iok2u.com แหล่งรวมข้อมูลข่าวสารเรื่องราวน่าสนใจเพื่อการศึกษาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้
CT51 ความเคลื่อนไหวของต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศออสเตรเลีย
ลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2551 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ผู้เขียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สถาพร อมรสวัสดิ์วัฒนา
บทนำ
ในปัจจุบันนี้ราคาน้ำมันที่ได้ปรับตัวสูงขึ้นมาจากในอดีตได้ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศออสเตรเลียได้ปรับตัวสูงกว่าที่พยากรณ์ไว้ ส่งผลให้เกิดค่าครองชีพและราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากราคาน้ำมันได้ส่งผลให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศออสเตรเลียปรับตัวสูงขึ้นในอัตราก้าวกระโดด ดังนั้นการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพจะต้องนำมาใช้เพื่อลดผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
คำสำคัญ ต้นทุนโลจิสติกส์, ดัชนีราคาผู้บริโภค, ต้นทุนการขนส่ง
ความเคลื่อนไหวด้านต้นทุนโลจิสติกส์
ความเคลื่อนไหวของต้นทุนโลจิสติกส์ (Logistics Cost Monitor: LCM) ของบริษัท Sinclair Knight Merz ประทศออสเตรเลีย เป็นแบบจำลองที่ใช้เพื่อให้ข้อมูลรายไตรมาสของภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวกับแนวโน้มของต้นทุนโลจิสติกส์ ข้อมูลนี้จะใช้ต้นทุนเป็นตัวดัชนีที่ใช้ในการเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนในการผลิต นอกจากนี้ความเคลื่อนไหวของต้นทุนโลจิสติกส์ยังใช้อ้างอิงถึงการเปลี่ยนแปลงในไตรมาสก่อนหน้านี้โดยเปรียบเทียบกับดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ของประเทศออสเตรเลีย
ค่าดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 1.49% ในไตรมาสที่ 2 (เมษายน – มิถุนายน 2551) ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคประจำปีเพิ่มขึ้นเป็น 4.51% ซึ่งเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกันที่การเติบโตของค่าดัชนีราคาผู้บริโภคเกินการพยากรณ์อัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลางประเทศออสเตรเลีย (Reserve Bank of Australia) ที่ตั้งไว้ 2-3 %
ค่าดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศออสเตรเลียที่เพิ่มขึ้นมีปัจจัยมาจากต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนค่าขนส่ง และต้นทุนด้านสุขภาพซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้โตด้วยอัตราเฉลี่ยมากกว่า 2% ในแต่ละไตรมาส เมื่อเปรียบเทียบเป็นรายปีแล้วปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อจะมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การขนส่งและภาคการเงินที่มีแต่ละภาคธุรกิจได้มีอัตราเงินเฟ้อมากกว่า 6% ต่อปี
แผนภาพที่ 1 จะแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคและความเคลื่อนไหวของต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศออสเตรเลีย
ที่มา: บทความเรื่อง “Logistics Cost Monitor” ของบริษัท Sinclair Knight Merz ประเทศออสเตรเลียฉบับมิถุนายน 2551
แผนภาพที่ 1 ดัชนีราคาผู้บริโภคและต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศออสเตรเลีย
ในแผนภาพที่ 1 ต้นทุนของบริการทางโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น 6.49% ไปที่ 161.59 จุดในไตรมาสนี้ซึ่งมีค่าเพิ่มขึ้นสูงกว่าการเพิ่มขึ้นในดัชนีราคาผู้บริโภค โดยที่การเพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากการเพิ่มสูงขึ้นของต้นทุนของราคาน้ำมันดีเซลในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ซึ่งการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดีเซลส่งผลกระทบต่อบริการด้านโลจิสติกส์มากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนของเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินดอลลาร์ออสเตรเลียได้ช่วยให้ต้นทุนโลจิสติกส์ในไตรมาสนี้มีเสถียรภาพ แต่ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 10% ส่งผลกระทบอย่างหนักหนาสาหัสต่อต้นทุนโลจิสติกส์ นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นเพียง 1.75% จากเดือนมีนาคมมาจนถึงเดือนมิถุนายนทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 17.77% เปรียบเทียบกับต้นทุนทางการเงินเมื่อ 12 เดือนที่แล้ว
นอกจากนี้ต้นทุนของราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 20.36% ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมาถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2551 ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลสูงขึ้น 40.22% เมื่อเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันดีเซลเมื่อ 12 เดือนที่แล้ว อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันล่าสุดได้ลดต่ำลงจากราคาที่ใกล้เคียง 150 เหรียญสหรัฐมาจนต่ำกว่า 130 เหรียยสหรัฐ ซึ่งได้มีการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญในหลายอุตสาหกรรมว่าราคาน้ำมันจะมีแนวโน้มต่ำลงจนถึง 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล การพยากรณ์ราคาน้ำมันเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ราคามีความผันผวนและมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายส่วน แนวโน้มของราคาน้ำมันสามารถแสดงได้ดังแผนภาพที่ 2
ที่มา: บทความเรื่อง “Logistics Cost Monitor” ของบริษัท Sinclair Knight Merz ประเทศออสเตรเลียฉบับมิถุนายน 2551
แผนภาพที่ 2 แนวโน้มของการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน
นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อจะส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อได้เร็วมากขึ้น เนื่องจากค่าจ้างแรงงานจะเป็นตัวเพิ่มต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการซึ่งทางผู้ผลิตจะผลักภาระไปสู่ผู้บริโภคโดยการเพิ่มราคาสินค้าอีก
แนวโน้มในอนาคต
จากการเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐศาสตร์ของระบบโซ่อุปทานในช่วงเวลาที่ผ่านมาจะเห็นว่า องค์กรธุรกิจจะหาวิธีการที่ดีกว่าในการจัดการกิจกรรมการขนส่ง โดยที่ต้นทุนในการขนส่งของวิธีการรูปแบบต่างๆ จะนำมาเปรียบเทียบเพื่อจัดลำดับความสำคัญขององค์กร เช่น การขนส่งทางรางหรือทางน้ำจะเข้ามามีบทบาทมากกว่าการขนส่งทางถนนยกเว้นประเภทของสินค้าที่ต้องการความรวดเร็วในการส่งมอบ นอกจากนี้ต้นทุนของการนำเข้าสินค้าที่ต้องใช้การขนส่งในประเทศเป็นระยะทางไกลจะทำให้การขนส่งมีต้นทุนสูงมากขึ้น จะส่งผลให้ผู้ผลิตในประเทศมีความได้เปรียบมากขึ้น
ที่มา:
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
CT51 ความรู้พื้นฐานสำหรับการออกแบบและก่อสร้างทางรถไฟ (Railway Engineering: Fundamental Aspect)
ลิขสิทธิ์ สำนักโลจิสติกส์
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
โดย ดร. พงษ์ธนา วณิชย์กอบจินดา
1) บทนำ
ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วการขนส่งระบบราง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการขนส่งผู้โดยสารหรือการขนส่งสินค้า นับว่ามีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันของประชาชนยุคปัจจุบันโดยเฉพาะในยุคน้ำมันแพงซึ่งการขนส่งด้วยระบบรางนั้นมีข้อดีหลายประการ ยกตัวอย่างเช่น ระบบขนส่งมวลชน (Mass Rapid Transit System: MRTS) ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินขององค์การรถไฟฟ้ามหานคร (Mass Rapid Transit Authority: MRTA) หรือที่เราเรียนกันว่า MRT และ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือที่เราเรียกว่า (Bangkok Transit System: BTS) จะเห็นได้ว่าสามารถนำผู้โดยสารไปยังจุดหมายปลายได้อย่างรวดเร็ว ได้ครั้งละมาก ๆ และมีค่าใช้จ่ายในการโดยสารที่ต่ำ หากลองพิจารณาในอีกด้านของการขนส่งทางรถไฟ ก็คือ การขนส่งสินค้า ยิ่งในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการสนับสนุนการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะในด้านพยายามในการปรับเปลี่ยนการขนส่งระยะปานกลางถึงไกลจาการขนส่งด้วยรถบรรทุกให้เป็นการขนส่งทางรถไฟ ที่มีข้อได้เปรียบในด้านต้นทุนการขนส่งต่อหน่วยสินค้าและ ต้นทุนพลังงานที่ถูกว่า ความปลอดภัย รวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม (Cilliers and Nagel 1994, Crainic and Laporte 1997, Kasilingam 2003, Vanichkobchinda 2007).
