iok2u.com แหล่งรวมข้อมูลข่าวสารเรื่องราวน่าสนใจเพื่อการศึกษาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้
ข้อมูลสินค้าคงคลังแม่นยำแค่ไหน แนวคิดเพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมเซรามิก
เอกสารการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก 2550
สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ข้อมูลสินค้าคงคลังแม่นยำแค่ไหน
ประเด็นปัญหาที่มักพบในการบริหารจัดการคลังสินค้า คือ ข้อมูลสินค้าคงคลังในระบบกับข้อมูลจริงไม่ตรงกัน เนื่องจากบริษัทไม่ได้ให้ความสนใจ พนักงานไม่บันทึกทันทีเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของสินค้า พนักงานอาจบันทึกตัวเลขผิด หรือไม่แยกบันทึกสินค้าเสียหาย ขาดการตรวจสอบเป็นประจำ เป็นต้น ส่งผลให้พนักงานขายขาดความมั่นใจในการขาย ตอบสนองลูกค้าได้ช้า ไม่รู้ว่ามีสินค้าจริงตามที่แสดงในระบบหรือไม่ ฝ่ายวางแผนการผลิตมีความลำบากในการดำเนินงาน เนื่องจากไม่ทราบปริมาณสินค้าคงคลังตั้งต้นสำหรับการวางแผนที่แน่นอน ทำให้ผลิตสินค้าขาด หรือเกินความต้องการที่แท้จริง เมื่อพนักงานไม่ใส่ใจในการปรับข้อมูลสินค้าคงคลังให้ถูกต้อง ก็มักเกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติงาน ถ้าตรวจสอบเปรียบเทียบข้อมูลสินค้าคงคลังในระบบบันทึก กับการตรวจนับจำนวนสินค้าคงคลังจริงแล้วพบว่ามีความถูกต้องอยู่ 90% หากถามพนักงานที่เกี่ยวข้องทุกคนว่ายอมรับได้ที่ความถูกต้องเท่าไร ถ้าหากพนักงานมีความเห็นว่าระดับความถูกต้องที่ 90% นี้ทำได้ดีที่สุดแล้ว ก็อาจเปรียบเทียบกับการทำงานของธนาคารได้ดังนี้
ถ้าวันนี้ไปฝากเงิน 3,000 บาทที่ธนาคารแห่งหนึ่ง เมื่อเขียนใบฝากเงินเข้าบัญชีเสร็จ ก็ยื่นพร้อมสมุดฝากให้กับพนักงานของธนาคารที่เคาน์เตอร์ โดยคาดหวังที่จะเห็นจำนวนเงินในบัญชีเพิ่มขึ้นอีก 3,000 บาท ตามจำนวนที่ฝาก เมื่อพนักงานของธนาคารดำเนินการเสร็จแล้ว ยื่นสมุดฝากกลับมาให้ ปรากฏว่าตัวเลขในบัญชีเพิ่มขึ้นเพียง 2,700 บาท เราคงไม่พอใจแล้วถามว่าทำไมฝากเงิน 3,000 บาท แต่ปรับตัวเลขในบัญชีให้เพียง 2,700 บาท หายไป 300 บาท หรือ 10% ของยอดฝาก หายไปไหน? พนักงานกลับตอบว่าธนาคารมีนโยบายความถูกต้องของการทำงานเพียง 90% ดังนั้นตัวเลขผิดไป 10 % ถือว่ายังใช้ได้อยู่ อย่างนี้ยอมรับได้หรือ? แน่นอน! ไม่มีใครยอมรับนโยบายและพฤติกรรมเช่นนี้ได้แน่
นโยบายด้านความถูกต้องของข้อมูลสินค้าคงคลังจึงควรเป็น 100% สำหรับสินค้าที่นับชิ้นได้อย่างสินค้าเซรามิก ความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นมาจากการทำงานที่ไม่มีระบบการจัดการด้านคลังสินค้าที่ดีพอ ต้องมีการจัดระบบการทำงานใหม่ ให้สามารถบันทึกการเคลื่อนย้ายสินค้าเข้าออกทุกครั้ง มีการจัดเก็บตามพื้นที่ที่กำหนดให้ แบ่งพื้นที่ตามสัดส่วนที่เหมาะสมกับสินค้าที่เก็บ มีระบบการจัดการขาเข้าและขาออก โดยทั่วไปถ้าสินค้าขาเข้ามีการจัดการที่ดี มีการวางแผนการวางสินค้า บันทึกถูกต้องครบถ้วน ก็จะส่งผลให้การจัดการสินค้าขาออกทำได้ดีขึ้น การนับสินค้าคงคลังต้องมีระบบที่สามารถทำได้ทันทีที่ต้องการตรวจสอบความถูกต้องของสินค้าคงคลัง ไม่ต้องรอถึงสิ้นปีถึงค่อยนับเพราะไม่ทันการ การทำเช่นนี้ได้ต้องมีการจัดเก็บสินค้าให้เป็นระเบียบ ถึงจะทราบได้ว่าถ้าต้องการตรวจสอบสินค้าชนิดนี้จะต้องไปนับที่คลังไหน แถวไหน ชั้นไหน
