื่อวิเคราะห์เส้นทางจากแผนที่แล้วพบว่าเส้นสีแดงสั้นกว่าเส้นสีเขียว 446 เมตร
รูปที่ 3 ตัวอย่างภาพขยายเส้นทางการขนส่งเส้นทางที่ 1 ของอำเภอบ้านไผ่
รูปที่ 4 ตัวอย่างภาพขยายเส้นทางการขนส่งเส้นทางที่ 2 ของอำเภอบ้านไผ่
จากรูปที่ 4 เมื่อวิเคราะห์ระยะทางระหว่างจุด X ถึงจุด Y พบว่า มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุด คือ เส้นสีแดงและเส้นสีเขียว ได้แก่
เส้นสีแดงมีระยะทางรวม 2,227 เมตร
เส้นสีเขียวมีระยะทางรวม 3,259 เมตร
เมื่อวิเคราะห์เส้นทางจากแผนที่แล้วพบว่าเส้นสีแดงสั้นกว่าเส้นสีเขียว 1,032 เมตร
จากรูปที่ 3 และ 4 จะเห็นได้ว่าจากเส้นทางดังกล่าวข้างต้น เมื่อนำเอาระยะทางมาคำนวณหาค่าน้ำมันต่อเดือนของพนักงานขายคนนี้ เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับค่าน้ำมันเฉลี่ยเดิม พบว่าการวางแผนเส้นทางการเดินทางที่สั้นลงในครั้งนี้สามารถช่วยลดต้นทุนค่าน้ำมันได้ร้อยละ 4.91% ซึ่งการประยุกต์ใช้ GIS สามารถวิเคราะห์เพื่อหาระยะทางที่สั้นที่สุด และช่วยสนับสนุนการตัดสินใจเลือกเส้นทาง อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติอาจมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ไม่เป็นดังแผนที่วางไว้ ในกรณีนี้อาจเกิดจากพนักงานขายแต่ละคนมีความประพฤติที่ไม่เหมือนกัน แม้เส้นทางจะถูกวางไว้แล้วแต่ในการนำไปใช้จริง พนักงานขายอาจไม่เดินรถตามเส้นทางที่ถูกกำหนดไว้ เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป GIS สามารถช่วยในการจัดการและบริหารข้อมูลเชิงพื้นที่ พร้อมทั้งทำให้สามารถเข้าใจในความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ในเชิงพื้นที่ได้เป็นอย่างดี สามารถแสดงเส้นทางการขนส่งแต่ละประเภทจากข้อมูลที่เก็บไว้ในฐานข้อมูลได้ เพื่อใช้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการวางแผนสำหรับการใช้เส้นทางใดในการขนส่ง รวมทั้งสอดคล้องกับปริมาณการขนส่ง นับว่าเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบขนส่งไทย ให้เกิดการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการวิเคราะห์ข้อมูลได้มากซึ่งเป็นรากฐานที่ดีในการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเลือกใช้ประเภทการขนส่งขึ้นกับปัจจัยและองค์ประกอบต่างๆ เพื่อจะได้เส้นทางที่สั้นที่สุดเป็นหลัก หรือใช้เส้นทางหลวงที่สำคัญเป็นหลัก หรือใช้ปริมาณการขนส่งเป็นหลัก
สำหรับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ GIS เช่น Global Position System (GPS) เป็นเครื่องที่ระบุพิกัดบนพื้นโลกโดยอาศัยสัญญาณดาวเทียม สามารถแสดงตำแหน่งเพื่อใช้กำหนดเส้นทางการเดินทาง พัฒนาระบบนำทางรถยนต์ ระบบค้นหาตำแหน่ง ระบบติดตามยานพาหนะ (Vehicle Tracking) ระบบค้นหาตำแหน่งโทรศัพท์มือถือ LBS (Location Based Service) ระบบ Logistics และแผนที่กระดาษมาตราส่วนต่างๆ เป็นต้น รวมถึงแผนที่ดิจิตัล การสำรวจ การถ่ายภาพทางอากาศและดาวเทียม
ข้อดีของ GIS กับการขับเคลื่อนระบบขนส่งไทย คือ สามารถจัดเก็บข้อมูลได้ครั้งละมากๆ ไม่ต้องเสียเวลาในการเปิดหาแผนที่ ใช้งานง่าย ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการวิเคราะห์ข้อมูล