อย่างไรก็ตามในการก็สร้างทางรถไฟนั้นจะมีต้นทุนก่อสร้างที่สูง เครื่องจักรที่ในการบำรุงรักษาทางวิ่ง (Track Maintenance Machine) ทางมีราคาแพง เป็นงานเฉพาะทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับเหมาสัมปทานทางรถไฟ หรือ การออกแบบการเชื่อมทางรถไฟเข้าสู่โรงงงานอุตสาหกรรมของอุตสาหกรรมบางสาขาเช่น อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมเหมือง อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ หากผู้ใช้ไม่มีความรู้พื้นฐานในการออกแบบลานขนถ่ายสินค้า (Railway Yard) ที่ดีพออาจทำให้มีการติดตั้งประแจ (Turnout) หรือใช้ประแจไม่ถูกประเภทก็จะทำให้มีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาในระยะยาวที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบการต้นทุนการปฏิบัติขององค์กร ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงพื้นฐานของระบบพื้นทางวิ่งของทางรถไฟรวมถึงการเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของทางวิ่งระบบต่างๆ ซึ่งจะกล่าวในส่วนต่อไป
2) ระบบโครงสร้างพื้นทางวิ่ง (Railway Track Structure System)
ในการพิจารณาถึงพื้นทางวิ่ง (Track) โดยทั่วไปจะมี 2 ส่วน หลัก ๆ คือ 1) โครงสร้างทางวิ่งด้านตัดขวาง (Track Structure: Cross Section) และ 2) โครงสร้างทางวิ่งภาคตัดตามยาว โครงสร้างด้านบน (Track Structure: Longitudinal Section and Topview Section)
2.1) โครงสร้างทางวิ่งภาคตัดขวาง (Track Structure: Cross Section)
การพิจารณาในส่วนของภาคตัดขวางจะบอกถึงการออกแบบโครงสร้างของชั้นดินบดอัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ระบบทางวิ่งที่โรยด้วยหิน (Ballast Track) จะต้องให้ความสำคัญในการบดอัดดินเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะต้องบดอัดดินให้แน่นเสมอกันโดยจะมีการบดอัด 2 ชั้น คือ Subgrade และ Sub-Ballast ก่อนที่จะโรยด้วย Ballast เพื่อรองรับการถ่ายน้ำหนักจากล้อรถไฟลงสู่รางทั้งสองอย่างเสมอภาคเพื่อป้องกันรถไฟตกรางจากความต่างระดับของรางทั้งสอง (ดังแสดงในแผนภาพที่ 1)
แผนภาพที่ 1 ภาพตัดขวางของการบดอัดดินของการก่อสร้างทางรถไฟ
นอกจากนั้นการออกแบบใน Cross-Section ยังต้องพิจารณาถึง Track Gauge ซึ่งก็คือความกว้างระหว่างฐานล้อของรถไฟ ระยะห่างระหว่างฐานล้อนี้จะวัดจากสันรางลงมา 14 mm (BS EN 13674 – 1: 2003) โดยที่ฐานรางทำมุมเอียงเข้าหากัน 1:40 (1:20) จุดนี้ก็คือจุดที่บังใบล้อสัมผัสกับตัวราง ดังแสดงในแผนภาพที่ 2 และ 3)
ในปัจจุบัน Track Gauge ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายจะมีอยู่ 3 ประเภท
1. Meter Gauge เป็น gauge ที่มีความกว้าง 1,000 mm ทางรถไฟ Meter Gauge จะยังใช้กันอยู่เพียงแค่ประเทศไทยและมาเลเซีย
2. Standard Gauge เป็น gauge ที่มีความกว้าง 1,435 mm ทางรถไฟประเภทนี้เป็นแบบที่นิยมกันใช้ในปัจจุบัน เนื่องจากมีฐานล้อที่กว้างจะสามารถทำให้รถไฟวิ่งได้ด้วยความเร็วสูง และสามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้มากกว่าอีกด้วย นอกจากนั้น ทั้งในด้านของตัวราง ขบวนรถ (Rolling Stock) และระบบสนับสนุน มีการผลิตและใช้อย่างแพร่หลายจึงส่งผลให้การบำรุงรักษาระบบต่าง ๆ ในระยะยาวถูกลง
3. Broad Gauge เป็น gauge ที่มีขนาดใหญ่กว่า Standard gauge ซึ่ง Broad มีอยู่หลายขนาดตามและแต่ละประเทศจะมีขนาด gauge ที่ไม่เท่ากัน เช่น Brazil Broad Gauge = 1,600 mm, Netherlands Broad Gauge = 1,945 mm, หรือ Spanish Broad Gauge = 1,668 mm อย่างไรก็ตาม ระบบ Broad Gauge ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายจะมีการใช้ในแถบอินเดีย ซึ่ง Broad Gauge ประเภทนี้จะมีความกว้าง 1,676 mm
4. Dual Gauge (Mixed Gauge) คือทางรถไฟที่มีระบบรางผสมกันตั้งแต่ 2 ระบบขึ้นไป เช่น Standard Gauge กับ Meter Gauge หรือ ผสม กับ Broad Gauge ดังแสดงในแผนภาพที่ 1 a และ b
แผนภาพที่ 2 Track Gauge
แผนภาพที่ 3 Standard Track Gauge และ จุดสัมผัสของบังใบล้อกับตัวราง
แผนภาพที่ 4 Dual Gauge: (a) ภาพตัดขวางของ Dual Gauge; (b) ระบบรางแบบ Dual Gauge
Profile การบดอัดชั้นดิน และTrack Gauge จะบอกถึงมิติของทางรถไฟรวมถึงเป็นข้อมูลในการนำไปจัดซื้อจัดหาขบวนรถไฟ (Rolling Stock) และระยะห่างระหว่างทางรถไฟคู่ขนาน การออกแบบตัวสะพาน (แสดงในแผนภาพที่ 5) หรือแม้กระทั่งการออกแบบ Yard ที่ใช้ในการขนถ่ายสินค้า ซึ่งจะนำไปออกแบบคำนวณหาขนาดมิติของ Rolling Stock ซึ่งเรียกว่า Structural Gauge (แสดงในแผนภาพที่ 6) เพื่อป้องกันการชนกันของรถไฟ
แผนภาพที่ 5 ระยะห่างระหว่าง Track
แผนภาพที่ 6 Structural Gauge
2.2) โครงสร้างทางวิ่งภาพตัดตามยาว (Track Structure: Longitudinal Section) ในขณะที่ภาพตัดตามยาวจะแสดงถึงระยะในการวางหมอนรถไฟ การจุดเชื่อมราง การติดฉนวน ต่าง ๆ และยังบอกถึง Horizontal & Vertical Alignment ในการวางรางอีกด้วย
3) พื้นทางวิ่ง (Railway Track)
ทางวิ่งของรถไฟที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1) Ballasted Track; 2) Non-Ballasted Track หรือ Slab Track (หรือ เรียกอีกอย่างว่า Track Concrete)
1 Ballast Track (ดังแสดงในแผนภาพที่ 7) เป็นทางรถไฟที่ใช้กันอย่างแพร่หลายอยู่ทั่วไปในทุก ๆ ประเทศ ซึ่ง Ballasted Track นั้นมีข้อดีคือ ต้นทุนการก่อสร้างที่ต่ำ ขั้นตอนการบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแรง เปลี่ยนเครื่องยึดเหนี่ยว สามารถทำได้ง่าย Rail Joint และ Fishplated joint และ Insulated Rail Joint (IRJ) แม้กระทั่งการปรับแก้ ระดับ (Level) และ แนวทางวิ่ง (Alignment) สามารถทำได้ง่าย มีคุณสมบัติการระบายน้ำที่ดี รวมถึงการลดมลภาวะทางเสียงที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของการวิ่งของรถไฟกับพื้นทาง
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่า Ballasted Track จะมีต้นทุนในการบำรุงรักษาที่ถูก และบำรุงรักษาง่าย ก็จริงแต่ก็ต้องทำการบำรุงรักษาเป็นระยะ ๆ เมื่อพิจารณารวมกับจำนวนครั้งในการบำรุงรักษากับระยะเวลาในการใช้พบว่ามีค่าบำรุงรักษาทางที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการพัฒนารูปแบบของทางรถไฟสมัยใหม่ ด้วยการนำระบบของ Slab Track หรือ Track Concrete เข้ามาใช้เพื่อลดต้นทุนและกระบวนการในการบำรุงรักษารวมถึงยืดอายุการใช้งานของทางรถไฟ
แผนภาพที่ 7 Ballasted Track
2 Non – Ballasted Track (Slab Track or Concrete Track) (แสดงในแผนภาพที่ 8) ลักษณะของ Slab Track จะแตกต่างจาก Ballast Track ตรงที่จะเปลียนชั้น Sub-grade ไปเป็น Concrete Road-bed ในส่วนของ Sub-ballast จะเปลี่ยนเป็นการเทคอนกรีตเพื่อเชื่อมกับตัวหมอนรถไฟ (Concrete Sleeper) ดังแสดงในแผนภาพที่ 9 Slab Track จะช่วยลดความสูงของโครงสร้าง ลดปัญหาในการจัดหาหิน Ballast เนื่องจากในปัจจุบันยากในการหาหิน Ballast ที่ได้ขนาด ได้สัดส่วน ไม่กลม หรือ แบนจนเกินไป และที่สำคัญในหลาย ๆ ประเทศได้มีนโยบายในการปกป้องสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลให้การขอใบอนุญาตในการเปิดเหมืองหินก็ทำได้ยากขึ้นยังส่งผลให้มีการก่อสร้างทางรถไฟมีต้นทุนที่สูงขึ้นตามมาอีกด้วย และในเมื่อหิน Ballast นับวันยิ่งหายากขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนในการบำรุงรักษาทางรถไฟในอนาคตสูงขึ้นด้วยเนื่องหิน Ballast จะต้องถูกเปลี่ยนและบำรุงรักษาตามระยะเวลา Slab Tack ยังมีความเสถียรภาพทางโครงสร้างที่สูงซึ่งเหมาะสมกับการใช้กับ รถไฟความเร็วสูง (High Speed Rail: HSR) รวมถึงยังสามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้มากอีกด้วย ในปัจจุบันทางรถไฟประเภทนี้ได้ใช้กับอย่างแพร่หลายในระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟลอยฟ้า และระบบรถไฟชาญเมือง ซึ่งเป็นทางรถไฟที่มีความถี่ของขบวนต่อวันสูง มีเวลาในการบำรุงรักษาต่ำ หรือ หากว่าต้องหยุดเพื่อบำรุงรักษาอาจเกิดการสูญเสียทางระบบเศรษฐกิจสังคมสูง เช่น หากหยุดรถไฟฟ้าใต้ดิน หรือ รถไฟฟ้า BTS หยุดวิ่งก็จะทำให้สูญเสียทางเศรษฐกิจทางตรงเช่นรายของบริษัท ทางอ้อมเช่น หากประชาชนไม่ขึ้นรถไฟฟ้า จะทำให้หันมาใช้รถยนต์มาขึ้นทำให้การบริโภคน้ำมันมากขึ้น ทำให้เกิดการล่าช้าในการนัดหมายหรือการประชุม
