ประวัติความเป็นมาการก่อตั้งโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ช่วงที่ 1 (พ.ศ. 2458 - 2478)
ประวัติความเป็นมาการก่อตั้งโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช รากฐานการศึกษาไทยในหัวเมืองเริ่มต้นที่นี่
เมื่อ พ.ศ. 2439 พระญาณรักขิต (พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ - จันทร์ ศิริจันโท) ได้มอบหมายให้พระมหาอ้วน ติสโส (สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดบรมนิวาส) และคณะ ทำการรวบรวมอุปกรณ์การศึกษาจากกรุงเทพมหานคร นำมาที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเปิดสอนที่วัดสุปัฏนารามวรวิหารโดยจัดตั้งเป็นโรงเรียนขึ้น
พ.ศ. 2440 โรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นนี้ รับนักเรียนทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ชาย โดยให้ชื่อว่า "โรงเรียนอุบลวิทยาคม" เป็นอาคารไม้สองชั้น อยู่ทางทิศใต้ของตัววัด ติดถนนพรหมราช วิชาที่เปิดสอนคือภาษาบาลี และภาษาไทย ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์จำนวน 10 ชั่ง เพื่อเป็นทุนในการใช้จ่ายในการเรียนการสอนโดยมีพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงใหญ่ต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลอีสานเป็นผู้แทนพระองค์ทรงนำมามอบให้
ต่อมาโรงเรียนอุบลวิทยาคมมีจำนวนนักเรียนมากขึ้น ทำให้โรงเรียนคับแคบและชำรุดทรุดโทรม ทางราชการซึ่งมีพระยาศรีธรรมศกราช (ปิ๋ว บุญนาค) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุบลราชธานี ในขณะนั้นได้ดำริสร้างโรงเรียนขึ้นใหม่ เป็นโรงเรียนตั้งอยู่นอกวัดที่มุมทุ่งศรีเมืองทางทิศอีสาน ใน พ.ศ. 2458 (บริเวณโรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานีในปัจจุบัน)
การสถาปนาโรงเรียน พ.ศ. 2458 โรงเรียนหลังใหม่ที่แยกมาจากโรงเรียนอุบลวิทยาคมหลังนี้ การก่อสร้างใช้ช่างและแรงงานของนักโทษในเรือนจำจังหวัดอุบลราชธานี (เรือนจำนี้ตั้งอยู่ ณ ที่ทำการเทศบาลเมืองอุบลราชธานีในปัจจุบัน) สร้างเป็นโรงเรียนด้วยโครงไม้จริงทั้งหมด หลังคามุงสังกะสี ฝาขัดด้วยไม้ไผ่ผ่าเป็นซี่ๆ ขัดกันเป็นขัดแตะโบกด้วยยางบงผสมดินและทราย เป็นกำแพงหนามั่นคงแข็งแรงดี ตัวโรงภายนอกทาสีแดงคล้ำ ภายในทาสีปูนขาว มีระเบียงโดยรอบทั้ง 4 ด้าน แต่ละด้านมีบันไดอยู่ตรงกลาง ตัวอาคารมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยด้านตะวันตกและด้านตะวันออกยาวกว่าด้านทิศเหนือและทิศใต้เป็นโรงเรือนชั้นเดียว ใต้ถุนเตี้ยสูงประมาณ 1 เมตร มีห้องเรียน 8 ห้อง ใช้เป็นห้องครูใหญ่ ห้องพักครู ห้องสมุดและอุปกรณ์การเล่นกีฬา มีห้องประชุมอยู่กึ่งกลางตัวอาคารนับว่าเป็นโรงเรียนที่ใหญ่โตของมณฑลอุบลราชธานีในสมัยนั้น
เมื่อโรงเรียนได้สร้างเสร็จเรียบร้อย ได้ประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2458 โดยพระยาศรีธรรมศกราช ได้ทูลเชิญ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบกซึ่งมาตรวจราชการที่มณฑลอุบลราชธานี เป็นประธานประกอบพิธีเปิด และได้ประทานนามโรงเรียนว่า "โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลอุบลราชธานีเบ็ญจะมะมหาราช" เพื่อเป็นอนุสรณ์ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยได้ทรงออกใบประกาศตั้งนามโรงเรียนให้ไว้เป็นสำคัญ ซึ่งโรงเรียนได้ใส่กรอบเก็บรักษาไว้จนกระทั่งบัดนี้
ดังนั้นโรงเรียนจึงถือเอาวันที่ 28 กันยายนของทุกปี เป็นวันสถาปนาโรงเรียน ที่ศิษย์และชาวอุบลราชธานีมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งโรงเรียนทั่วไปที่มีคำว่า "เบ็ญจะมะ" ในประเทศไทยไม่มีโรงเรียนใดต่อท้ายด้วยคำว่า "มหาราช" เลย จึงถือเป็นสิ่งล้ำค่าและภาคภูมิใจของชาวอุบลราชธานี
จะเห็นว่าต้นกำเนิดโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชได้สืบเนื่องมาจาก โรงเรียนวัดสุปัฏน์ฯ เมื่อเริ่มเปิดก็ได้โอนเอานักเรียนจากวัดสุปัฏน์ฯ ทั้งหมดมาเรียนที่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชหลังแรกนี้ ซึ่งสอนเฉพาะคฤหัสถ์ชายทั้งชั้นประถมและชั้นมัธยม
ในช่วงระยะ พ.ศ.2458 - 2478 ซึ่งเป็นเวลา 20 ปี ที่โรงเรียนได้ทำการสอนมา มี ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ อาทิ ราชบุรุษอุ่ม สุวรรณภาส, อำมาตย์ตรีเจิม ยุวจิติ, อำมาตย์ตรีละพุล, ราชบุรุษผึ่ง ผโลปการ, รองอำมาตย์ตรีขุนโกศลเศรษฐ์, รองอำมาตย์ตรีขุนประสงค์จรรยา, รองอำมาตย์ตรีทองอินทร์ภูริภัฒน์, รองอำมาตย์ตรีน้อม (น้อย) วนะรมย์ เป็นท่านสุดท้าย เพราะโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชหลังแรกนี้ได้ยุติลง และได้ทำการสร้างขึ้นใหม่เป็นหลังที่ 2
? ที่มา Internet
.
-----------------------------------------------------------------------------
? กลุ่มชุมชนไลน์ "พี่น้องเบ็ญจะมะมหาราช"
https://line.me/ti/g2/lJ6w6p7dSfpZGO0GcDO_ZA?utm_source=invitation&utm_medium=link_copy&utm_campaign=default
-----------------------------------------------------------------------------