ส่วนข้อจำกัด คือ ข้อมูลมีความสำคัญมากสำหรับการสร้างฐานข้อมูลให้กับระบบ GIS เพราะคุณภาพของสารสนเทศที่จัดเก็บเข้าไว้ในระบบย่อมส่งผลถึงประสิทธิภาพที่จะได้รับ เมื่อมีการนำสารสนเทศมาใช้ในการวิเคราะห์ อีกทั้งใช้ระยะเวลาในการเก็บรวบรวมข้อมูลและอาจเกิดความคลาดเคลื่อนจากการนำเข้าข้อมูล เมื่อข้อมูลข่าวสารมีความพร้อมและระบบเทคโนโลยีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว อนาคตการขนส่งของประเทศคงไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้ GIS สามารถสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์การขนส่งแห่งชาติ ที่อาจจะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการขนส่งของภูมิภาคนี้ หรือติดอันดับประเทศที่มีระบบการขนส่งที่ดีก็ได้
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
CT51 การปรับปรุงกระบวนการโลจิสติกส์ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหาร (Improving Logistics Operations across the Food Industry Supply Chain)
ลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2551 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ผู้เขียน ดร. พงษ์ธนา วณิชย์กอบจินดา
บทคัดย่อ
บทความฉบับนี้ต้องการแสดงถึงแนวทางในระบบโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหาร โดยการนำหลักการของระบบการจัดการโลจิสติกส์ และการกระจายสินค้า นอกจากนั้นยังรวมถึงเชื่อมโยง Business-to-Business (B2B) และ e-commerce ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนระบบการจัดการโลจิสติกส์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหารในอนาคต
บทนำ
Food and Agriculture Organization (FAO) แห่ง สหประชาชาติ ได้กล่าวว่า ปริมาณความต้องการปริมาณสินค้าประเภทอาหารที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค ส่งผลให้เกิดต้นทุนของการผลิตอาหารที่สูง ซึ่งส่งผลถึงราคาขายที่สูงขึ้น (ดังแสดงในแผนภาพที่ 1 และ 2) ดังนั้นทั้งผู้ผลิต ผู้ขนส่งและกระจายสินค้า รวมถึงร้านค้าปลีกต่าง ๆ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัว และวิธีการกลยุทธ์ต่าง เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจอุตสาหกรรมของต้น ซึ่งกลยุทธ์ ของการจัดการโลจิสติกส์ และ โซ่อุปทานจึงแนวทางเลือกที่น่าสนใจ ที่จะสามารถช่วย ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดซื้อ และบริหารสินค้าคงคลัง เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า และนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการลดต้นทุนในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งจากการศึกษาของสมาพันธ์โลจิสติกส์แห่งยุโรบ (European Logistics Association) นับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ถึง ประมาณ 30% ดังแสดงในแผนภาพที่ 3
แผนภาพที่ 1 แนวโน้มความต้องการอาหารโลก แผนภาพที่ 2 World Food Price Indices
แผนภาพที่ 3 เปรียบเทียบต้นทุน Logistics ระหว่างอุตสาหกรรมอาหาร กับอุตสาหกรรมหลักประเภทอื่น ๆ ในทวีปยุโรปโดย European Logistics Association
โลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ของอุตสาหกรรมอาหาร
ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหาร เป็นระบบที่ซับซ้อนและหลากหลายโดยมีการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยต่าง ๆ ตั้งแต่ วัตถุดิบจากเกษตรกร วัตถุดิบปรุงแต่ง กระบวนการขนส่งและกระจายสินค้า โรงงานผลิตอาหาร ผู้ค้าส่งและค้าปลีก จนถึงมือผู้บริโภค (ดังแสดงในแผนภาพที่ 4) โดยผ่านกระบวนการสนับสนุนของทั้งการ เคลื่อนย้ายและจัดเก็บ หรือ กิจกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าซ้ำยังทำให้เป็นภาระต้นทุนและสูญเสียความสามารถในการแข่งขันอีกด้วย ดังนั้น