อีกสาเหตุสำคัญที่ Slab Track ไม่ใช้ในการขนส่งระยะไกลเนื่องจาก จะทำให้มีต้นทุนการก่อสร้างที่สูง และความถี่ของขบวนรถยังไม่มากพอ ก็ยังไม่คุ้มค่าที่จะใช้ Slab Track ซึ่งราคาแพงกว่า Ballasted Track 30 – 50% หรือว่าในบางกรณีอาจแพงกว่าถึงเท่าตัว
แผนภาพที่ 8 Slab Track
แผนภาพที่ 9 Cross-Section ของ Slab Track (Rheda 2000: Classic Type)
ประเภทของ Slab Track เกณฑ์ในการจัดประเภทได้ 2 แบบหลัก ๆ คือ
1 แบ่งตามวิธีการติดตั้ง การติดตั้งแบ่งออกได้สองแบบคือ
1) Direct Fixation;
2) Floating Slab Track
2 แบ่งตามลักษณะของประเภท Rail Support
ลักษณะของ Slab Track ที่แบ่งตาม Rail Support จะมีอยู่หลายประเภทซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการออกแบบของแต่ละบริษัทหรือตาม TOR (Term of References) ของแต่ละประเทศ นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความต้องการในการลดต้นทุนการก็สร้าง ที่ต้องการให้ได้งานที่เร็ว ต้นทุนที่ถูก และการควบคุมคุณภาพ การแบ่งประเภทแบบ Rail Support แสดงดังตารางที่ 1
SLAB TRACK SYSTEM |
|||||
Discrete Rail Support |
Continuous Rail Support |
||||
Sleeper or Blocks embedded in concrete |
Sleeper on top of asphalt concrete roadbed |
Prefabricated Concrete Slab |
Monolithic insitu slabs (on Civil Structure) |
Embedded Rail |
Clamped and Continously Supported Rail |
Rheda Rheda2000 Zublin LVT |
ATD |
Shinkansen Bogl |
Paved-in track on civil Structure |
Raved-in Track light rail road crossing deck track |
Cocon Track, ERL Vanguard KES |
5) สรุป
จากที่กล่าวจะเห็นได้ว่าความรู้ในเรื่องของ Track Gauge และพื้นฐานในเรื่องของระบบพื้นฐานของทางวิ่งเช่น Ballasted Track และ Slab Track นั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไรและความแตกต่างในด้านต้นทุนการก่อสร้าง ต้นทุนในการบำรุงรักษา และระยะเวลาในการใช้ทาง ซึ่งความรู้เหล่านี้จะทำให้ผู้ประกอบการอุตาสหกรรมสามารถนำไปเป็นส่วนในการตัดสินใจหากมีความต้องการที่ลงทุนในด้านการสร้างทางรถไฟเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม
6) เอกสารอ้างอิง
- American Railway Engineering and Maintenance-of-Way Association (AREMA), Railway Engineering Desgin Handbook
- British Standard: BS EN 13674 – 1: 2003, Railway applications – Track – Rail – Part 1: Vignole railway rails 46 kg/m and above
- Cillier, W.W. and Nagel, P.J.A. (1994) Logistics trends in South Africa. International Journal of Physical Distribution & Logistics Managemen 24(7), 4–14
- Crainic, T.G. & Laporte, G. (1997) Planning models for freight transportation. European Journal of Operation Research, 97, 409–438.
- Kasilingam, R.G. (2003) Logistic and Transportation: Design and Planning. Kluwer Academic Publishers, London
- The International Union of Railway (UIC) Design Code
- Vanichkobchinda, P. (2007) Development of Thailand railway freight transportation: A key element to become the Greater Mekong Subregion (GMS) freight distribution center, The Proceedings of the 12th International Conference of Hong Kong Society for Transportation Studies: Transportation System: Engineering & Management, 8 – 10 December 2007, Hong Kong
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
CT51 ความสำคัญของเขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2551 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ผู้เขียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สถาพร อมรสวัสดิ์วัฒนา ดร.พงษ์ธนา วณิชย์กอบจินดา
บทนำ
ประเทศไทยมีความได้เปรียบทางทางด้านภูมิศาสตร์ เนื่องจากตั้งอยู่ในทำเลศูนย์กลางของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ เป็นต้น ดังนั้นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อมารองรับยุทธศาสตร์ดังกล่าว เช่น เขตปลอดอากร การปฏิรูปกฎหมาย และการพัฒนาทรัพยากรบุคคล
คำสำคัญ เขตปลอดอากร, การขนส่งสินค้าทางอากาศ
เขตปลอดอากรมีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภท ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม ผักสด อาหาร กล้วยไม้ เป็นต้น เขตปลอดอากรนี้สามารถใช้เป็นแหล่งที่รวบรวมสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อนำวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์มาแปรรูป ผลิต โดยการแยกหรือประกอบชิ้นส่วน หรือ การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ภายนอกเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าที่อยู่ในเขตปลอดอากร ก่อนที่จะนำส่งออกไปยังประเทศปลายทางต่อไป นอกจากนี้ยังสามารถสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางอากาศ เช่น สายการบินต่างๆ สามารถมาลงจอดได้เพื่อขนถ่ายสินค้าได้มากขึ้น ทำให้มีการไหลเวียนของสินค้ามีมากขึ้น และเก็บค่าบริการที่เกี่ยวข้องได้มากขึ้น ดังนั้นการสนับสนุนและส่งเสริมเขตปลอดอากรให้มีบริการที่สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพจะสามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยได้อย่างรวดเร็ว และเป็นระบบ ยกตัวอย่าง เช่น ในประเทศสิงคโปร์ถึงแม้ว่าเป็นประเทศที่ข้อจำกัดด้านพื้นที่และไม่มีสินค้าหลักเป็นของตัวเองก็ตาม สนามบินชางฮีมีการเปิดใช้เขตปลอดอากร 472,600 ตารางเมตร (47 เฮกเตอร์) โดยมีพื้นที่ในส่วนของคลังสินค้า และ สำนักงาน 110,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าที่สามารถรองรับปริมาณการขนถ่ายสินค้าได้1.9 ล้านตัน ในปี 2549 และมีความสามารถในการรองรับปริมาณการขนถ่ายสินค้าได้สูงสุดถึง 3 ล้านตันต่อปี
1. วัตถุประสงค์ในการพัฒนาเขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
- เพื่อสนับสนุนเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ส่งออกของประเทศไทยให้มีช่องทางการขนส่งสินค้าทางอากาศที่มีมาตรฐานระดับโลก
- เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าไทย
- เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจที่เกี่ยวอุตสาหกรรมการบินและขนส่งสินค้าทางอากาศของประเทศ เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า การขนสินค้าผ่านแดนไปยังประเทศปลายทางได้มากขึ้น
- เพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการขนส่งและกระจายสินค้าทางอากาศของภูมิภาคเอเชีย
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องในเขตปลอดอากรของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถจำแนกได้ดังนี้
2.1 ผู้นำเข้าสินค้าในฐานะผู้สั่งสินค้านำเข้ามาจากต่างประเทศ
2.2 ผู้ส่งออกสินค้าในฐานะผู้จำหน่ายสินค้าไปยังต่างประเทศ รวมถึง เกษตรกร และผู้ผลิต