เมื่อทราบความคลาดเคลื่อนแล้ว อาจต้องทำการนับทวนเพื่อให้มั่นใจ จากนั้นต้องมีการตรวจสอบย้อนหลังว่ามาจากการบันทึกผิดพลาดในขั้นตอนไหน โดยหน่วยงานใด เพื่อให้เกิดการสรุปบทเรียนและป้องกันความผิดพลาดอันอาจเกิดขึ้นอีกได้ การตรวจนับดังกล่าวสามารถทำไปทีละประเภทสินค้า หรือทีละพื้นที่ และหากทำได้บ่อย เวลาพบปัญหาก็สามารถตรวจสอบย้อนหลังเพื่อหาสาเหตุได้เร็ว ถ้านานๆ ทำสักครั้งก็จะต้องสืบค้นหาสาเหตุของปัญหากลับไปไกลมาก ทำให้งานวิเคราะห์นี้ยากมากขึ้น
การตั้งเป้าหมายความถูกต้องของข้อมูลสินค้าคงคลังเพื่อการปรับปรุงวิธีการทำงานให้ดีขึ้น สมมติว่าในปัจจุบันวัดความถูกต้องได้ 85% ควรตั้งเป้าหมายให้การตรวจนับและคำนวณความถูกต้องครั้งหน้าดีขึ้น เช่น ตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 90% เป็นต้น จากนั้นทำการสรุปบทเรียนในการปรับปรุงระบบนี้ จนกระทั่งสามารถทำให้ความถูกต้องของสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นถึงในระดับใกล้เคียง 100% สักวันหนึ่ง
-----------------------------------------------
เซรามิกตะวันใกล้ตกดินจริงหรือ แนวคิดเพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมเซรามิก
เอกสารการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก 2550
สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
เซรามิกตะวันใกล้ตกดินจริงหรือ
ผู้ประกอบการบางรายมองว่าอุตสาหกรรมเซรามิกในไทยเป็นตะวันใกล้ตกดิน หรือไม่รุ่งแล้ว เป็นสำนวนเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น โดยมีเหตุผลประกอบที่หลายโรงงานได้ยกเลิกกิจการไป และบางรายอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่ บางรายประกอบธุรกิจอื่นเสริม เพราะเห็นว่าธุรกิจเซรามิกเริ่มไม่มั่นคงอีกต่อไป ความยากในการประกอบธุรกิจเซรามิกที่ต่างจากธุรกิจอื่น คือ ธุรกิจอื่นมีกระบวนการผลิตที่สามารถควบคุมได้มากกว่า จะพบปัญหาเฉพาะด้านความผันผวนไม่แน่นอนของการตลาดเพียงอย่างเดียวเป็นหลัก แต่ธุรกิจเซรามิกพบปัญหาความไม่แน่นอนทั้ง 2 ด้าน คือ ความผันผวนและความไม่แน่นอนด้านการตลาด การผลิตที่ควบคุมยาก ทุกครั้งที่มีการผลิตจะได้สินค้าเกรดบีออกมาจำนวนหนึ่งด้วย