แผนภาพที่ 4 โซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหาร
ดังนั้นในการแข่งขันที่รุนแรงที่ผู้บริโภคต้องการสินค้าที่มีราคาถูกและคุณภาพดีนั้น ความสามารถในการจัดการกิจกรรมโลจิสติกส์นั้นจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่ส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้าอย่างรวดเร็ว ลดต้นทุนของสินค้าคงคลัง พัฒนาระบบอุตสาหกรรมอาหารให้เป็นระบบ Just in Time (JIT) นอกจากนั้นในระบบการผลิตยังมีการนำระบบการ Outsourcing มาใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตในบางส่วน ซึ่งผู้ผลิตสามารถมอบหมายให้บริษัทอื่นผลิตในผลิตภัณฑ์ในส่วนที่บริษัทหลักไม่ถนัด ผลิตไม่คุ้มตามจำนวน หรือไม่ได้ (Economy of Scale) การ Outsourcing ยังสามารถทำให้ทั้ง บริษัทหลัก และ Outsourcing ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันทั้งในด้านต้นทุน การพัฒนา และผลกำไรในระยะยาว รวมถึงการสร้างพันธมิตรทางการค้าอีกด้วย ซึ่งในหลายอุตสาหกรรมนั้น ผู้ผลิตจึงได้พยายามวางแผนและแก้ไขปรับปรุงประสิทธิภาพในลักษณะของโซ่อุปทานตั้งแต่ Supplier จนถึง Customer
แนวทางพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหาร
ในการพัฒนาจะสร้างความสัมพันธ์เครือข่ายโครงสร้างของระบบโซ่อุปทานระหว่าง ลูกค้า และ Supplier เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของระบบการผลิตนั้นจำเป็นต้องมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบการสื่อสารส่งข้อมูลที่ชัดเจนโปร่งใส ถูกต้อง และสามารถตรวจสอบติดตามได้ ซึ่งระบบต่อไปนี้จะต้องประกอบด้วยระบบพื้นฐาน ดังต่อไปนี้
กิจกรรมนี้ จะเป็นตัวแปรสำคัญในการนำไปสู่ความสำเร็จของการเป็นผู้ผลิตที่มีระบบ Just-in-Time ที่ทำให้มีระบบสินค้าคงคลังอย่างพอเพียง และมีสินค้ามาส่งตรงตามเวลาที่ได้นัดหมายไว้ ซึ่ง จุดมุ่งหมายของ JIT มีดังต่อไปนี้
หมายถึง การรับส่งสินค้าที่แน่นอน ซึ่งผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อจะต้องมีการประสานงานถึงความต้องการวัตถุดิบจากฝ่ายผลิตว่าต้องการเท่าไหร่ เมื่อใด รวมถึงจะต้องมีการคาดการณ์พยากรณ์ถึงปริมาณและจำนวนวัตถุดิบ ราคา ในอนาคต รวมถึงความสามารถในการจัดส่ง กับ supplier เพื่อที่จะนำมาจัด schedule plan
สรุป
ในอุตสาหกรรมอาหาร การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมอาหารจะสามารถช่วยให้เกิด การลดต้นทุน และปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต และความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้ผลิต ลูกค้า และ supplier อย่างไรก็ตามเพื่อให้การพัฒนาระบบ ทั้งในด้านการจัดซื้อ และ JIT ให้มีประสิทธิภาพจะต้องมีการพัฒนา ประสิทธิภาพของบุคลากรในแง่ของการบริหารจัดการ การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการผลักดัน JIT รวมถึงระบบตรวจสอบติดตามต่าง ๆ เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ลดความผิดพลาดจากงานเอกสาร รวมถึงการลด Transaction Cost ต่าง ๆ พัฒนาประสิทธิภาพของระบบการคาดการณ์พยากรณ์การจัดซื้อ และการจัดผังการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับการงาน ซึ่งการพัฒนานี้จะสามารถลดต้นทุนในการบวนการผลิตอาหาร ซึ่งจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการผลิตอุตสาหกรรมอาหารได้
เอกสารอ้างอิง
Aghazadeh, S.-M. (2001), “A comparison of just-in-time inventory and the quantity discount model in retail outlets”, Logistic Information Management, Vol. 14 No. 3.