2.3 สายการบินในฐานะผู้ให้บริการขนส่งสินค้านำเข้าหรือส่งออกทางอากาศ
2.4 เอเย่นต์ในฐานะคนกลางในการดำเนินการซื้อขายพื้นที่ในการขนส่งสินค้าผ่านเครื่องบิน
2.5 ผู้บริหารเขตปลอดอากรในฐานะบริหารจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกในพี้นที่ อำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรในการขนส่งสินค้าระหว่างอาคารและบริหารจัดการคลังสินค้าส่วนกลาง
2.6 บ. ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ดำเนินการบริหารสิ่งอำนวย ความสะดวกภายในท่าอากาศยาน และเป็นเจ้าของพื้นที่และคลังสินค้าในเขตปลอดอากร
2.7 กรมศุลกากร ในฐานะผู้กำหนดเงื่อนไขในการดำเนินการของเขตปลอดอากร และดำเนินการพิธีการศุลกากรที่เกี่ยวข้อง
2.8 ภาครัฐในฐานะผู้กำหนดนโยบายเพื่อสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมถึงสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่มีในเขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
3. การวิเคราะห์ศักยภาพของเขตปลอดอากรสนามบินสุวรรณภูมิ
3.1 จุดแข็ง (Strengths)
- ผู้ใช้บริการได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นค่าภาษีอากรสำหรับของที่นำเข้าไปอยู่ในเขตพื้นที่ของเขตปลอดอากร
- ลดต้นทุนของสินค้าเนื่องจากไม่เสียภาษีซ้ำซ้อนในการนำเข้าและส่งออก
- สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้ โดยไม่ต้องนำออกจากเขตปลอดอากรเพื่อไปทำการผลิตที่พื้นที่อื่น ทำให้ลดต้นทุนการขนส่งได้
- ลดเวลาในการนำเข้าและส่งออกสินค้าเนื่องจากลดขั้นตอนตรวจสอบทางศุลกากรที่ซ้ำซ้อน สามารถส่งออกได้รวดเร็วมากขึ้น ทำให้สินค้าสามารถนำส่งไปยังจุดหมายปลายทางได้รวดเร็วมากขึ้น
- พื้นที่ในเขตปลอดอากรสามารถรองรับการบริหารปริมาณสินค้าคงคลังได้ ทำให้ผู้ใช้บริการไม่จำเป็นต้องขนถ่ายสินค้าไปนอกพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อเก็บสินค้าและรอเวลาที่จะนำส่งผ่านสนามบินอีกครั้ง
ประเทศไทยมีทำเลที่ตั้งซึ่งจัดได้ว่าเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศเพื่อการโดยสารและการขนถ่ายสินค้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการเป็นประตูของการเปลี่ยนถ่ายเครื่องบินทั้งผู้โดยสารและสินค้าเพื่อไปยังภูมิภาคต่าง ๆ โดยมีความได้เปรียบจากการมีระยะทางที่สั้นกว่าจากภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสนามบินชางฮี ประเทศสิงคโปร์ อีกทั้งสนามบินสุวรรณภูมิยังเป็นสนามบินที่มีสายการบินมาใช้บริการมาก ซึ่งจะสามารถใช้ประโยชน์จากการขนส่ง การเปลี่ยนถ่ายสินค้าจากทั้งเครื่องบินขนส่งสินค้าและเครื่องบินโดยสาร ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเพื่อยกระดับให้สนามบินสุวรรณภูมิให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศชั้นนำได้
3.2 จุดอ่อน (Weaknesses)
- พื้นที่ของคลังสินค้ามีไม่เพียงพอ
- ไม่มีพื้นที่สำหรับบริหารจัดการสินค้าเน่าเสียง่าย เช่น perishable center
- กฎหมายของประเทศไทยล้าหลัง ไม่รองรับการปฏิบัติงานของเขตปลอดอากร ไม่สะท้อนต่อความเป็นจริงในการทำธุรกิจ
- ขาดระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสามารถติดตามตรวจสอบสินค้าให้มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง และรวดเร็ว
- ผู้ใช้บริการของเขตปลอดอากรจำเป็นต้องเสียค่าบริการบางส่วน เนื่องจากทาง บ.ทอท จำกัด (มหาชน) ได้มีต้นทุนในการลงทุนพัฒนาพื้นที่เขตปลอดอากรไว้เป็นจำนวนมาก
- ระยะเวลาของสินค้าที่ผ่านเขตปลอดอากรสนามบินสุวรรณภูมิล่าช้ากว่าระยะเวลาของสินค้าที่ผ่านเขตปลอดอากรของประเทศคู่แข่ง
เงื่อนไขในการได้รับสิทธิประโยชน์จากภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนกับทางกรมสรรพากร ซึ่งผู้ประกอบการ Freight forwarder ซึ่งมีจำนวนหลายพันรายไม่ได้รับประโยชน์เนื่องมาจากเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในต่างประเทศ มีการใช้บริการเป็นบางครั้งบางคราว และการติดต่อเพียงข้ามคืนเท่านั้น และการที่จะให้ผู้ซื้อในต่างประเทศจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการนั้น ดำเนินการได้ยากมาก ส่งผลให้กิจกรรมของการเพิ่มมูลค่าของสินค้าไม่สามารถกระทำได้
3.3 โอกาส (Opportunities)
- สามารถเพิ่มจำนวนสินค้านำเข้าจากประเทศต่าง ๆ ได้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าผ่านแดน เช่น สามารถนำสินค้าจาก จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเปลี่ยนถ่ายที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อส่งสินค้าไปตะวันออกกลางหรืออินเดียได้ (ในปี 2548 ข้อมูลของสนามบินดอนเมืองมีปริมาณสินค้าผ่านแดน 26,485 ตันต่อเดือน หรือ 28% ของปริมาณสินค้าทั้งหมด ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์มีปริมาณสินค้าผ่านแดนมากกว่า 55% ของปริมาณสินค้าทั้งหมด)
- สายการบินสามารถทำการตลาดได้มากขึ้นเนื่องจากสามารถนำสินค้ามาเปลี่ยนถ่ายได้สะดวกขึ้น ดังนั้นปริมาณสินค้าผ่านแดนที่นำเข้ามาขนถ่าย สามารถกระจายต่อไปยังประเทศจุดหมายปลายทางได้มากขึ้น แทนที่จะมาหยุดที่กรุงเทพ
- สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าผ่านแดนได้มากขึ้นอีกเช่นเดียวกัน
- สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการรวมถึงการเพิ่มการจ้างงานเนื่องจากกิจกรรมต่อเนื่องของการเพิ่มมูลค่าสินค้าจากการใช้เขตปลอดอากร
3.4 ภัยคุกคาม (Threats)
- สนามบินสุวรรณภูมิมีคู่แข่งที่มีความสามารถสูง เช่น สิงคโปร์ และเวียดนาม ดังนั้นหากเขตปลอดอากร สนามบินสุวรรณภูมิไม่สามารถรองรับความต้องการของผู้ประกอบการที่นำสินค้าผ่านแดนเข้ามา ผู้ประกอบการเหล่านี้จะหันไปใช้บริการเขตปลอดอากรของประเทศคู่แข่งได้
4. ปัจจัยที่ควรพิจารณา
จากรูปที่ 1 ปริมาณสินค้าส่งออกทางอากาศในปี 2547 มีจำนวน 470,697 ตัน โดยมีสินค้าเกษตรและอาหารปริมาณ 152,243 ตัน หรือ 32% ของปริมาณการส่งออกทางอากาศ หรือคิดเป็นมูลค่า 46,500 ล้านบาท สำหรับในปี 2548 สินค้าเกษตรและอาหารมีปริมาณการส่งออก 186,000 ตัน หรือ 20% ของปริมาณการส่งออกทางอากาศ หรือคิดเป็นมูลค่า 65,000 ล้านบาท
รูปที่ 1 ปริมาณสินค้าที่ส่งออกทางอากาศ ใน ปี 2547 (ตัน)
การพัฒนาเขตปลอดอากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต้องเน้นไปที่การสร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้าในประเทศไทยให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศ ทั้งในด้านของระบบโครงสร้าง เช่นอาคารตรวจสอบพืชผัก และผลไม้ ด้านกฎหมายศุลกากร รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการจัดของเขตปลอดอากร เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ของประเทศ อาทิ ผู้ส่งออกสินค้าเกษตร ประเภทผักและผลไม้ ผู้ส่งออกสินค้าในประเทศไทย ผู้บริหารเขตปลอดอากร ดังนั้นสินค้าที่ผ่านเขตปลอดอากรนี้จะต้องมีความสะดวกรวดเร็ว ไม่ทำให้สินค้าเสื่อมคุณภาพ โดยมีต้นทุนที่เหมาะสม และมีความปลอดภัยของสินค้าในระดับสูง
เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการขนถ่ายสินค้าทางอากาศของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออกไกลที่สนับสนุนในการนำระบบเขตปลอดอากร สนามบินต่างๆ เหล่านี้มีปริมาณการขนส่งทางอากาศสูงกว่าประเทศไทยทั้งสิ้น ในปี 2549 สนามบินปูดง ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนจีน มีปริมาณขนส่งสินค้าทางอากาศ 2.1 ล้านตันต่อปี สนามบินอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ มีปริมาณขนส่งสินค้าทางอากาศ 2.3 ล้านตันต่อปี สนามบินเช็คแลปก็อก ประเทศฮ่องกง มีปริมาณขนส่งสินค้าทางอากาศ 3.6 ล้านตันต่อปี และสนามบินชางยี ประเทศสิงค์โปร์ มีปริมาณขนส่งสินค้าทางอากาศ 1.9 ล้านตันต่อปี ซึ่งปริมาณการขนถ่ายสินค้าทางอากาศผ่านสนามบินดังกล่าว ได้แสดงไว้ในรูปที่ 2