ปัญหาการแข่งขันในตลาดรุนแรงเพิ่มขึ้น หาออเดอร์ได้ยาก แต่ละออเดอร์มีความต้องการยุ่งยากซับซ้อนมากกว่าเดิม ต้นทุนการผลิตและต้นทุนโลจิสติกส์สูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเองอย่างมาก การปรับตัวนี้ทำได้ดีไม่เท่ากัน บางบริษัทที่สามารถสร้างความแตกต่างให้แก่ผลิตภัณฑ์ของตน มีการออกแบบเป็นเอกลักษณ์ และสามารถเจาะตลาดต่างประเทศได้ ก็อาจจะยังมีคู่แข่งน้อยอยู่ มีออเดอร์มาเรื่อยๆ สามารถอยู่ได้ปลอดภัย อย่างไรก็ตามต้องมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย และมีระบบการบริหารจัดการที่ดีเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ครบถ้วน จึงจะสามารถได้ออเดอร์ซ้ำ ๆ สม่ำเสมอ
ความจริงยังมีผู้ประกอบการที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้หลายราย มีออเดอร์เต็มข้ามไปถึงปีหน้าแล้ว ก็ด้วยความสามารถหลายด้านประกอบกัน ได้แก่ ความสามารถด้านการตลาดทำให้ได้ออเดอร์จากต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงไปในหลายภูมิภาค ความสามารถในการผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน ส่งมอบได้ครบถ้วนตรงเวลา และสามารถควบคุมต้นทุนรวมให้สามารถทำราคาเป็นที่พอใจของลูกค้าได้ สำหรับบางรายที่ไม่สามารถจัดการได้ดีทั้งเรื่องเทคโนโลยีการผลิต การจัดการด้านโลจิสติกส์ หรือแม้กระทั่งการบริหารจัดการขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการบุคคล การเงิน ก็อาจจะพบกับความยากลำบากมากขึ้นภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ แน่นอนว่าถ้าไม่สามารถปรับตัวให้มีระบบการจัดการที่ดี ย่อมอยู่ได้ยากในกระแสธุรกิจปัจจุบัน จึงอาจเปรียบเทียบกับตะวันใกล้ตกดินอยู่เสมอ
-------------------------------------------
ทำงานกับตัวเลขบ้าง แนวคิดเพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมเซรามิก
เอกสารการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก 2550
สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ทำงานกับตัวเลขบ้าง
การทำงานในโรงงานเพื่อผลิตชิ้นงานเซรามิก ปกติก็ต้องมีตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ตัวเลขพื้นฐานที่ต้องใช้ประจำวัน และต้องคำนวณให้ได้ในเบื้องต้นเพื่อการส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าตามที่ต้องการก่อน เช่น ลูกค้าสั่งล็อตนี้ 2,000 ชิ้น ส่งภายใน 1 เดือน สัปดาห์นี้ต้องสั่งดิน 2 เที่ยวๆ ละ 6 ตัน เป็นต้น ตัวเลขเหล่านี้นำมาใช้คำนวณเพื่อให้ได้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจต่างๆ และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น การไม่ทราบเลยว่าแต่ละขั้นตอนมีข้อมูลที่เป็นตัวเลขอย่างไร ทำให้การทำงานขาดประสิทธิภาพและไม่ช่วยให้เกิดการตัดสินใจแก้ปัญหาที่ดี เช่น รู้ว่ามีสินค้าคงคลังมากจนล้นแต่ไม่รู้ว่าเท่าไร มีการส่งสินค้าล่าช้าเป็นประจำแต่ไม่ทราบว่ากี่ออเดอร์ วัตถุดิบเหลือเท่าไร ต้องสั่งซื้อแล้วหรือยัง เหล่านี้เป็นคำถามที่ตอบได้ไม่ชัดเจนถ้าไม่มีตัวเลขรองรับ ทำให้เสี่ยงต่อความผิดพลาดได้ง่าย