Burton, T.T. (1997), “Outsource: increasing supply chain agility”, Electronic Buyer News, p. 15.
Business Wire (2001), “Synchronization savings for foodservice to exceed $1.1 billion; efficient foodservice response study results document potential impact”, Business Wire, Vol. 13 No. 16.
Kinsley, J. (2000), “A faster, leaner, supply chain: new uses of information technologies”, American Journal of Agricultural Economics, Vol. 14 No. 2.
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
CT51 การพัฒนาการ Outsourcing สู่การสร้างความร่วมมือระดับ Global: แนวทางใหม่สำหรับการสร้างความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรม (From Outsourcing to Global Collaboration: New Ways to Build Competitiveness)
ลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2551 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ผู้เขียน ดร. พงษ์ธนา วณิชย์กอบจินดา
บทนำ
ผู้ผลิตในหลาย ๆ ประเภทอุตสาหกรรม ได้มองว่าวัตถุประสงค์หลักของการ Outsource เป็นการลดต้นทุนในกระบวนการทั้งในด้านภาคธุรกิจทั้งในด้านอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ แต่ผู้ผลิตบางรายนั้นได้มองไปถึงโอกาสในการทำไร ทั้งในด้านของการออกแบบผลิตภัณฑ์ ความสามารถในการส่งสินค้าถึงผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว และช่องทางการตลาดใหม่ ซึ่งรูปแบบนี้ได้ถูกเรียกว่า Global Collaboration ซึ่งได้เป็นแนวทางใหม่ในการสร้างความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรม ซึ่งผลของการปรับเปลี่ยนจาก Traditional Outsourcing ไปเป็น Global Collaboration ได้แสดงดังแผนภาพที่ 1
แผนภาพที่ 1 ประโยชน์ที่ได้รับจากการเปลี่ยนแปลงจาก Traditional Outsourcing ไปเป็น Global Collaboration
ในบทความฉบับนี้ผู้จะนำเสนอแนวทางกลยุทธ์ในการเปลี่ยนจาก Traditional Outsourcing ไปเป็น Global Collaboration เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไทย
การพัฒนากลยุทธ์ Global Collaboration
ในอดีตการทำการ Outsourcing หรือการทำ Global Collaboration อาจดูไม่ได้ต่างกันเนื่องจาก การพิจารณานั้นมีเพียงแค่การมองหาวัตถุดิบ ชิ้นส่วนสำหรับการประกอบขั้นสุดท้าย หรือ ผลิตภัณฑ์จากการจ้างเหมา ในที่ต่าง ๆ ของโลก ด้วยการพิจารณาที่ราคาที่ถูกกว่าเผื่อลดต้นทุนการผลิตในภาพรวมเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาเท่านั้น แต่ไม่ได้พิจารณาถึงส่วนต่าง ๆ หรือกิจกรรมอื่น ๆ หรือ ความเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการผลิต ดังแสดงในตัวอย่างในบทความที่ผ่านมาเรื่อง ”แนวทางการป้องกันเพื่อลดผลกระทบของความเสียหายเกิดในโซ่อุปทาน กรณีศึกษา Nokia” โดยที่ทั้ง Nokia และ Suppliers ของ Nokia ต่างพิจารณาทั้งการ Outsourcing เพื่อลดต้นทุนของตนเอง แต่มิได้พิจารณาถึงการ Collaborative ระหว่าง Nokia และ Suppliers เพื่อสื่อสารถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นหากเกิดการส่ง Parts ไม่ทันและทำให้เกิดการผลิตล่าช้าซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งระบบ Supply Chain ดังนั้นในกลยุทธ์ในการพัฒนาการ Outsourcing เพื่อนำไปสู่ Global Collaboration ใน Supply Chain มีดังนี้ 1) Consider more than cost reduction; 2) Align global collaboration strategy with business strategy; 3) Strategies should be company-wide and multi-year; 4) Involve partners in the strategy process;