ที่มา: Airports Council International, 2549
รูปที่ 2 ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศของสนามบินต่างๆ ใน ปี 2549
นอกจากนี้ หากพิจารณาการถึงอัตราการเติบของสนามบินชั้นนำที่นำระบบเขตปลอดอาการมา ในระหว่างปี 2545-2549 สนามบินเหล่านี้ได้มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น เช่น สนามบินปูดง ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนจีน มีปริมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 30.69% ต่อปี สนามบินเช็คแลปก็อก ประเทศฮ่องกง มีปริมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.7% ต่อปี สนามบินอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ มีปริมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.92% ต่อปี สนามบินชางยี ประเทศสิงค์โปร์มีปริมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ย -3.84% ต่อปี และสนามบินเจียงไคเช็ค ประเทศไต้หวันมีปริมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.54% ต่อปี ดังที่แสดงไว้ในรูปที่ 3
ที่มา: Airports Council International, 2549
รูปที่ 3 อัตราการเจริญเติบโตของการขนส่งสินค้าทางอากาศของสนามบินต่างๆ ที่ใช้เขตปลอดอากร
5. ข้อเสนอแนะในการพัฒนาเขตปลอดอากรสนามบินสุวรรณภูมิ
รัฐบาลควรดำเนินการสนับสนุนการพัฒนาเขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไว้ดังนี้
- สร้าง perishable center ให้มีพื้นที่ประมาณ 10,000 ตารางเมตร โดยควบคุมอุณหภูมิไว้ที่ 18 องศาเซลเซียส เพื่อสามารถรองรับสินค้าเน่าเสียง่าย มาผ่านกระบวนการที่นี่ไม่ว่าจะเป็น การตรวจสารเคมี แมลง เป็นต้น
- สร้างพื้นที่คลังสินค้าส่วนกลาง (Central warehouse) เพิ่มเติมอีก 90,000 ตารางเมตร เพื่อรองรับให้เอเย่นต์และสายการบินสามารถนำสินค้ามาพักไว้ที่นี่ได้ เพื่อลดความจำเป็นในการเคลื่อนย้ายสินค้าเข้าออกเขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
- แก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการปฏิบัติงานของเขตปลอดอากรให้เอื้อต่อการดำเนินงาน
- สนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาเขตปลอดอากรให้แก่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ลงทุนและพัฒนาเขตปลอดอากร เพื่อให้ต้นทุนการดำเนินงานต่ำลง ส่งผลให้สินค้าของประเทศไทยที่ใช้บริการของเขตปลอดอากรสามารถไปแข่งขันได้ดีขึ้น
- มีมาตรการเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการที่กิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับเขตปลอดอากร เพื่อให้ต้นทุนการดำเนินงานต่ำลง ส่งผลให้สินค้าของประเทศไทยที่ใช้บริการของเขตปลอดอากรสามารถไปแข่งขันได้ดีขึ้น
- พิจารณาทบทวนการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มของการส่งออกและนำเข้าผ่านเขตปลอดอากรตามกฎหมายของกรมสรรพากร ม.80/1(1) และ ม.81(2)(ข) ให้สะท้อนถึงความเป็นจริงในการบริหารจัดการ
- ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการบินและขนถ่ายสินค้าทางอากาศมีการเติบโตมากขึ้น โดย พิจารณาลดหย่อนค่าลงจอด (Landing fee) ของสายการบินเพื่อให้มีเที่ยวบินขนถ่ายสินค้าและผู้โดยสารมาลงจอดได้มากขึ้น
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
CT51 ความหวังของตลาดกลางสินค้าเกษตร ณ สี่แยกอินโดจีน
ลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2551 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ผู้เขียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันชัย รัตนวงษ์
ผมและทีมวิจัยมีส่วนเข้าไปผลักดันและพัฒนาพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา จากข้อมูล ณ วันนั้นจนถึงวันนี้ขาดผู้สานต่อโครงการไม่ว่าจะเป็นศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) และ ศูนย์ค้าส่งผักและผลไม้ ณ สี่แยกอินโดจีน คงรอความหวังจากผู้ว่า CEO ที่จะเข้ามาสานฝันประชาชนชาวจังหวัดพิษณุโลก คงมีหลายคนสงสัยว่าทำไมต้องเป็นจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลกเป็นจังหวัดที่มียุทธศาสตร์ทางทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมเนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อทั้ง North-South Corridor และ East-West Corridor จากการเก็บข้อมูลทางวิจัยมีหลายประเด็นที่เป็นประโยชน์ เช่น สินค้าโดยเฉพาะผักและผลไม้ที่เดินทางมาจากประเทศจีนผ่านชายแดนที่เชียงของ พบว่าผักและผลไม้พวกนี้จะถูกนำส่งมาขายที่ตลาดไททันที ประเด็นคำถามที่สำคัญที่ตามมาคือผักและผลไม้พวกนี้จะย้อนกลับขึ้นไปขายคนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีก ยิ่งทำให้ประชาชนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริโภคผักและผลไม้ที่มีราคาแพงกว่าคนกรุงเทพ เนื่องจากมีค่าขนส่งที่บวกเพิ่มขึ้น ดังนั้นศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) และ ศูนย์ค้าส่งผักและผลไม้ ณ สี่แยกอินโดจีนจึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่รัฐบาลโดยเฉพาะรัฐบาลใหม่ควรให้ความสนใจกับคนในกลุ่มภูมิภาคทั้งสองนี้
ระบบการตลาดของสินค้าผักและผลไม้ที่ดีมีส่วนช่วยให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูง และผู้บริโภคเองก็ได้รับอรรถประโยชน์หรือความพึงพอใจสูงสุดด้วย แต่เนื่องจากระบบตลาดสำหรับสินค้าผักและผลไม้ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพดีพอ ทั้งนี้สาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่ผักและผลไม้เป็นสินค้าที่เน่าเสียได้ง่าย ความสดไม่คงทน มีความเสี่ยงภัยสูงทั้งทางด้านคุณภาพของความสดและความผันผวนของราคา วิธีการกระจายสินค้าจึงจำเป็นต้องดำเนินการโดยผ่านคนกลางที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีความชำนาญทางด้านการค้าพอที่จะรับมือกับอัตราเสี่ยงภัยดังกล่าวได้ และเพื่อให้สามารถระบายสินค้าได้ทันท่วงที ดังนั้นกลไกด้านการตลาดจึงจำเป็นที่จะต้องเอื้ออำนวยต่อการกระจายผลผลิตจากแหล่งผลิต ไปถึงมือผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาถึงสภาพทั่วไปของตลาดสินค้าเกษตรของประเทศไทยในปัจจุบัน พบว่า ระบบตลาดและการกำหนดราคานั้นเป็นลักษณะที่มีการรวมศูนย์ กล่าวคือ ราคาผลผลิตในประเทศโดยส่วนใหญ่จะถูกกำหนดโดยตลาดขายส่งในกรุงเทพ จากนั้นจึงแปลงราคากลับลงไปสู่ภูมิภาค จนถึงแหล่งผลิตโดยผ่านพ่อค้าคนกลางในแต่ละระดับ ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านี้ทราบทิศทางความเคลื่อนไหวของระดับราคาได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้องกว่ากลุ่มเกษตรกร และส่งผลให้เกษตรกรซึ่งมีอำนาจต่อรองน้อย ตกอยู่ในฐานะที่ต้องยอมรับเงื่อนไขและราคาที่พ่อค้าคนกลางเสนอมาให้ ทั้งนี้สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเกษตรกรโดยส่วนใหญ่ขาดความรู้ ความเข้าใจในด้านการตลาด มีภาระหนี้สินผูกพัน กอปรกับการขาดเข้าใจในเทคโนโลยี และระบบสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานอื่น อาทิ วิธีการบรรจุหีบห่อ วิธีการคัดแยกขนาดของผลผลิต และระบบการขนส่งที่รวดเร็ว เป็นต้น