มีการทำงานกับตัวเลขที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การวิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงานด้านโลจิสติกส์ซึ่งมีตัวชี้วัดหลายประการ เช่น อัตราการส่งมอบสินค้า คิดเป็นร้อยละของใบสั่งซื้อที่สามารถส่งได้ตรงเวลาและครบถ้วนตามที่ตกลงกับลูกค้าตั้งแต่แรก เทียบกับจำนวนใบสั่งซื้อทั้งหมดตัวอย่างเช่น เดือนนี้มีใบสั่งซื้อต้องส่งมอบทั้งหมด 120 ใบสั่งซื้อ ส่งได้ตรงเวลาและครบถ้วนทั้งสิ้น 92 ใบสั่งซื้อ คำนวณได้เท่ากับ 92 / 120 x 100 เท่ากับประมาณ 77 % จำนวนใบสั่งซื้อที่ส่งมอบไม่ได้ 23 %
อาจมีหลายสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถส่งมอบได้ ซึ่งต้องวิเคราะห์หาสาเหตุหลักต่อไป การวิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงานต่างๆ เหล่านี้จะไม่สามารถทำได้เลย ถ้าไม่มีการเก็บข้อมูลที่เป็นตัวเลขในแต่ละกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ ผู้จัดการในแต่ละแผนกจึงควรจัดให้มีการเก็บตัวเลขที่สำคัญๆ ทุกขั้นตอนและรายงานผู้บริหารหรือผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ เวลาต้องการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแสดงผลประกอบการจะสามารถทำได้ง่ายขึ้น
การวัดผลในแต่ละขั้นตอน และนำมาเปรียบเทียบกับแผน หรือมาตรฐานที่กำหนดไว้นั้น ต้องอาศัยการคำนวณตัวเลขต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ทราบผลประกอบการได้อย่างรวดเร็ว และหาทางแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การวัดผลเป็นตัวเลขเช่นนี้ เป็นการนำผลที่ได้ไปเปรียบเทียบกับผลงานของตัวเองในอดีต และเปรียบเทียบกับโรงงานอื่นในวงการเดียวกัน เพื่อจะได้ทราบว่าเราเก่งในระดับไหน และยังสามารถวัดผลในอนาคตได้ว่าปรับปรุงแล้วดีขึ้นหรือไม่ รวมถึงสามารถวางแผนได้ว่าจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร เช่น ถ้า 23 % ที่ส่งมอบไม่ได้ ทำให้ลูกค้ากลุ่มนั้นหายไปไม่สั่งซื้อจากเราอีก แต่กลับไปหาโรงงานอื่นที่เขาส่งมอบได้ดีกว่า ตัวอย่างการนำตัวเลขมาวิเคราะห์ผลประกอบการด้านโลจิสติกส์ ได้แก่ ระยะเวลาส่งมอบสินค้า อัตราการส่งมอบสินค้า อัตราการใช้รถบรรทุก ต้นทุนโลจิสติกส์ ความถูกต้องของข้อมูลสินค้าคงคลัง ความถูกต้องของการพยากรณ์ยอดขาย ประสิทธิภาพการผลิต ประสิทธิภาพการบรรจุ อัตราการสูญเสีย อัตราการใช้พื้นที่คลังสินค้า เป็นต้น
-----------------------------------------------
ทำอย่างไรกับสินค้าเกรดบี แนวคิดเพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมเซรามิก
เอกสารการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก 2550
สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ทำอย่างไรกับสินค้าเกรดบี
อาจพูดจนติดปากว่าเป็นสินค้าเกรดบี แต่ในที่นี้ให้หมายรวมถึงผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นที่ผลิตออกมาแล้วไม่ได้ตามมาตรฐานเกรด เอ หรือมาตรฐานที่ต้องการตั้งแต่แรก ข้อผิดพลาดต่าง ๆ อันเนื่องมาจากการผลิตและการปฏิบัติงานอื่น ๆ ได้แก่ รูปทรงผิดส่วน ผิดขนาด สีเพี้ยน ลวดลายไม่ตรงแบบ สีเคลือบไม่สม่ำเสมอ มีรอยบิ่น เป็นต้น บางโรงงานอาจให้ชื่อแตกต่างกัน ตามรายละเอียดของข้อผิดพลาด และสภาพของผลิตภัณฑ์ตามที่เห็น เช่น เกรดเอผิดโทนสี เกรดบี เกรดซี ฯลฯ รวมแล้วก็คือไม่ตรงกับมาตรฐานเกรดเอที่ลูกค้าต้องการนั่นเอง