1. พิจารณาประโยชน์และโอกาสที่จะได้รับในการร่วมมือมากกว่าการลดต้นทุน (Consider more than cost reduction) Outsourcing นับว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญในการลดต้นทุน แต่อย่างไรก็ตามในการวางกลยุทธ์สำหรับ Global Collaboration จะต้องพิจารณาประโยชน์ และโอกาสที่จะได้รับในการ Collaborative อาทิเช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์โดยการร่วมมือค้นคว้าร่วมกัน การวิจัยตลาดความต้องการที่เพิ่มขึ้นและลดลงที่แท้จริง การพัฒนาที่ก่อให้เกิดทรัพย์สินทางปัญญารวมถึงการจดสิทธิบัตร การพัฒนาความรู้ในการการผลิต การหาช่องทางการตลาดใหม่ ๆ และการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า
2. วางแนวกลยุทธ์ในการร่วมมือให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจ (Align global collaboration strategy with business strategy) ในงานวิจัยนี้ยังได้ให้ความสำคัญถึงการวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันระหว่างองค์กรให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจขององค์กรในการทำ Global Sourcing Strategy รวมถึงการทำ Research and Development (R&D) เช่นการพัฒนาระบบการผลิตที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ หรือระบบ Handling ทำให้มีประสิทธิภาพในการผลิตดีขึ้น หรือแม้กระทั่งการร่วมกันพัฒนาในด้านทรัพย์สินทางปัญหาการจดสิทธิบัตรของผลิตภัณฑ์
3. กลยุทธ์ความร่วมมือควรเป็นระดับองค์กร และเป็นการร่วมมือในระยะยาว (Strategies should be company-wide and multi-year) ในการวางแผนความร่วมมือนี้ไม่ใช่เพียงแค่ระดับของโครงการหรือแค่หนึ่งชิ้นงานแต่ควรร่วมมือกันแผนระดับขององค์กร และเป็นการร่วมมือในระยะยาว เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของธุรกิจในอนาคตโดยมีการแสดงถึงวัตถุประสงค์ของกลยุทธ์ในการทำความร่วมมือในระดับองค์กร และระดับธุรกิจ ได้แก่
- จากเพียงแค่การ Outsourcing เปลี่ยนเป็นกระบวนการวางแผนทางธุรกิจ การจัดการทรัพย์สินทางปัญญา การทำสัญญาร่วมกันในการร่วมมือเพื่อผลประโยชน์และโอกาส
- ร่วมมือกันในการพัฒนาบุคลากรร่วมกัน หรือการวางแผนงานร่วมกัน
- การพัฒนากลยุทธ์การเป็น Partnership ซึ่งกันและกัน
เป็นต้น
องค์กรต่าง ๆ และผู้ผลิตที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ล้วนแต่มีการวางแผนในลักษณะของ Global Collaboration มากกว่าการ Outsourcing ซึ่งสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน องค์กรที่ได้ใช้กลยุทธ์และเป็นที่รู้จักดีได้แก่ Toyota รวมถึงทีได้กล่าวมาในบทความก่อนหน้านี้ได้แก่ Nokia