จากการที่ผักและผลไม้เป็นสินค้าที่มีอุปทานเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดราคา ประกอบกับเกษตรกรยังขาดทักษะที่จำเป็นทั้งทางด้านการผลิตและการตลาด ส่งผลทำให้เกษตรกรไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่สอดคล้องกับภาวะตลาด และในขณะเดียวกันผู้บริโภคกลับต้องซื้อสินค้าเกษตรในราคาที่สูงเกินกว่าระดับที่ควรจะเป็น ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องทำการศึกษาระบบตลาดของสินค้าประเภทผักและผลไม้ เพื่อหาข้อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุง และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับระบบการตลาดของสินค้าผักและผลไม้ ผมและทีมวิจัยมุ่งศึกษาเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่า ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะทางกายภาพที่เหมาะสมต่อการปลูกพืชประเภทผักและผลไม้ ซึ่งแต่เดิมการปลูกพืชประเภทผักและผลไม้ของเกษตรกรเป็นไปเพื่อต้องการตอบสนองความต้องการบริโภคภายในประเทศเท่านั้น แต่ในปัจจุบันการผลิตผักและผลไม้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก จากการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก ดังนั้นการตลาดจึงเริ่มมีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งเมื่อพิจารณากระบวนการค้าในตลาดผักและผลไม้พบว่า ตลาดกลางขายส่งถือว่าเป็นตลาดที่สำคัญที่สุด เพราะทำหน้าที่เป็นทั้งตลาดรวม และตลาดกระจาย (Concentration & Dispersion Market) ผลผลิตในเวลาเดียวกัน รวมทั้งยังเป็นแหล่งในการปรับอุปทาน และอุปสงค์ของผลผลิตให้อยู่ในภาวะสมดุล นอกจากนั้นยังเป็นสถานที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการซื้อขาย ตลอดจนเป็นแหล่งเสนอข่าวสารและข้อมูลการตลาดให้กับพ่อค้า เกษตรกร และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจในการวางแผนการผลิต และการตลาด ตลอดจนการดำเนินมาตรการของภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาด
การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการกระจายตัวของพื้นที่การผลิต ปริมาณผลผลิต ตลอดจนแหล่งรวบรวมและกระจายผลผลิตผักและผลไม้ในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อนำมาใช้ประกอบการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งตลาดกลางสินค้าผักและผลไม้จังหวัดพิษณุโลก พร้อมทั้งออกแบบระบบการบริหารจัดการตลาดกลางฯ และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบการผลิต และการตลาดสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรประเภทผักและผลไม้ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ
จากการศึกษารูปแบบการกระจายตัวของพื้นที่การผลิต พบว่า ในพื้นที่ภาคเหนือมีการเพาะปลูกพืชผักและผลไม้กระจายตัวอยู่ทั่วไปทุกพื้นที่ โดยชนิดพืชผักและผลไม้ที่ปลูกส่วนหนึ่งเป็นพืชผัก/ผลไม้ ที่มีลักษณะเฉพาะตัว เช่น ผักและผลไม้เมืองหนาวที่สามารถเพาะปลูกและให้ผลผลิตได้ดีเฉพาะสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็น ซึ่งส่วนใหญ่มีแหล่งเพาะปลูกบริเวณพื้นที่ตอนบนของภาค ส่วนพืชผัก/ผลไม้อีกส่วนหนึ่งเป็นพืชผัก/ผลไม้ทั่วไปที่สามารถเพาะปลูกได้ในทุกพื้นที่ของภาค โดยผัก/ผลไม้ส่วนนี้ไม่ค่อยมีความจำกัดทางด้านสภาพภูมิอากาศและพื้นที่มากนัก ดังนั้นชนิดและจำนวนการเพาะปลูก รวมถึงการกระจายตัวของพื้นที่เพาะปลูก จึงขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรการผลิตตามพื้นที่นั้นๆ อาทิเช่น ลักษณะของชุดดินที่แตกต่างกันไปตามคุณภาพของดินของแต่ละพื้นที่ ปริมาณ และคุณภาพของแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ความชำนาญเรื่องการเพาะปลูกพืชชนิดนั้นๆ ของเกษตรกรซึ่งแตกต่างกันไปตามพื้นที่ ความนิยมของการเพาะปลูกพืชชนิดนั้นๆ ในแต่ละพื้นที่ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความต้องการของตลาดในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง เป็นต้น
อนึ่ง หากพิจารณาถึงความเป็นศูนย์กลางการเพาะปลูก สภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ และความเป็นศูนย์กลางการคมนาคมแล้ว สามารถแบ่งพื้นที่การเพาะปลูกที่สำคัญของภาคเหนือออกได้เป็นสองพื้นที่หลักๆ สำหรับพื้นที่ส่วนที่หนึ่ง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง และจังหวัดตาก โดยที่จังหวัดเชียงใหม่นั้นมีความเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางของพื้นที่ส่วนนี้ ส่วนพื้นที่ส่วนที่สอง ได้แก่ จังหวัดพะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ และนครสวรรค์ ทั้งนี้จังหวัดพิษณุโลกมีความเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางของพื้นที่ส่วนนี้ เนื่องด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกับจังหวัดเชียงใหม่ คือ ความเจริญเติบโตของเมือง ความพร้อมในเส้นทางการคมนาคม ทั้งทางรถยนต์ ทางรถไฟ และทางเครื่องบิน ที่ตั้งของตัวจังหวัดที่นอกจากจะเป็นศูนย์กลางของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างแล้ว การเดินทางสู่ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังสามารถขนส่งเดินทางได้โดยสะดวกด้วย ซึ่งการรวมจังหวัดพะเยา น่าน และแพร่ มารวมอยู่ในพื้นที่ส่วนนี้ด้วย เนื่องจากเหตุผลมาจากผลผลิตที่สามจังหวัดดังกล่าวทำการเพาะปลูกส่วนใหญ่เป็นผลผลิตที่พื้นที่ส่วนที่หนึ่งมีการเพาะปลูกเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว เช่น ลิ้นจี่ หอมแดง ถั่วลิสง เป็นต้น ดังนั้นหากนำผลผลิตดังกล่าวลงมากระจายสู่พื้นที่ในส่วนนี้ (ตอนล่างของภูมิภาค) โดยตรงจะส่งผลดีต่อภาพรวมของระบบตลาดสินค้าเกษตรทั่วทั้งภูมิภาค
จากการพิจารณาข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับระบบตลาดสินค้าเกษตรในพื้นที่ภาคเหนือ พบว่า พื้นที่การเพาะปลูกพืชส่วนใหญ่มักจะมีพื้นที่เพาะปลูกตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน และจะกระจายอยู่ทางตอนบนของภาค สำหรับพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกมีการเพาะปลูกผักผลไม้ที่สำคัญไม่มากนัก แต่จังหวัดพิษณุโลกนั้นจะถูกใช้เป็นแหล่งรวบรวมและกระจายสินค้าเกษตรจากพื้นที่ตอนบนของภาคไปยังพื้นที่ตอนล่างของภาค และผลผลิตบางส่วนจะถูกกระจายออกไปสู่ภูมิภาคอื่น และในขณะเดียวกันจังหวัดพิษณุโลกก็จะทำหน้าที่กระจายสินค้าจากภูมิภาคอื่นขึ้นไปสู่พื้นที่ทางตอนบนของภาคเช่นกัน
เมื่อพิจารณาสถิติการค้าสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่อยู่ในตลาดกลางสินค้าเกษตรในจังหวัดพิษณุโลก พบว่า สินค้ากว่าร้อยละ 80 เป็นผลผลิตที่มิได้มีการเพาะปลูกอยู่ในบริเวณพื้นที่เลย และเมื่อพิจารณาถึงความเชื่อมโยงทางกายภาพทำให้เห็นภาพการหมุนเวียนของปริมาณผลผลิต และกระแสการค้าในพื้นที่ต่างๆ ทั้งภายในภูมิภาคและนอกภูมิภาค หมุนเวียนผ่านเข้า-ออกตลาดกลางฯ ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้น จังหวัดพิษณุโลกนับว่ามีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาเป็นตลาดกลางสินค้าผักแผลไม้ระดับภูมิภาค โดยที่มีเหตุผลสนับสนุนหลักที่สำคัญดังนี้
ในการพิจารณากำหนดทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมสำหรับจัดตั้งตลาดกลางผักและผลไม้นั้น การศึกษาครั้งนี้ทางคณะผู้วิจัยเลือกใช้วิธีการประเมินปัจจัย (Factor Rating Method) เนื่องจากวิธีการดังกล่าวนี้มีความหลากหลาย ครอบคลุม และเหมาะสมกับแบบจำลองที่มีทั้งปัจจัยเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ ซึ่งในการประเมินหาที่ตั้งตลาดกลางผักและผลไม้จังหวัดพิษณุโลกนั้นจะประกอบด้วย ปัจจัยทางด้านเทคนิค ปัจจัยด้านกายภาพ ปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์ และปัจจัยทางด้านสังคม โดยวิธีการให้คะแนนจะใช้หลักการของการให้น้ำหนักความสำคัญของแต่ละเกณฑ์ (Average Weight Score) ของแต่ละทำเล จากนั้นจึงนำมาคำนวณหาคะแนนรวมทั้งหมด แล้วจึงทำการพิจารณาเลือกทำเลที่มีคะแนนรวมสูงที่สุดเป็นสถานที่จัดตั้งตลาดกลางผักและผลไม้จังหวัดพิษณุโลก โดยในการประเมินความเหมาะสมของพื้นที่ พบว่ามีพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้สำหรับการจัดตั้งตลาดกลางผักและผลไม้ของจังหวัดพิษณุโลกอยู่ 3 แห่ง ซึ่งได้แก่ (1) ตำบลดอนทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก (2) ตำบลสมอแข อำเภอเมืองพิษณุโลก และ (3) ตำบลบ้านป่า อำเภอเมืองพิษณุโลก