พนักงานในโรงงานเซรามิกรู้ดีว่าต้องทำงานด้วยความระมัดระวังทุกขั้นตอน เพราะถ้ามีข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับมาตรฐานที่ตลาดหรือลูกค้าต้องการและ ชิ้นงานที่ผลิตออกมาแล้วนั้น จะทำการแก้ไขได้ยาก หรือไม่ได้เลย ในความเป็นจริงของการผลิตเซรามิกก็คือ ทุกครั้งที่ต้องการผลิตสินค้าเกรดเอ จะต้องมีสินค้าเกรดบีออกมาเสมอ ตามความสามารถของการผลิต ถ้ามี Yield อยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ ก็หมายถึงตั้งใจผลิตสินค้า 100 ชิ้น ได้สินค้าเกรดเอ 70 ชิ้นและเป็นสินค้าเกรดบี 30 ชิ้น ฝ่ายขายมักจะขายสินค้าเกรดเอ 70 ชิ้นนี้ไปให้ลูกค้าได้ก่อน เพราะมีคำสั่งซื้ออยู่แล้ว หรือเป็นที่ต้องการของตลาด จึงไม่เป็นปัญหาด้านการขายนัก แต่สินค้าเกรดบี 30 ชิ้นนี้คือประเด็นสำคัญที่มักรบกวนจิตใจสำหรับโรงงานเซรามิกทั่วไป แต่ขณะเดียวกัน ก็มักไม่ได้รับการสนใจจากทุกฝ่าย ไม่เคยถูกจัดลำดับความสำคัญในเรื่องที่ควรต้องจัดการเร่งด่วน จนกระทั่งวันหนึ่งพบว่า พื้นที่ทุกแห่งในโรงงานมีสินค้าเกรดบีที่สะสมไว้วางอยู่เต็มไปหมดแล้ว โรงงานที่มีประสิทธิภาพการผลิตสูงก็สามารถผลิตได้เกรดเอออกมาในอัตราส่วนที่ดี เช่นสามารถผลิตเกรดเอได้มากถึงร้อยละ 90 ทำให้ภาระในการจัดการเกรดบีง่ายขึ้นเพราะมีน้อย ส่วนโรงงานที่มีประสิทธิภาพการผลิตต่ำลง โดยได้เกรดเอออกมาในอัตราส่วนที่ต่ำ บางโรงงานต่ำกว่าร้อยละ 50 จะมีภาระในการจัดการกับเกรดบีมาก
สินค้าเกรดบีมีผลกระทบต่อบริษัทหลายด้าน ส่วนที่เห็นชัดเจนคือผลกระทบกับปริมาณสินค้าคงคลังที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการสำรวจพบว่าหากไม่มีการจัดการที่ดี สินค้าคงคลังที่เก็บอยู่ในโรงงานจะเป็นสินค้าเกรดบีซึ่งมีอัตราการหมุนเวียนช้า มากกว่าสินค้าเกรดเอซึ่งมีอัตราการหมุนเวียนเร็วกว่า จึงเป็นภาระที่ต้องรีบจัดการให้ดี
การจัดการสินค้าเกรดบี ต้องจัดการทั้ง 2 ด้าน หมายถึงทั้งด้านขาเข้าคือการจัดการด้านการผลิตและปฏิบัติการ และด้านขาออก คือการจัดการด้านขายหรือการกำจัดออกไปจากระบบ ในด้านการผลิตและปฏิบัติการ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและควบคุมอัตราการผลิตเกรดเอให้ได้ตามแผน หรือไม่ให้มีเกรดบีออกมาเกินกว่าที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิตมีส่วนสำคัญมาก เช่น เครื่องมือการตรวจสอบคุณภาพในแต่ละขั้นตอน ใช้อุปกรณ์การผลิตที่ได้มาตรฐาน ทำให้ได้ผลผลิตที่คุ้มกับปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ไป (มี Yield สูง) สามารถลดความสูญเสียจากการผลิตลง บริษัทต้องพัฒนาบุคลากรในฝ่ายผลิตและปฏิบัติการให้มีความรู้ ความชำนาญในการปฏิบัติงานให้ถูกต้องและระมัดระวังทุกขั้นตอน มีการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นหน้างานอย่างรวดเร็ว ก็จะช่วยให้มีความผิดพลาดน้อยลง