4. ร่วมมือกับ Partners ในการวางแผน และตรวจสอบกระบวนการ (Involve partners in the strategy process and Monitoring) ควรมีการวางแผนกระบวนการผลิตร่วมกันรวมถึงการตรวจสอบเพื่อป้องกันการผิดพลาด เนื่องการความผิดพลาดที่เกิดขึ้นใน Supply Chain จะส่งผลกระทบต่อทั้ง Supplier & Manufacturer ทั้งก่อนหน้าและตามหลัง ดังนั้นในการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพควรมีการวางแผนในระบบการผลิตร่วมกัน และวางแผนการตรวจสอบสถานะของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และมีการ Tracking สถานะผลิตภัณฑ์ได้อย่าง Real Time
สรุป
จากอดีตที่ผู้ผลิตต่าง ๆ ต่างมองว่าการ Outsourcing หรือแม้กระทั่งการทำ Global Sourcing จะเป็นการช่วยลดต้นทุนในการผลิตเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันลงได้ แต่อย่างไรก็ตามการ Outsourcing และ Global Sourcing ที่ไม่ได้มีการวางแผนร่วมกันอาจทำให้เกิดความเสี่ยงหรือความเสียในระบบ Supply Chain ของอุตสาหกรรมการผลิตนั้นๆ ด้วยสามารถสาเหตุเช่น วัตถุดิบไม่สามารถส่งถึงผู้ผลิตได้ตามกำหนดการนัดหมาย ปัญหาด้านคุณภาพ หรือแม้กระทั้งการเกิด Bottleneck ในระบบการผลิตเนื่องมากการคาดการณ์ปริมาณการผลิตผิดพลาดหรือการมีคำสั่งซื้อเข้ามากจนเกินความสามารถในการผลิต ณ ปัจจุบัน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการผลิตในระบบการผลิตหรือโรงงานผลิตถัด ๆ ไป
ดังนั้นในปัจจุบันจึงผู้ผลิตจึงได้มีการทำสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กร (Collaboration) กับ Supplier หรือ Outsourcer โดยมีการร่วมมือกันวางแผนการผลิต การออกแบบระบบการผลิตที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ การวิจัยผลิตภัณฑ์ การร่วมมือพัฒนาด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการจดสิทธิบัตร การวิจัยความต้องการของลูกค้า และการมองหาช่องทางการตลาดใหม่ วิธีนี้จะสามารถลดต้นทุนของทั้งกระบวนการผลิตและยังป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนขององค์กรได้อีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
Allee V., 2006, Collaboration, Innovation, and Value in Global Telecom, The Learning Organization, Vol. 13, No. 6, pp. 569 – 578.
MacCormack A, Forbath T, Brooks P, and Kalaher P, 2007, From Outsourcing to Global Collaboration: A New Way to Build Competitiveness, Harvard Business School Press, Boston, MA
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
เว็บไซต์ www.iok2u.com นี้เกิดมาจาก แรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward โดยมีเป้าหมายเล็ก ๆ ที่กำหนดไว้ว่า ทุกครั้งที่เข้าเรียนสัมมนาหรืออบรมในแต่ละครั้ง จะนำความรู้มาจัดทำเป็นบทความอย่างน้อย 3 เรื่อง เพื่อมาลงในเว็บนี้
ความตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับมาทำการถ่ายทอดต่อไป และหวังว่าจะมีคนมาอ่านแล้วเห็นว่ามีประโยชน์นำเอาไปใช้ได้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลย โดยอาจไม่ต้องอ้างอิงที่มาหรือมาตอบแทนผู้จัด แต่ขอให้ส่งต่อหากคิดว่ามันดีหรือมีประโยชน์ เพื่อถ่ายทอดความรู้และสิ่งดี ๆ ต่อไปข้างหน้าต่อไป Pay It Forward