เมื่อคณะผู้วิจัยได้พิจารณาข้อมูลเบื้องต้นจากการลงสำรวจพื้นที่และสอบถามชาวบ้าน เพื่อทำการประเมินเบื้องต้นจากข้อมูลทางกายภาพทั้งข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิพบว่า พื้นที่บริเวณตำบลดอนทองนั้น เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมอันดับที่ 1 เนื่องจากมีผลทางด้านปัจจัยสนับสนุน โดยเฉพาะโครงสร้างทางด้านกายภาพซึ่งถือว่าได้เปรียบพื้นที่อื่นมากที่สุด รองลงมาเป็นพื้นที่ตำบลสมอแข และตำบลบ้านป่า ตามลำดับ โดยเมื่อคณะผู้วิจัยทำการศึกษาในรายละเอียดแล้วพบว่า ในบริเวณพื้นที่บริเวณตำบลดอนทองนั้น ตลาดไทยเจริญ นับเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะพัฒนาไปเป็นตลาดกลางผักและผลไม้ของจังหวัดพิษณุโลก ทั้งนี้เนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีความพร้อมทั้งทางด้านพื้นที่ เนื่องจากมีที่ดินขนาดมากกว่า 100 ไร่ ต่อเนื่องเป็นที่ดินผืนเดียวกัน และในขณะเดียวกันเจ้าของที่ดินก็มีความพร้อมที่จะลงทุนเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาตลาดแห่งเดิมให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นด้วย
สำหรับแนวคิดในการออกแบบระบบการบริหารจัดการตลาดกลางผักและผลไม้จังหวัดพิษณุโลกจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างกลไกการทำงานขึ้น เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการระบบตลาดสินค้าเกษตรภายในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างในระยะสั้น และมุ่งหวังที่จะบริหารจัดการระบบตลาดสินค้าเกษตรภายในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือทั้งหมดในระยะยาว โดยตลาดกลางฯ ดังกล่าวนี้จัดตั้งขึ้นมาโดยมิได้มุ่งหวังที่จะเป็นคู่แข่งกับตลาดไท ซึ่งเป็นตลาดกลางฯ ระดับประเทศ หากแต่ต้องการที่จะมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินงานของตลาดกลางสินค้าเกษตรระดับประเทศ โดยที่ตลาดกลางผักและผลไม้จังหวัดพิษณุโลกวางเป้าหมายที่ต้องการจะพัฒนาเป็นตลาดกลางสินค้าเกษตรระดับภูมิภาค และจะมุ่งเน้นไปที่สินค้าเกษตรประเภทผักและผลไม้เป็นหลัก
อนึ่ง จากการพิจารณาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค (SWOT Analysis) ทำให้ทราบถึงศักยภาพ โอกาส ตลอดจนข้อจำกัดในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวสามารถนำมาใช้ประกอบการกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาตลาดกลางผักและผลไม้จังหวัดพิษณุโลกได้ดังนี้
“เป็นตลาดกลางค้าส่งผักและผลไม้ในภูมิภาคอินโดจีน”
“To be a Vegetable and Fruit Wholesale Market in Indo-China Region”
จากวิสัยทัศน์ (Vision) ดังกล่าวพบว่าจังหวัดพิษณุโลกต้องเตรียมความพร้อมในการส่งเสริมการเป็นตลาดกลางผักและผลไม้ของตลาดไทยเจริญในระดับภูมิภาค ดังต่อไปนี้
ในขณะเดียวกันตลาดกลางก็ต้องเตรียมตัวเพื่อยกระดับตลาดกลางให้เป็นตลาดกลางในภูมิภาค โดยต้องเตรียมตัวดังต่อไปนี้
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
CT51 เครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงในโช่อุปทาน (New Tool for Managing Risk in Supply Chain)
ลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2551 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ผู้เขียน ดร. มณิสรา บารมีชัย
ในบทความ “การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการสร้างองค์กรและโซ่อุปทานที่มีความคล่องตัว (Enterprise and Supply Chain Agility: The Keys for Creating the Competitive Advantage)” ผู้เขียนได้อธิบายถึง ความจำเป็นขององค์กรในการสร้างความคล่องตัว(Agility)ให้เกิดขึ้นเพื่อให้สามารถที่อยู่รอดภายใต้สภาวะทางธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในบทความนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงหลักการในการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพนับเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะทำให้องค์กรสามารถที่จะอยู่รอดภายใต้สภาวะทางธุรกิจในปัจจุบัน
ในปัจจุบันความเสี่ยงนับเป็นประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจและมีการพูดถึงกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการล้มเหลวขององค์กรต่างๆ ในโลก โดยความล้มเหลวเหล่านี้. เกิดขึ้นจากทั้งปรากฏการณ์ธรรมชาติและน้ำมือมนุษย์ และก่อให้เกิดความสั่นคลอนของธุรกิจ
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดหมายเหล่านี้ ทำให้องค์กรทางธุรกิจกำลังให้ความสนใจอย่างมากกับความเสี่ยงที่กำลังคุกคามการดำเนินกิจการของตน โดยนอกเหนือจากประเด็นของความอยู่รอดแล้ว หลายองค์กรเริ่มจะตระหนักแล้วว่าเหตุการณ์ที่ไม่คาดหมายต่างๆ อาจนำไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจหากสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในมุมมองของความเสี่ยงนั้น ห่วงโซ่อุปทานนับเป็นกลไกที่สำคัญ เนื่องจากคลอบคลุมองค์กรทางธุรกิจตั้งแต่ผู้จัดส่งวัตถุดิบ ผู้ผลิต ผู้จัดส่งสินค้า และ ลูกค้า ซึ่งในยุคโลกาภิวัฒน์องค์กรเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกัน ค่อนข้างใกล้ชิด ส่งผลให้การล้มเหลวขององค์กรหนึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อองค์กรอื่น ๆ ได้ ภายในระยะเวลาอันสั้น แม้ว่าองค์กรดังกล่าว อาจไม่ได้มีความเกี่ยวโยงกันโดยตรง
การดำเนินธุรกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ที่เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ องค์กรจำเป็นที่ต้องมีการวิเคราะห์ถึงแนวทางที่เหมาะสมที่จะนำไปใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงในรูปแบบต่าง ๆ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันปัญหาสำคัญที่สุดที่ทำให้องค์กรต่างๆไม่สามารถ บริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพคือการขาดแคลนแนวความคิดที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในทางปฎิบัติ รวมถึง ขาดเครื่องมือ และเทคนิคที่เหมาะสมที่สามารถ นำไปใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงประมาณเพื่อช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ
ปัจจัยที่น่าสงสัย: ต้นเหตุของความล้มเหลว
ก่อนที่จะกล่าวถึงแนวทางที่องค์กร ควรปฏิบัติในการบริหารจัดการความเสี่ยง เราลองมาวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่องค์กรหลายองค์กรต้องประสบกับความล้มเหลวในการบริหารจัดการความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทาน บ่อยครั้งที่เราจะพบว่าความล้มเหลวเหล่านี้มักเกิดขึ้นจากสาเหตุคล้ายคลีงกัน ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