การผลิตที่ดีมีเกรดบีออกมาน้อยลง หรือมีส่วนสูญเสียน้อยที่สุด นอกจากจะช่วยให้บริษัทมีโอกาสทำผลประกอบการที่ดีแล้ว ยังช่วยให้การใช้ทรัพยากรดินและวัตถุดิบอื่น รวมถึงการใช้พลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เท่ากับช่วยประเทศชาติอีกทางหนึ่งด้วย
ในด้านการขาย แผนการตลาดและการขายของทุกบริษัท จะมีแผนสำหรับสินค้าเกรดเอชัดเจน เพราะนั่นคือเป้าหมายหลัก มีน้อยรายมากที่จะทำแผนการขายเกรดบีอย่างชัดเจน บางส่วนกลับไม่อยากรับผิดชอบอีกต่างหาก มองว่าเป็นผลงานของฝ่ายผลิตบ้าง ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดในส่วนที่เป็นเป้าหมายหลักบ้าง ถูกกดราคามากไม่อยากขายบ้าง ในที่สุดก็ยังคงกองอยู่ในคลังสินค้าไม่ขยับไปไหนเป็นเวลานาน บางแห่งเป็นเวลาหลายปี
การจัดการสินค้าเกรดบี หมายความว่าบริษัทต้องจัดทำแผนการขายเกรดบีให้ชัดเจน โดยแยกออกมาจากแผนการขายเกรดเอ เพราะต้องการแผน มาตรการ และวิธีการที่แตกต่างกัน ใช้กับตลาดที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ซึ่งมักเป็นคนละตลาดกับสินค้าเกรดเอที่บริษัทดำเนินการอยู่
การจัดการสินค้าเกรดบีให้ได้ผลควรจัดให้มีผู้รับผิดชอบโดยเฉพาะ กำหนดเป้าหมายการขายสินค้าเกรดบีให้สอดคล้องกับแผนการผลิต และแผนการจัดการสินค้าคงคลัง คือต้องทราบสถานะของปริมาณสินค้าเกรดบีที่มีอยู่ในปัจจุบัน และทราบแนวโน้มของสินค้าเกรดบีที่กำลังจะผลิตออกมาใหม่ในอนาคตด้วย พร้อมสำรวจตลาดที่จะมารับซื้อสินค้าส่วนนี้ จัดทำโครงการ วิธีการเฉพาะขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ที่การจัดการสินค้าเกรดบีส่วนนี้ให้หมดไปจากระบบภายในระยะเวลาที่แน่นอน และต้องจัดการทุกครั้งที่มีผลิตภัณฑ์ออกมา ถ้าปราศจากวัตถุประสงค์นี้แล้ว คงยากยิ่งที่จะจัดการให้ได้ผลทันการ
แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการสินค้าเกรดบีทำได้หลายวิธี ขึ้นกับวัตถุประสงค์และเงื่อนไขของแต่ละโรงงาน ขอยกตัวอย่างที่ทำกันอยู่ในอุตสาหกรรมเซรามิกดังนี้
- เปิด Outlet ณ สถานที่ที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย
- จัดทำการขายแบบพิเศษ ทำโปรโมชั่น ขายในราคาพิเศษ ลด แลก แจก แถม
- ร่วมมือกับภาครัฐเพื่อสนับสนุนในโครงการต่างๆ เช่น โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสึนามิ หรือภัยน้ำท่วมเป็นต้น
- ทำการตลาดระดับล่างในการระบายสินค้า
- ให้พ่อค้ามาเหมาสินค้าเกรดบี หรือสินค้าที่เสียหายไปจากโรงงานตั้งแต่ที่สินค้าถูกผลิตออกมา ถึงแม้ได้ราคาที่ถูกหน่อยแต่เก็บไว้ก็ไม่ทำให้ได้ราคาที่ดีขึ้น กลับต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอันเนื่องมาจากการดูแลรักษาอีกไม่รู้ว่าเมื่อไรจึงจะขายได้
- สุดท้ายเมื่อไม่มีวิธีการอื่นที่ดีหรือไม่ต้องการให้สินค้ามีตำหนิออกสู่ตลาด บางโรงงานก็เลือกวิธีทุบทำลายทิ้ง เพื่อกำจัดออกไปจากระบบ