ในปัจจุบันองค์กรหลายองค์กร ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงเป็นลำดับท้าย ๆ เนื่องจากองค์กรเหล่านี้มองว่าความเสี่ยงเป็นเรื่องของต้นทุน (cost) และข้อจำกัดทางธุรกิจ (constraint) มากกว่าจะเป็นตัวผลักดันรายได้ (Revenue Driver) เนื่องจากการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพต้องมีการลงทุนและมีค่าใช้จ่ายมากพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาความสัมพันธ์ระยะยาวกับผู้จัดส่งวัตถุดิบ รวมถึง การเพิ่มหรือการเปลี่ยนผู้จัดส่งวัตถุดิบ เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่จะใช้ในการผลิตนั้นใช้เวลามากและมีค่าใช้จ่ายสูง แต่องค์กรสามารถที่จะเรียกต้นทุนที่เกิดขึ้นนี้คืนโดยการสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นจากการกระทำดังกล่าว เช่นการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนและถาวรกับผู้จัดส่งสินค้าสามารถเพิ่มคุณค่าให้กับองค์กรได้ หากองค์กรรู้จักที่จะร่วมมือกับผู้จัดส่งสินค้าเหล่านี้ และในการที่จะพัฒนาสินค้ารูปแบบใหม่ ๆ และ จัดให้มีการบริการเพิ่มเติมให้กับผู้บริโภคปลายทาง
ปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในการจัดการบริหารความเสี่ยง คือการที่องค์กรต้องรู้จัก ที่จะวิเคราะห์และประเมินถึงผลประโยชน์และตัดสินใจในการเลือกทางบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมที่สุดกับองค์กรของตน
จากการสำรวจผู้จัดการแผนกต่าง ๆ ของบริษัท CISCO พบว่ามากกว่า 60 % ของผู้ตอบแบบสอบถาม ให้ความเห็นว่าสาเหตุหลักที่เขาเหล่านั้นต้องจัดให้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงในแผนกของตน เนื่องมาจากเป็นความต้องการของเจ้าของ และมากกว่า 50 % ให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องความจำเป็นและข้อบังคับที่ถูกกำหนดโดยองค์กร ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นว่าการบริหารจัดการความเสี่ยงเกิดขึ้นในองค์กรเพียงเพราะความจำเป็นจาก กฏข้อบังคับ และแรงผลักดันจากผู้บริหารระดับสูงมากกว่าที่ผู้บริหารในระดับต่างๆ จะตระหนักถึงความสำคัญต่อความอยู่รอดขององค์กร ซึ่งนั่นจะส่งผลให้ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการความเสี่ยงลดลงเนื่องจากผู้บริหารขาดแรงกระตุ้นจากภายในที่จะผลักดันให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
หลายองค์กรยังมีความเข้าใจผิดว่า การบริหารจัดการความเสี่ยง เป็นเรื่องเดียวกับการจัดการบริหารวิกฤติการณ์ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว การจัดการบริหารวิกฤติการณ์ มุ่งเน้นไปที่การรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินและแก้ไขความผิดพลาดและล้มเหลวที่เกิดขึ้น อย่างดีที่สุดเพื่อให้องค์กรสามารถที่จะกลับมาดำเนินงานได้อีกครั้ง แตกต่างกับการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มุ่งเน้นไปที่การหลีกเลี่ยงสถานการณ์ฉุกเฉิน ความล้มเหลวหรือความผิดพลาดไม่ให้เกิดขึ้นมากกว่าที่จะมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหา อีกนัยหนึ่งเราอาจกล่างได้ว่าการบริหารจัดการวิกฤติการณ์เป็นการกระทำในเชิงรับ หรือเชิงแก้ไข (Corrective Action) ในขณะที่การบริหารจัดการความเสี่ยงเป็นการกระทำในเชิงรุกหรือเชิงป้องกัน (Proactive Action)
ผู้บริหารในหลายองค์กรมองข้ามความสำคัญของการบริหารจัดการความเสี่ยงไปเนื่องจาก ในทางจิตวิทยา มนุษย์มักจะหลีกเลี่ยงการลงทุนปัจจุบัน แม้ว่าการลงทุนนั้นจะเป็นการลงทุนเพื่อป้องกันความสูญเสียมหาศาลที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตข้างหน้า โดยมนุษย์ส่วนใหญ่พร้อมที่จะยอมรับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มากกว่าที่จะต้องลงทุนเพิ่มขึ้นกับสิ่งที่เขาไม่สามรถมองไม่เห็นหรือสัมผัสได้ในปัจจุบัน
ในหลายองค์กร การบริหารจัดการความเสี่ยงไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในหลายระดับเนื่องจากองค์กรมีการสร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม และไม่มี เป้าหมายร่วมกัน ทำให้หลายองค์กร ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า โดยในปัจจุบันองค์กรส่วนใหญ่มีระบบการจูงใจที่พิจารณาจาก ความสามารถในการลดต้นทุนและผลตอบแทนที่ได้รับในระยะสั้น (รายเดือน รายไตรมาส รายปี) โดยไม่พิจารณาถึงผลตอบแทนที่จะได้รับอนาคตข้างหน้า ในขณะที่การบริหารจัดการความเสี่ยงนั้น เป็นการลงทุนที่ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน แต่จะก่อให้เกิดประโยชน์และผลตอบแทนในอนาคต ซึ่งในกรณีนี้เราจะเห็นได้ชัดว่ามีความขัดแย้งกับระบบในการสร้างแรงจูงใจในหลายองค์กรที่พิจารณาจาก ต้นทุนและผลตอบแทนในแบบไตรมาส โดยไม่พิจารณาถึงอนาคตข้างหน้า เนื่องจากการประเมิน ผลตอบแทนของการจัดการความเสี่ยงในอนาคต นั้นทำได้ยาก
กระบวนการพื้นฐานในการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management Methodology)
ขั้นตอนต่อไปนี้ เป็นแนวทางเบื้องต้นที่องค์กรสามารถนำไปปฎิบัติเพื่อให้การจัดการความเสี่ยงเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขั้นตอนที่1 การตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นและประเมินผลของสถานการณ์นั้นๆ (Recognize and assess supply risk)
ขั้นตอนนี้ประกอบด้วยขั้นตอนย่อยๆ ได้แก่
ใน HEAT MAP ความเสียงสามารถจำแนกโดยพิจารณาจาก 2 ปัจจัยหลักๆ ได้แก่ 1) ความน่าจะเป็นที่สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดปัญหาจะเกิดขึ้น และ 2) ระดับของความรุนแรงหากสถานการณ์นั้นเกิดขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าความเสี่ยงที่ตกอยู่ในพื้นที่ด้านขวาจะเป็นความเสี่ยงองค์กรต้องหาทางในการกำจัดหรือลดความรุนแรงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อธุรกิจอย่างเร่งด่วนเนื่องจากเป็นความเสี่ยงที่มีความน่าจะเป็นที่จะเกิดขึ้นมากและระดับของความรุนแรงสูง (High Likelihood and High Impact)
ขั้นตอนที่ 2 การวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในโซ่อุปทาน (Analyze supply risk)
ขั้นตอนนี้ประกอบด้วยขั้นตอนย่อย 2 ขั้นตอน ได้แก่
ขั้นตอนที่ 3 การนำเสนอแนวทางและวิธีการในการปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ให้ดีขึ้น อย่างต่อเนื่อง (Recommend)
ภายหลังที่ได้มีการตัดสินใจเลือกรูปแบบของเครือข่ายโซ่อุปทาน และกระบวนการดำเนินงาน ที่เหมาะสมที่สุดแล้ว องค์กรควรมีการนำเสนอแนวทางและวิธีการในการปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ให้ดีขึ้น โดยการปรับปรุงนี้จะต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์โดยรวมขององค์กร
โดยสรุปแล้วในปัจจุบันความเสี่ยงนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากองค์กรทางธุรกิจ การขยายตัวขององค์กรทั้งแนวราบและแนวดิ่งทำให้ห่วงโซ่อุปทานมีความซับซ้อนมากขึ้น และนั่นหมายถึงการที่องค์กรจะตกอยู่ภายใต้ภาวะความเสี่ยงที่มากขึ้น ดังนั้นการที่องค์กรจะสามารถอยู่รอดได้ ภายใต้ภาวะดังกล่าวนี้ สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือการดำเนินการในเชิงรุก เพื่อสำรวจ วางแผน และเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับความเสี่ยงอย่างมีเป้าหมาย
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
เว็บไซต์ www.iok2u.com นี้เกิดมาจาก แรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward โดยมีเป้าหมายเล็ก ๆ ที่กำหนดไว้ว่า ทุกครั้งที่เข้าเรียนสัมมนาหรืออบรมในแต่ละครั้ง จะนำความรู้มาจัดทำเป็นบทความอย่างน้อย 3 เรื่อง เพื่อมาลงในเว็บนี้
ความตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับมาทำการถ่ายทอดต่อไป และหวังว่าจะมีคนมาอ่านแล้วเห็นว่ามีประโยชน์นำเอาไปใช้ได้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลย โดยอาจไม่ต้องอ้างอิงที่มาหรือมาตอบแทนผู้จัด แต่ขอให้ส่งต่อหากคิดว่ามันดีหรือมีประโยชน์ เพื่อถ่ายทอดความรู้และสิ่งดี ๆ ต่อไปข้างหน้าต่อไป Pay It Forward