-----------------------------------------------
ธุรกิจปั้นดินให้เป็นดาว แนวคิดเพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมเซรามิก
เอกสารการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก 2550
สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ธุรกิจปั้นดินให้เป็นดาว
เซรามิกหรือเครื่องเคลือบดินเผา เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ดินเป็นวัตถุดิบหลักเพื่อผลิตสินค้าประเภทจานชาม กระเบื้อง สุขภัณฑ์ ลูกถ้วยไฟฟ้า บางชิ้นงานมีคุณค่าควรแก่การเก็บรักษาและเป็นเจ้าของอย่างภาคภูมิใจ เช่น เครื่องประดับตกแต่ง เป็นต้น
การแปรสภาพจากดินเป็นชิ้นงานเซรามิกที่สวยงาม ผู้ประกอบการเซรามิกบางท่านเปรียบเปรยว่าธุรกิจของเขาเหมือนการปั้นดินให้เป็นดาว ดินก็คือดินวัตถุดิบ ดาวก็คือผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม เมื่อเปลี่ยนแปลงจากดินให้เป็นดาวย่อมยกสถานะของดินให้เด่นและมีคุณค่าขึ้น เด่นมากหรือน้อยก็ขึ้นกับความสามารถของแต่ละโรงงาน ก็คือความสามารถในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้านั่นเอง
ไม่ว่าอุตสาหกรรมไหน ก็จะมีทิศทางด้านผลิตภัณฑ์แบบเดียวกัน คือการทำให้โดดเด่นมีเอกลักษณ์ สร้างแบรนด์ให้สามารถเพิ่มมูลค่าและทำราคาให้กับสินค้าได้ เพิ่มโอกาสในการหาตลาดใหม่ๆ ที่มีการแข่งขันน้อย ตัวอย่างจากอุตสาหกรรมพลาสติกก็เช่นเดียวกัน ที่ผู้ประกอบการพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์จากที่เคยทำกันมานาน จำพวกถุง ถัง กะละมัง หวี ให้เป็นชิ้นงานประเภทชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่ามากกว่า อุตสาหกรรมเซรามิก ก็จะต้องมีการพัฒนาจากการผลิตชิ้นงานประเภทถ้วย จานชาม กระเบื้อง สุขภัณฑ์แบบธรรมดาๆ ให้เป็นชิ้นงานพิเศษที่มีความเป็นศิลปะ ให้อารมณ์ มีชีวิตชีวาในชิ้นงานเพื่อให้เกิดความแตกต่าง มีเอกลักษณ์ และให้คุณค่าแก่การครอบครอง
ในอุตสาหกรรมเซรามิก มีความแตกต่างของความสามารถในการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เช่นผู้ประกอบการ ก ซื้อดินมาจำนวนหนึ่งราคา 100 บาท สามารถนำมาผลิตเป็นสินค้าแบบง่ายๆ ออกมาขายได้ในราคา 200 บาท ก็คือความสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้อีกหนึ่งเท่าเมื่อเทียบกับต้นทุนวัตถุดิบ โดยจะให้รางวัลผู้ประกอบการ ก สำหรับความสามารถนี้เท่ากับหนึ่งดาว คราวนี้นำมาเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการ ข ซึ่งสามารถผลิตสินค้าจากวัตถุดิบชนิดเดียวกันที่ต้นทุน 100 บาท แต่สามารถผลิตสินค้าออกมาขายได้ราคา 500 บาท หรือเท่ากับ 5 เท่าเมื่อเทียบกับต้นทุนวัตถุดิบ ผู้ประกอบการ ข ก็ควรได้รางวัล 5 ดาว ถ้าบางคนทำแล้วขายได้ 5,000 บาท ก็ถือว่ามีศักยภาพในการปั้นดินให้เป็นดาวเจิดจรัสชั้นดีได้
ในความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกรายที่จะสามารถไปถึงดวงดาวเจิดจรัสชั้นดีที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ได้ถึง 50 เท่าตามตัวอย่างข้างต้น มีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่สามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ของตนกลายเป็นดาว และการจะก้าวไปถึงขั้นนั้นต้องใช้การปรับปรุงกระบวนการผลิตและการบริการทั้งหมดให้สอดคล้องกับระดับของตลาดและสินค้าที่สูงขึ้น มีการสร้างรูปแบบสินค้าให้โดดเด่น มีเอกลักษณ์ และพยายามสร้างแบรนด์เพื่อให้สามารถทำราคาได้ สร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้า และสร้างความแตกต่างของสินค้าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง รวมถึงการเสาะหาตลาดใหม่ๆ ในการขายสินค้า ผู้ประกอบการรายใดที่สามารถเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าได้มาก ก็มักมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่ารายอื่นๆ
ผู้ประกอบการเซรามิกควรให้ความสำคัญต่อการลงทุนทำวิจัยและพัฒนา (Research and Development; R&D) ตามสถานะของตน ทั้งนี้เพื่อสร้างสินค้าใหม่หรือพัฒนาสินค้าเดิม ให้มีความแตกต่าง เป็นสินค้าแบบพิเศษ มีเอกลักษณ์ถูกใจ มีคุณภาพดี การทำสินค้าอย่างนี้ได้ก็ต้องมีมาตรฐานที่ดีตั้งแต่การออกแบบ การผลิตที่ได้มาตรฐาน มีเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพสินค้า มีกระบวนการควบคุมคุณภาพตลอดทั้งซัพพลายเชน มีเทคนิคในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการผลิตอย่างมืออาชีพ ได้แก่ ความสามารถในการสืบค้นหาสาเหตุของปัญหาด้วยเทคนิคที่เป็นมาตรฐาน และมีระบบการแก้ปัญหาอย่างถูกต้องทันการณ์ นอกจากการผลิตสินค้าแล้ว งานด้านบริการต้องมีระบบและกระบวนการจัดการด้านโลจิสติกส์ที่ดี มีตัวชี้วัดชัดเจนในขั้นตอนที่สำคัญทั้งหมด เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถส่งมอบสินค้าได้อย่างครบถ้วนและตรงเวลาที่ลูกค้าต้องการเสมอ งานบริการที่ไม่ดีมีข้อผิดพลาดอยู่เรื่อยๆ ก็อาจทำให้มีต้นทุนเพิ่มโดยไม่จำเป็น รวมทั้งมีโอกาสเสียลูกค้าไป ถึงแม้จะมีผลิตภัณฑ์ที่ดีเลิศก็ตาม
-----------------------------------------------
ข้อมูลเพิ่มเติม
-----------------------------------------------
? ติดตามข้อมูลข่าวสารได้จากช่องทางสื่อสาร iOK2u ได้ที่
เว็บไซต์ www.iok2u.com นี้เกิดมาจาก แรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward โดยมีเป้าหมายเล็ก ๆ ที่กำหนดไว้ว่า ทุกครั้งที่เข้าเรียนสัมมนาหรืออบรมในแต่ละครั้ง จะนำความรู้มาจัดทำเป็นบทความอย่างน้อย 3 เรื่อง เพื่อมาลงในเว็บนี้
ความตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับมาทำการถ่ายทอดต่อไป และหวังว่าจะมีคนมาอ่านแล้วเห็นว่ามีประโยชน์นำเอาไปใช้ได้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลย โดยอาจไม่ต้องอ้างอิงที่มาหรือมาตอบแทนผู้จัด แต่ขอให้ส่งต่อหากคิดว่ามันดีหรือมีประโยชน์ เพื่อถ่ายทอดความรู้และสิ่งดี ๆ ต่อไปข้างหน้าต่อไป Pay It Forward